เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อัลกุรอาน โองการที่ 5 บทยูซุฟ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อัลกุรอาน โองการที่ 5 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงคำเตือน คำแนะนำ และการให้สติของศาสดายะอฺกูบ (อ.) ที่มีต่อบุตรชายคือ ศาสดายูซุฟ (อ.) โองการกล่าวว่า

5. قَالَ يَا بُنَىَّ لَاتَقْصُصْ رُءْيَاكَ عَلَى‏ إِخْوَتِكَ فَيَكيدُواْ لَكَ كَيْداً إِنَّ الشَّيْطنَ لِلْإِنسنِ عَدُوُّ مُّبِينٌ‏

คำแปล :

5. เขา (ยะอฺกูบ) กล่าวว่า โอ้ ลูกรักเอ๋ย จงอย่าเล่าความฝันของเจ้าแก่พี่น้องของเจ้า มิฉะนั้น พวกเขาจะออกอุบาย (ที่ร้ายกาจยิ่ง) แก่เจ้าอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม แท้จริง ชัยฏอนเป็นศัตรูที่เปิดเผยสำหรับมนุษย์

คำอธิบาย :

1. ความฝันที่เป็นจริงของศาสดายูซุฟ (อ.) ประหนึ่งเป็นการแจ้งข่าวให้รับรู้ กล่าวคือการก้มกราบของหมู่ดวงดาว ดวงตะวัน และดวงเดือนแสดงให้เห็นถึงการได้รับตำแหน่งอันสูงส่งของท่านศาสดา ซึ่งรางวัลอันยิ่งใหญ่นั้นอาจกลายเป็นความอิจฉาริษยาของบรรดาพี่น้อง ด้วยเหตุนี้ ศาสดายะอฺกูบ (อ.) จึงได้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง และได้เตือนสำทับท่านว่า จงอย่าเล่าความฝันของเจ้าให้แก่บรรดาพี่น้องของเจ้าได้รับรู้เด็ดขาด เนื่องจากบางทีชัยฏอนมารร้ายอาจล่อลวงพวกเขา และในความเป็นจริงแล้วศัตรูไม่เคยลดละเรื่องการวางแผนการณ์เพื่อการทำลายล้าง

2. ศาสดายะอฺกูบ (อ.) ย่อมรู้ดีถึงสภาพจิตใจของบรรดาลูกของตน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงไม่กล่าวว่า ฉันกลัวเหลือเกินว่าพี่น้องของเจ้าอาจคิดร้ายกับเจ้าก็ได้ ทว่าท่านได้กล่าวด้วยความมั่นใจว่า “พวกเขาจะออกอุบาย (ที่ร้ายกาจยิ่ง) แก่เจ้าอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม” เนื่องจากพวกเขากับศาสดยูซุฟ (อ.) ต่างมารดากัน และพวกเขาก็มีจำนวนมากกว่า มีอายุมากกว่าด้วย และโดยธรรมชาติแล้วพวกเขาย่อมไม่ยินดีกับความสุขของยูซุฟอย่างแน่นอน อีกด้านหนึ่งการทำนายฝันที่เป็นจริงของยูซุฟ (อ.) มิใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ไฟอิจฉาริษยาของพวกเขาอาจลุกโชติช่วงได้ตลอดเวลา

3. อัลกุรอานกล่าวถึงความฝันที่ชัดเจนของมนุษย์หลายต่อหลายครั้งด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

- ความฝันของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เกี่ยวกับการตัดศีรษะบุตรชายของท่านคือ ศาสดาอิสมาอีล (อ.) อัลกุรอานบทซอฟาต โองการที่ 10

- ความฝันของสหายชาวคุกของท่านศาสดายูซุฟ (อ.) ในบทนี้เอง โองการที่ 36

- ความฝันของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ที่ได้ฝันเห็นชัยชนะและได้ยึดครองมักกะฮฺ อัลกุรอานบท ฟัตฮฺ โองการที่ 27

- ความฝันของผู้ปกครองอียิปต์ ที่ฝันเห็นความแห้งแล้งของอียิปต์ ซึ่งกล่าวในโองการที่ 43 ของบทยูซุฟ

- ความฝันของศาสดายูซุฟ (อ.) ดังที่กล่าวอธิบายไปในโองการก่อนหน้านี้ และในโองการที่ 100 ของบทนี้

4. ความฝันนั้นสามารถแบ่งตามสาเหตุที่แตกต่างกันได้ดงนี้

4.1 บางครั้งความฝันนั้นเกี่ยวข้องกับอดีตของมนุษย์ และความหวังของเขา

4.2 บางครั้งความฝันของเขาคลุมเครือและไม่ชัดเจน

4.3 บางครั้งความฝันก็เกี่ยวข้องกับอนาคต ซึ่งแบ่งเป็น 2 ลักษณะดังนี้

ลักษณะแรก ความฝันที่ชัดแจ้ง ซึ่งไม่ต้องการทำนายฝันแต่อย่างใด และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำไป

ลักษณะที่สอง ความฝันที่มีปัจจัยและมรรคผลอันเฉพาะเจาะจง มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเกิดขึ้น ดังเช่น ดวงตะวัน และดวงเดือนที่ปรากฏในความฝันของท่านศาสดายูซูฟ (อ.) ซึ่งได้เป็นตัวแทนบิดาและมารดาของท่าน ซึ่งความฝันลักษณะนี้ต้องการการตีความ

5. รายงานฮะดีซจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่าความฝันนั้นมี 3 ลักษณะดังนี้

5.1 ลักษณะที่หนึ่งเป็นรางวัลจากพระผู้เป็นเจ้า

5.2 ลักษณะที่สอง มาจากชัยฏอนและต้องการทำให้มนุษย์เกิดทุกข์

5.3 ลักษณะที่สาม มนุษย์ได้คิดใคร่ครวญอยู่นาน จนกระทั่งเก็บไปฝัน[4]

6. การวิเคราะห์ความฝันของนักจิตวิทยาบางท่านกล่าวว่า ความฝันทั้งหลายคือผลที่เกิดจากความไม่รู้ตัว และมิได้มีความหวังให้เกิดขึ้น หรือเกิดจากความกลัวบางสิ่ง หรือการกลับกลายเป็นรูปร่างของภารกิจการงานในวันต่างๆ ของเราและปรากฏออกมาทางความฝัน หรืออาจเป็นการแสดงออกความต้องการอาหารของร่างกาย แต่ทัศนะนี้สามารถอธิบายความฝันบางอย่างได้เท่านั้น ซึ่งตามหลักการเรียกว่าความฝันวอกแวก แต่ความฝันประเภทอื่นไม่สามารถตีความได้ ความฝันที่เป็นจริงได้เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากมาย ซึ่งลักษณะเช่นนั้นเองได้เกิดเป็นความจริงในอนาคต หรือการแจ้งข่าวบางอย่างแก่ผู้ศรัทธา เพื่อเขาจะได้รู้และเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต

อย่างไรก็ตามบางคนนอนหลับฝันเห็นบางสิ่ง ซึ่งคนตื่นไม่ได้เห็นและไม่เข้าใจด้วยว่าอะไรเกิดขึ้น

7.อัลกุรอาน โองการข้างต้นกล่าวว่า ศาสดายะอฺกูบ (อ.) ได้สอนให้บุตรชายรู้จักเก็บความลับ และได้สำทับเขาว่าความลับบางอย่างแม้แต่พี่น้องก็ต้องปิดบังเอาไว้ เพื่อว่าในอนาคตทั้งตัวเองและสังคมจะได้ไม่ตกอยู่ในอันตราย แน่นอน การรักษาความลับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความใหญ่ตัวของจิตวิญญาณและอำนาจที่ควบคุมมนุษย์

8. รายงานฮะดีซจากท่านอิมามญะอฺฟัร อัซซอดิก (อ.) กล่าวว่า

سِرُّكَ مِنْ دَمِكَ فَلايَجْرِيَنَّ مِنْ غَيْرِ أَوْداجِكَ

 “ความลับของท่านเปรียบเสมือนเลือดของท่าน ที่ต้องไหลเวียนภายในร่างกายของท่านเท่านั้น[5]

ท่านอิมามอะลี ริฎอ (อ.) กล่าวว่า

لايَكُونُ الْمُؤْمِنُ مُؤْمِناً حَتّى تَكُونَ فِيهِ ثَلاثُ خِصال سُنَّةٌ مِنْ رَبِّهِ وَ سُنَّةٌ مِنْ نَبِيِّهِ (صلى الله عليه وآله) وَ سُنَّةٌ مِنْ وَلِيِّهِ(عليه السلام)  فَأَمَّا السُّنَّةُ مِنْ رَبِّهِ فَكِتْمانُ السِّرِّ وَ أَمَّا السُّنَّةُ مِنْ نَبِيِّهِ فَمُداراةُ النّاسِ وَ أَمَّا السُّنَّةُ مِنْ وَلِيِّهِ فَالصَّبْرُ فِي الْبَأْساءِ وَ الضَّرّاءِ

“ผู้ศรัทธา จะไม่นับว่าเป็นผู้ศรัทธาอีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่าเขาต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ กล่าวคือ มีซุนนะฮฺจากพระผู้อภิบาล มีซุนนะฮฺจากเราะซูล และมีซุนนะฮฺจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์

ส่วนซุนนะฮฺ จากพระผู้อภิบาลหมายถึง การเก็บรักษาความลับ ส่วนซุนนะฮฺจากเราะซูลคือ การอลุ่มอะล่วยแก่ประชาชน และซุนนะฮฺของอิมามคือ ความอดทนและมีขันติธรรมเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยากและการทดสอบ)

อย่างไรก็ตาม การรักษาความลับในที่นี้ในความหมายก็คือ การรักษาความลับของผู้อื่นมากกว่า[6]

9. ผลจากโองการนี้และโองการก่อนหน้านี้สิ่งที่สร้างความสนใจได้เป็นอย่างดีคือ มารยาทในการสนทนาของท่านศาสดายูซุฟ (อ.) กับบิดาของท่าน และมารยาทการสนทนาของบิดาที่มีความรักและห่วงใยในตัวบุตร ซึ่งได้ใช้คำว่า ยาบุนัย (โอ้ ลูกรักเอ๋ย)

บทเรียนจากโองการ :

1.จงแบ่งชั้นลูกของท่านในการเก็บรักษาความลับและข้อมูลสำคัญ

2. ไม่จำเป็นต้องบอกเล่าทุกสิ่งแก่คนอื่น ที่ได้แจ้งความจริงบางอย่างในฝันของท่าน

3. จงแจ้งให้บุตรของท่านรับทราบถึงภยันตรายและแผนการของคนอื่น

4. ชัยฏอนคือศัตรูร้ายกาจของมนุษย์ มันจะพยายามถึงที่สุดเพื่อล่อลวงมนุษย์ แม้กระทั่งทำให้พี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกันเอง

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม