อัลกุรอาน โองการที่ 21 บทยูซุฟ

อัลกุรอาน โองการที่ 21 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงการซื้อยูซุฟและการนำตัวเขาไปสู่พระราชวังของเจ้าผู้ปกครองอียิปต์ โองการกล่าวว่า

21. وَقَالَ الَّذِى اشْتَرَيهُ مِن مِّصْرَ لِامْرَأَتِهِ أَكْرِمِى مَثْوَيهُ عَسَى‏ أَن يَنفَعَنَآ أَوْ نَتَّخِذَهُ وَلَداً وَكَذلِكَ مَكَّنَّا لِيُوسُفَ فِى الْأَرْضِ وَلِنُعَلِّمَهُ مِن تَأْوِيلِ الْأَحَادِيثِ وَاللَّهُ غَالِبٌ عَلَى‏ أَمْرِهِ وَلكِنَّ أَكْثَرَ النَّاسِ لَايَعْلَمُونَ‏

คำแปล :

 21. และผู้ที่ซื้อเขามาจากอียิปต์กล่าวกับภริยาของเขาว่า จงให้เขาพำนักอย่างมีเกียรติ บางทีเขาอาจมีประโยชน์แก่เราหรือรับเขาเป็นบุตรบุญธรรม และทำนองนั้นแหละเราได้ให้ที่อยู่แก่ยูซุฟ ณ แผ่นดิน (เพื่อชุบเลี้ยงให้โต) เราจะสอนให้เขารู้วิชาทำนายฝัน และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้พิชิตในกิจการของพระองค์ แต่ว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้

คำอธิบาย :

1. คณะเดินทางหลังจากได้ช่วยเหลือยูซุฟ (อ.) ขึ้นจากบ่อจนปลอดภัยแล้ว เขาได้ขายอยู่ซุฟให้อะซีซแห่งอียิปต์ ซึ่งในขณะนั้นเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีแห่งอียิปต์ ซึ่งเขาไม่มีบุตรเมื่อสายตาของเขาได้จับจ้องไปที่ยูซุฟเด็กน้อยที่มีใบหน้าหล่อเหลา เขาก็เกิดสมเพศและสงสารขึ้นมาอย่างจับใจ เขาจึงได้รับยูซุฟไว้ในฐานะของบุตรบุญธรรม และอัลลอฮฺ (ซบ.) ก็ทรงประสงค์ว่าเมื่อยูซุฟได้เข้ามาสู่พระราชวังแห่งอียิปต์แล้ว พระองค์จะทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งอันสูงส่งที่สุดทั้งด้าน ศาสนจักรและอาณาจักร

2. คำว่า มักกันนา ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานพำนัก และการเป็นผู้มีเจตคติเสรีของยูซุฟ (อ.) ซึ่งการได้พำนักอยู่ในพระราชวังของอะซีซแห่งอียิปต์ กลายเป็นปฐมบทสำคัญสำหรับการก้าวไปสู่อำนาจและตำแหน่งของท่านในอนาคต

3. คำว่า ตะอฺวีลุลอะฮาดีซ ในที่นี้อาจหมายถึง ความรู้เรื่องการทำนายฝัน ซึ่งจากแนวทางนั้นจะช่วยให้ยูซุฟได้ล่วงรู้ถึงเหตุการณ์และความเร้นลับต่างๆ ในอนาคต หรือวัตถุประสงค์ของสิ่งนั้นอาจหมายถึง วะฮฺยูก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความหมายแรกใกล้เคียงกับความจริงมากกว่า

4. คำว่า มัซวัยฮุ หมายถึง ตำแหน่ง สถานการณ์ หรือฐานันดร การกล่าวเช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นถึง ความละเอียดอ่อนในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก กล่าวคือถ้าไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็กในเจริญเติบโตขึ้นเยี่ยงทาสหรือคนรับใช้ ก็สมควรที่จะเลี้ยงดูเขาให้เจริญเติบโตในฐานะของบุตรบุญธรรม และเป็นผู้มีประโยชน์ต่อครอบครัว ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดถึงฐานันดร และตำแหน่งสำหรับเขาในอนาคต มอบบุคลิกภาพที่ดีแก่เขา พร้อมทั้งเอาใจใส่เรื่องฐานันดรและสถานภาพของเขา

5. โองการได้สาธยายว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นผู้พิชิตในกิจการงานของพระองค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การให้บริการด้านสื่อและอุปกรณ์เพื่อชัยชนะ และการช่วยเหลือผู้ศรัทธาในหลายกรณีเมื่อเขาตกอยู่ในน้ำมือของศัตรู ดังเช่นที่พระองค์ได้ช่วยเหลือยูซุฟให้รอดพ้นจากน้ำมือของคนแปลกหน้า จนกระทั่งไปถึงพระราชวังของอะซีซแห่งอียิปต์

6. ในโองการข้างต้นได้บ่งชี้ถึงสิ่งหนึ่งโดยใช้ อักษรลามฆอยะฮฺ (บ่งบอกถึงผลสรุป) นั่นคือการสอนให้ยูซุฟได้รู้จักวิชาทำนายฝัน อันเป็นผลสรุปที่เขาได้เข้ามาอยู่ในวังของอะซีซ หรืออีกนัยหนึ่ง พระองค์ได้มอบให้ยูซุฟ พำนักอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อเขาจะได้สามารถต่อสู้กับความผิดบางอย่างจนประสบความสำเร็จ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมอบรางวัลแก่เขา นั่นคือความรู้ในวิชาทำนายฝัน

บทเรียนจากโองการ :

1. เมื่อใดก็ตามหากอัลลอฮฺ (ซบ.) ประสงค์เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ พระองค์จะกระทำสิ่งนั้นเช่นเปลี่ยนสถานภาพของเด็กที่ตกอยู่ก้นบ่อ ให้กลายเป็นเด็กแห่งราชวัง เป็นต้น

2. จงให้เกียรติบุคลิกภาพของเด็ก เนื่องจากการให้เกียรติแก่พวกเขาเท่ากับเป็นการอบรมเขา ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวทั้งสิ้น

3. ความรู้และอำนาจคือปีกสองข้างที่จำเป็นสำหรับการยอมรับในหน้าที่รับผิดชอบ

4. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงแผนการของอัลลอฮฺ และเป้าหมายสุดท้ายของเหตุการณ์