รู้จักนะฮ์ญลบะลาเฆาะฮ์ ตอนที่ 7
รู้จักนะฮ์ญลบะลาเฆาะฮ์ ตอนที่ 7
วิทยปัญญาจากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์
1.ฮิกมะตุลนะซอรียะฮ์( Theoretical Philosophy) เป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงหลักอภิปรัชญา ปัญหาในเรื่องสภาวะการมีและการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ การกำเนิดของเอกภพ การกำเนิดของโลก ปัญหาในเรื่องพระเจ้า เทวเทพ โลกหลังจากตาย หรือชีวิตหลังความตาย วิญญาณฯลฯ ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงนามธรรมที่เป็นทฤษฎีและหลักคิด เป้าหมายของการศึกษา เพื่อค้นคว้าและสืบค้นถึงสภาวะความจริงแท้ของสิ่งที่มีอยู่ และสามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นสภาวะแท้ออกจากสิ่งที่เป็นสภาวะพึ่งพา เป็นเรื่องราวทางปรัชญา และหลักอภิปรัชญา เป็นวิทยปัญญาระดับสูง เป็นการเรียนรู้และการเข้าถึงแก่นของสารัตถะเหล่านั้นได้อย่างท่องแท้ โดยอาศัยปัญญาและหลักคิดทางปรัชญาเท่านั้น
2.ฮิกมะตุลอะมาลียะฮ์ ( Practical Philosophy )เป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงภาคของการปฎิบัติ การเข้าถึงจิตวิญญาณ การเรียนรู้สิ่งควรและสิ่งที่ไม่ควร การทำให้จิตบริสุทธิ์ปราศจากมลทินใดๆ การขัดเคลาจิตใจเพื่อบรรลุระดับขั้นสูงสุด นั่นคือการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมไปถึงการบริหารจัดการบ้านเมือง และการปกครองประเทศทางด้านรัฐศาสตร์
นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ถือว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมหลักปรัชญาทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฎิบัติไว้อย่างน่าสนใจ เราคงจะได้นำเนื้อหานั้นมาแจกแจงและสังเคราะห์กันในตอนต่อๆไป
คำสอนที่มีความโดดเด่นและถือว่าเป็นคลังแห่งวิทยปัญญาที่แท้จริง ซึ่งได้รวบรวมทั้งฮิกมะตุลนะซอรียะฮ์และฮิกมะตุลอะมะลียะฮ์(วิทยปัญญาเชิงทฤษฎีและเชิงปฎิบัติ) เพราะว่าถ้อยคำและสุนทโรวาทเหล่านั้นมาจากมหาบรุษผู้ยิ่งใหญ่ อิมามอะลี บิน อะบีฎอลิบ(อ) เป็นผู้มีวิทยปัญญาระดับสูงทั้งเชิงทฤษฎีหลักคิดอันทรงพลังและเชิงปฎิบัติที่แคล้วคล่อง อิมามอะลีเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ เป็นทายาททางวิชาการจากศาสดาอิสลาม
อิมามอะลี(อ)ผู้มีวาทศิลป์ทางโวหารอันเป็นเลิศ และถือว่าเป็นปาฎิหารย์อย่างหนึ่ง ที่ได้สำแดงออกมาเป็นถอ้ยคำพูด นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ถือว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวิชาการและเป็นคำสอนเชิงวิทยปัญญาระดับสูงของอิสลามอีกด้วย อิมามอะลี(อ)อยูในฐานะของผู้มีวิทยปัญญาระดับสูง
อิมามอะลีได้กล่าวว่า
“ศาสดาผู้ทรงเกียรติได้นำข้าฯอยู่ในอ้อมตักของท่านและได้อบรมดูแลข้าฯ และข้าฯได้เจริญเติบโตภายใต้ร่มเงาแห่งศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ประตูแห่งวิทยาการได้ถูกเปิดแก่ข้าฯทุกวัน และข้าฯยังได้เดินตามรอยเท้าของศาสดาไปยังถ้ำฮีรอห์และได้นมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้ากับศาสดา
ดังนั้นข้าได้เห็นวิถีชีวิตศาสดาในสิ่งต่างๆที่คนอื่นไม่เห็น และข้าได้เห็นรัศมีแห่งวิวรณ์ และสาส์น(แห่งพระผู้เป็นเจ้า) และข้ายังได้ดมกลิ่นอายแห่งศาสนทูตอีกด้วย” (เทศนาธรรม(คุฎบะฮ)ที่ 192 นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์)
อิมามอะลีได้กล่าวว่า
“บรรดาแอ่งน้ำเหล่านั้น(แห่งวิทยปัญญา)ได้มีแหล่งที่มาออกมาจากข้าฯ และข้าฯเสมือนภูผาแห่งตาน้ำ และไม่มีวิหคใดที่จะบินไปถึงข้าฯได้เลย(ความสูงส่งทางวิทยปัญญาและความเป็นปราชญ์)”(คุฎบะฮ์ที่3)
บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน