เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อัลกุรอาน โองการที่ 3 บทยูซุฟ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อัลกุรอาน โองการที่ 3 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวถึงเรื่องเล่าที่ดีที่สุดของอัลกุรอาน โองการกล่าวว่า

3. نَحْنُ نَقُصُّ عَلَيْكَ أَحْسَنَ الْقَصَصِ بِمَآ أَوْحَيْنَآ إِلَيْكَ هذَا الْقُرْءَانَ وَإِن كُنتَ مِن قَبْلِهِ لَمِنَ الْغفِلِينَ‏

คำแปล :

3. เราจะเล่าเรื่องราวที่ดียิ่ง ตามที่เราได้วะฮียฺอัลกุรอานนี้แก่เจ้า แน่นอน ก่อนหน้านี้เจ้าไม่รู้เรื่องราวมาก่อน

คำอธิบาย :

1.คำว่า เกาะซะเซาะ ตามหลักภาษาหมายถึงการค้นหาร่องรอยของบางสิ่ง หรือการวางเรียงบางสิ่งต่อหลังกันอย่างเป็นระเบียบ แต่เนื่องจากว่าเป็นการเล่าเรื่อง คำและประโยคต่างๆจึงถูกอธิบายออกมาอย่างประติดประต่อกัน ซึ่งเรียกสิ่งนั้นว่า การเล่าเรื่อง

2.คำว่า เกาะซะเซาะ ในที่นี้อาจเป็นอาจเป็น อาการนาม (อิสมิมัสดัร) หมายถึง เรื่องเล่า หมายถึงเราได้เล่าเรื่องราวที่ดียิ่งแก่เจ้า นั่นคือเรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.)  หรือคำๆ นี้ในโองการข้างต้นอาจเป็น มัซดัร (รากของคำ) หมายถึง การเล่าเรื่องราว กล่าวคือ อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเล่าเรื่องราวของยูซุฟด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

3. นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของเรื่องราวที่ดียิ่งในโองการข้างต้นคือ เรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.) ส่วนนักอรรถาธิบายบางท่านกล่าวว่า ทั้งหมดของอัลกุรอานได้ถูกรำลึกในฐานะของเรื่องเล่าที่ดียิ่ง แน่นอน ถ้าหากต้องการรวมทัศนะทั้งสองเข้าด้วยกันก็ถือว่าไม่เป็นไร แต่ตามความหมายภายนอกของโองการเข้ากับการตัฟซีรทัศนะแรกมากกว่า

4. เรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.) เป็นเรื่องราวของมนุษย์คนหนึ่งที่มีจิตผูกพันกับพระเจ้า และหันหลังให้กับการล่อลวงและเล่ห์เพทุบายของโลกและวัตถุ เป็นการอธิบายที่ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวของยูซุฟจึงเป็นเรื่องเล่าที่ดีที่สุด

5. อัลกุรอาน ได้ใช้วิธีการอันเฉพาะในการเล่าเรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.) และเล่าเรื่องราวของศาสดาท่านอื่น กล่าวคือ ตอนสำคัญของเรื่องราวได้ถูกทำให้น่าสนใจและดูว่ายิ่งใหญ่มาก โดยลงไปในรายละเอียดของเรื่องและเข้าถึงสาระได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังได้ละทิ้งคำพูดที่ไม่สำคัญที่สร้างความหน้าเบื่อหน่าย หรือรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นออกไป ในการเล่าเรื่องนั้นบางครั้งได้กล่าวในลักษณะของการเปรียบเปรย มิได้กล่าวตรงประเด็นเสียทีเดียว เช่น ตัวอย่าง สำหรับการสาธยายถึงความหล่อเหลาและความสง่างามของศาสดายูซุฟ (อ.) อัลกุรอานจะไม่มุ่งเน้นไปที่ใบหน้าของศาสดา ทว่าได้กล่าวถึงความตะลึงงันของสตรีชาวอียิปต์ เมื่อได้เห็นใบหน้าของศาสดายูซุฟ (อ.) บางคนถึงกับเอามีดเฉือนมือตัวเองอย่างลืมตัว โดยปราศจากความเจ็บปวด สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความงดงามระดับเทพของศาสดายูซุฟ (อ.)

เรื่องเล่าที่กำลังกล่าวถึงนี้ได้กล่าวถึงเรื่องความบริสุทธิ์ทางสังคม ความไม่รุนแรง และความสงบด้วยคำพูดที่สุภาพอ่อนยอนเป็นที่สุด

เรื่องเล่าในอัลกุรอานแต่ละเรื่องนั้นจะสรุปให้เห็นถึงผลของการอบรมสั่งสอน และเป้าหมายหลักกล่าวคือ บทเรียนและอุทาหรณ์ที่ไม่มีวันลืมเลือน ด้วยเหตุนี้เอง อัลกุรอานจึงเป็นการเล่าเรื่องราวที่ดียิ่งที่สุด

6.การเล่าเรื่องราวในเชิงของการศึกษาอบรมของอัลกุรอาน จึงได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านมนุษย์ศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

เรื่องเล่ามีบทบาทสำคัญและมีผลต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะขอนำเสนอบางเรื่องราวเหล่านั้น เชีน

6.1 เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนเป็นการแสดงนิทรรศการ หรือห้องทดลองเนื้อหาทางวิสัยทัศน์ของมนุษย์ ในกลุ่มนี้จะเห็นว่ามีคุณค่าทางการทดลองและประสบการณ์อันดีเยี่ยมของมนุษย์ ซึ่งสามารถนำประโยชน์เหล่านั้นมาใช้ได้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็ได้ชี้ให้เห็นประเด็นนี้เช่นกัน[1]

6.2 เรื่องเล่าที่น่าสนใจจำนวนมากมาย ซึ่งได้ดึงดูดให้บุคคลทั้งหลายสนใจตนเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นว่านักวรรณคดีระดับโลกต่างได้แสดงผลงานของตนในแง่ต่างๆ มากมายแก่สังคม

6.3 เรื่องเล่าได้เป็นตัวช่วยให้มนุษย์ได้เข้าใจเรื่องและประเด็นปัญหา เหตุผลในเชิงภูมปัญญา ที่ถ่ายออกมาทางความรู้สึกได้ง่ายมายิ่งขึ้น

6.4  การเล่าเรื่องราวต่างๆ สามารถให้คำแนะนำและการศึกษาแก่มนุษย์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถป้องกันการหลงผิดที่อาจจะเกิดได้ โดยนำเอาเรื่องเล่าเหล่านั้นไปเป็นอุทาหรณ์และคติสอนใจ และนี่ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่อัลกุรอานได้ใช้อบรมสั่งสอนมวลมนุษย์ชาติ

7. คำว่า ฆิฟลัติ หมายถึงการไม่รู้ หรือการปกปิดความจริงที่มีอยู่เพื่อไม่ให้มนุษย์ได้รับรู้ ฆิฟลัต บางครั้งเกิดด้วยความจงใจ ซึ่งเรียกสิ่งนั้นว่า ตะฆอฟุล หมายถึงผู้ลืมเลือนโดยตั้งใจ ซึ่งได้รับการประณามหยามเหยียด บางครั้งก็เกิดจากความไม่ตั้งใจหรือพลั้งเผลอ ซึ่งเป็นธรรมชาติทั่วไป ซึ่งคำๆ นี้ในโองการข้างต้นมีความหมายตรงกับความหมายที่สอง

8. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเล่าเรื่องราวเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.) ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดีอย่างยิ่ง

9. มาตรฐานของเรื่องเล่าที่ดีที่สุดคืออะไร ? และเป็นเพราะเหตุใดเรื่องเล่าของศาสดายูซุฟ (อ.) จีงเป็นเรื่องเล่าที่ดีที่สุด ? สามารถเข้าใจได้จากโองการข้างต้นว่า มาตรฐานของเรื่องเล่าที่ดีที่สุด ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของวะฮฺยูแห่งอัลกุรอาน

10. เรื่องเล่าต่างๆ ที่วางอยู่บนวะฮฺยูแห่งอัลกุรอาน เช่น

อันดับแรก ต้องเป็นเรื่องจริง เนื่องจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ทรงเกริกเกียรติและเกรียงไกร ผู้ทรงรอบรู้เป็นผู้เล่าเรื่องราวเหล่านั้น

อันดับสอง ห่างไกลจากการเสริมเติมแต่ง และการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวง เนื่องจากอัลกุรอานปราศจากการเปลี่ยนแปลง และการสังคายนา

อันดับสาม เป็นการปลุกให้บรรดาผู้ลืมเลือนได้ตื่นขึ้น ดั่งที่โองการข้างต้นได้กล่าวถึง

บทเรียนจากโองการ :

1. จงใช้วิธีการเล่าเรื่องราวขจัดความลืมเลือน

2. ขณะเล่าเรื่องราว จงเลือกเรื่องราวและวิธีการเล่าที่ดีที่สุด

3. เรื่องเล่าที่ดียิ่งย่อมมีรากที่มาจากวะฮฺยู ซึ่งวิธีของอัลกุรอานคือวิธีเล่าเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมที่สุด

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม