โลกทัศน์อิสลาม :อิสลามกับสังคม ตอนที่ ๒

โลกทัศน์อิสลาม :อิสลามกับสังคม ตอนที่ ๒

 

สังคมในมโนทัศน์อิสลาม

ก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกใบนี้  ความหลากหลายในธรรมชาติได้มีมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง และแท้จริงมนุษย์นั้นถือว่าเป็นส่วนย่อยหนึ่งของเอกภพและการเกิดขึ้นของมนุษย์มีความแตกต่างกับสรรพสิ่งอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณลักษณะของมนุษย์คือการอยู่ร่วมกัน เป็นการอยู่กันอย่างเป็นหมู่คณะ อีกทั้งมนุษย์นั้นยังมีการปฎิสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นในแต่ละแห่งของมนุษย์ก็ย่อมมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยการอยู่ร่วมกันนั้นอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ถึงแม้ว่ามีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เราเรียกว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ และมนุษย์ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน และจากการที่มนุษย์มีปฎิสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม เป็นบ่อเกิดของการรู้จักกันและเข้าใจกันและกัน พร้อมที่จะเกื้อกูลและสนับสนุนกันและกันและสร้างความสันติในการอยู่ร่วมกัน.

อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องของความสัมพันธภาพของมนุษย์ ดังนี้

“โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และเราได้ทำให้พวกเจ้าเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพื่อที่จะได้รู้จักกันและมีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน  แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุด ณ องค์อัลลอฮ คือผู้มีความยำเกรงและสำรวมตนที่สุด”(บทอัลฮุจรอต/๑๓)

เมื่อพิจารณาในระบบย่อยลงมาจากจักรวาล ก็สามารถมองเห็นอย่างประจักษ์ชัดว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันในระบบองค์รวม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในท่ามกลางความหลากหลาย สรรพสิ่งต่าง ๆ ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มิใช่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ตามที่เคยคิดและเข้าใจกันมาแต่ก่อน มนุษย์จึงต้องทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติมนุษย์ แต่ทว่าในปัจจุบันนอกจากมนุษย์จะทำตัวแปลกแยกไปจากธรรมชาติแล้ว ยังเป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อมและทำลายวัฒนธรรมกันและกันอย่างมากมาย   สิ่งแวดล้อมที่สำคัญของมนุษย์มีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ สิ่งไม่มีชีวิต เช่น แร่ธาตุ ดิน น้ำ อากาศ ทะเลทราย ภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น

2) สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ได้แก่ สิ่งที่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ สัตว์ เชื้อโรค สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

3) สิ่งแวดล้อมทางสังคม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เช่น ประชากร เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม พิธีกรรมทางศาสนา และเทคโนโลยี เป็นต้น

ในระบบองค์รวม สิ่งแวดล้อมทั้งสามชนิดของมนุษย์จะต้องดำรงอยู่ในลักษณะประสานสัมพันธ์ สอดคล้องกลมกลืนกัน เพื่อให้เกิดภาวะดุลยภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และจากยุควัตถุนิยมที่ส่งเสริมให้มนุษย์บริโภคเกินขอบเขต ทำให้มนุษย์สร้างปรัชญาในการดำเนินชีวิต ระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ระบบการศึกษา รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างมากมายในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังทำลายเกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั่นเป็นการจุดไฟแห่งสงคราม เพื่อทำลายต่อกันและกัน

นักสังคมวิทยาได้กล่าวว่า แท้จริงมนุษย์เป็นสัตว์สังคมมีชีวิตที่อยู่กันอย่างเป็นกลุ่มหมู่ และมนุษย์กับสังคมเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน กล่าวคือ เมื่อมนุษย์เกิดขึ้นในโลกใบนี้ มนุษย์ก็ได้รวมอยู่เป็นสังคม แต่เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อควบคุมแบบแผนแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ หากปล่อยให้มนุษย์แต่ละคนทำการตามอำเภอใจโดยปราศจากการควบคุมแล้ว สังคมก็ย่อมจะเกิดความปั่นป่วนยุ่งเหยิงและขาดระเบียบแบบแผน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อสังคมจะเกิดสันติสุข

สังคมอาจจะเป็นสังคมที่ดีโดยการยึดระเบียบแบบแผนทางสังคมนั้นมาปฎิบัติ และอาจจะเป็นสังคมที่เลวและสังคมที่ตายไร้ชีวิตชีวา  ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงจำเป็นจะต้องส่งศาสดามาชี้นำทางประชาชนและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือขัดเคลาสังคม และ การขัดเกลาทางสังคม คือ การนำคนเข้าสู่ระบบของสังคม โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ขัดเกลาอัตตชีวะให้พ้นจากสภาพสัญชาตญาณเดิมจนกลายเป็นมนุษย์สังคม เพราะมนุษย์ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก จึงต้องผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตลอดชีวิต ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งศาสดาเป็นผู้ชี้นำและทำหน้าที่ขัดเกลา โดยการนำหลักคิดที่ผ่านกรอบแนวคิดจากวิวรณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า

ปรัชญาสังคมได้สอนให้เรารู้ว่า แท้จริงสังคมนั้นจะต้องดำรงอยู่ด้วยความยุติธรรม และผู้ที่จะมาสร้างความยุติธรรมแก่สังคมได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมขั้นสูง อีกทั้งได้ผ่านการขัดเกลาจิตใจตนเองจนบรรลุธรรม ซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์คือบรรดาศาสดาเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าว  ดังที่ อัลกุรอานได้ยืนยันไว้ว่า..

“แน่นอนเราได้ส่งศาสนทุตของเรามา ด้วยกับหลักฐานอันชัดแจ้ง และเราได้ประทานคัมภีร์และตาชั่งมาพร้อมกับพวกขา เพื่อว่าให้มนุษย์นั้นยืนขึ้นต่อสู้ด้วยความยุติธรรม”(อัลฮะดีด/๒๔)

บนโครงสร้างของคำสอนอิสลาม ในเรื่องสังคมที่พึงปรารถนา  คือ สังคมหนึ่งที่มีความพร้อมในการจะพัฒนาและการก้าวหน้าในทุกๆ ด้านของมนุษย์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต   และสังคม ที่เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่  มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีความสันติสุขสำหรับสมาชิกทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกัน  เป็นครอบครัวที่สมาชิกในครองต่างให้เกียรติและเคารพสิทธิต่อกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจกันและกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงส่ง

เป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อหลักเอกภาพพระเจ้า และยอมรับต่ออำนาจสูงสุดของพระเจ้า  เป็นสังคมที่มีศีลธรรม มีความสำรวมตน ไม่มีความเลื่อมล้ำ หรือกดขี่ แต่ให้ความเสมอภาคและความยุติธรรม อีกทั้งพื้นฐานความมั่นคงและปลอดภัย มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และบนโครงสร้างของหลักการอิสลามต่อความเชื่อที่เข้มแข็งและลึก  มนุษยชาติวันหนึ่งจะประจักษ์เห็นว่า สังคมหนึ่งที่มีอุดมการณ์ว่า ความอยุติธรรมจะถูกแทนที่ด้วยความยุติธรรม ความโง่เขลาถูกแทนที่ด้วยความรู้และนวัตกรรม  และวันนั้นจะมาถึง เมื่อมีผู้ปลดปล่อยโลก อิมามมะฮ์ดี มาปรากฏกาย  โลกนี้จะเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม  ดังนั้นสิ่งที่ถือว่าสำคัญและจำเป็นที่ต้องพิจารณาในการทุกก้าวเดินของสังคม คือ ความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อพระเจ้าองค์เดียว  มีหลักจริยธรรม  กรอปกับมีความยุติธรรม  และนั่นแหละสังคมแบบนั้นจะเป็นสังคมที่พึงปรารถนา อีกทั้งเป็นสังคมมีความปลอดภัยและมั่นคงสูง  มีความยุติธรรม(ทุกเรื่อง)  มีสวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง  มีความก้าวหน้าทางฐานรากเศรษฐกิจ

 

ระบบทางเศรษฐกิจในสังคม

การต่อสู้กับระบอบดอกเบี้ย และการกินส่วย (ใต้โต๊ะ)   ถือว่าจำเป็น และระบอบดอกเบี้ย คือความเสียหายทางเศรษฐกิจของสังคม  จะทำให้คนยากจนเพิ่มมากขึ้น จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีการแบ่งชนชาติเกิดขึ้น  ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยและการกินส่วย ถือว่าในอิสลามนั้นได้ประณามและต่อต้านอย่างรุนแรงเลยทีเดียว

ความจำเป็นต่อการจ่ายเงินซะกาตและเงินคุมซ์   หนึ่งจากวิธีทำให้ลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย หรือไม่ให้คนยากจนเพิ่มมากขึ้นในสังคม นั่นคือการให้ความสำคัญต่อการจ่ายเงินซะกาตและเงินคุมซ์ ความสำคัญของการจ่ายคุมซ์และซะกาตในศาสนาอิสลามมีความสำคัญถึงขั้นที่ว่าความถูกต้องของนมาซนั้นมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ซื้อด้วยเงินที่ยังไม่จ่ายคุมซ์และซะกาต  ส่วนใหญ่อัลกุรอานจะกล่าวถึงการซะกาตควบคู่ไปกับข้อบังคับในการทำนมาซ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความเกี่ยวพันระหว่างทั้งสองได้เป็นอย่างดี เช่น บทที่ 2/ 110 ที่กล่าวถึงการจ่ายซะกาตว่า

وَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ وَآتُوا الزَّكَاةَ ۚ وَمَا تُقَدِّمُوا لِأَنفُسِكُم مِّنْ خَيْرٍ تَجِدُوهُ عِندَ اللَّهِ ۗ إِنَّ اللَّهَ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ

“และพวกเจ้าจงดำรงละหมาดและจ่ายซากาตเถิด และสิ่งใดที่ได้กระทำมันเพื่อตัวของพวกเจ้าที่มาจากความดีงามนั้น จะพบมัน ณ องค์อัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเห็นสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำนั้น”

และโองการที่ 41 ซูเราะฮ์อัลอันฟาล เกี่ยวกับคุมซ์ ว่า

وَاعْلَمُوا أَنَّمَا غَنِمْتُمْ مِنْ شَيْءٍ فَأَنَّ لِلَّهِ خُمُسَهُ وَلِلرَّسُولِ وَلِذِي الْقُرْبَى وَالْيَتَامَى وَالْمَسَاكِينِ وَابْنِ السَّبِيلِ إِنْ كُنْتُمْ آمَنْتُمْ بِاللَّهِ وَمَا أَنْزَلْنَا عَلَى عَبْدِنَا

“จงรู้เถิดว่า อันแท้จริงแล้วสิ่งใดที่ได้ยึดมันมา(จากสงคราม) ดังนั้นถือว่าเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ หนึ่งส่วนห้า และเป็นของรอซูล และเป็นของลูกหลานทายาท(ศาสดา) และบรรดายเด็กกำพร้า และผู้ยากไร้  และผู้เดินทาง ถ้าหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และสิ่งที่เราได้ประทานมายังบ่าวของเขา”

 

เศรษฐกิจที่พึงปรารถนาตามหลักการศาสนาอิสลาม ไม่เพียงแต่การกล่าวถึงข้อปฏิบัติและข้อห้ามเท่านั้น ทว่าส่วนใหญ่แล้วก็ยังมีการปฏิบัติในด้านจริยธรรมและสิ่งที่เป็นภาคอาสา (มุสตะฮับ) อีกด้วย เช่น การทำดีต่อผู้ การจ่ายทานแก่คนยากไร้ (ที่นอกเหนือจากการจ่ายซะกาต) ความพากเพียรในการหารายได้และการทำงาน การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างยุติธรรม และอีกหลายสาระธรรมที่เป็นตัวชี้วัดความเจริญด้านเศรษฐกิจ

ซะกาต ในความหมายเชิงภาษา แปลว่า ความสะอาด หรือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ส่วนในคำนิยามของอัลกุรอานและฮะดีษ  คำว่า “ซากาต” บางครั้งให้ความหมายคือ การให้ทาน กล่าวคือ  บุคคลใดที่มีสติปัญญา และบรรลุนิติภาวะ ได้นำทรัพย์สินบางส่วนของเขา เช่น ข้าวบาเล่ ข้าวสาลี  ลูกเกด  อินทผาลัม  หรือได้นำ แพะ แกะ หรือสิ่งอื่นๆที่ได้จำนวนของเขตตามหลักชะรีอะฮ์กำหนดไว้ให้จ่ายทาน แก่คนจน คนอนาถา  ผู้มีหนี้สิน บุคคลล้มละลายที่ไม่สามารถจะจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้ได้  (นี่คือเงินซากาต)  แต่พึงรู้ว่า แท้จริงการให้ทาน ช่วยเหลือคนยากจน แบบเงินซากาต มิได้มีในศาสนาอิสลามเพียงเท่านั้น  ซึ่งในศาสนาอื่นๆได้ถูกกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน  และอัลกุรอานได้กล่าวถึงเงินซากาตหรือการจ่ายซากาตไว้ว่า..

“และเราได้มีบัญชา(วะฮยู)ยังมนุษย์ทั้งหลาย ได้กระทำสิ่งเป็นคุณธรรม และดำรงละหมาด และจ่ายซากาต”(บทที่ ๒๑ โองการที่ ๗๓)

และเกี่ยวกับศาสดาอีซา อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องทรัพย์สินซาตไว้ว่า…

“และ เขาได้สั่งเสียให้ข้าดำรงละหมาดและจ่ายซะกาตทราบเท่าที่ข้ามีชีวีติอยู่”(บทที่ ๑๙ โองการที่ ๓๑)

เงินคุมส์ ในความหมายเชิงภาษา คือ หนึ่งส่วนห้า  ส่วนในความหมายเชิงวิชาการคือ มุสลิมทุกคนเมื่อบรรลุวัยนิติภาวะ และมีสติสัมปชัญญะครบสมบูรณ์ พร้อมกับมีเงื่อนไขว่า เขาจะต้องจ่ายหนึ่งส่วนห้า จากผลกำไรที่เก็บได้ในรอบปี เป็นสิทธิที่จะต้องจ่ายให้กับกิจกรรมงานเกี่ยวกับวิถีทางอัลลอฮ์  และเงินคุมส์ มี ๒ ลักษณะ คือ หนึ่ง เป็นส่วนของอัลลอฮ์ และรอซูล และอิมาม นำมาใช้สอยในกิจกรรมของรัฐอิสลาม การปกครองในระบอบอิสลาม โดยมอบให้ผู้นำสูงสุดของรัฐอิสลามนั้นเป็นผู้ดูแล  สอง เป็นสิทธิของลูกหลานศาสดา (บรรดาซัยยิด) ที่มิสามารถจะรับเงินซากาตได้ ซึงพวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งจากเงินคุมส์

 

 

อิมามยะฟัร ศอดิก กล่าวว่า…”แท้จริงแล้วเงินซากาต เป็นบททดสอบหนึ่งแก่ผู้มั่งมี และเป็นการเกื้อกูล ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในการดำเนินชีวิตของพวกเขา  ถ้าหากมุสลิมได้ร่วมกันจ่ายซากาตให้กับผู้ยากไร้  แน่นอนจะไม่พบเห็นมุสลิมที่ยากจนเลยสักคน  และถือว่าสิทธิหนึ่งจากอัลลอฮ์ที่มีต่อคนมีอันจะกินคือการช่วยเหลือคนยากจน”(จากหนังสือ มันลายะดุรุล ฟากีย์ เล่ม ๒ หน้า ๗)

อิมามศอดิก กล่าวว่า…”พระองค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้คนรวยมีหน้าที่ดูแลคนจน จากทรัพย์สินของพวกเขา โดยถือเป็นข้อบังคับ  และถ้าหากว่าสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้เป็นหน้าที่เหนือเขาในการ(จ่ายซากาต)  จะไม่หมดหายไปไหน และแน่นอนว่า อัลลอฮทรงกำหนดให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปอีก(ของทรัพย์สินที่ออกจ่ายซากาต)  ดังนั้นสภาพของคนจนที่เลวร้ายอยู่ถึงทุกวันนี้ เนื่องจากบางคนได้ละเลยสิทธิของพวกเขา ไม่ไม้มาจากองคัอัลลอฮ์”(มันลา ยะฎุรุล ฟากี เล่ม ๒ หน้า ๓)

อิมามอะลี กล่าวว่า…”แท้จริงแล้วอัลลอฮจะทรงลงโทษคนรวยจากทรัพย์สินของพวกเขา  ดังนั้นจะไม่มีคนจนใด มีความหิวกระหายอีกต่อไป  ยกเว้นเสียว่า คนร่ำรวยนั้นไม่สนใจคนยากจน และองค์อัลลอฮ์ทรงสอบถาม(ในเรื่องความหิวโหยของคนยากจน)จากคนร่ำรวยทั้งหลาย”(นะฮญุลบะลาเฆาะฮ์  สุนทโรวาท ที่ท ๓๒๘)

 

ความปลอดภัยทางสังคม

โลกวันนี้ นิยามของคำว่า ความปลอดภัยและความมั่นคง ยังเป็นคำที่คลุมเคลือ  ในมโนคติของนักวิชาการยังได้ถกเถียงและค้นหาคำนิยามกันอยู่อีก   หนึ่งจากเหตุปัจจัยที่ทำเกิดความคลุมเคลือของการมโนภาพของคำๆ นี้ คือการสร้างภาพที่ถูกต้องให้กับการนิยามนั้นไม่ได้  การเข้ามามีบทบาทของคำๆ นี้ในความหมายอื่นๆ อีกมากในโลกวันนี้ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต  ได้แก่ ความสันติภาพ   เศรษฐกิจ  ความยุติธรรมด้านปัจเจกบุคคลและด้านสังคม   การเมือง  และความศรัทธา และอื่นๆ   โดยได้นำแขนงต่างๆ ของคำว่า”ความมั่นคง”มากล่าวไว้  เราสามารถจะกล่าวถึงเรื่องนี้ ในประเด็น ความมั่นคงทางภายใน  และความมั่นคงด้านปัจเจกบุคคลและด้านสังคม  ดังนี้

-ความปลอดภัยทางจิตวิญญาณ คือ บนพื้นฐานคำสอนของอิสลาม มีโครงสร้างและพื้นฐานด้านความมั่นคงและความปลอดภัยหลายมิติและการศรัทธามั่นต่อพระเจ้าองค์เดียวจะทำให้มิติต่างๆ ทางด้านความมีอยู่ของมนุษย์อุบัติขึ้น  ดังนั้นความมั่นคงทางจิต  คือ ความมีภาวะที่สงบทางจิตนั่นเอง  ด้วยเหตุผลของการมีศรัทธาต่อพระเจ้าและการมอบความไว้วางใจต่อพระเจ้า  กล่าวคือ มนุษย์จะมีความหวังต่อผลการตอบแทนรางวัลจากพระเจ้าและมีความหวังจะได้รับความปลอดภัยจากการลงโทษจากพระเจ้า  และนี่คือ ความมั่นคงทางหัวใจ  ด้วยสื่อของการศรัทธาที่บริสุทธิ์และความมั่นใจทางจิตใจนั่นเอง  ดังนั้นใครก็ตามได้รำลึกถึงพระเจ้า พร้อมกับศรัทธามั่นต่อพระเจ้า  ดังนั้นเขาจะมีพื้นฐานที่มีความมั่นคงด้วยการเข้าสู่บ้านแห่งศานติแห่งความปลอดภัยของพระเจ้า และได้ขอความคุ้มครองยังพระองค์ทุกขณะจิต  และใครก็ตามได้ขอความคุ้มครองยังพระเจ้า ผู้ทรงปรีชาสามารถและยิ่งใหญ่  เขาจะไม่รู้สึกหวาดหวั่น หรือกลัวใดๆ   ดังที่ศาสดาอิสลามกล่าวไว้ว่า…

“ อันแท้จริงแล้วผู้ศรัทธาพระเจ้าถูกเรียกว่า ผู้ศรัทธานั้น เนื่องจากเขาได้แสวงหาและเรียกหาความสงบมั่นจากพระเจ้า ดังนั้นพระเจ้าจึงได้ให้ความสงบมั่นแก่เขา”(วะซาอิลุชชีอะฮ์  เล่ม ๘ หน้า ๕๖๕)

แท้จริงแล้วรากเง้าที่มาของความไม่สงบและไม่มีความปลอดภัย มาจากการไร้ศรัทธาพระเจ้า และการตั้งภาคีกับพระเจ้า  และมาจากการกดขี่และการหยิ่งยโสทะนงตน

อัลกุรอานได้กล่าวว่า…

“และเจ้าจงตักเตือนด้วยอัลกุรอานแก่บรรดาผู้ที่เกรงกลัวว่าพวกเขาจะถูกนำไปชุมนุมยังพระเจ้าของพวกเขา โดยที่อื่นนอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีผู้ช่วยเหลือคนใด และไม่มีที่ทำการชะฟาอะฮ์(ช่วยเหลือ)คนใดสำหรับพวกเขา เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยำเกรง”(บทที่ ๖  โองการที่ ๕๑)

-ความปลอดภัยด้านปัจเจกบุคคลและสังคม   คือ  บุคคลหนึ่งๆ จะไม่ความกังวลต่อจิตและร่างกายของเขา ในเรืองชีวิต ทรัพย์สิน และทุกๆ สิ่งที่ได้เกี่ยวพันกับเขา และมีความปลอดภัยและสงบสุขต่อการดำเนินชีวิต และไม่มีความหวาดกลัวใดๆ   ด้วยเหตุนี้คำสอนของอิสลาม ได้เน้นให้มีความมั่นคงและปลอดภัยในด้านปัจเจกบุคคล โดยให้มีความควบคู่กับความยำเกรงและการให้เกียรติต่อผู้อื่น  และการสร้างหลักความยุติธรรม และปกป้องผู้ถูกกดขี่  ต่อสู้กับความชั่วร้ายและความอยุติธรรม  และให้ค้นหาและเตรียมพร้อมการสร้างความเสรีภาพแก่ประชาชน  กล่าวคือ อิสลามได้พิจารณาในเรื่องการห้ามมิให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมหรือการก่อความไม่สงบในสังคม  และเรียกร้องให้สังคมทำลายความบ่อนทำลายสังคม  และยังได้มีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ทำการละเมิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อความไม่สงบที่นำไปสู่การนองเลือด หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ล้มตาย

อีกด้านหนึ่งคือการวางกฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยแก่สังคม ถือว่าเป็นประเด็นการเตรียมพร้อม เพื่อให้การละเมิดและการทำผิดระเบียบทางสังคมลดน้อยลงไป  ดังตัวอย่างที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรม  เรื่องของการคลุมญิฮาบ  ถือว่าเป็นกฎทางสังคมหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้สังคมเกิดความปลอดภัยและเป็นการขับเคลื่อนต่อคนๆ ที่มีศรัทธาอ่อนแอและนำความเข็มแข็งมาสู่สังคม  ฮิญาบ คือ รากฐานของความมีเกียรติ และเกียรติยศของสตรีเพศ และกับการมองถึงการมีคุณค่าของสตรีเพศ  และยังได้สกัดควา มวุ่นวายต่างๆ ทางสังคมลงได้

บางคำสอนและคำสั่งเสียทางด้านจริยธรรมของอิสลาม ต่อเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยในกรอบแนวคิดของอิสลาม ไม่ใช่แค่มองประเด็นด้านทรัพย์สิน หรือชีวิตอย่างเดียว  แต่ยังมองไปยังบุคลิกภาพ  ความมีเกียรติ และเกียรติยศของมนุษย์ด้วย ดังที่ศาสดาอิสลามได้กล่าวว่า…”ใครก็ตามได้ดูถูกเหยียดหยามผู้ศรัทธา เท่ากับเขาได้ทำสงครามกับฉัน(ศาสดา)”(อัลกาฟี  เล่ม ๔ หน้า ๗๔)

อิมามอะลีกล่าวว่า …

“ส่วนคำที่กล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ เพื่อจะประกาศบอกว่า แท้จริงการปฏิญาณนั้นจะไม่สมบูรณ์และเกิดขึ้นได้ นอกจากมาจากความเชื่อทางหัวใจ ประหนึ่งเหมือนกับกล่าวว่า จงรู้เถิดว่า ไม่มีสิ่งใดควรแก่การสักการะเลย นอกจากองค์อัลลอฮ์  และทุกๆ สิ่งที่ได้รับการสักการะนั้น ถือว่าเป็นโมฆะ เว้นแต่พระองค์  และข้าฯขอเปล่งออกมาด้วยวาจาว่าสิ่งที่เป็นความเชื่อในหัวใจ มาจากการรู้จักว่า แท้จริง ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์  และไม่มีการคุ้มครองจากใคร นอกจากพระองค์   ไม่มีการช่วยเหลือจากใดๆ  นอกจากพระองค์เท่านั้น”(อัตเตาฮีด  เชคศอดูก หน้า ๒๓๙)

บนหลักการที่ได้กล่าวผ่านไป  พระเจ้า ทรงวิทยปัญญา  ทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และทรงรังสรรค์สร้างสรรพสิ่งอื่นๆ ทั้งหลาย  พระองค์ทรงรอบรู้ถึงภาวะของสิ่งถูกสร้างทั้งหลายของพระองค์ และรอบรู้ถึงความต้องการและความจำเป็น และหนทางในการเดินไปข้างหน้าและความก้าวหน้านั้น และจากเหตุผลที่ว่ามนุษย์มีสองด้าน คือด้านวัตถุและด้านจิตวิญญาณ  จะไม่สามารถจะรู้แจ้งเองต่อความจำเป็นของตนได้ หรือค้นหาหนทางเองของตนเพื่อบรรลุความต้องการทุกๆ อย่างหรือจะแยกแยะเอง (โดยปราศจากการชี้นำจากพระเจ้า)

พระเจ้าทางวิทยปัญญา ได้ส่งบรรดาศาสดามายังมนุษยชาติ เพื่อต้องการชี้ทางนำในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง โดยที่จะเป็นสื่อในการจะนำพาไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด นั่นคือ การใกล้ชิดต่อแหล่งความสมบูรณ์(พระเจ้า) คือ พระผู้ทรงองค์สัมบูรณ์เจ้า ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนกับพระองค์  และจะให้มนุษย์มีความผาสุกทั้งโลกนี้และปรโลก  และความผาสุกในโลกนี้นั้น มิใช่แค่เพียงด้านปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่อิสลามยังได้มีคำสอนในด้านสังคมอีกด้วย โดยถือว่าเป็นศาสนาที่สมบูรณ์มีคำสั่งครอบคลุมทุกๆ ด้าน  และทุกๆ คนคือสมาชิกจากครอบครัวของประชาชาติอิสลาม  และสังคมอิสลาม เป็นสังคมยุติธรรม ผดุงไว้คุณธรรม และต่อสู้กับความอยุติธรรมและการลำเอียง ไม่เสมอภาค และการกดขี่ทั้งหลาย เพื่อให้มีการพัฒนาในทุกๆ  หน่วยย่อย  และไม่สงสัยเลยว่า สังคมที่สมบูรณ์ สามารถทำให้ส่วนสมาชิกอื่นๆ มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปด้วย.