เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อัลกุรอาน โองการที่ 23 บทยูซุฟ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อัลกุรอาน โองการที่ 23 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงแผนการที่เกิดจากอำนาจฝ่ายต่ำของภรรยาของอะซีซแห่งอียิปต์ และการยืนหยัดเยี่ยงสุภาพบุรุษของยูซุฟ (อ.) โองการกล่าวว่า

23. وَ راوَدَتْهُ االَّتِى هُوَ فِى بَيْتِهَا عَن نَفْسِهِ وَغَلَّقَتِ الْأَبْوبَ وَقَالَتْ هَيْتَ لَكَ قَالَ مَعَاذَ اللَّهِ إِنَّهُ رَبِّى أَحْسَنَ مَثْوَاىَ إِنَّهُ لَايُفْلِحُ الظلِمُونَ‏

คำแปล :

23.นางได้ยั่วยวนเขา (ยูซุฟ) โดยที่เขาอยู่ในบ้านของนาง นางได้ปิดประตูอย่างแน่นและกล่าวว่า”มานี่ซิ เขากล่าวว่า ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ แท้จริงเขา (ผู้ปกครองอียิปต์) เป็นผู้เลี้ยงดูฉัน เขาให้ที่พำนักที่ดียิ่งแก่ฉัน (ดังนั้น การทรยศหักหลังเขาเท่ากับเป็นผู้อธรรม) แน่นอน บรรดาผู้อธรรมจะไม่บรรลุความสำเร็จ

คำอธิบาย :

1. คำว่า รอวะดัตฮุ  ตามรากศัพท์เดิมหมายถึง การค้นหาแห่งหญ้าอันเขียวชอุ่ม แต่บางครั้งคำที่แยกออกมาจากศัพท์คำนี้หมายถึง การต้องการทำบางอย่างด้วยแรงปรารถนา แห่งจิตใจ ซึ่งการตีความเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ภรรยาของอะซีซแห่งอียิปต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน อันดับแรกได้ใช้สันติวิธีโดยเปิดเผยความรักแท้ที่นางมีแก่ยูซุฟ

2. คำว่า ฆ็อลละก็อด หมายถึง การปิดประตูอย่างแน่นหนา ซึ่งได้กล่าวในลักษณะของกความสุดโต่งในการปิด กล่าวคือ นางได้วางแผนการณ์โดยปิดประตูทั้งหมดอย่างแน่นหนา ซึ่งยูซุฟได้ตกหลุมพรางค้างอยู่ในวัง ซึ่งวังนั้นมีประจูสลับซับซ้อนหลายประตูด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ยูซุฟหนีไปไหนได้ แต่ถึงกระนั้นจงมั่นใจเถิดว่า ความเร้นลับของความชั่วร้ายไม่มีวันประสบความสำเร็จแน่นอน

3. ภรรยาของอะซีซแห่งอียิปต์นางมีชือว่า ซุลัยคอ นางหลงรักยูซุฟมาก ซึ่งมีปัจจัยหลายประการที่เป็นสาเหตุทำให้นางหลงรักยูซุฟ (อ.) อย่างหัวปลักหัวปำ อันดับแรก นางไม่มีบุตรเป็นของตัวเอง อันดับสอง เนื่องจากนางเป็นภรรยาของผู้สูงศักดิ์ และมีหน้าที่การงานมากมายเขาไม่มีเวลาพอสำหรับนาง ประการที่สาม สิ่งนี้ในพระราชวังของอียิปต์สมัยนั้นมีความอิสระโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากนางเป็นภรรยาของผู้ปกครอง ประการที่สี่ ขณะนั้นนางยังไม่ได้ศรัทธาและไม่มีความยำเกรงในบาปกรรม

4. ศาสยูซุฟ (อ.) ต้องการที่จะขัดขวางแผนการร้ายของสตรีนางนั้น ด้วยเหตุผล ท่านจึงได้กล่าวประโยค 3 ประโยคที่มากไปด้วยความหมาย ประโยคแรกท่านกล่าวว่า “ข้าฯ ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ” หมายถึง หนทางช่วยเหลือให้รอดพ้นจากวิกฤติและเขี้ยวเล็บของชัยฏอนมารร้ายที่คอยหยุแย่ในขณะนั้น มีอยู่หนทางเดียวนั่นคือการของความคุ้มครองและขอพึ่งพิงยังอัลลอฮฺ พระผู้ซึ่งปรากฏอยู่ในทุกที่

ประการที่สอง คือ การขอบคุณและการรู้จักสถานภาพของตัวเอง ท่านจึงได้กล่าวว่า สามีของท่าน หมายถึงอะซีซแห่งอียิปต์ คือผู้ชุบเลี้ยงฉันให้เติบโต ได้ให้สถานที่พำนักแก่ฉัน ได้ทำให้ฉันมีตำแหน่งสูงส่ง ฉันได้เติบโตมาด้วยอาหารของเขาที่ชุบเลี้ยงฉัน ดังนั้น จะให้ฉันทรยศหักหลังเขาได้อย่างไร ?

ประการที่สาม ท่านได้เตือนสำทับว่า การกระทำความผิดบาปคือการทรยศต่อผู้มีพระคุณที่ให้การเลี้ยงดู เท่ากับได้ก่อการอธรรมอย่างรุนแรงต่อตัวเองและบุคคลอื่น และผู้อธรรมนั้นไม่มีวันประสบความสำเร็จแน่นอน ขณะที่ฉันอยู่ในหนทางแห่งความสัตย์จริง

5. ยูซุฟ (อ.) กล่าวว่า มะอาซัลลอฮฺ ข้าขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ท่านไม่ได้กล่าวว่า ข้าขอไปพึ่งพิงพระองค์ หมายถึงประโยคนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านศาสดายูซุฟ (อ.) ไม่เคยมองตัวเองเป็นหลักเลย การมีอยู่ของท่านทั้งหมดต่างของความช่วยเหลือและขอพึ่งพิงยังพระองค์เท่านั้น

6. เกี่ยวกับคำว่า ร็อบบี ในโองการข้างต้น นักอรรถาธิบายอัลกุอานได้แบ่งทัศนะออกเป็น 2  ประการ กล่าวคือ

นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน ส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าคำว่า ร็อบบี ในโองการข้างต้นหมายถึง ผู้ให้การเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ซึ่งบางครั้งในอัลกุรอานก็ได้ให้ความหมายว่าเช่นนั้น เช่นโองการที่ 41 ,42, และ 50 ของบทนี้

แต่วัตถุประสงค์ในโองการนี้คือ อะซีซแห่งอียิปต์นั่นเอง ซึ่งเขาได้เป็นผู้เลี้ยงดูยูซุฟจนเติบใหญ่ภายในบ้านของเขา ซึ่งหลักฐานยืนยันการตีความดังกล่าวคือ โองการที่ 21 ที่กล่าวว่า อะซีซแห่งอียิปต์ได้แนะนำว่า จงให้เกียรติแก่ฐานันดรของยูซุฟ ส่วนในโองการนี้ยูซุฟ (อ.) ได้กล่าวถึงฐานะภาพดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า อะซีซคือผู้เลี้ยงดูฉันจนเติบใหญ่ และเขาได้เป็นผู้ให้เกียรติฉัน

แต่นักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางท่านเชื่อว่า คำว่า ร็อบ ในโองการข้างต้นหมายถึง อัลลอฮฺ  กล่าวคือ ฉันขอพึ่งพิงอัลลอฮฺเท่านั้น พระองค์คือพระผู้อภิบาลของฉัน และพระองค์ได้ให้เกียติฉัน

7. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า การให้เกียรติเด็กและเคารพผู้ใหญ่คือการอบรมสั่งสอนที่ดี เป็นสาเหตุทำให้รู้จักสิทธิของตัวเอง และเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้ทรยศหักหลังผู้มีพระคุณ

8. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า ศาสดายูซุฟและซุลัยคออยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ซึ่งไม่มีผู้ใดอื่นอีก หลังจากนั้นต่อมาชัยฎอนได้หยุแย่อย่างหนัก ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะสิ่งนี้นั่นเองที่รายงานฮะดีซในอิสลามได้เน้นย้ำไว้อย่างมากว่า ชายหญิงที่แต่งงานกันได้อย่าอยู่ในที่เดียวกันสองต่อสอง หรืออยู่กันตามลำพัง หรืออยู่ในที่ซึ่งไม่มีบุคคลใดเข้าออกได้ ดังนั้น การอยู่ในสถานที่ดังกล่าวถือว่า ฮะรอม (ไม่อนุญาตและเป็นบาป)

บทเรียนจากโองการ :

.1. เมื่อชัยฏอนได้หยุแย่ให้กระทำการไม่ดี หรือให้เราตกอยู่ในอำนาจของชัยฏอนมารร้าย ดังนั้น สูเจ้าจงขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เถิด เพื่อให้รอดพ้นจากอำนาจฝ่ายต่ำ เนื่องจากการขอพึ่งพิงไปยังอัลลอฮฺจะทำให้ท่านไม่พ่ายแพ้ต่อบาปกรรม

2. จงรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง และจงอย่าทรยศหักหลังผู้มีพระคุณที่ให้การชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่

3. จงรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง เนื่องจากบาปกรรมคือการทรยศหักหลังและเป็นการอธรรมต่อตัวเอง

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม