เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ฉบับชาวบ้าน) ตอนที่ 3

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ฉบับชาวบ้าน) ตอนที่ 3


 


อำนาจวิลายะตุลฟะกีฮ์


วิลายะตุลฟะกิฮ์ จึงเป็นข้อถกเถียงระหว่างคนสองกลุ่ม  กลุ่มหนึ่งมองว่าหลังจากอิมามมะอ์ศูมและการเร้นหายของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)  อำนาจนี้ได้หมดไปแล้ว    อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าจะต้องมีต่อไป  ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)   ได้เขียนไว้อย่างสมบูรณ์แบบในหนังสือของท่าน ภาษาเปอร์เซียใช้ชื่อหนังสือนี้ว่า “วิลายะตุลฟะกีฮ์”  แปลเป็นภาษาอาหรับใช้ชื่อว่า  “ฮุกุมาตุลอิสลามียะฮ์”  ยืนยันว่าอำนาจนี้จะต้องคงมีต่อไป


มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปว่าอิสลามที่สมบูรณ์แบบยังมีใช้อยู่หรือไม่ ? การสถาปนารัฐอิสลามยังมีความจำเป็นหรือ เปล่า?  เป็นวาญิบหรือเปล่า?  คำตอบก็คือยังคงต้องใช้อยู่เหมือนเดิม  เพราะการบริหารกิจการต่างๆ ของมุสลิมยังคงต้องยึดถือในหลักการอิสลามอันบริสุทธิ์  ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)  ชี้ให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องจ่ายเงินคุมสฺ   บทบัญญัติต่างๆ  ยังต้องปฏิบัติ  เป็นวาญิบที่จะต้องดำเนินชีวิตตามแบบบทบัญญัติแห่งอิสลามอย่างเคร่งครัด


แม้แต่เราเองที่อยู่ในประเทศไทย  เราก็ไม่มีสิทธิ์เลือกใช้กฎหมายแพ่งพาณิชย์ที่ขัดต่อหลักการอิสลาม  เช่น  กฎหมายที่ว่าด้วยมรดก เรายังคงต้องจ่ายเงินคุมสฺ บทบัญญัติใดๆ ที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอานก็ยังคงต้องปฏิบัติตามนั้น  เช่น ในประเทศมาเลเซียยังคงลงโทษผู้ประพฤติผิดหลักการศาสนาร้ายแรงตามแบบอย่างอิสลามอยู่  หรือประเทศอิสลามสายธารซุนนีอีกหลายประเทศก็ยังยึดถือเช่นนั้น  เป็นการยึดถือตามแนวทางที่ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ได้สถาปนารัฐอิสลามแห่งอิหร่าน  เมื่อหลักการอิสลามอันบริสุทธิ์ยังคงดำรงอยู่  ท่านบอกว่าใครจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์และบังคับใช้กฎหมาย  ตัวอย่างเช่น  การจ่ายคุมส์  ถ้าหากพ่อค้าคหบดีที่อยู่ในมหานคร  เช่น  เตหะราน  ไคโร  แบกแดด   ถ้าจ่ายคุมส์ตามหลักการอย่างเคร่งครัดแล้วจะเป็นกองทุนสำหรับบริหารกิจการอิสลาม  เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องในสายธารได้อย่างมากมายมหาศาล


ท่านอิมามเป็นกังวลกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง  เพราะหากไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรงคุมุสเหล่านี้ใครจะเป็นผู้ดูแลรักษา เพราะถึงอย่างไรการจ่ายคุมุสก็เป็นวาญิบสำหรับมุสลิมอยู่ดี   ในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น  การสถาปนารัฐอิสลามโดยระบบวิลายะตุลฟะกิฮ์  เพียงแต่อุลามาอ์ยังมีทัศนะแตกต่างกันอยู่ว่าอำนาจที่มีนั้นเป็นอำนาจมุก็อยยัดหรืออำนาจมุฏลัก   บรรดาอะอิมมะฮ์(อ) ได้วางรากฐานเรื่องการปกครองโดยฟะกิฮ์ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว  เอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงรู้ว่าวันหนึ่งอิมามมะฮ์ดี(อ) ต้องเร้นหายเป็นระยะเวลายาวนาน  ดังนั้นจึงต้องมีระบอบวิลายะตุลฟะกีฮ์ให้บรรดาสายธารชีอะฮ์ปกครองกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ไม่มีสังคมใดที่ขาดผู้นำในการปกครองดูแล  ตรรกะนี้ คือ สังคมขาดผู้นำไม่ได้  ในความเชื่อถือตามสายธารของเราบรรดาอิมาม(อ)    ได้วางรูปแบบสืบทอดกันมา  เช่น ในยุคสมัยของท่านอิมามมูซา  อัลกาซิม(อ) ท่านถูกกักขังอยู่ในคุกเป็นเวลาหลายปี  จึงต้องแต่งตั้งตัวแทนของท่านเป็นผู้ดูแลบริหารกิจการต่างๆ  เท่ากับเป็นการฝึกให้ประชาชาติสายธารชีอะฮ์คุ้นชินกับผู้ปกครองที่ไม่ใช่ตัวของอิมาม(อ)โดยตรง


ท่านอิมามฮะซัน  อัล-อัสกะรี(อ)  และท่านอิมามฮาดี(อ)   ก็ถูกกักกันให้ห่างจากชีอะฮ์ของท่าน ท่านก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนเช่นเดียวกัน  และเป็นการรู้กันภายในว่าหากมีปัญหาที่สำคัญยิ่งเกิดขึ้นจะปรึกษา อิมาม(อ) ในการแก้ปัญหานั้นอย่างไร  จนเข้าสู่ยุคสมัยการเร้นหายของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) ท่านได้เริ่มวางรากฐานการแต่งตั้งตัวแทนที่ไม่ใช่อิมาม(อ)  โดยการแต่งตั้งเนาวาบ อัรบาอะฮ์ ขึ้นมาสี่คน  แต่ไม่ได้แต่งตั้งในคราวเดียวพร้อมกัน  แต่งตั้งคนที่หนึ่งก่อน  เมื่อคนที่หนึ่งเสียชีวิตจึงค่อยประกาศแต่งตั้ง   คนที่สองไปตามลำดับ  แต่เมื่อไม่มีคำสั่งโดยตรงจากอิมามมะฮ์ดี(อ) ในวันนี้จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างไร  หลังจากท่านแต่งตั้งตัวแทนคนที่สี่แล้วก็เข้าสู่ยุคการเร้นหายครั้งแรกที่เรียกว่า “ฆ็อยบะตุซซุฆรอ”   ยุคนี้ยังสามารถที่จะพบกับตัวแทน  แต่เมื่อตัวแทนคนที่สี่ใกล้จะเสียชีวิต  ท่านอิมาม(อ) ได้บอกว่า ตั้งแต่นี้ท่านจะไม่มีคำสั่งแต่งตั้งใครเป็นตัวแทนโดยตรงอีก  ให้ประชาชาติแต่งตั้งกันเอง โดยเป็นการเข้าสู่ “ยุคฆ็อยบะตุลกุบรอ”  การเร้นหายครั้งนี้  ทุกคนไม่สามารถอ้างสิทธิ์การเป็นตัวแทนของอิมาม(อ) ยกเว้นเป็นคำสั่งส่วนบุคคล  ใครจะมีสิทธิ์พบกับท่านอิมาม(อ) ได้หรือไม่นั้นถือเป็นบารอกัตส่วนตัว


มีฮะดิษที่ยืนยันว่าหลังจากตัวแทนคนที่สี่แล้ว  ท่านอิมาม(อ) ได้สั่งให้เนาวาบคนที่สี่ประกาศกับบรรดาสายธารชีอะฮ์ว่า


“ให้ชีอะฮ์ดูจากฟุกอฮา  (เป็นคำพหูพจน์ของฟะกีฮ์)  เพราะวันนั้นจะมีบรรดาฟุกอฮาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  มีความรู้ความสามารถวินิจฉัย แก้ไขปัญหาศาสนาต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์


ท่านอิมาม(อ)  บอกว่าให้ดูจากหมู่บรรดาฟุกอฮาเหล่านี้  ใครสามารถที่จะสร้างเกราะป้องกันตัวเองได้   ใครที่สามารถจะปกป้องรักษาศาสนาของเขาได้  


จากฮะดีษดังกล่าวได้อธิบายคุณคุณลักษณะของฟุกอฮา  4 ประการ ดังนี้


   คุณลักษณะที่หนึ่ง (ศออินัน) صائناً لِنَفسِه    ผู้ที่สามารถสร้างเกราะป้องกันตนเองได้   


   คุณลักษณะที่สอง (ฮาฟิซ็อน) حَافِظاً لِنَفسِه   ผู้ที่สามารถปกป้องศาสนาได้


   คุณลักษณะที่สาม (มุคอลิฟัน) مُخَالِفاً لِهَواهُ  ผู้ที่สามารถต่อสู้กับฮาวานัฟซูของตนเอง จนได้รับชัยชนะ


 คุณลักษณะที่สี่ คือ (มุตีอ์)    مُطِيعاً لامرِ مَولاهُ ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของเมาลาได้


 ดังนั้นบรรดาอาวามของชีอะฮ์ที่ไม่ใช่ฟุกอฮาผู้มีความรู้สูงสุด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและตักลีดตาม  จากฮะดีษบทนี้อาจจะมีความเข้าใจแตกต่างกันในลักษณะของคำอยู่บ้าง


คำว่า “ฟาลิล อาวาม”  คือ เป็นหน้าที่ของอาวามที่จะต้องปฏิบัติ  อุลามาอ์ฝ่ายที่ไม่ยอมรับในวิลายะฮ์มุฏลักของวิลายะตุลฟะกิฮ์ บอกว่าคำสั่งนี้ คือ การตักลีด  โดยตีกรอบว่าเป็นเรื่องของฟิกฮ์เท่านั้น เช่นการนมาซ   การทำฮัจญ์  ฯลฯ  ว่าปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักการศาสนา


อีกฝ่ายหนึ่งก็คัดค้านว่าไม่น่าจะถูกต้อง  ไม่ได้แปลว่าการตักลีดเพียงอย่างเดียว   คุณลักษณะสี่ประการของฟุกอฮาดังกล่าวจะต้องครอบคลุมหลักการอิสลามอันสมบูรณ์ทั้งหมด  เพราะเรื่องของฟิกฮ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำว่า ดีน  ต้องยอมรับความจริงว่าอัลกุรอานกล่าวถึงเรื่องฟิกฮ์ประมาณห้าร้อยกว่าโองการ (อายะฮ์)  จากทั้งหมดกว่าหกพันโองการ ดังนั้นถ้ามุจญ์ตะฮิดเพียงแค่แก้ไขปัญหาห้าร้อยกว่าโองการแล้วอีกห้าพันห้าร้อยกว่าโองการที่ไม่ใช่เรื่องของฟิกฮ์จะทำอย่างไร  การจะรักษาศาสนาในภาพรวมให้สมบูรณ์นั้น  ฟะกีฮ์ในความหมายของมุจญ์ตะฮิดจึงไม่ใช่เป้าหมายในคำสั่งนี้


คุณลักษณะที่สาม (มุคอลิฟัน) ต้องการให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในการขัดเกลาตนเอง  เพื่อชำระล้างจิตวิญญาณให้สะอาดบริสุทธิ์  นี่คือตำแหน่งของผู้ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของฟะกีฮ์  เพราะฟะกีฮ์ คือ ผู้ที่มีความรู้ในการวินิจฉัยปัญหาศาสนาทุกด้าน แต่มุคอลิฟันเหมือนกับตำแหน่งของผู้ไปสู่อิรฟานชั้นสูง และมุตีอ์เป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของเมาลาได้ ดังนั้นมุกัลลิดจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเขาด้วย  และเป็นหน้าที่ของอาวามทั้งหมดที่จะต้องตักลีดตามด้วย....

 


โปรดติดตามอ่านตอนที่4....
บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม