อะมีรุ้ลมุอ์มินีน(อ) ตัวแทนของท่านศาสดา

 อะมีรุ้ลมุอ์มินีน(อ) ตัวแทนของท่านศาสดา

 


ชีอะฮฺ ๑๒ อิมาม คือผู้ที่เชื่อและศรัทธาว่าหลังการจากไปของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ศ) ผู้นำโลกอิสลาม คือ ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี(อฺ) และลูกหลานผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๑๑ คนของท่าน (อ)


 แนวความเชื่อและศรัทธามั่นดังกล่าวนี้มีเหตุผลที่ชัดเจนและกระจ่างชัดที่สุด ซึ่งเมื่อได้เห็นแล้วย่อมไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นหลงเหลืออยู่

ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮฺ อันศอรี(ร.ฏ.) ศอฮาบะฮฺคนหนึ่งของท่านศาสดา(ศ) กล่าวว่าวันหนึ่งเมื่อโองการที่กล่าวถึงความจำเป็นในการเชื่อฟังอัลลอฮฺ ศาสนทูตและอุลุลอัมรุ ถูกประทานลงมา ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านศาสนทูตผู้ทรงเกียรติ(ศ)ว่า “พวกเรารู้จักอัลลอฮฺและศาสนทูตแล้ว ส่วนอุลุ้ลอัมรฺคือผู้ใดกันเล่า?”

ท่านศาสนทูต(ศ) ตอบว่า “พวกเขาคืออิมาม(ผู้นำ) และตัวแทนของฉัน คนแรกในหมู่พวกเขาคือ อะลี บิน อะบีฏอลิบ คนต่อมา เรียงตามลำดับก็คือ ฮะซัน, ฮุเซน, อะลี บิน   ฮุเซน, มุฮัมมัด บินอะลี ซึ่งในคัมภีร์เตารอตเรียกว่า บากิร ส่วนท่านโอ้ ญาบิร ก็จะได้พบเขา เมื่อถึงเวลานั้นก็จงฝากสลามของฉันไปยังเขาด้วย หลังจากเขาก็เป็นญะอฺฟัร บินมุฮัมมัด อัศ- ศอดิก , มูซา บินญะอฺฟัร, อะลี บินมูซา, มูฮัมมัด บินอะลี, อะลี บินมุฮัมมัด, ฮะซัน บินอะลี…”

แล้วท่านก็กล่าวว่า “บุตรของฮะซัน บินอะลี จะมีชื่อและสมญานามเดียวกับฉัน”  ผู้นำคนแรก ไม่ว่ายุคสมัยใด ไม่มีสังคมใดที่ถูกปล่อยให้คงอยู่โดยปราศจากซึ่งผู้นำ นี่คือใจความโดยรวมจากความจริงแท้อันนี้

ยังมีสิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ใครก็ตามที่เป้นผู้นำสังคม หากมีความรักความผูกพันต่อความไพบูลย์ของสังคมนั้น เขาจะต้องพยายามอย่างหนัก และด้วยกับอำนาจความรับผิดชอบความรู้และวิสัยทัศน์ที่เขามีอยู่ เขาจะต้องคิดพินิจพิจารณาถึงสภาพปัจจุบัน อนาคตอันใกล้และอนาคตอันไกลที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพของสังคมนั้น เขาจะต้องมีเป้าหมาย มีแบบแผนที่จะทำให้ความเป็นของสังคมเข้าใกล้ความสมบูรณ์พูนสุขอันเป็นที่ปรารถนาให้ได้

จากพื้นฐานดังกล่าวและความจำเป็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้นำนั้น แม้กระทั่งเขาต้องเดินทางไปต่างแดนเพียงชั่วระยะเวลาอันน้อยนิด เขาก็ยังต้องแต่งตั้งตัวแทนขึ้นมา การกระทำดังกล่าวแสดงอยู่ในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้นำทั้งสิ้น หัวหน้าครอบครัว ผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้าโรงงาน ฯลฯ ถ้าไม่อยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงยังต้องมีการแต่งตั้งตัวแทน และสั่งให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ทำหน้าที่แทนตน ในขณะที่ตัวเขาไม่อยู่ ปัญหาดังกล่าวนี้ง่ายต่อการพิจารณามาก ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลใด ๆ มาเสนออีก
ท่านศาสดา(ศ) ผู้เอื้ออาทร และมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล

ท่านศาสดาผู้ทรงเกียรติ (ศ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำสังคมโลกอิสลามในเวลานั้นก็ได้กระทำตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวด้วย

ไม่ว่าที่ใดที่รัศมีของอิสลามเริ่มฉายแสง ไม่ว่าจะมีอาณาบริเวณเล็กหรือใหญ่ปานใด ท่านศาสดาผู้ทรงเกียรติ(ศ) ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองได้อย่างเหมาะสมที่สุด จนกระทั่งได้รับอำนาจการปกครองทั้งมวลมาอยู่ในมือ

ในตอนที่ท่าน (ศ) รวบรวมกองทหารเพื่อทำการออกรบในวิถีทางของอัลลอฮฺ(ซ.บ) ท่าน(ศ) ได้แต่งตั้งผู้บัญชาการรบ และบางทีก็แต่งตั้งผู้ช่วยขึ้นมาอีกหลายคนเพื่อที่ว่า หากใครบางคนถูกสังหาร กองทหารก็จะไม่ขาดซึ่งผู้นำ อีกทั้งเรารู้จักบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ท่านศาสดา(ศ) แต่งตั้งไว้ให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของท่าน(ศ) ในตอนที่ท่าน(ศ) ไม่ได้อยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ เพื่อไม่ให้ในเมืองปราศจากซึ่งผู้นำ

การคาดการณ์ข้างล่างนี้ ข้อใดที่กินกับสติปัญญามากที่สุด หลังการจากไปของท่านศาสดา (ศ) สังคมอิสลามไม่ต้องการผู้นำอีกต่อไป? หรือว่าท่านศาสดา(ศ) ไม่ใส่ใจต่อสังคมมุสลิมภายหลังการจากไปของท่าน(ศ)หรือว่าในตัวของท่าน(ศ) ไม่หลงเหลือความเอื้ออาทร และการเป็นผู้มองการณ์ไกลอีกต่อไปแล้ว? หรือว่าท่าน(ศ) ไม่รู้จักบุคคลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นตัวแทนของท่าน (ศ) ด้วยกับความเมตตาอันเต็มเปี่ยมของท่านศาสดาผู้ทรงเกียรติ(ศ)ท่ามกลางความสมหวังและผิดหวังของวิถีชีวิตของมวลมุสลิม  ท่าน (ศ) ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ และหน้าที่ที่ท่าน (ศ) มีอยู่ ฉะนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ในเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญเช่นนั้น ท่าน (ศ) จะไม่กำหนดอะไรเอาไว้เลย?

ด้วยความเอาใจใส่อย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว ชีอะฮฺอิมามียะฮฺ ได้ทำการค้นคว้าหาหลักฐานเริ่มแรกของอิสลาม และในที่สุดจากการค้นคว้าแหล่งที่มาดังกล่าว ทำให้พวกเขาได้ค้นพบบทสรุปที่ว่า

ท่านศาสดา (ศ) ได้มีคำสั่งที่กระจ่างชัดเพียงพอและสร้างความมั่นใจได้เรื่องการแต่งตั้งตัวแทนของท่าน(ศ) ดังเช่น  อายะฮฺ วิลายะฮ์ ฮะดีษ อัล-เฆาะดีร ฮะดีษซะฟีนะฮ์ ฮะดีษ อัษ-ษะก่อลัยน์  ฮะดีษฮัก ฮะดีษมันซิละฮ์ ฯลฯ   ยังมีอีกหลายเรื่องที่ถูกกล่าว และถูกค้นคว้าแล้วจดบันทึกอยู่ในหนังสือและตำราทางประวัติศาสตร์อื่นๆ จากหลักฐานทั้งหมดเราขอเลือกเอา   “ฮะดีษอัล-ฆอดีร” มานำเสนอ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินด้วยความยุติธรรม   ฮะดีษประวัติศาสตร์ “อัล-เฆาะดีร”

ในปี ฮ.ศ. ๑๐ ท่านศาสดา (ศ) ได้เดินทางไปยังนครมักกะฮ์เพื่อทำฮัจญ์ ฮัจญ์ครั้งนี้ คือ ฮัจญ์ครั้งสุดท้ายของท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ) ด้วยเหตุนี้เอง ในประวัติศาสตร์จึงเรียกฮัจญ์ครั้งนี้ว่า ฮัจญะตุ้ลวิดาอ์ (ฮัจญ์อำลา)

ผู้ที่ร่วมเดินทางไปทำฮัจญ์ครั้งนี้ท่านศาสดา(ศ) ได้เห็น ได้เรียนรู้การทำฮัจญ์ที่ถูกต้องมีถึง ๑๒๐๐๐๐ คน

มีบางกลุ่มอยู่ในนครมักกะฮฺเองก็ได้เข้าร่วมฮัจญ์ด้วย หลังจากที่พิธีฮัจญ์สิ้นสุดลง ขณะกำลังเดินทางกับสู่นครมะดีนะฮฺ ในวันที่ ๑๗ ซุลฮิจญะฮ์ ณ บริเวณที่มีชื่อว่า เฆาะดีรคุม  มีโองการจากอัลลอฮฺ (ซ.บ) ประทานลงมาความว่า    “โอ้รอซูล จงประกาศสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาให้แก่เจ้าจากองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า หากเจ้าไม่กระทำตามนั้น เท่ากับว่าเจ้าไม่เคยประกาศ สาส์นของพระองค์มาเลย อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ที่ปกป้องเจ้าจากมวลมนุษย์..”  (บทอัล- มาอิดะฮฺ: ๖๗)

คำสั่งอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์(ซ.บ) ก็ได้ถูกประทานลงมายังท่านศาสดา(ศ) เริ่มมีเสียงกระซิบจากองคาราวานพิธีฮัจญ์อันศักดิ์สิทธิ์ อัลลอฮฺ (ซ.บ) คงมีคำสั่งอะไรลงมาแล้ว ทุกคนรอคอยคำสั่งดังกล่าว

ทันใดนั้นเอง ท่านศาสดา (ศ) ได้ออกคำสั่งให้ทุกคนที่ได้เดินรุดหน้าไปแล้วย้อนกลับมาก่อน ส่วนผู้ที่เดินอยู่รั้งท้ายก็ให้รีบเดินทางมาสมทบ ทุกคนได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นอย่างพร้อมเพรียงกัน กองคาราวานอันมหึมาได้มาหยุดยืนยันกันตามคำสั่งของท่านศาสดา(ศ) เพื่อรับฟังการแจ้งข่าวบางประการ ณ ท้องทะเลทราย ซึ่งทุกคนก็ทราบดีถึงความแห้งแล้งไร้ตาน้ำใดๆ นั่นคือ เฆาะดีรคุม มันเป็นช่วงเวลาเที่ยงพอดี แสงแดดกำลังแผดเผา ข่าวอะไรกัน? ถึงขนาดที่ท่านศาสดา (ศ) สั่งให้ทุกคนมาหยุดยืนฟังท่านกลางสภาพอันร้อยระอุนั้น เวลานั้นเอง เสียงอะซานได้เริ่มขึ้น ทุกคนได้ร่วมนมาซกับท่านศาสดา(ศ) บัลลังก์ที่อยู่บนหลังอูฐถูกจัดเตรียมขึ้น ท่านศาสดา(ศ) หยุดยืนบนนั้น หัวใจของทุกคนเต้นแรงขึ้น ความเงียบได้ปกคลุมทะเลทรายแห่งความเงียบสงบ ทุกคนใจจดใจจ่อที่จะรับฟังข่าวสำคัญนั้น

ท่านศาสดา (ศ) เริ่มต้นการปราศรัยของท่านด้วยเสียงอันนุ่มนวลประหนึ่งดั่งหยดน้ำที่พุ่งขึ้นไปกระทบกับอากาศฉันนั้น มันได้สลายความร้อนแรงของแสงแดด ประชาชาติผู้กระหายภายใต้แสงแดดที่แผดเผาด้วยกับการจ้องสดับฟัง สุรเสียงของท่านศาสดา(ศ) หัวใจของพวกเขาเริ่มอิ่มเองและพองโตขึ้น

ท่านศาสดา(ศ) กล่าวว่าคำสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ) แล้วเอ่ยขึ้นว่า “ฉันและพวกท่านมีหน้าที่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย พวกท่านจะกล่าวในเรื่องนี้อย่างไรกัน”

เสียงตอบมาจากทุกทิศทุกทาง

“พวกเราขอยืนยันว่า ท่านได้ทำหน้าที่เผยแผ่สาส์นนั้นแก่เราแล้ว ท่านได้พยายามอย่างดีที่สุดตามแนวทางนี้ อัลลอฮฺ (ซ.บ) จะทรงตอบแทนท่านอย่างดีที่สุด”

ท่านศาสดา(ศ) กล่าวต่อไปว่า “แล้วพวกท่านจะไม่ยืนยันความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ(ซ.บ)และศาสนทูตของพระองค์ อีกทั้งยืนยันถึงความเป็นสัจจริงของสวรรค์ นรก ความตาย ชีวิตหลังความตายกระนั้นหรือ?”

มีเสียงตอบว่า

“พวกเราขอยืนยันตามนั้น”

ท่าน (ศ)  แหงนหน้าสู่ท้องฟ้าแล้วกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงเป็นพยานด้วย”  แล้วท่าน (ศ)  ก็หันกลับมามองที่กลุ่มชนพลางกล่าวว่า

“ประชาชนทั้งหลาย ฉันและพวกท่านจะได้พบกันข้างบ่อน้ำ อัล- เกาษัร จงสังวรไว้ด้วยว่า หลังจากฉัน จากพวกไปแล้วพวกท่านจะกระทำอย่างไรต่อสิ่งหนักอันมีค่ายิ่งสองสิ่ง?”

มีเสียงถามกลับมาว่า

“โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ สิ่งหนักทั้งสองคืออะไรกัน?”

ท่าน (ศ)  ตอบว่า “มันทั้งสองคือ คัมภีร์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ) และอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน

(อัลลอฮ์(ซ.บ) ได้แจ้งแก่ฉันว่า) สิ่งทั้งสองจะไม่แยกจากกันจนกระทั่งไปถึงยังฉัน ข้างบ่ออัล- เกาษัร ผู้ใดที่ทำตัวล้ำหน้าพวกเขาจะต้องได้รับความหายนะ และผู้ใดที่ทำตัวล้าหลังเขาก็จะพบกับความหายนะเช่นกัน”  ทันใดนั้นเองท่าน (ศ) ได้ชูมือท่านอะลี (อฺ) ขึ้นให้ทุกคนได้เห็น แล้วเริ่มต้นประกาศโองการจากฟากฟ้า เรื่องตัวแทนของท่าน

“อัยยุฮันนาซ มันเอาลันนาซิบิ้ลมุอ์มินีน มินอันฟุซิฮิม”

(โอ้ประชาชาติทั้งหลาย ใครคือผู้ที่เหมาะสมยิ่งในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย ที่สมควรจะได้รับการจงรักภักดีจากผู้ศรัทธาทุกคนยิ่งกว่าตัวของพวกเขาเองเสียอีก)

เสียงตอบดังกระหึ่มว่า

“อัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์รู้ดียิ่ง”

ท่านศาสดา(ศ) กล่าวด้วยสุรเสียง อันดังว่า“อัลลอฮ์(ซ.บ) ทรงมีวิลายะฮ์ (อำนาจแห่งการได้รับการจงรักภักดี) เหนือฉัน และฉันก็มีความเหมาะสมที่จะได้รับวิลายะฮ์เหนือทุกคนยิ่งกว่าตัวของพวกเขาเองเสียอีก  มันกุนตุเมาลาฮุ ฟะฮาซาอะลียุนเมาลาฮ์

(ผู้ใดที่ฉันเป็น เมาลา ผู้มีอำนาจวิลายะฮ์ ของเขา อะลีคนนี้ก็เป็นเมาลาผู้มีอำนาจวิลายะฮ์ ของเขาด้วย)

โอ้พระผู้อภิบาลของฉันได้โปรดประทานความรักความเมตตาแก่ผู้ที่รักและเป็นมิตรกับเขา และได้โปรดเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์และจงเกลียดจงชังเขา ได้โปรดอนุเคราะห์ผู้ที่ช่วยเหลือเขา และโปรดทำให้ผู้ที่ขับไล่ไสส่งเขาให้ได้รับความตกต่ำ

จงฟังให้ดี ผู้ที่อยู่ที่นี่ต้องแจ้งเรื่องนี้ใหกั้บผู้ไม่ได้อยู่ที่นี่ให้รับรู้ด้วย

ไม่ทันที่ประชาชนจะแยกย้ายกันไป โองการหนึ่งก็ถูกประทานลงมาความว่า

“วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งยังได้ประทานความโปรดปรานของฉันอย่างเต็มบริบูรณ์ให้แก่สูเจ้า และฉันก็พึงพอใจแล้วที่จะให้อิสลามเป็นศาสนาของเจ้า”  (บทอัล- มาอิดะฮฺ:๓)

ท่านศาสดา (ศ) กล่าวด้วยสุรเสียงอันดังว่า

“อัลลฮุอักบัร ศาสนาของอัลลอฮฺ (ซ.บ) สมบูรณ์แล้ว พระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อริซาละฮฺ (การรับและเผยแผร่สาส์นอิสลาม) ของฉัน

และอิมามะฮฺ(ฐานภาพการเป็นผู้นำ) ของอะลีภายหลังจากฉัน” หลังจากพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่สิ้นสุดลง ประชาชนรีบเข้ามาแสดงความยินดีต่อท่านอิมามอะลี(อฺ) กลุ่มบุคคลที่อยู่ในแถวหน้าที่เข้ามาร่วมแสดงยินดีต่อท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี(อฺ) ก็คือ ท่านอะบูบักร์ (คอลีฟะฮ์คนที่หนึ่ง) และท่านอุมัร (คอลีฟะฮ์คนที่สอง) ท่านทั้งสองกล่าวในทำนองเดียวกันว่า “บัคคิน บัคคินละกะยาอะลี อัศบะฮฺตะเมาลายะ วะเมาลากุลลิมุอ์มินีนวะ มูอ์มินะฮฺ”

“ (ช่างวิเศษเสียจริงๆ ท่านอะลีเอ๋ย ท่านได้เป็นเมาลา ผู้มีอำนาจเต็มในการได้รับการจงรักภักดีรองจากอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ ของฉันและเมาลาของมุอ์มินทุกคนทั้งชายและหญิง”