เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เปิดประวัติ อายะตุลอฮ์ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เปิดประวัติ อายะตุลอฮ์ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์

 

อายะตุลลอฮ์ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ถือกำเนิดในเมืองกาซิมัยน์ วันที่ 25 ซุลเกาะอ์ดะฮ์ ฮ.ศ. 1353 ท่านได้สูญเสียบิดาในขณะที่มีอายุได้สามขวบ มารดาผู้ประเสริฐของท่าน (1) รับหน้าที่ในการเลี้ยงดูและอบรมขัดเกลาท่าน และพี่ชายคนโตของท่านซึ่งมีนามว่า “ซัยยิดอิสมาอีล” ได้สอนหนังสือแก่ท่าน ท่านไปโรงเรียนขณะที่มีอายุได้ 5 ขวบ และต่อมาไม่นานชื่อเสียงในด้านความเป็นอัจฉริยะที่ไม่มีใครเทียบ และความสามารถที่เปี่ยมล้นของท่านดังขจรกระจายไปทั่วเมือง ด้วยการแนะนำสั่งเสียของน้าของท่าน คือ “เชคมุฮัมมัดริฎอ อาลุยาซีน” และ “เชคมุรตะฎอ อาลุยาซีน” ท่านจึงหันมาศึกษาด้านศาสนศาสตร์ ท่านได้ศึกษาหนังสือมันติก (ตรรกะ) และอัลมะอาลิมกับพี่ชายของท่านในขณะที่มีเพียงอายุ 12 ปี และศึกษาค้นคว้าตำราต่างๆ หลักสูตรการศึกษาระดับสูง (อาลี) เกี่ยวกับฟิกฮ์ (นิติศาสตร์) และอุซูล (หลักนิติศาสตร์) ด้วยตนเองโดยปราศจากครูผู้สอน และได้ใช้เวลาเพียงสั้นๆ ในการศึกษาหลักสูตรระดับพื้นฐาน (ซัฏห์)

 

ในปี ฮ.ศ. 1365 ท่านได้เดินทางจากเมืองกาซิมัยน์สู่เมืองนะญัฟ อัลอัชร็อฟ เพื่อการศึกษาต่อ และเข้าร่วมในบทเรียนของเชคมุฮัมมัดริฎอ อาลุยาซีน พี่ชายของท่าน และบทเรียนของท่านอายะตุลลอฮ์อัลคูอี เนื่องจากความสามารถพิเศษและความปราดเปรื่องของท่านจึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ท่านได้ไปถึงระดับของการอิจญ์ติฮาด (ความเป็นมุจญ์ตะฮิดผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนา) ก่อนจะบรรลุวัยศาสนภาวะ (บาลิฆ) และในขณะมีอายุเพียง 15 ปี ท่านได้เป็นเจ้าของคำฟัตวา (คำตัดสินชี้ขาดปัญหาศาสนา) นอกเหนือจากนี้บทเรียนต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในสถาบันการศึกษาศาสนา (เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์) ในขณะนั้นท่านยังได้ศึกษาวิชาปรัชญากับ “เชคศ็อดรอ บอดกูเบฮ์อี” และได้ศึกษาค้นคว้าปรัชญาร่วมสมัยของยุโรปอย่างละเอียด

 

ในวัย 20 ปี ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ท่านได้สอนหนังสือ “กิฟายะตุลอุซูล” ในวัย 25 ปี ได้สอนหลักสูตรการศึกษาหลักการนิติศาสตร์ระดับสูง (คอริจญ์  อุซูล) ในวัย 28 ปี ได้เริ่มต้นการสอนนิติศาสตร์ระดับสูง (คอริจญ์ ฟิกฮ์) ตามพื้นฐานของหนังสือ “อัลอุรวะตุลวุษกอ” และได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ในเนื้อหาของทั้งสองวิชาการคือ “ฟิกฮ์” และ “อุซูล” เคียงคู่กับการเรียบเรียงและการประพันธ์หนังสือในสาขาต่างๆ ของวิชาการอิสลาม ท่านยังได้ทุ่มเทความสนใจเป็นพิเศษในการสอนและการอบรมขัดเกลาบรรดาสานุศิษย์ที่มีคุณธรรมและมีความเคร่งครัด ท่านคือนักนิติศาสตร์ นักวิชาการที่มีความรู้ปราดเปรื่องในปัญหาและความจำเป็นต่างๆ ทางด้านแนวคิดและการเมืองของโลกอิสลาม อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญและความยำเกรง (ตักวา) ต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

ในปี ค.ศ. 1958 ที่นายพลอับดุลการีม กอซิม ได้ล้มล้างระบอบกษัตริย์ของอิรัก และประกาศการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้นในประเทศ โดยอาศัยโอกาสของเสรีภาพทางการเมืองที่นายพลอับดุลการีม กอซิม ได้สร้างขึ้นแก่พวกเขา ผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เริ่มเปิดตัวกระแสคลื่นของการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่แนวคิดการปฏิเสธพระเจ้าและการต่อต้านอิสลามขึ้นในอิรัก ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับการไหลบ่าเข้ามาของการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว นักวิชาการศาสนาของชีอะฮ์ในอิรักกลุ่มหนึ่งจึงได้จัดตั้ง “ญะมาอะตุลอุละมาอ์” (คณะนักวิชาการศาสนา) แห่งเมืองนะญัฟขึ้น แม้ว่าท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ จะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ แต่ท่านรับผิดชอบบทบาทการเป็นผู้นำหลักของกลุ่ม เพื่อที่จะต่อสู้กับกระแสแนวคิดปฏิเสธของรัฐบาลอิรัก “ญะมาอะตุลอุละมาอ์” ได้ออกแถลงการณ์และการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ต่างๆ ทางการเมืองและอุดมการณ์ นิตยสาร “อัลอัฎวาอ์” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1961 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเหล่านี้ และบทบรรณาธิการ 5 ฉบับแรกของนิตยสารเล่มนี้ เขียนโดย ท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ภายใต้หัวข้อ “ริซาละตุนา” (สาส์นของเรา)

 

       โดยคำเสนอแนะของท่านอายะตุลลอฮ์ อัลอุซมาซัยยิดมุห์ซิน ฮะกีม ด้วยจุดประสงค์ที่จะโต้ตอบสำนักคิดทางปรัชญาของลัทธิคอมมิวนิสต์ การนำเสนอสำนักคิดทางปรัชญาของอิสลามและข้อดีต่างๆ ที่เหนือกว่าของมัน ท่านจึงได้เขียนหนังสือ “ฟัลซะฟะตุนา” (ปรัชญาของเรา) ขึ้นในปี ค.ศ. 1379 หลังจากนั้นเพื่อที่จะแนะนำระบบเศรษฐกิจอิสลามและจุดเด่นต่างๆ ของมันที่มีเหนือระบบเศรษฐกิจของลัทธิสังคมนิยมและลัทธิทุนนิยม ท่านจึงได้เขียนหนังสือ “อิกติซอดุนา” (เศรษฐศาสตร์ของเรา) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1381 และในเดือนร่อบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 1377 นักวิชาการผู้มีความเข้าใจและเป็นนักต่อสู้ชาวชีอะฮ์แห่งอิรัก พยายามที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดแห่งอิสลาม และได้ตั้งชื่อพรรคนี้ว่า “ฮิซบุดดะอ์วะตุลอิสลามียะฮ์” (พรรคการเรียกร้องเชิญชวนแห่งอิสลาม) นอกเหนือจากการสนับสนุนพรรคนี้แล้ว ท่านอายะตุลลอฮ์มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ยังได้เขียนแบบแผนและกฎระเบียบของพรรคนี้อีกด้วย แต่ท่านมีความเชื่อว่า สถานะของนักวิชาการศาสนาในขณะนั้นไม่สมควรที่จะเข้าสู่องค์กรการจัดตั้งต่างๆ ทางด้านการเมือง แต่จะรับผิดชอบบทบาทอันสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณของความเป็นนักการศาสนา และด้วยคำแนะนำของท่านอายะตุลลอฮ์มุห์ซิน ฮะกีม ตัวท่านเองจึงได้ลาออกจากพรรค


หลังจากที่ท่านอิมามโคมัยนี ถูกเนรเทศจากอิหร่านไปยังประเทศตุรกี ท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อท่าน และหลังจากที่ท่านอิมามถูกเนรเทศต่อไปยังเมืองนะญัฟ อัลอัชร็อฟ ในวันที่ 9 ญะมาดุษษานี ฮ.ศ. 1385 ท่านพร้อมกับนักวิชาการศาสนากลุ่มหนึ่งของเมืองนะญัฟ ได้ไปให้การต้อนรับท่านอิมามอย่างอบอุ่น ตลอดช่วงเวลา 13 ปี ที่ท่านอิมามโคมัยนีพำนักอาศัยอยู่ในอิรักนั้น ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างฉันท์มิตรต่อท่าน หลังจากการอสัญกรรมของท่านอายะตุลลอฮ์มุห์ซิน ฮะกีม ในปี ฮ.ศ. 1390 ยุคแห่งการเป็นมัรเญียะอ์ตักลีดของอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้เริ่มต้นขึ้น ประชาชนชาวอิรักจำนวนมากได้ตักลีด (ปฏิบัติตาม) ท่าน ในช่วงปีเหล่านั้นเองที่ท่านได้พยายามที่จะสร้างเป้าหมายและองค์กรต่างๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางด้านแนวคิดและสังคมของสังคมขณะนั้น และจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในทัศนะของท่าน รัฐในอุดมคติในยุคแห่งการฆ็อยบะฮ์ (การเร้นกาย) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือรัฐอิสลามที่วางอยู่บนพื้นฐานสองประการคือ “วิลายะตุลฟะกีฮ์” (อำนาจการปกครองของนักการศาสนา) และ “รัฐสภา”


หลังจากขึ้นสู่ตำแหน่งมัรเญียะอ์ตักลีดอย่างเป็นทางการ ท่านได้ออกฟัตวา (คำตัดสินชี้ขาดปัญหาศาสนา) ครั้งประวัติศาสตร์ว่า “พรรคบาธคือผู้ปฏิเสธอิสลาม” เนื้อหาของคำฟัตวามีดังนี้คือ “ขอประกาศแจ้งแก่ชาวมุสลิมทั้งมวลว่า การเข้าร่วมพรรคบาธ ไม่ว่าจะในฐานะใดๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ตามศาสนบัญญัติ และความร่วมมือใดๆ กับพรรคนี้ อยู่ในฐานะการให้ความช่วยเหลือต่อผู้กดขี่และผู้ปฏิเสธ และความเป็นศัตรูต่ออิสลามและชาวมุสลิม” ประมาณสองปีต่อมาพรรคบาธแห่งอิรักเกิดความหวาดกลัวต่อการเคลื่อนไหวต่างๆ ของพรรคดะอ์วะตุลอิสลามียะฮ์และกลุ่มนักต่อสู้อื่นๆ พวกเขาจึงได้จับกุมและคุมขังบรรดานักต่อสู้ (มุญาฮิด) จำนวนมาก และในเดือนร่อญับ ปี ฮ.ศ. 1392 พวกเขาได้จำกุมท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ซึ่งกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในเมืองนะญัฟ อัลอัชร็อฟ และย้ายตัวท่านไปยังโรงพยาบาลในเมืองกูฟะฮ์ แต่เนื่องจากการประท้วงอย่างกว้างขวางของบรรดานักวิชาการศาสนาและประชาชน พวกเขาจึงต้องปล่อยตัวท่านให้เป็นอิสระ


 ในปี ฮ.ศ. 1394 เพื่อที่จะข่มขู่ท่านอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์และบรรดานักต่อสู้คนอื่นๆ ให้เกิดความหวาดกลัว รัฐบาลอิรักจึงจับกุมสานุศิษย์ของท่านห้าคนและประหารชีวิตพวกเขา ในช่วงอัรบะอีน (การรำลึกครบรอบ 40 วันของการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน) ในปี ฮ.ศ.1397 โดยคำสั่งของท่านอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ การชุมนุมของประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนในการไว้อาลัยแด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในเมืองกัรบะลาอ์และเมืองนะญัฟ ได้เปลี่ยนเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของพรรคบาธ ในวันรุ่งขึ้นกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาลอิรักได้จับกุมบรรดาผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมาก และได้คุมขังทรมานพวกเขา และท่านอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ก็ถูกจับกุมเป็นครั้งที่สอง และหลังจากการทำร้ายและทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านจึงถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ

 

เพื่อที่จะทำลายการเคลื่อนไหวต่างๆ ของอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ รัฐบาลของพรรคบาธแห่งอิรัก จึงส่งนักการศาสนาผู้เป็นขี้ข้ารับใช้กลุ่มหนึ่งไปยังมัสยิดของเมืองต่างๆ ในนามอิมามญะมาอะฮ์และนักเทศนาธรรม และครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่คำฟัตวาของอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้ทำให้แผนการอันชั่วร้ายของรัฐบาลพรรคบาธต้องประสบกับความล้มเหลว คำฟัตวาของท่านมีเนื้อความดังนี้ “ขอประกาศแจ้งแก่มุสลิมชาวอิรักทุกคนว่า การเข้าร่วมในนมาซญะมาอะฮ์กับบรรดา (อิมาม) ผู้ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากบรรดามัรเญียะอ์ตักลีดของมวลมุสลิม ที่เป็นไปตามบทบัญญัติอิสลาม ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม)”

 

การยกระดับขึ้นสู่จุดสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน โดยการนำของท่านอิมามโคมัยนี ในปี 1357 (ค.ศ. 1978) รัฐบาลอิรักหวาดกลัวอย่างรุนแรงว่าจะเกิดในการปฏิวัติที่คล้ายคลึงกันขึ้นในประเทศอิรัก จึงหาทางที่จะทำลายการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน แต่อายะตุลลอฮ์มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ เนื่องจากล่วงรู้ถึงแผนและเป้าหมายต่างๆ ที่ชั่วร้ายของพรรคบาธแห่งอิรัก ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านได้เขียนส่งไปถึงท่านอิมามโคมัยนี ณ กรุงปารีส ท่านได้กล่าวยกย่องเชิดชูการยืนหยัดต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญของประชาชนมุสลิมแห่งอิหร่านภายใต้การนำของท่านอิมาม ด้วยความบริสุทธิ์ใจและความกล้าหาญอย่างเต็มที่ ท่านได้ประกาศความพร้อมของท่านที่จะร่วมมือกับท่านอิมามโคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติและประชาชนผู้หาญกล้าแห่งอิหร่าน

 

 หลังจากนั้นท่านยังได้เขียนจดหมายส่งไปยังบรรดาสานุศิษย์และสมัครพรรคพวกของท่านที่อยู่ในอิหร่าน และออกคำสั่งแก่บุคคลเหล่านั้นให้ร่วมมือกับประชาชนนักปฏิวัติแห่งอิหร่าน อย่าได้ยับยั้งตนจากการพลีอุทิศตนเองในหนทางแห่งชัยชนะของการปฏิวัติอิสลาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและอุดมคติของศาสนาอิสลาม และจงหลอมตัวเองเข้าอยู่ในการเชื่อฟังท่านอิมามโคมัยนี เสมือนดังที่ท่านได้หลอมตัวเองเข้ากับหนทางของการทำให้บรรลุซึ่งเป้าหมายและอุดมคติต่างๆ แห่งอิสลาม ในคำฟัตวาหนึ่งท่านถือว่าผู้ที่เป็นชะฮีดในการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านนั้น ประดุจเช่นเดียวกับผู้ที่เป็นชะฮีดในการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในคำฟัตวาที่สำคัญครั้งนี้ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อที่เลวร้ายและอคติของรัฐบาลพรรคบาธในการต่อต้านการปฏิวัติอิสลามต้องล้มเหลวลงอีกครั้ง และเป็นเหตุให้ประชาชนมุสลิมชาวอิรักแสดงความเห็นอกเห็นใจและมีส่วนร่วมกับประชาชนชาวอิหร่าน

 

ในวันรุ่งขึ้นแห่งชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (23 บะห์มัน 1357) อายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ รู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างมาก ท่านได้กล่าวคำปราศรัยท่ามกลางมวลมหาประชาชนและนักศึกษาศาสนาผู้เป็นนักปฏิวัติในมัสยิดเญาฮะรี ในเมืองนะญัฟ ภายหลังจากการยกย่องและการขอบคุณต่อชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน จากการเชื่อฟังคำสั่งต่างๆ ของท่านอิมามโคมัยนี และการมีความรู้ความเข้าใจถึงแผนการต่างๆ อันชั่วร้ายของบรรดาศัตรูของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ในวันรุ่งขึ้นของวันนั้นท่านประกาศให้มีการเดินขบวนประท้วงขึ้นในเมืองต่างๆ ในประเทศอิรัก สืบเนื่องจากคำปราศรัยดังกล่าว การเดินขบวนประท้วงที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้นในเมืองกัรบาลา เมืองนะญัฟและเมืองอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง อายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้ส่งสาส์นฉบับหนึ่งถึงท่านอิมามโคมัยนี แสดงความยินดีต่อชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน และส่งสาส์นอีกฉบับหนึ่งถึงประชาชนชาวอิหร่าน แสดงการยกย่องเชิดชูความกล้าหาญและความเสียสละของพวกเขา และกำชับสั่งเสียพวกเขาให้เชื่อฟังปฏิบัติตามท่านอิมามโคมัยนีต่อไปอย่างต่อเนื่อง

 

 ช่วงเวลาต่อมาเนื่องในโอกาสการเป็นชะฮีดของท่านอายะตุลลอฮ์ มุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี ท่านได้จัดให้มีมัจญ์ลิสไว้อาลัยที่ยิงใหญ่ขึ้นในมัสยิดเญาฮะรี ณ เมืองนะญัฟ โดยมีกลุ่มชนจำนวนมากจากทุกหมู่เหล่าของเมืองนั้นเข้าร่วมในมัจญ์ลิสนี้ ในปี 1358 (ค.ศ. 1979) ท่านอายะตุลลอฮ์มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้เขียนหนังสือ “ริซาละตุลอิสลาม ยะกูดุลฮะยาต” (สาส์นอิสลามนำทางชีวิต) เป็นคำนำสำหรับรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งไปยังอิหร่านในฐานะผู้ประสานงานระหว่างท่านกับท่านอิมามโคมัยนี

 

 ในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านได้ออกคำฟัตวาที่เลื่องลือและสร้างความตะลึงงัน เรียกร้องเชิญชวนให้ประชาชนชาวอิรักทำการโค่นล้มระบอบการปกครองของพรรคบาธแห่งอิรัก โดยที่ในคำฟัตวาดังกล่าวท่านได้เขียนว่า “เป็นหน้าที่จำเป็น (วาญิบกิฟาอี) เหนือชนชาตินักต่อสู้และชาวมุสลิมในอิรักทุกคน ที่จะต้องยืนหยัดขึ้นโดยติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับพรรคบาธและบรรดาแกนนำของมัน และจงลอบสังหารบรรดาเจ้าหน้าที่ของพรรคผู้ปฏิเสธศาสนานี้ เพื่อที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากเงื้อมมือของบรรดาฆาตกรผู้กระหายเลือดเหล่านี้” สืบเนื่องจากคำฟัตวาดังกล่าว บ้านของอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้ถูกปิดล้อมโดยกองกำลังความมั่นคงของอิรัก การสัญจรไปมายังบ้านของท่านถูกประกาศห้าม แม้แต่เอกอัครราชทูตอิหร่านก็ถูกห้ามเข้าสู่บ้านของท่าน

 

ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างความกระจ่างและความเข้าใจทางด้านการเมือง ท่านอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้จัดให้มีบทเรียนตัฟซีร (การอรรถาธิบาย) ความหมายของคัมภีร์อัลกุรอานขึ้น ซึ่งในบทเรียนนี้สาธารณชนจำนวนมากจากทุกชนชั้นได้เข้าร่วม และบทเรียนนี้ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิบสี่ครั้ง รัฐบาลของพรรคบาธแห่งอิรักมีความหวาดกลัวอย่างมากจากการจัดให้มีบทเรียนและการรวมตัวดังกล่าว พวกเขาจับกุมตัวแทนจำนวนมากของอายะตุลลอฮ์มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ และบรรดาผู้ศรัทธาและนักปฏิวัติคนอื่นๆ จากทั่วประเทศ ซึ่งจำนวนของบุคคลเหล่านั้นมีมากถึงหลายพันคน

 

 เพื่อจุดประสงค์ที่จะประท้วงการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมดังกล่าว ในวันที่ 16 ร่อญับ ฮ.ศ. 1393 อายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ได้ประกาศนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ และสืบเนื่องจากคำประกาศดังกล่าวตลาดทั่วอิรักได้ปิดทำการค้าขาย ประชาชนชาวเมืองนะญัฟได้รีบรุดไปยังบ้านของอายะตุลลอฮ์มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ วันรุ่งขึ้นอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ถูกจับกุมและถูกนำตัวไปยังกรุงแบกแดด แต่ด้วยผลของการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองนะญัฟ เมืองกาซิมัยน์และเมืองอื่นๆ ที่ให้การสนับสนุนท่าน ทำให้รัฐบาลพรรคบาธจำเป็นต้องปล่อยตัวท่านให้เป็นอิสระ ในวันที่ 18 เดือนร่อญับ ประชาชนชาวเมืองนะญัฟได้เดินทางมายังบ้านของท่านกันเป็นกลุ่มๆ เพื่อเข้าพบและให้สัตยาบัน (บัยอัต) ต่อท่าน

 

 รัฐบาลพรรคบาธแห่งอิรักได้เห็นแล้วว่า การมีอยู่ของอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์นั้น จะทำให้รากฐานต่างๆ ทางอำนาจของตนต้องตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรง ทำให้พวกเขาพยายามหาทางที่จะกำจัดอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์และบรรดาผู้สนับสนุนท่าน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง บ้านของท่านในเมืองนะญัฟจึงถูกปิดล้อมเป็นเวลานานถึงเก้าเดือน ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ตัวแทนบางคนของพรรคบาธได้เข้าพบท่าน และได้แจ้งถึงการตัดสินใจของรัฐบาลบนพื้นฐานที่ว่า “จงยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล หรือมิเช่นนั้นก็คือการจบชีวิตลงของท่าน” รัฐบาลขอร้องท่านให้ล้มเลิกการสนับสนุนการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านและท่านอิมามโคมัยนี โดยออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืนต่างๆ ของพรรคบาธ ออกคำฟัตวาห้ามการเป็นสมาชิกพรรคดะอ์วะตุลอิสลามียะฮ์ และยกเลิกคำฟัตวาที่ห้าม (ตะฮ์รีม) ความร่วมมือต่อพรรคบาธ แต่ท่านเลือกที่จะเป็นชะฮีด (สละชีพในทางของพระเจ้า) เหนือการยอมจำนนต่อเงื่อนไขต่างๆ ที่น่าอัปยศดังกล่าว

 

 ในวันที่ 19 ญะมาดิลเอาวัล ฮ.ศ. 1400 อายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ ถูกจับกุมอีกครั้งหนึ่งในเมืองนะญัฟ อัลอัชร็อฟ และถูกนำตัวไปยังกรุงแบกแดด ในกรุงแบกแดดพวกเขาได้ขอให้ท่านเขียนคำพูดเพียงไม่กี่คำเพื่อเป็นการแสดงการต่อต้านการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านและท่านอิมามโคมัยนี เพื่อท่านจะได้รอดพ้นจากความตายที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ท่านปฏิเสธความต้องการดังกล่าวอย่างชัดเจน และย้ำถึงจุดยืนอย่างมั่นคงอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรง ในที่สุดหลังจากสามวันของการทรมานต่างๆ อย่างป่าเถื่อน ในวันที่ 22 ญะมาดิลเอาวัล ฮ.ศ. 1400 ท่านก็เป็นชะฮีด ร่างของท่านถูกนำมาฝังลงในสถานฝังศพของครอบครัวชะรอฟุดดีน ในเมืองนะญัฟ อัลอัชร็อฟ ภายใต้การควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดของกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาลแห่งพรรคบาธ

 

ไม่กี่วันต่อมา เมื่อข่าวการเป็นชะฮีดของอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ เป็นที่ชัดเจนแน่นอนแล้ว ท่านอิมามโคมัยนีจึงออกสาส์นฉบับหนึ่งในวันที่ 2 อุรดีเบเฮช 1359 (ฮ.ศ. 1400) และกล่าวรำลึกถึงท่านในฐานะ “นักวิชาการและนักต่อสู้ที่เป็นความภาคภูมิใจของสถาบันการศึกษาศาสนา (เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์) และเป็นหนึ่งในบรรดามัรเญียะอ์ตักลีดและนักคิดแห่งอิสลาม” เนื่องในโอกาสดังกล่าว ท่านได้ประกาศไว้อาลัยทั่วไปเป็นเวลา 3 วัน นับจากวันที่ 3 อุรดีเบเฮช เป็นต้นไป

 

 อายะตุลลอฮ์ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัศศ็อดร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชาของอิสลาม ท่านเชื่อว่า จำเป็นต้องสร้างวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหลักสูตรของการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาศาสนา (เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์) นักศึกษาและนักการศาสนาทั้งหลายไม่สมควรที่จะหยุดอยู่แค่เพียงการเรียนการสอนบทเรียนต่างๆ ตามปกติทั่วไปเกี่ยวกับ “ฟิกฮ์” และ “อุซูล” แต่ทว่าพวกเขาจะต้องศึกษาเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง สังคมและเศรษฐกิจแนวใหม่ ในทัศนะของท่าน บรรดาหนังสือบทเรียนที่ใช้อยู่ทั่วไปในสถาบันการศึกษาศาสนาในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาเกี่ยวกับวิชา “ฟิกฮ์” และ “อุซูล” นั้นมีความซับซ้อน เข้าใจยากและไม่สอดคล้องกับสภาวะเงื่อนไขในยุคปัจจุบัน และเป็นตำราเรียนแนวเก่า เนื้อหาต่างๆ ที่นำเสนออยู่ในหนังสือเหล่านี้นั้น ในปัจจุบันได้ถูกยกเลิกและละทิ้งอย่างสิ้นเชิง

 

 ในเรื่องนี้ท่านได้ลงมือเขียนหนังสือต่างๆ ประกอบกับการเขียนปรับปรุงหนังสือต่างๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เกิดความง่ายดายต่อความเข้าใจ ท่านยังได้เขียนเรียบเรียงมันขึ้นโดยการออกแบบใหม่และวิธีการใหม่สำหรับนักศึกษาวิชา “ฟิกฮ์” และวิชา “อุซูล” ด้วยสื่อดังกล่าวนี้เองจึงสามารถสร้างวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ขึ้นในสถาบันการศึกษาศาสนา (เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์) ท่านได้กระทำงานนี้โดยเขียนหนังสือขึ้น 2 เล่ม คือ “อัลฟะตาวิลวาฎิฮะฮ์” (2) และ “ดุรูซ ฟี อิลมิลอุซูล” (3)

 

และผลงานอื่นๆ ของท่านมีดังนี้คือ : ฟะดัก ฟิตตารีค, ฆอยะตุลฟิกริ ฟี อิลมิลอุซูล, ฟัลซะฟะตุนา, อิกติซอดุนา, อัลมะอาลิมุล ญะดีดะฮ์ ลิลอุซูล, อัลอุซุซุล มันฏิกียะฮ์ ลิลอิสติกรออ์, บุฮูษ ฟี ชัรห์ อัลอุษวะติลวุษกอ, อัลมัดรอซะตุลอิสลามิยะฮ์, บุฮูษ เฮาลัลมะฮ์ดี, อัลอิสลาม ยะกูดุลฮะยาต, เดารุลอะอิมมะฮ์ ฟิลฮะยาติลอิสลามียะฮ์ และ นิซอมุลอิบาดาต ฟิลอิสลาม

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) ลูกสาวของเชคอับดุลฮุเซน อาลิยาซีน

 

(2) ในวิชาฟิกฮ์

 

(3) ในวิชาอุซูล


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ islamicstudiesth

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม