เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียน "นิติศาสตร์การเมืองอิสลาม" ตอนที่ 4

2 ทัศนะต่างๆ 02.5 / 5

บทเรียน "นิติศาสตร์การเมืองอิสลาม" ตอนที่ 4

 


วิลายัตในความหมายของพจนานุกรม

 

วิลายัต มีความหมายที่หลากหลาย มาจากคำว่า ولاء  ولایت وَلایت ولی مولا اولی  และ…ซึ่งทั้งหมดมาจากรากศัพท์ของคำว่า  و ل ی เป็นคำหนึ่งที่อัลกรุอานนำมากล่าวไว้เยอะที่สุดด้วยมีรูปฟอร์มต่างๆมากมาย อยู่ในรูปฟอร์มของคำกิริยา 112 กรณี อยู่ในรูปฟอร์มของคำนาม124 กรณี ท่านรอฆิบอิศฟะฮานีกล่าวไว้ในมุฟรอดาตว่า ولیّ หมายถึง การให้สิ่งหนึ่งอยู่เคียงข้างสิ่งหนึ่งโดยไม่มีช่องว่างระหว่างสองสิ่งนั้น คำนี้จึงถูกให้ความหมายว่า “การใกล้ชิด” ไม่ว่าจะเป็นการใกล้ชิดกันในเรื่องของสถานที่หรือใกล้ชิดกันในด้านของจิตวิญญาณ เจ้าของหนังสือ มิศบาฮุลมุนีร กล่าวว่า หมายถึงฤดูกาลที่สองต่อจากฤดูกาลแรกโดยไม่มีช่องว่างระหว่างฤดูกาลทั้งสอง

 

ในฟัรแฮงฆ์ฟาร์ซี จากคำกล่าวของลุบาบุลอัลบาบว่า ولی มีความหมายดังนี้ :

 

1.เพื่อน สหาย(ตรงข้ามกับคำว่าศัตรู)

 

เจ้าของ ผู้เป็นตัวแทนจากคนหนึ่งในทำงานใดงานหนึ่ง มีสิทธิ์ในกิจการของคนใดคนหนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องวิลายัตนั้นมีความหมายอื่นๆอีกตามแหล่งอ้างอิงดังกล่าว คือ

 

การปกครอง


การบรรลุผล


การครอบครองที่ดิน


ตำแหน่งวะลี หลังจากตำแหน่งนบี


มุนตะฮิลอะร็อบ,ก็อตรุลมุฮีฏ และ อักรอบุลมะวาริด รายงานว่า วิลายัตกับวะลายัต นั้นไม่มีความแตกต่างกัน (มุฮัมหมัดมุอีน ฟัรแฮงฟัรซี เล่ม 4, อะมีรกะบีร หน้า 5058 จาก ลุบาบุลอัลบาบ มุฮัมหมัดเอาฟี

 

แต่ผมจะขอกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ว่า หนึ่งในความแตกต่างนั้นคือ คำหนึ่งให้ความหมายเป็นคำนาม ส่วนอีกคำให้ความหมายอิสมุลมันศดัร  ในหนังสือลิซานุลอะร็อบ จากคำกล่าวของอิบนุสิกกีต บันทึกว่า“วะลายัต” ให้ความหมายของมัศดัร หมายถึง “การช่วยเหลือ” ส่วน “วิลายัต” ให้ความหมายของอิสมุลมัศดัร หรือ ฮาซิลุลมัศดัร ให้ความหมายว่า อำนาจ เหมือนกับคำว่า غَسل  กับคำว่า غُسل เมื่อเราเข้าห้องน้ำล้างเนื้อล้างตัวเราเรียกว่า غَسل ซึ่งให้ความหมายของมัศดัร กล่าวคือ การล้าง ส่วนผลลัพธ์ของการล้างนั้นคือ غُسل กล่าวคือเมื่อล้างเสร็จแล้วจึงเรียกว่า غُسل อยากให้พวกเราอ่านอัลกุรอานแล้วลองดูว่าตรงไหนให้ความหมายของวิลายัต ตรงไหนให้ความหมายของวะลายัต ดูซิว่าสองคำนี้ใช้แตกต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ตามหากได้บทสรุปเช่นนี้ว่ามีความแตกต่างกัน จากนี้ต่อไปเราจะได้ระมัดระวังในการใช้สองคำนี้

 

จากคำกล่าวของ ซีบะวัยฮ์ และอีกหลายท่าน เช่น ฏุรอยฮี ในมัจมะอุลบะยาน ว่า หมายถึง อำนาจ หัวหน้า การรับผิดชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในอัลมีซานอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอีย์ ยอมรับความหมายของความใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกันท่านก็พิสูจน์ ความหมายของ หัวหน้า การครอบครองและการเป็นเจ้าของไว้ด้วยเช่นกัน

(อิบนุมันซูร ลิซานุลอะร็อบ ส่วนที่15, ดารุลอิห์ยาอิตตุรอษ อัลอะรอบี เลบานอน เล่ม 1 1416 หน้า 401-402)

 

สรุปได้ว่า “วิลายัต หมายถึง” ความต่อเนื่อง ความใกล้ชิด มิตร สหาย หัวหน้า การปกครอง และสิทธิ์ในการครอบครอง บ้างก็ยอมรับเพียงความหมายของมิตรสหาย ต้องเข้าใจว่าท่านศาสดาได้กล่าวอรัมภบทมาก่อนหน้านี้ว่า  ฉันไม่มีอำนาจเหนือตัวของพวกท่านเองหรอกหรือ พวกเขากล่าวว่า ใช่แล้ว โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ได้เอาคำมั่นจากพวกเขาด้วยคำตอบของพวกเขาที่ว่า ใช่แล้ว หลังจากนั้นท่านก็พูดประโยคต่อไปว่า من کنت مولاه فهذا علی مولاه  ดังนั้นวิลายัตตรงนี้เกี่ยวโยงกับคำว่า اولی ก่อนหน้านี้ ตามความหมายของโองการอัลกุรอาน ทั้งหมดก็เข้ากันว่าท่านศาสดากำลังให้ความหมายของโองการในซูเราะฮ์อะห์ซาบ พวกเขาต่างพากันเข้าใจที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

 

النَّبِيُّ أَوْلَىٰ بِالْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنْفُسِهِمْ ۖ وَأَزْوَاجُهُ أُمَّهَاتُهُمْ

 

พวกเขาจึงตอบพร้อมๆ กันว่า ใช่แล้ว โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ น่าแปลก !ประวัติศาสตร์ชัดเจนยิ่งกว่าชัดเจนเหนือสิ่งอื่นใด แต่กลับมาบิดเบือนประวัติศาสตร์กัน นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ

 

อย่างไรก็ตาม บ้างก็ไม่ให้ความหมายที่มากไปกว่าหัวหน้า ดังนั้นอย่าหลงดีใจไป เพราะการหยุดความหมายเพียงแค่ “หัวหน้า” นั้นเท่ากับเป็นการกำหนดขอบเขตของวิลายัตจากมุฏลักเป็นมุก็อยยัด มีอำนาจเฉพาะในเรื่องและกิจการที่ไม่มีผู้ดูแลเท่านั้น นิยามเช่นนี้ไม่ครอบคลุมและน้อยไป เป้าหมายที่เราต้องการนั้นก็คือคำกล่าวของเชคอันซอรีที่ว่าการจะขยายอำนาจเหมือนที่อิมามมะอ์ซูมมีไปสู่ผู้ที่ไม่ใช่มะอ์ซูม ว่ามีหรือไม่มีอย่างไร? เหตุผลในการพิสูจน์คำกล่าวนี้คืออะไร?  ซึ่งมีทั้งเหตุผลทั้งทางด้านสติปัญญาและการรายงาน และเชคอันซอรีก็กล่าวต่ออีกสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งทั้งหมดต่างก็ยอมรับว่า นิยามหัวหน้า ก็มีความหมายของการมีสิทธิ์ในการครอบครองรวมอยู่ในนั้นด้วย หมายถึงตำแหน่งและสถานะของฟะกีฮ์ไม่ว่าในมุมมองฮุกุ่มตักลีฟีของอายาตุลลอฮ์คูอีย์หรือฮุกุ่มวัฎอีตามทัศนะของเชคอันซอรี


และถ้าหากผู้ที่ถึงระดับขั้นฟะกีฮ์แล้วแต่ไม่สนใจและปฏิบัติหน้าที่ของตนแน่นอนว่าย่อมได้รับการลงโทษจากพระเจ้า แต่บรรดาอุลามาอ์ต่างก็ให้ความสำคัญและรู้ตำแหน่งและหน้าที่ของตนดี ผมคิดว่าต้องอ่านหนังสือของอัลลามะฮ์นะรอกีให้พวกเราฟัง น่าสนใจและน่าทึ่งมากทีเดียว ที่ท่านกล่าวว่า นี่มันเป็นหน้าที่ของเรา แต่เรากลับให้เหล่ากษัตริย์ทำหน้าที่นั้นไป ให้คนอื่นทำ ท่านใช้คำว่า สะลาฏีน ท่านบอกว่านี่มันไม่ถูกต้อง แล้วใครกันที่จะรับภาระหน้าที่นี้ไป? ผู้ที่รับภาระหน้าที่นี้ไปนั้นต้องมีความพร้อมเหมือนดังอิมามโคมัยนี  อิมามเห็นว่าบรรดาอุลามาอ์ระดับสูงกว่า 70 ท่านที่พากเพียรพยายามกันมานับตั้งแต่ยุคต้นการเร้นกายของอิมามแห่งยุคสมัย ตั้งแต่เชคมุฟีด เชคฏูซี จนกระทั่งถึงยุคอายาตุลลอฮ์บุรูญิรดี อิมามมองว่าซัยยิดฮะซะนีได้ปฏิบัติหน้าที่ของพวกท่านกันมาแล้วจะต้องมีฮุซัยนีสานต่อ แม้แต่กษัตริย์ชาห์ก็ยังกล่าวเลยว่า ก่อนหน้าท่านก็มีซัยยิดคนหนึ่ง แต่ก็ไม่วุ่นวายเหมือนกับท่าน ท่านต้องการอะไร? อิมามโคมัยนีตอบกษัตริย์ชาฮ์ไปว่า คนนั้นเป็นซัยยิดฮะซะนี ส่วนนี่เป็นซัยยิดฮุซัยนี อิมามโคมัยนีกล่าวแก่กษัตริย์ชาฮ์ว่า ต้องการเงินเท่าไหร่ที่จะออกไปจากประเทศนี้ บอกไปว่าฉันจะให้เงิน 30 ล้านโตมาน ชาห์ถามว่าท่านเอาเงินมาจากไหน? อิมามตอบว่า ฉันจะบอกกับประชาชนว่าใครต้องการให้ท่านออกจากประเทศนี้ก็ให้จ่ายเงินมาคนละหนึ่งโตมาน นั่นหมายความว่าประชาชนในประเทศนี้ไม่มีใครต้องการท่าน!! อายะตุลลอฮ์บุรูญิรดีน่าจะเป็นคนที่ 70 และอิมามโคมัยนีเป็นคนที่ 73 และอายาตุลลอฮ์คามาเนอีเป็นคนที่ 74 และหลังจากนี้อินชาอัลลอฮ์หวังว่าอิมามมะฮ์ดี (อ.) คงจะมาปรากฏ ขอให้ท่านมาปรากฏโดยเร็วด้วยเถิด

 

ดังนั้นการปกครองย่อมมีเรื่องของสิทธิ์ในการครอบครองอย่างแน่นอนในตัวของมัน เป็นที่ชัดเจนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิ์ในการครอบครองนั้นย่อมมีเรื่องสำคัญอื่นๆทางปรัชญาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องความจำเป็นในการปกครอง เรื่องความชอบธรรมตามหลักการศาสนา (มัชรูอียัต) ในการปกครอง ต้องเข้าใจว่าเรื่องปรัชญาการเมืองก็เป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับเรื่องนิติศาสตร์ทางการเมือง จะเห็นว่าอิมามโคมัยนีก็เริ่มจากการถกเรื่องเหล่านี้ทั้งที่ท่านถกเกี่ยวกับเรื่องของนิติศาสตร์ทางการเมือง ท่านไม่เรียกว่าปรัชญาการเมือง แต่เราต้องแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน เพื่อเราจะได้อธิบายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

วิลายัตแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่

 

1.วิลายัตตักวีนี


2.วิลายัตตัชรีอี

 

เป้าหมายที่เรากล่าวกันในที่คือวิลายัตประเภทไหน? วิลายัตตักวีนีอย่างนั้นหรือ? แน่นอนว่าไม่ใช่! วิลายัตตักวีนี เช่นการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง  การเป็นผู้สร้าง ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน แน่นอนว่าไม่ใช่เป้าหมายของเราที่จะรวมวิลายัตตักวีนีเข้าในอำนาจของวิลายะตุลฟะกีฮ์ ซึ่งเราจะอธิบายกันต่อไปถึงเรื่องของการครอบคลุม(อัฏลาก)และการจำกัด (ตักยีด) วิลายัต กล่าวคือวิลายัตมุฏลัก คืออะไร? วิลายัตมุก็อยยัด คืออะไร? มุฏลัก อย่าให้ความหมายว่า มุฏ็อลลัก ที่หมายถึงการปล่อยเพราะมันแตกต่างกัน และแตกต่างกับมุก็อยยัดด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มุก็อยยัดไม่อาจเป็นมุฏลักได้ แต่มุฏลักนั้นสามารถเป็นมุก็อยยัดได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมุฏลักหรือมุก็อยยัด ต่างก็มีเรื่องของสิทธิ์ในการครอบครองอยู่ในนั้นและมันไม่ได้รวมถึงวิลายัตตักวีนี ทว่าเฉพาะอัลลอฮ์เท่านั้นและผู้ที่พระองค์ทรงมอบวิลายัตนี้ให้แก่พวกเขา เช่น นบีอีซา หรือบรรดาศาสดาที่มีปาฏิหาริย์ซึ่งพระองค์ได้มอบวิลายัตตักวีนีให้แก่พวกท่าน เป็นผู้มีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง เหนือธรรมชาติ ทว่าด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ เราจะไม่ถกกันเกี่ยวกับวิลายัตตักวีนี แต่เราจะถกกันเกี่ยวกับวิลายัตตัชรีอี

 

ฟะกีฮ์มีวิลายัตตัชรีอีทั้งหมดเลยหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ ตรงนี้ก็มีข้อจำกัด(قید )เช่นกัน เราอย่าเลยเถิดไปจนมีคนกล่าวได้ว่า ชีอะฮ์มีอิมามท่านที่13 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกกันอย่างจริงจังในหมู่นักวิชาการ อุลามาอ์ของพวกเรา ใครบอกว่าฟะกีฮ์เป็นผู้ร่างบัญญัติ และมีวิลายัตตัชริอ์เหมือนดั่งที่อิมามมะอ์ซูมมี เรากล่าวกันไปแล้วว่าสถานะภาพของบรรดามะอ์ซูมนั้นมีสองสถานะภาพ คือ สถานะภาพด้านอัตลักษณ์ที่แท้จริง (ฮะกีกี) ของพวกท่านและวิลายัตตักวีนีและวิลายัตตัชรีอีคือสถานะภาพด้านอัตลักษณ์ที่แท้จริงของพวกท่าน ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เราต้องถกกัน ทว่าในสถานะภาพด้านกฎหมาย (ฮุกูกี) หมายถึงสิ่งที่สังคมตอนนี้ต้องการ เช่น มัรญีอียัตด้านศาสนา และผู้นำทางการเมือง หมายรวมถึงสิ่งที่เขาไม่อาจเอาไปได้หลังจากตายไปแล้ว ตราบใดที่โลกนี้มีอยู่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีอยู่และเป็นที่ต้องการของสังคมตลอดไป และศาสนาต้องให้คำตอบกับสังคมในเรื่องเหล่านี้ เมื่อบรรดามะอ์ซูมจากไปแล้ว เรื่องต่างๆ เหล่านี้ใครกันที่จะต้องสานต่อไป? คำตอบก็คือ “ฟะกีฮ์” และนี่แหละคือเรื่องที่เราต้องค้นหา ไม่ใช่หาอิมามมะอ์ซูมท่านที่ 13


เราไม่มีการแอบอ้างเช่นนี้เลยและเป็นไปไม่ได้ที่จะแอบอ้างเช่นนี้ แต่สิ่งที่เราอ้างเหมือนดังเช่นอาจารย์ของเราอายาตุลลอฮ์มิศบาห์ กล่าวว่า เรามีหลักฐานและเหตุผลที่หนักแน่นมากที่หากชาวโลกรวมกันทั้งหมดหาข้อหักล้างก็ไม่อาจล้มหลักฐานและเหตุผลเหล่านี้ได้เลย ท่านกล่าวว่าเหตุผลทางสติปัญญานั้นชัดเจนและหนักแน่นมั่นคงจนไม่จำเป็นต้องเข้าสู่เหตุผลทางด้านการรายงานเลย เหตุผลทางด้านการรายงานมีอุปสรรคในเรื่องของสายรายงานหรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่มาทำให้มันอ่อนแอได้ แต่ผมในฐานะลูกศิษย์ยอมรับทั้งสองเหตุผลทั้งเหตุผลทางด้านสติปัญญาและเหตุผลทางด้านการรายงาน

 


สอนโดย เชคนัศรุลลอฮ์ สิคอวะตี ผู้แทนมหาวิทยาลัยอัลมุศฏอฟา ประจำประเทศไทย
แปลโดย เชคอิมรอน พิชัยรัตน์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม