เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

แนวทางและอุปสรรคต่างๆ ของดุอาอ์ ที่จะถูกยอมรับ ณ พระผู้เป็นเจ้า

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


แนวทางและอุปสรรคต่างๆ ของดุอาอ์ ที่จะถูกยอมรับ ณ พระผู้เป็นเจ้า

 

การวิงวอนขอดุอาอ์เป็นหนึ่งในการกระทำที่บรรดาอิมาม (อ.) ได้กำชับสั่งเสียและเน้นย้ำประชาชนให้กระทำ ส่วนการที่ดุอาอ์จะถูกยอมรับหรือไม่นั้น อยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการกำหนด (ตักดีร) ที่พระองค์ได้ทรงพิจารณาสำหรับมนุษย์ทั้งหลาย

    อย่างไรก็ตาม บรรดาอิมาม (อ.) ได้ชี้ถึงแนวทางต่างๆ สำหรับการถูกยอมรับของดุอาอ์แก่บรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ไว้ ขณะเดียวกันก็พูดถึงอุปสรรคต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องกีดขวางการถูกยอมรับของดุอาอ์ไว้ด้วยเช่นกัน

   ในเนื้อหาส่วนแรกของบทความนี้ เราจะอธิบายถึงอุปสรรคต่างๆ ที่จะกีดขวางการถูกยอมรับของดุอาอ์ และต่อจากนั้นจะชี้ถึงแนวทางที่จะทำให้ดุอาอ์ของเราถูกยอมรับ ณ พระผู้เป็นเจ้า

การกระทำบาป

   หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าเกิดความอ่อนแอ และกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางการตอบรับดุอาอ์ของเรา คือการไม่เชื่อฟังคำสั่งต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าและการกระทำสิ่งที่เป็นบาป

    ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในบทดุอาอ์ กุเมลว่า :

‏اللَّهُمَّ اغْفِرْ لِيَ الذُّنُوبَ الَّتِي تَحْبِسُ الدُّعَاءَ

“โอ้อัลลอฮ์ โปรดอภัยโทษแก่ข้าพระองค์ ในความผิดบาปทั้งหลายที่มันจะปิดกั้นดุอาอ์” (1)

    บางครั้งความแปดเปื้อนของความผิดบาปต่างๆ ของเรา จะเป็นสาเหตุทำให้ดุอาอ์ (คำอธิษฐาน) ต่างๆ ของเราไม่ถูกยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า

    ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า :

إِنَّ الْعَبْدَ يَسْأَلُ اللَّهَ الْحَاجَةَ فَيَكُونُ مِنْ شَأْنِهِ قَضَاؤُهَا إِلَى أَجَلٍ قَرِيبٍ أَوْ إِلَى وَقْتٍ بَطِي‏ءٍ فَيُذْنِبُ الْعَبْدُ ذَنْباً فَيَقُولُ اللَّهُ تَبَارَكَ وَ تَعَالَى لِلْمَلَكِ لَا تَقْضِ‏ حَاجَتَهُ‏ وَ احْرِمْهُ‏ إِيَّاهَا فَإِنَّهُ تَعَرَّضَ لِسَخَطِي وَ اسْتَوْجَبَ الْحِرْمَانَ مِنِّي

“แท้จริงบ่าวจะวิงวอนขอความต้องการต่ออัลลอฮ์ โดยที่บางครั้งเป็นไปได้ที่การตอบรับมันจะถูกประวิงไปในช่วงเวลาอันใกล้ หรือช่วงเวลาที่ล่าช้าออกไป (เนื่องจากเงื่อนไขบางประการ) แต่แล้วบ่าวจะกระทำบาป ดังนั้นอัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่งจึงทรงตรัสกับทวยเทพ (มะลัก) ว่า จงอย่าทำให้ความต้องการของเขาสัมฤทธิ์ผลและจงห้ามมันจากเขา เพราะแท้จริงเขาได้เผชิญกับความกริ้วโกรธของข้า และสมควรถูกหักห้ามจากข้า” (2)

อาหารฮะรอม (ต้องห้าม) และคลุมเครือ (ชุบฮะฮ์)

     อาหารต้องห้าม (ฮะรอม) คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อต่อจิตวิญาณของมนุษย์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดุอาอ์ถูกปิดกั้นและไม่ถูกยอมรับ

     ชายผู้หนึ่งได้ไปพบท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และกล่าวกับท่านว่า :

 احِبُّ أنْ یستَجابَ دُعائی

“ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ดุอาอ์ของข้าพเจ้าถูกตอบรับ”

     ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวกับเขาว่า :

طَهِّرْ مَأْكَلَكَ وَ لَا تُدْخِلْ بَطْنَكَ الْحَرَامَ

“ดังนั้นจงทำให้อาหารของท่านสะอาดบริสุทธิ์ และจงอย่านำสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) เข้าสู่ท้องของท่าน” (3)

การวิงวอนของในสิ่งขัดแย้งกับฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) แห่งพระเจ้า

     ในบางกรณี คนเราเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ จะวิงวนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า และไม่เป็นคุณประโยชน์สำหรับตัวเขาเอง ด้วยเหตุนี้ดุอาอ์ (คำอธิษฐาน) ของเขาจึงไม่ถูกตอบรับ

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

إنَّ كَرَمَ اللّه ِ سُبحانَهُ لا يَنقُضُ حِكمَتَهُ ، فَلِذلِكَ لا يَقَعُ الإجابَةُ في كُلِّ دَعوَةٍ

“แท้จริงเกียรติ (และความกรุณา) ของอัลลอฮ์ (ซบ.) นั้นจะไม่ขัดแย้งกับวิทยปัญญาของพระองค์ ด้วยเหตุนี้การตอบรับจะไม่เกิดขึ้นกับทุกการวิงวอนขอ” (4)

     พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกล่าวถึงการคิดใคร่ครวญถึงคุณประโยชน์และวิทยปัญญาของพระองค์ไว้เช่นนี้ว่า :

وَعَسَى أَنْ تَكْرَهُوا شَيْئًا وَهُوَ خَيْرٌ لَكُمْ وَعَسَى أَنْ تُحِبُّوا شَيْئًا وَهُوَ شَرٌّ لَكُمْ وَاللَّهُ يَعْلَمُ وَأَنْتُمْ لَا تَعْلَمُونَ

“และบางทีการที่พวกเจ้ารังเกียจสิ่งหนึ่ง ในขณะที่สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งดีสำหรับพวกเจ้า และบางทีการที่พวกเจ้าชอบสิ่งหนึ่ง ขณะที่สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับพวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดี แต่พวกเจ้าไม่รู้” (5)

แนวทางในการตอบรับดุอาอ์

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของอิสลาม ได้ชี้ถึงปัจจัยบางประการในฐานะ บทนำและการเตรียมพื้นฐานต่างๆ สำหรับการถูกตอบรับของดุอาอ์ ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางกรณีในที่นี้ คือ :

     การวิงวอนขอดุอาอ์จะต้องเริ่มต้นด้วยการกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ (บิสมิลลาฮ์) : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

لا يُردّ دعاءٌ أوّلُه بسم الله الرحمن الرحيم

“ดุอาอ์ที่เริ่มต้นด้วยการกล่าว “บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรร่อฮีม” นั้นจะไม่ถูกปฏิเสธ” (6)


การสรรเสริญสดุดีต่ออัลลอฮ์ : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إنَّ كُلَّ دُعاءٍ لا يَكونُ قَبلَهُ تَمجيدٌ فَهُوَ أبتَرُ

“แท้จริงทุกดุอาอ์ที่ไม่มีการสรรเสริญสดุดี (ต่ออัลลอฮ์) ก่อนหน้ามัน ดุอาอ์นั้นจะไม่บรรลุผล” (7)

     การสารภาพความผิดบาปและการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) : ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

 إنّما هِيَ المِدحَةُ ، ثُمَّ الإقرارُ بِالذَّنبِ ، ثُمَّ المَسألَةُ

“แท้จริงแล้วดุอาอ์นั้นจะต้องเริ่มด้วยการสรรเสริญสดุดี (ต่ออัลลอฮ์) ต่อจากนั้น คือการสารภาพในความผิดบาป และจากนั้นจึงวิงวอนขอ” (8)

     การซอละวาตต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และวงศ์วานของท่าน : ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

 كلُّ دعاءٍ محجوبٌ عن السماء حتّى يُصلّى على محمّدٍ وعلى آل محمّد

“ทุกดุอาอ์จะถูกปิดกั้นจากฟากฟ้า จนกว่าจะซอละวาตต่อมุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด” (9)

     การวิงวอนขอดุอาอ์หลังจากการนมาซ : ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

عَلَیْکُمْ بِالدُّعَاءِ فِی أَدْبَارِ الصَّلَوَاتِ فَإِنَّهُ مُسْتَجَابٌ

“ท่านทั้งหลายจงขอดุอาอ์หลังจากการนมาซทั้งหลาย เพราะแท้จริงมันจะถูกตอบรับ” (10)

     การขอดุอาอ์ให้แก่ทุกคน : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إذا دَعا أحَدٌ فَلْيُعِمَّ فإنّه أوجَبُ للدُّعاءِ ، و مَن قَدَّمَ أربعينَ رَجُلاً مِن إخوانِهِ قَبلَ أن يَدعُوَ لِنفسِهِ استُجِيبَ لَهُ فيهِم و في نفسِهِ

“เมื่อผู้ใดจะขอดุอาอ์ ดังนั้นเขาจงวิงวอนขอครอบคลุมให้ทุกคน เพราะแท้จริงมันจะใกล้ต่อการตอบรับดุอาอ์มากกว่า และผู้ใดที่เริ่มการขอให้พี่น้องของเขาสี่สิบคน ก่อนที่เขาจะขอให้แก่ตัวเอง ดุอาอ์นั้นจะถูกตอบรับสำหรับพวกเขาและสำหรับตัวเขาเอง” (11)

แหล่งที่มา :

(1) มะฟาตีฮุลญินาน

(2) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 73, หน้าที่ 329

(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 90, หน้าที่ 373

(4) ฆุร่อรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 3478

(5) อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 216

(6) อัดดะอะวาต, รอวันดี, หน้าที่ 53, ฮะดีษที่ 131

(7) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 21, หน้าที่ 317

(8) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 93, หน้าที่ 318

(9) กันซุลอุมมาล , ฮะดีษที่ 3988

(10) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 66

(11) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 93, หน้าที่ 313

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม