ปรัชญาศาสนา กับกระบวนทัศน์ความสมานฉันท์ ตอนที่ 1

ปรัชญาศาสนา กับกระบวนทัศน์ความสมานฉันท์ ตอนที่ 1

 

 

มนุษยชาติเข้าสู่ศตวรรษที่๒๑ ถือว่าเป็นการเข้าสู่บริบทของการปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันทั่วโลก ไม่ว่าการสื่อสาร ด้านตำรา  อินเตอเนต  วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์และดาวเทียมสื่อดิจิตอลทั้งหลาย โดยที่ได้ทำการติดต่อสื่อสารต่อกันและกันอย่างง่ายดายและรวดเร็ว สามารถรับรู้การเป็นอยู่หรือรับรู้เรื่องราวของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างรวดเร็ว และถือว่าเป็นการเข้าสู่บริบทใหม่ของการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ

หนึ่งจากตัวแปรสำคัญของยุคสมัยนี้ในการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันคือการยอมรับการมีอยู่ของศาสนาของผู้อื่นและยอมรับในความต่างของผู้นับถือศาสนา ทำลายเหตุปัจจัยกำแพงแห่งการขวางขั้นระหว่างผู้นับถือศาสนาออกไปและเน้นการสร้างศาสนสัมพันธ์เป็นวิถีใหม่แห่งการอยู่ร่วมกัน

บรรดานักการศาสนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาและในนิกายต่างๆได้แสดงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้วยการสร้างปฎิสัมพันธ์ต่อกันและกันและสร้างความเข้าใจต่อกันและกัน ซึ่งวิธีการเช่นนี้ส่งผลสะท้อนที่เป็นเชิงบวกต่อบรรดาผู้นำทางศาสนาและลัทธิทั้งหลาย จนทำให้เกิดความสมานฉันท์และเคารพในสิทธิต่อกันของการดำเนินชีวิต

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับผู้ที่ได้เรียนรู้และเข้าถึงคำสอนของศาสนาอิสลาม จะพบ ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่เลย เพราะว่าบรรดาศาสดาแห่งพระเจ้าในอดีต โดยเฉพาะศาสดามุอัมมัด(ศ)และจริยวัตรแห่งทายาทผู้บริสุทธิ์ของศาสดา รวมถึงอัครสาวกผู้ทรงธรรมแห่งศาสดา(ศ)ได้เรียกร้องสิ่งนี้มาตลอดและยังถือว่าเป็นโครงสร้างหลักของศาสนาอิสลามที่จะต้องสร้างความสมานฉันท์ และเคารพสิทธิในศาสนาอื่น

มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นผู้รักความก้าวหน้าและเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้รักการเรียนรู้ ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าด้านปัจเจกและด้านสังคม ในช่วงวัยเด็กที่เราได้หมกมุ่นหรือพยายามแสวงหาอะไรบ้างอย่าง ถือว่าไม่ใช่ความบ้าหรือความไม่มีเป้าหมายของมนุษย์เรา แต่เป็นเพราะความรักและความปรารถนาบางอย่างที่อยู่ในตัวของเราเป็นพลังขับเคลื่อนให้เราทยานไปหามัน จนกระทั้งได้สืบค้นสิ่งลี้ลับต่างๆ และด้วยกับสัญชาตญาณบริสุทธิ์(ฟิตเราะฮ์)ของมนุษย์ในด้านการอยากรู้อยากเห็น ทำให้มนุษย์สามารถค้นพบและคว้าสิ่งมีชีวิตต่างๆและความลี้ลับของมันอย่างน่ามหัศจรรย์ทีเดียว เริ่มด้วยการอยากรู้อยากเห็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติต่างๆของจักรวาลและเอกภพ จนกระทั้งผืนแผ่นดิน และดวงดาวบนท้องฟ้า ซึ่งวิทยาการต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ เนื่องจากความอยากรู้และความปรารถนารู้ของมนุษย์

ด้วยเหตุนี้โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนจะมีคำถามคาใจและแทงใจดำอยู่ทุกยุคทุกสมัยเกี่ยวกับตัวของเขาเองและเกี่ยวกับเอกภพว่า

-ข้าพเจ้ามาจากไหน?

-ข้าพเจ้าเกิดมาเพื่ออะไร?และใช้ชีวิตไปมีเป้าหมายอะไรในชีวิต?

-การมาและการจากไปของข้าพเจ้ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร?

-เอกภพที่มีความสง่า ดวงดาวอันสวยงาม ท้องฟ้าอันน่าพิศวง เกิดมาได้อย่างไร?

-เอกภพนี้และสรรพสิ่งทั้งหลายอุบัติขึ้นมาโดยผู้สร้างหรือเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ?และถ้ามีผู้สร้างมีเป้าหมายในการสร้างหรือเปล่า?

-สุดท้ายของชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายคือความตายกระนั้นหรือ? ความตายคือจุดจบทุกสิ่งหรือไม่? หรือว่ายังมีชีวิตหลังความตายอีก? ถ้ามี แล้วเราจะไปอยู่กันที่ไหน?

คำถามเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว พวกเขาจะหาคำตอบตามที่เขานั้นมีองค์ความรู้ ดังนั้นบางคนจะได้รับคำตอบที่กระจ่าง บางคนหาคำตอบได้แค่เพียงบางส่วนอีกบางส่วนยังคลุมเคลือ และบางคนยังหาคำตอบไม่เจอเลย ดังนั้นคำตอบของคำถามข้างต้นจะไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับโลกทัศน์ของแต่ละคน และนี่คือโลกทัศน์ของมนุษย์ที่เราควรจะรู้จักมัน

มนุษย์ทุกคนจะมีโลกทัศน์ของตนเอง เพราะว่าโลกทัศน์นั้นเกิดขึ้นจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์หรืออาจจะมาจากสัญชาตญาณบริสุทธิ์(ฟิตเราะฮ์)ที่อยู่ในตัวของมนุษย์ นั่นหมายความว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นสัตว์มีสติปัญญา ถูกสร้างมาอย่างมีอิสระและเสรีภาพในการเลือก มีความปรารถนาต่อการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าและความสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างกับบรรดาปศุสัตว์อื่นๆที่ไร้สมองไร้ปัญญา ไม่มีสัญชาตญาณบริสุทธิ์(ฟิตเราะฮ์) ดังนั้นมนุษย์จึงมีความเจริญ สามารถไปสู่ความเป็นอารยะบุคคล เป็นผู้มีจริยธรรมขั้นสูง มีจิตเมตตา อีกทั้งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีไปสู่ความก้าวหน้าและมีความเจริญ ซึ่งเรียกในยุคปัจจุบันว่าเป็นยุคความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี มนุษย์สามารถสร้างนิวเครียร์ สามารถสร้างกระสวยอวกาศเพื่อไปศึกษาดวงดาวอื่นๆ  ดังนั้นมนุษย์เป็นผู้มีศักยภาพและความสามารถทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณที่จะให้บรรลุจุดสูงสุดได้

การเลือกระเบียบแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดและการสร้างระเบียบแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์นั้นถือว่าเป็นความพยายามของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงสร้างวิธีคิดและหลักคิดทางปรัชญาและมีหลักความเชื่อ เพื่อไขปริศนาของคำถามนั้นและสร้างความถูกต้องในการวิเคราะห์ วิจักษ์และวิธานต่อเอกภพและสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนื้

วิธีคิดหรือหลักคิดที่กลายเป็นความเชื่อของสำนักใดสำนักหนึ่งเกี่ยวกับการมองต่อโลกและมนุษย์ และสรรพสิ่ง และได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการมองต่อสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นความเชื่อ เราเรียกว่า”โลกทัศน์”

ทุกสำนักคิดทางศาสนา ทุกนิกายและทุกลัทธิทางปรัชญาล้วนแล้วแต่มีโลกทัศน์เป็นของตนเองเพื่อนำเสนอหลักคิดแก่ผู้อื่นและอธิบายในความเชื่อของสำนักของตน เพื่อสร้างระเบียบแบบแผนต่างๆไม่ว่าสิ่งที่ควรจะกระทำสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ

นิยาม ศาสนาและนิกาย

จากความก้าวหน้าทางวิทยาการและด้านเทคโนโลยีทำให้มีการนิยามของคำว่าศาสนาและนิกายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นทำให้นักวิชาการได้นิยามสิ่งที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นมาเป็นไปตามระเบียบและรูปแบบภายนอกบ้าง หรือบ้างก็นำเสนอเนื้อหาที่ง่ายต่อการเข้าใจ  บ้างก็นำเสนอเนื้อหาที่ยากและเข้าใจยากบ้าง  ดังนั้นการนิยามคำว่า”ศาสนา”ในมุมมองของนักเทววิทยาและนักศาสนศาสตร์ คือปรากฏการณ์ที่เป็นเรื่องปกติและยอมรับกัน  แต่ทว่าในหลักวิชาศาสนศาสตร์ ด้วยกับการปรากฏของศาสนาโลกมีมากมาย ถือว่าเป็นเรื่องยากทีเดียว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างจุดร่วมเหมือนกัน  ดังนั้นนักวิชาการทางด้านศาสนศาสตร์ได้พยายามจะแสวงหาจุดร่วมในการให้นิยามของคำว่าศาสนา แต่ในทีสุดก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเลย  จึงปรากฏการนิยามของคำว่า”ศาสนา”มากกว่าแปดสิบนิยาม และแต่ละนิยามนั้นก็มีความเป็นเอกเทศและมีจุดเด่นของมัน เช่นตัวอย่างหนึ่งของการนิยามศาสนาคือ” การเชื่อและศรัทธาต่อพระเจ้าและยึดปฎิบัติในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อนั้น”  การนิยามนี้ไม่ครอบคลุมไปทุกศาสนา เพราะว่ามีบางศาสนาได้หลุดออกจากนิยามนี้ เนื่องจากบางศาสนาไม่ได้เชื่อต่อพระเจ้า หรือบางคนกล่าวว่า “ศาสนาคือ การศรัทธาและเชื่อสิ่งศักสิทธิ์หนึ่ง” หรือกล่าวว่า”การเชื่อศรัทธาต่อสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณ”  อีกกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า”ศาสนา คือศรัทธาว่ามีสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งเหนือธรรมชาติมนุษย์ ที่จะต้องเคารพภักดีและนมัสการ”

คำว่า”นิกาย”ในอดีตหมายถึงสำนักคิดที่เป็นผลผลิตมาจากศาสนา(เช่นนิกายในอิสลาม หรือนิกายทั้งสี่ของอะลิซซุนนะฮ) และคำว่า นิกาย จะไม่นำมาใช้แทนที่ของคำว่าศาสนา ยกเว้นในโลกตะวันตก คำว่า”Religion” บางคนให้ความหมายถึงลัทธิหรือนิกายทางศาสนาด้วย และต่อมาเกือบครึ่งศตวรรษที่กลุ่มประเทศตะวันตกได้เรียกนิกายนั้นว่าศาสนา หมายความว่า ได้นำคำว่า”นิกาย”ให้เป็นคำเดียวกับคำว่าศาสนา

คำว่า”สำนักคิด”คือแนวทางหรือวิธีคิดและลักษณ์การศรัทธาเฉพาะ   คือสำนักคิดของศาสนาต่างๆที่เชื่อต่อพระเจ้า  ดังนั้นในศาสตร์เทววิทยาอิสลาม(อิลมุลกะลาม) คำว่ามิลละฮ์ (ملة ) คือกลุ่มสำนักคิดที่เชื่อต่อพระเจ้า

 

 

ศาสนาในมุมมองสังคมวิทยา

ถ้าหากว่าเราจะเปรียบเทียบศาสนาเหมือนกับหมอรักษาคนป่วย ดังนั้นเราคงต้องบอกว่า ศาสนาคือกิจกรรมหนึ่งของสังคมที่มิสามารถจะให้ขาดหายไปได้ ถึงแม้ว่าหมอรักษาคนป่วยจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลก็ตาม แต่ทว่าด้วยกับความสัมพันธ์และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมและทางบุคคลระหว่างหมอทางจิตวิญญาณกับคนที่ต้องรักษาโรคการขาดศิลธรรม ดังนั้นเนื้อหาที่เป็นเรื่องของบุคคลก็จะถือว่าเป็นเรื่องของสังคมได้เช่นกัน และเรื่องที่เป็นสังคมก็สามารถเป็นเรื่องของบุคคลได้เช่นกัน  ดังนั้นนักสังคมวิทยาถือว่าศาสนาคือบทบาททางสังคม ด้วยเหตุผลนี้เราจึงนำเรื่องของศาสนามากล่าวในด้านของสังคมวิทยา

มุมมองของนักสังคมวิทยาถือว่าศาสนาเป็นผลพวงของการปรากฏทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะว่าวิทยาการต่างๆนั้นที่ผ่านมาได้พาดพิงมาจากศาสตร์ด้านอภิปรัชญา แต่ต่อมาในยุคกลางของยุโรปของโลกตะวันตก ทำให้ระหว่างวิทยาศาสตร์กับอภิปรัชญามีช่องห่างกันมากทีเดียวเกือบจะเชื่อมสัมพันธ์กันไม่ได้ และต่อมาแนวความคิดนี้ได้แผ่ไปทั่วทุกมุมของโลก จนเกิดปรากฏเป็นปรปักษ์และการต้านระหว่างวิทยาศาสตร์กับอภิปรัชญา จึงทำให้เกิดความคิดและทัศนะคติที่เป็นลบต่อการยอมรับศาสนา เมื่อนักสังคมวิทยาได้นำเรื่องของศาสนามากล่าวหรือมาวิพากษ์ พวกเขาจะถือว่าเป็นเรื่องของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเนื้อหาที่มาจากเบื้องบน หรือกล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นเองหรือเป็นเรื่องของไสยศาสตร์เพื่อจะแสวงหนทางรอดพ้นในการดำเนินชีวิต  สิ่งที่อธิบายเหล่านี้เนื่องจากอิทธิพลของแนวคิดนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า การอธิบายทุกอย่างนั้นต้องผ่านสัมผัสได้และผ่านวิทยาศาสตร์เท่านั้นจะถือว่าเป็นความจริง ไม่ใช่มาจากเบื้องบน จากสวรรค์ จากพระเจ้า

นักสังคมวิทยาถือว่า ศาสนานั้นในจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์แห่งการสร้างตนและการสร้างสังคมให้เป็นสังคมอารยะ และศาสนามาคู่กับสังคมตั้งแต่อดีตกาล

ศาสนาเหมือนกับปรากฏการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นเพื่อแสวงหาความสมบูรณ์ดังนั้นนักวิชาการมีความเชื่อว่าผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาก็มีระดับขั้นและแสวงหาความสมบูรณ์ซึ่งผู้มีศาสนามีระดับชั้นเหมือนชั้นห้องเรียนที่จะไปสู่ความสมบูรณ์ที่สุดแต่ทว่านักวิชาการกล่าวว่าศาสนาได้เริ่มต้นจากภาวะการกราบไหว้สิ่งศักดิสิทธิ์ทางธรรมชาติและต่อมาได้ก่อการตั้งภาคีจนไปถึงระดับขั้นการยอมรับความเป็นเอกะของพระเจ้า และในปัจจุบันนี้ก็ยังพบเจอศาสนาโบราณที่หลงเหลืออยู่จากจุดที่ไกลพ้นของโลกและบรรดานักวิจัยทั้งหลายได้ค้นพบว่าศาสนาเหล่านั้นมีการพัฒนาการและก้าวหน้าทางด้านความเชื่อและทางการการดำเนินชีวิตที่น่าทึ่งทีเดียว

 

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน