เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ฉบับชาวบ้าน) ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ฉบับชาวบ้าน) ตอนที่ 2

 

วิลายะฮ์ตัชรีอี


วิลายะฮ์ตัชรีอีนี้ศาสนาเป็นผู้ให้อำนาจ


ตัชรีอี คือ อำนาจการปกครอง อำนาจที่มีสิทธิเหนือผู้อื่น  โดยได้รับมาจากบทบัญญัติของศาสนา แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ 

 
ประเภทที่หนึ่ง  อำนาจมุฏลัก     مطلق    คือ  อำนาจที่สมบูรณ์    เบ็ดเสร็จเด็ดขาด    โดยที่ใครไม่สามารถจะคัดค้านได้


ประเภทที่สอง   คือ   อำนาจมุก็อยยัด   مُقيَّد      คือ  อำนาจที่ได้รับมาจากศาสนาเช่นเดียวกันแต่ถูกจำกัดขอบเขต ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างวิลายะฮ์มุฏลัก  ดังโองการที่ว่า  


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الأمْرِ مِنْكُمْ

 

ความว่า  ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และเชื่อฟังรอซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย (ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ โองการที่ 59)


 “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา  จงภักดี (ฏออัต)  ต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.)  จงภักดีต่อรอซูล(ซ็อล) และอุลิลอัมริมินกุม อันหมายถึง อะอิมมะฮ์(อ)    แน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธการภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.)  และ  รอซูล    ดังอัลกุรอานได้ยืนยันว่า  


وَمَا آتَاكُمُ الرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانتَهُوا

 

ความว่า  “อันใดที่รอซูลนำมาก็ต้องยึดมั่น  และอันใดที่ท่านได้ห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย”  

 

ชี้ให้เห็นถึงอำนาจของรอซูลที่มีต่อผู้ศรัทธา  (ซูเราะฮ์ ฮัชร์ โองการที่ 7 )


ข้อคลางแคลงสงสัยในเรื่องวิลายะฮ์ มีความแตกต่างกันตรงที่วิลายะฮ์ของอุลิลอัมริมินกุม เหตุการณ์นี้เองทำให้เกิดสายธารชีอะฮ์ขึ้น  ที่จริงแล้วสายธารซุนนีก็เชื่อว่าผู้นำก็ต้องมีอำนาจมุฏลักในการปกครอง เพียงแต่ผู้นำของเขาปฏิบัติตนไม่ได้  เพราะเขาเป็นผู้นำที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม  จึงไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง    การปกครองจึงไม่ถูกต้องสมบูรณ์ มีความบกพร่องผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างมากมาย  จากคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงอำนาจการปกครองของอุลิลอัมรฺก็เป็นอำนาจชะรีอัตที่เป็นแบบมุฏลักเช่นกันที่ไม่ใช่แบบมุก็อยยัด  การปกครองหลังจากท่านรอซูล(ซ็อลฯ) วะฟาต คอลีฟะฮ์คนที่หนึ่ง   คนที่สองมีปัญหาเกิดขึ้นไม่มาก   แต่พอถึงคอลีฟะฮ์คนต่อไปจากท่านอิมามอาลี(อ) ก็เริ่มมีปัญหา เกิดความปั่นป่วน ร้าวฉานมากขึ้น  ปัญหาก็คือการฏออัต  แตกต่างจากความเชื่ออุลิลอัมร์


การพิสูจน์อำนาจของบรรดาอิมาม(อ)


จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าอำนาจของอิมามมะอ์ศูม(อ) นั้นเป็นอำนาจมุฏลัก ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยดุษณี  ไม่มีสิทธิคัดค้านฝ่าฝืนคำสั่งโดยเด็ดขาด  อัลกุรอานได้ยืนยันว่า


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الأمْرِ مِنْكُمْ

 

ความว่า  ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และเชื่อฟังรอซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย


(ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ โองการที่ 59)


จากมุมของการใช้คำและภาษาจงภักดีต่ออัลลอฮ์  และจงภักดีต่อรอซูล(ซ็อลฯ)  นักอรรถาธิบายอัลกุรอานมีทัศนะที่แตกต่างกันออกไปบ้าง คำว่า ภักดี (ฏออัต) ต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.) และภักดีต่อรอซูล(ซ็อลฯ)  จริงๆ แล้วไม่ได้มีความแตกต่างแต่อย่างใด  จะชี้ให้เห็นว่า อำนาจแรกแต่เดิมนั้นมาจากพระองค์  และเมื่อมาถึงรอซูลจึงต้องการจะซ้ำอีกครั้งหนึ่ง  มาถึงอุลิลอัมร์ คำว่า ฏออัต ไม่ได้ซ้ำก็แสดงว่าเหมือนกับการที่ฏออัตต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.)  และฏออัตต่อรอซูล(ซ็อลฯ)  ดังนั้นอำนาจของอิมาม(อ)     ก็คืออำนาจวิลายะฮ์มุฏลัก  เรื่องของวิลายะตุลฟะกีฮ์เป็นปัญหาความขัดแย้งกันมา  เพราะศัตรูของอิสลามไม่ปรารถนาให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น  จึงพยายามบ่อนทำลายทุกวิถีทาง  แม้จะผ่านการปฏิวัติอิสลามอันรุ่งโรจน์แห่งอิหร่านมาถึงสามสิบปีแล้วก็ตาม


ส่วนวิลายะฮ์มุก็อยยัด อัลกุรอานก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่าวิลายะฮ์นี้มีอำนาจการปกครองที่มีขอบเขต เช่น พ่อแม่ปกครองลูก ลูกต้องฏออัตต่อพ่อแม่   ความเป็นวะลีของพ่อแม่ก็เรียกว่าเป็นวะลีมุก็อยยัด  สามีเป็นผู้ปกครองของภรรยา  ที่ภรรยาต้องฏออัต  มิเช่นนั้นอัลลอฮ์(ซ.บ.) ก็จะทรงลงโทษ  การที่บิดามารดาต้องปกครองบุตร  สามีต้องปกครองภรรยาและมีวะลีสืบทอดกันออกไป  เช่น  ในกรณีของครอบครัว    ถ้าหากพ่อเสียชีวิตวะลีต้องเป็นปู่  บุตรีจะแต่งงานผู้ที่อนุญาตก็คือปู่  แม้ว่ามารดายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีสิทธิ์อนุญาต  นี่เป็นวะลีที่สืบทอด  เรียกวะลีนี้ว่า วิลายะฮ์ตัชรีอีโดยไม่ต้องขวนขวาย


 แต่ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าวะลีจะต้องไม่ปฏิบัติสิ่งใดที่ผิดหลักการศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์   เช่น  สามีอนุญาตให้ภรรยาแต่งกายอวดรูปโฉมของตนต่อสาธารณะ  บิดามารดาบอกลูกว่าไม่ต้องดำรงนมาซก็ได้  ถึงแม้ว่าอัลกุรอานจะบอกว่าจงทำดีต่อบิดามารดา  จงภักดีต่อบิดามารดา  แต่หากอำนาจนั้นก้าวก่ายในชะรีอัตของอัลลอฮ์(ซ.บ.)  ก็ถือว่าผิดหลักการทางศาสนา


มีคำถามในเชิงรหัสยะว่า  รอซูลมีคำสั่งให้ไม่ต้องนมาซได้หรือไม่ ?


บางคนอาจจะตอบว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะสั่ง  บางคนอาจจะบอกว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่ง  ต่างทัศนะกันออกไป ถ้าบอกว่ารอซูลสั่งได้บางเรื่องและสั่งไม่ได้ในบางเรื่องก็แสดงว่า รอซูลมีวิลายะฮ์มุก็อยยัด คือ สั่งไม่ได้ทุกเรื่อง  แต่หากถามว่า การไม่นมาซเป็นบาปไหม?  ฆ่าคนที่บริสุทธิ์เป็นบาปไหม?     

 
   คำตอบคือเป็นบาป แล้วการไม่นมาซกับฆ่าผู้บริสุทธิ์อันไหนเป็นบาปกว่ากัน?  แน่นอนว่าฆ่าคนที่บริสุทธิ์เป็นบาปกว่า  


ขอยกตัวอย่างกรณีนบีคิฎิร(อ) ฆ่าเด็กบริสุทธิ์คนหนึ่ง  นบีมูซา(อ)  เห็นแล้วตกใจ   ในมุมมองของนบีมูซา(อ) นั้นคิดว่าเป็นความผิดมหันต์   การฆ่าเด็กเป็นบาปยิ่งกว่าการไม่นมาซ แต่ในมุมมองของ นบีคิฎิร(อ)  ถือว่าไม่ผิด  เพราะท่านได้รับวิลายะฮ์มาจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)  การฆ่าเด็กเป็นวิลายะฮ์ตัชรีอี ที่นบีคิฎิร(อ) ต้องอธิบายให้นบีมูซา(อ) เข้าใจ


 สิ่งใดที่ศาสดา(ซ็อลฯ) สั่งให้ปฏิบัติ  ต้องถือเป็นความถูกต้อง  นี่คือความหมายของวิลายะฮ์มุฏลัก ท่านบอกว่าไม่ต้องนมาซ  เราไม่ต้องนมาซ  ท่านบอกให้ไปฆ่าคนก็ต้องฆ่า  ในประวัติศาสตร์ท่านเคยสั่งให้ศอฮาบะฮ์ไปฆ่าคนๆ หนึ่งที่ใต้ต้นไม้  ศอฮาบะฮ์คนที่หนึ่งไปแล้วไม่ฆ่า  ท่านถามว่าเพราะเหตุใด?   ศอฮาบะฮ์ตอบว่า เขากำลังนมาซอยู่   ศอฮาบะฮ์คนที่สองไปแล้วก็ไม่ได้ฆ่า ท่านศาสดา(ซ็อลฯ) ถามว่าเพราะเหตุใด? ศอฮาบะฮ์ตอบว่าเขากำลังรุกุอ์อยู่  จะฆ่าคนที่กำลังรุกอ์ได้อย่างไร?    จึงส่งศอฮาบะฮ์คนที่สามไปก็ไม่ได้ฆ่าอีก  ท่านถามว่าเพราะเหตุใด?  ศอฮาบะฮ์ตอบว่า เขากำลังซูญูดอยู่ จะให้ฆ่าคนที่กำลังซูญูดอยู่ได้อย่างไร?   จึงต้องส่งศอฮาบะฮ์คนที่สี่โดยศอฮาบะฮ์ได้ตัดคอขาดกระเด็นขณะชายคนนั้นลุกขึ้นจากซูญูด  ศอฮาบะฮ์คนที่สี่  คือ  ท่านอิมามอะลี อิบนิ อะบีฏอลิบ(อ)   ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ถามว่าเจ้าเห็นอะไรไหมตอนตัดคอท่านอิมาม(อ) ตอบว่า  เห็นชัยฏอนออกมาจากร่างของเขา 

ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าอำนาจวิลายะฮ์มุฏลักไม่มีอะไรมาจำกัดอำนาจนี้ได้


มีคำถามต่อไปอีกว่าศาสดา(ซ็อลฯ) มีสิทธิ์สั่งให้เราฆ่าตัวตายไหม?  เราอาจจะสับสน  เหมือนตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า   บาปจากการไม่นมาซกับบาปจากการฆ่าตัวตาย   อันไหนมีบาปหนักกว่า    แต่ทั้งสองประการศาสดา(ซ็อลฯ) คงไม่สั่งให้เราทำอย่างนั้น  แต่ถ้าท่านสั่ง  อัลฮัมดุลิลลาฮ์ก็จงรีบปฏิบัติเถิด


ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นอำนาจวิลายะฮ์มุฏลัก  ความไม่เข้าใจอำนาจนี้เเหละจะก่อให้เกิดความพินาศ  เพราะวิลายะฮ์มุฏลักคือฮุกุมของอัลลอฮ์(ซ.บ.)  ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ็อลฯ) คือผู้ถ่ายทอดคำสั่งของพระองค์   มีโองการที่พิสูจน์เรื่องราวเหล่านี้อีกหลายๆ  โองการที่จะพิสูจน์ความชัดเจนในเรื่องวิลายะฮ์มุฏลักและวิลายะฮ์มุก็อยยัด  นอกจากตัวอย่างที่ได้ยกมาบ้างแล้วในตอนต้น  ประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านมีกฎเกณฑ์บางเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามแล้วเป็นบาป   เช่น การขับรถผ่าไฟแดง ถือเป็นการทำผิดจากอำนาจรัฐ  เพราะประชาชนจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อรัฐ


ต้องทำความเข้าใจระหว่างวิยาละฮ์มุฏลักและวิลายะฮ์มุก็อยยัดให้ดี  ต้องรู้ว่าอัลลอฮ์(ซ.บ.) คือวะลีของเรา  พระองค์คือผู้ปกครองของเรา  จากนั้นท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) คือศาสดาของเรา  เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์  จากนั้นก็จะมีอิมาม(อ) เป็นผู้สืบทอด  คงไม่มีสายธารชีอะฮ์คนใดปฏิเสธ      วิลายะฮ์มุฏลักของอะอิมมะฮ์ได้  จากนั้นก็จะมีวิลายะตุลฟะกิฮ์สืบทอดอำนาจนั้นแทน......


โปรดติดตามอ่านตอนที่ 3
บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม