รหัสยะนัยแบบลัทธิซูฟี ว่าด้วยเรื่องมนุษย์ ความรัก และพระเจ้า ตอนที่ 2

รหัสยะนัยแบบลัทธิซูฟี ว่าด้วยเรื่องมนุษย์ ความรัก และพระเจ้า ตอนที่ 2

 

จุดมุ่งหมายปลายทางสูงสุดลัทธิซูฟี

 

ก่อนที่เราจะนำกรอบความเชื่อของลัทธิซูฟีมากล่าวถึงเรื่องมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว และพวกเขามีมุมมองค่อนข้างที่แตกต่างกับนักปรัชญาและแตกต่างกับนักเทววิทยาเสียด้วยซ้ำ  แต่นั่นไม่ใช่ความน่าสนอกสนใจต่อพวกเขามากไปกว่า สารัตถะที่พวกเขาได้มีมุมมองต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างไร ว่ากันว่า กลุ่มซูฟีเองได้เพียรพยายามจะสร้างคุณค่าของคนและการเข้าใจมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ตัดสินผู้ใดจากภาพลักษณ์ภายนอก หรือการมองคนอื่นในแค่ร้ายอะไร

ทำนองนั้น   เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี ได้พยายามสอนสังคมและพยายามให้ปวงปราชญ์มองความเป็นจริงต่อวิถีของมนุษย์  ซึ่งเขารู้สึกว่าการประหัตประหารกันหรือการให้ร้ายต่อกันและกันไม่ใช่วิถีแห่งธรรมะและไม่ใช่ผู้บรรลุธรรม   เขาได้กล่าวตำหนิในเรื่องการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ว่ามนุษย์มีวัฒนธรรมหลากหลายและมีความเป็นพหุวัฒนธรรม และต้องให้เกียรติระหว่างกันและกันว่า

 

…”ดูกร ฉันเป็นคนไม่มีอะไรกับศาสนา  ไม่มีศาสนาใดที่น่าเชื่อถือสำหรับฉัน เพราะเมื่อเกิดศาสนาใหม่ๆ ขึ้น  ก็จะมาพร้อมกับความขัดแย้ง  ความอาฆาตการเป็นศัตรูกันเพิ่มมากขึ้น สงครามศาสนาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

   หลั่งเลือดกันนองแผ่นดินในนามของ “ศาสนา”ไม่มีทั้งมุสลิม เทเรซ่าและยิว มีแต่สติปัญญาเท่านั้นที่ต้องใช้สติปัญญาบอกว่าความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับผู้อื่น

 

      แต่ศาสนาบอกว่านั่นเลือดบรรดาผู้ปฏิเสธ หากได้หลั่งเลือดย่อมมีรางวัลที่ยิ่งใหญ หากไตร่ตรองดูแล้วเขาก็คือมนุษย์ เหตุใดเล่าจึงกล่าวว่า หลั่งเลือดได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ฉันเป็นคนไม่มีศาสนา เพื่อจะได้ไม่หลั่งเลือดกันและกัน เจ้าก็เช่นกันโอ้ลูกรัก จงใช้สติปัญญา จงเป็นมิตรกับผู้คนบนโลกใบนี้  นั่นแหละคือศาสนาที่ดีที่สุด”

 

ลัทธิซูฟีได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องมนุษย์เป็นอย่างมากและมีมุมมองว่ามนุษย์สามารถก้าวพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดในการเป็นอารยบุคคล โดยพวกเขาได้นำเสนอมุมมองเรื่อง”อินซาน อัล กามิล”(Perfect Man)  ภาวะมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือถ้าจะกล่าวในนิยามของพุทธศาสนาคือ ความเป็นโพธิสัตว์ เป็นภาวะของมนุษย์ที่บรรลุธรรมที่สามารถเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองโลก คือโลกแห่งวัตถุและโลกแห่งจิตวิญญาณได้อย่างสมดุล  และในเรื่องมนุษย์สมบูรณ์ความความเชื่อของลัทธิซูฟี ในพุทธศาสนาเองก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ แต่เราคงจะนำมากล่าวในตอนต่อๆไปนะครับ

 

ความน่าสนใจของกระบวนทัศน์ลัทธิซูฟีคือพวกเขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ในการแสวงหาตัวตนมากกว่ามิติอื่นๆ  โดยมุ่งเน้นภาวะการไปถึงมนุษย์สมบูรณ์ที่สามารถสำแดงออกถึงจิตวิญญาณกับพระผู้เป็นเจ้า เป็นภาวะของความสมบูรณ์ด้านจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์  ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นอยู่ในฐานะบุคคลที่บรรลุถึงฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์หรือเรียกว่า”อินซาน อัลกามิล”

 

อะบูอะลี อิบนิ ซีนา(นักปรัชญามุสลิม) กล่าวว่า”ผู้ประจักษ์แจ้งแห่งพระเจ้า(อาริฟ) พวกเขาจะแสวงหาพระเจ้าเท่านั้น พวกเขาไม่สนใจเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ เพราะในสายตาพวกเขาไม่มีสิ่งใดสำคัญมากไปกว่าและไม่มีสิ่งใดๆมีคุณค่ามากไปกว่า การรู้แจ้งทางจิตวิญญาณ พวกเขาจะภักดีต่อพระอัลลอฮ์ด้วยความรัก เพราะว่าการภักดีเป็นสิทธิที่จะต้องปฏิบัติเพราะว่ามันเป็นการเหมาะสมสำหรับพระองค์เท่านั้น และเป็นการแสดงออกที่งดงามในความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อพระเจ้า การปฎิบัติธรรมและการนมัสการทางธรรมของบรรดาผู้ประจักษ์แจ้งแห่งพระเจ้า(อาริฟ)จึงอิสระจากพื้นฐานใดๆของความกลัวหรือความหวังที่จะได้รับรางวัล”กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อาริฟ เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียวอย่างสมบูรณ์ในวัตถุประสงค์แห่งเป้าหมายของเขา พวกเขาแสวงหาอัลลอฮเท่านั้นเขามิได้แสวงหาพระองค์เพื่อเห็นแก่การได้รับประโยชน์ใดๆในโลกนี้หรือโลกหน้า เพราะว่าถ้าพวกเขากระทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่า เป้าหมายที่สำคัญของเขาจะเป็นประโยชน์ต่างๆเหล่านี้ และเขาจะแสวงหาอัลลอฮก็เพียงหมดของพวกเขา ในกรณีนี้พระเจ้าที่แท้จริงของเขาจะต้องพบได้ กล่าวคือตัวตนระดับต่ำของเขา จะต้องได้รับความพึงพอใจ และจะต้องปีติยินดีในสิ่งที่เขาต้องการ เหนือสิ่งใดทั้งมวล อะบู อะลี อิบนิ สินา กล่าวอีกว่า บรรดานักซูฟี(อาริฟ)พวกเขาได้สักการะ(อิบาดะฮ์) ด้วยเหตุผลเพราะองค์อัลลอฮ์สมควรที่จะได้รับการสักการะ อีกเหตุผลหนึ่งคือว่า การสักการะ(อิบาดะฮ์)ในตัวมันเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะมันสำแดงออกซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า มันเป็นงานที่กระทำอย่างมีคุณค่า เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องหวังรางวัลหรือกลัวการลงโทษใดๆที่จะมาเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการสักการะและปฎิบัติธรรมต่ออัลลอฮ์ อิมามอะลี บินอะบีตอลิบได้กล่าวว่า”โอ้ องค์อัลลอฮ ข้าพระองค์มิได้สักการะพระองค์เพราะว่าข้าพระองค์หวาดกลัวขุมนรก หรือเป็นเพราะว่าข้าพระองค์หวังที่จะได้สวนสวรรค์นั้นไม่ แต่ข้าพระองค์ปฎิบัติธรรมสักการะต่อพระองค์ เพราว่าข้าพระองค์ได้พบแล้วว่า พระองค์เป็นผู้ทรงดำรงที่ควรค่าแก่การสักการะ(อิบาดะฮ์)ที่สุด”

 

คุณค่าของการปฎิบัติธรรมและการจาริกทางจิตวิญญาณของลัทธิซูฟีนั้นได้ถูกอ้างถึงในฐานะที่เป็นเหตุผลของการภักดีเชื่อฟังอีกทั้งเป็นบรรไดของการเข้าถึงความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์โดยถือว่าการสำแดงออกด้วยการปฎิบัติทางจริยธรรมและการเก็บเกี่ยวผลจากจริยะนั้นเป็นการเข้าใจตัวตนมนุษย์ในจุดเริ่มต้น ดังนั้นบรรดานักซูฟีได้เน้นประเด็นที่ว่า ถ้าจุดมุ่งหมาย ในชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งอื่นนอกจากพระเจ้าแล้วไซร้ พวกเขาก็จะเกิดความรู้สึกผิดและถือเป็นอุปสรรคในการบรรลุความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

 

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน