เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อัลกุรอาน โองการที่ 22 บทยูซุฟ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อัลกุรอาน โองการที่ 22 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงรางวัลอันดีงามจากการทำความดีของยูซุฟ (อ.) โองการกล่าวว่า

22. وَلَمَّا بَلَغَ أَشُدَّهُ ءَاتَيْنهُ حُكْماً وَعِلْماً وَكَذلِكَ نَجْزِى الْمُحْسِنِينَ‏

คำแปล :

22. และเมื่อเขาบรรลุวัยหนุ่มฉกรรจ์ของเขา เราได้ประทานวิทยปัญญา (นบูวัต) และวิทยาการแก่เขา เช่นนั้นแหละ เราตอบแทนบรรดาผู้กระทำการดี

คำอธิบาย :

1.คำว่า อะชัดดุ ตามหลักหมายถึง ปมเงื่อนที่แข็งแรง  แต่ในที่นี้หมายถึงความแข็งแรงของร่างกายและจิตวิญญาณ  คำๆ นี้ในอัลกุรอาน บางครั้งหมายถึง อายุที่บรรลุวัยฉกรรจ์ ซึ่งบางครั้งกล่าวนับตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นต้นไป และบางครั้งก็หมายถึงก่อนวัยชราก็มี ความแตกต่างกันในเรื่องของการตีความอาจเป็นเพราะว่า มนุษย์เมื่อจะย่างก้าวไปสู่ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งเริ่มต้นจากวัยบรรลุนิติภาวะ จนกระทั่งอายุครบ 40 ปี แต่ในที่นี้วัตถุประสงค์คือ ช่วงที่ร่างกายและจิตใจของยูซุฟ (อ.) มีความพร้อมหรือเข้าสู่วัยฉกรรจ์เต็มที่

2. วัตถุประสงค์จากคำว่า ฮุกม์ ที่ได้มอบแก่ยูซุฟคือ ตำแหน่งนบูวัต (สภาวะการเป็นศาสดา) หรือสติปัญญา หรือความเข้าใจและอำนาจในการตัดสินที่ถูกต้อง หรืออาจหมายถึงวิทยปัญญา หรืออาจจะบ่งชี้ให้เห็นถึงการควบคุมตัวเองเมื่อเผชิญกับอำนาจฝ่ายต่ำ ดังที่บางคนได้บ่งชี้ให้เห็นถึงวิทยปัญญาด้านความรู้ แน่นอนว่า ทั้งหมดเหล่านี้มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เข้ากับความหมายภายนอกของโองการได้เป็นอย่างดีคือ ตำแหน่งในการตัดสินนั่นเอง

3. ความรู้ที่ได้ถูกมอบแก่ยูซุฟ (อ.) คือความรู้ซึ่งคนโง่เขลาทั้งหลายไม่อาจเรียนรู้ได้ หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยสำหรับพวกเขา ซึ่งความรู้บางอย่างเหล่านั้นได้แก่ ความรู้ด้านศาสนา หรือความรู้ในทฤษฎี หรือความรู้เกี่ยวกับรัศมีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในโลกแห่งความเร้นลับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแสงที่ฉายส่องลงมาที่จิตใจของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ความหมายภายนอกของโองการคือ องค์ความรู้สมบูรณ์ ซึ่งสิ่งที่บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้กล่าวถึงนั้น ล้วนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบขององค์ความรู้นี้

4. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า ความรู้และวิทยปัญญา ที่ได้ประทานแก่บรรดาศาสดาทั้งหลาย มิได้ปราศจากการคำนวณนับแต่อย่างใด ทว่าในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นรางวัลตอบแทนแก่ผู้กระทำความดีงาม

5. นามว่า อะซีซ แห่งอียิปต์ มิได้ปรากฏในโองการข้างต้น แต่ปรากฏในโองการที่ 30 ของบทนี้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ก้าวหน้าของการเล่าเรื่องของอัลกุรอาน ซึ่งได้เริ่มต้นจากจุดๆ หนึ่ง ซึ่งสร้างการติดตามและความอยากรู้อยากเห็นแก่ผู้อ่าน

บทเรียนจากโองการ :

1.อัลลอฮฺ (ซบ.) จะทรงประทานวิชาการและวิทยปัญญา แก่ผู้ที่ประกอบความดีงาม

2. การให้ของอัลลอฮฺ (ซบ.) วางอยู่บนพื้นฐานของความเพียรพยายามและการอุตสาหะ

3. การเจริญเติบโตของร่างกายและจิตวิญญาณ คือปฐมบทในการได้รับความรู้และวิทยปัญญา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม