อัลกุรอาน โองการที่ 24 บทยูซุฟ

อัลกุรอาน โองการที่ 24 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงการช่วยเหลือของอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่มีต่อยูซุฟ (อ.)  โองการกล่าวว่า

24. وَلَقَدْ هَمَّتْ بِهِ وَهَمَّ بِهَا لَوْلَا أَن رَّءَا بُرْهنَ رَبِّهِ كَذلِكَ لِنَصْرِفَ عَنْهُ السُّوءَ وَالْفَحْشَآءَ إِنَّهُ مِنْ عِبَادِنَا الْمُخْلَصِينَ‏

คำแปล :

.24. แท้จริง นางตกลงใจในการได้ตัวเขา และเขา (ยูซุฟ) มาตรมิเพราะว่าได้เห็นหลักฐานอันชัดแจ้งจากพระผู้อภิบาลของเขา เขาก็ตกลงใจในตัวนาง เราได้ทำเช่นนั้นเพื่อจะให้ความชั่วและการลามกห่างไกลไปจากเขา แท้จริง เขาคือปวงบ่าวผู้บริสุทธิ์ยิ่งคนหนึ่งของเรา

คำอธิบาย :

1. นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้อธิบายส่วนแรกของโองการไว้หลายทัศนะด้วยกัน กล่าวคือ

1.1 ซุลัยคอ ตั้งใจที่จะได้ตัวยูซุฟมาครอบครอง และยูซุฟ (อ.) ก็เช่นเดียวกันถ้าไม่มีหลักฐานอันแจ้งชัดจากพระผู้อภิบาล และเนื่องจากท่านเป็นชายฉกรรจ์ท่านคงตอนสนองความต้องการของนางไปด้วย แต่ยูซุฟไม่ได้กระทำเช่นนั้น เนื่องจากจิตวิญญาณที่ศรัทธามั่น ความสำรวมตนต่ออัลลอฮฺ และความบริสุทธิ์ ได้เป็นอุปสรรคกีดขวางอารมณ์ฝ่ายต่ำของเขา

1.2 ซุลัยคอ ตัดสินใจที่จะล้างแค้นยูซุฟ เนื่องจากนางได้พ่ายแพ้ยุซุฟ นางต้องการที่จะทุบตีเขา และยูซุฟได้ตัดสินใจที่จะปกป้องตัวเอง แต่เมื่อได้เห็นเหตุผลของพระผู้อภิบาล ท่านจึงเลิกล้มใจ

อย่างไรก็ตาม การตัพซีรในทัศนะแรกเข้ากันได้กับความหมายภายนอกของโองการมากกว่า ซึ่งรายงานฮะดีซ จากท่านอิมามอะลี ริฎอ (อ.) ก็ได้เน้นถึงการตัฟซีรในทัศนะนี้ด้วยเช่นกัน

2. คำว่า โบรฮาน ตามรากเดิมหมายถึง การเป็นสีขาวหรือบริสุทธิ์ หลังจากนั้นได้ใช้กับทุกเหตุผลที่มีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งเป็นสาเหตุให้วัตถุประสงค์ชัดเจนขึ้น จึงเรียกสิ่งนั้นว่า โบรฮาน  ด้วยเหตุนี้ โบรฮาน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ยูซุฟสะอาดบริสุทธิ์และช่วยเหลือท่านให้รอดพ้นจากวิกฤตินั้นคือ เหตุผลอันชัดแจ้งประการหนึ่งจากพระผู้อภิบาล

3. เกี่ยวกับการอรรถาธิบายคำว่า โบรฮาน นั้นมีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ

3.1 วัตถุประสงค์คือ ความรู้ ความศรัทธา และการอบรมสั่งสอนมนุษย์ให้มีคุณลักษณะที่ดี

3.2 วัตถุประสงค์คือ การล่วงรู้ในกกเกณฑ์ที่ห้ามมิให้ผิดประเวณี

3.3 วัตถุประสงค์คือ ตำแหน่งการเป็นนบี และการบริสุทธิ์จากบาปกรรม

3.4 วัตถุประสงค์คือ การตื่นตัวจากการกระทำไม่ดีและความอับอายอันเป็นผลมาจากการกระทำไม่ดีของซุลัยคอที่มีต่อยูซุฟ (อ.) ในเวลานั้นซุลัยคอได้นำพาปิดเทวรูปของตนไว้ เพื่อไม่ให้เทวรูปเห็นการกระทำที่ไม่ดีของนาง สถานการณ์ตรงนั้นได้สร้างแรงบันดาลให้เกิดขึ้นในใจของยูซุฟ เขาได้กล่าวแก่ตัวเองว่า ถ้านางกลัวและอายต่อเทวรูปที่ไม่มีความรู้สึกเช่นนี้ แล้วฉันจะไม่อายต่อองค์พระผู้อภิบาลได้อย่างไร

มีหลายประเด็นที่ได้ถูกสั่งสอนในที่นี้ สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นเหตุผลที่ชัดเจน และไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถ้าจะถือว่าทั้งหมดเหล่านั้นคือ วัตถุประสงค์ของคำว่า โบรฮาน ดังที่คำว่า โบรฮานนี้ได้ถูกกล่าวไว้หลายความหมายทั้งในอัลกุรอานและฮะดีซ

4. โองการข้างต้น ได้แนะนำว่า ยูซุฟ (อ.) คือปวงบ่าวที่บริสุทธิ์ยิ่งที่ได้ถูกทำให้บริสุทธิ์แล้ว

อัลกุรอาน บางครั้งกล่าวถึงคำว่า มุคลิซ เช่น ในบทอังกะบูต โองการที่ 65 และบทบัยยินะฮฺ โองการที่ 5 กล่าวคือ หมายถึงบุคคลที่ได้พยายามทำให้ตนบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)  ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในขั้นตอนแรกของความสมบูรณ์ ส่วนคำว่า มุคละซุน จะกล่าวกับบุคคลที่เขาอยู่ในขั้นสูงสุดของความบริสุทธิ์ หลังจากได้ต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำจนบรรลุขั้นโสดาบัน ซึ่งซาตานมารร้ายต่างสิ้นหวังในตัวพวกเขา ดังปรากฏในอัลกุรอาน บทซ็อด โองการที่ 83

5. ศาสดายูซุฟ (อ.) เนื่องจากท่านเป็น มุคละซุน กล่าวคือเป็นปวงบ่าวที่ถูกทำให้บริสุทธิ์แล้ว อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเมตตาท่าน ความชั่วร้าย และความอนาจารทั้งหลายจึงถูกขจัดให้ห่างไกลไปจากท่าน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าการกล่าวเช่นนี้ในโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า ความเมตตาทำนองนี้ถือเป็นซุนนะฮฺ (แบบอย่าง) และเป็นกฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺ ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) จะทรงเมตตาพิเศษแก่ปวงบ่าวที่ได้รับการขจัดให้บริสุทธิ์แล้วจากพระองค์ และในช่วงวิกฤติพระองค์จะทรงช่วยเหลือเขาให้รอดปลอดภัยทั้งด้านศีลธรรมและคุณธรรม พระองค์จะทรงปกป้องพวกเขาจากความไร้สาระและบาปกรรม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้คือรางวัลแห่งความบริสุทธิ์ของพวกเขา

6. หนึ่งในความมหัศจรรย์ของอัลกุรอานบทยูซุฟก็คือ ความพิเศษของโองการนี้ที่ได้สาธยายถึงความบริสุทธิ์ของบ่าว ทั้งที่โองการกำลังสาธยายภาพของความรักที่เกาะกุมหัวใจจนมือบอดสนิท แต่พระองค์ก็มิได้ใช้คำอื่นที่จะมาอธิบายสิ่งนี้ให้แจ่มชัด นอกจากความบริสุทธิ์ ขณะที่คำพูดเหล่านี้ได้ถูกสาธยายออกมาจากปากของศาสดาท่านหนึ่งที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เป็นอานารยชน และเป็นสังคมที่พูดจาหยาบคาย แม้กระทั่งนักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางท่าน กล่าวว่าประเด็นนี้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ด้านวาทศาสตร์ของอัลกุรอาน  เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนและมีความประณีตในการการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น และผสมไว้ด้วยความบริสุทธิ์

7. โองการข้างต้นได้แสดงให้เห็นการต่อสู้ที่ยากลำบากและการต่อสู้กับจิตใจตัวเอง และบางที่อาจเป็นเพราะสาเหตุของการต่อสู้กับจิตใจที่ยากลำบากแสนเข็ญนั่นเอง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) จึงได้เรียกการต่อสู้นั้นว่า ญิฮาดอักบัร

แน่นอน ศาสดายูซุฟ (อ.) เป็นผู้ได้รับชนะจากการทดสอบครั้งนี้ เนื่องจากท่านยังคงความบริสุทธิ์เอาไว้ได้เช่นเดิม เนื่องจาก ประการแรก ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ประการที่สอง ท่านรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ประการที่สาม เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจ

บทเรียนจากโองการ :

1. ถ้าหากไม่มีการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วละก็ บุคคลนั้นจะต้องพบกับความสั่นคอน

2. จงเป็นบ่าวที่บริสุทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) เนื่องจากพระองค์จะทรงปกป้องท่านให้พ้นจากความหวาดกลัวทั้งหลาย