เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปรัชญาศาสนา กับกระบวนทัศน์ความสมานฉันท์ ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ปรัชญาศาสนา กับกระบวนทัศน์ความสมานฉันท์ ตอนที่ 2

 

การสมานฉันท์ระหว่างศาสนา

มนุษยชาติมีความแตกต่างกัน โดยมีสังคมและการเป็นอยู่ที่มีความหลากหลาย ผ่านการสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและหนึ่งจากเอกลักษณ์ของอารยธรรมนั้นคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสันติภาพระหว่างผู้ที่มีความเชื่อและมีศรัทธาที่แตกต่างกัน  และจากการวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของหลักการในเรื่องนี้จะพบว่าแท้จริง การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสมานฉันท์ระหว่างคนที่มีความคิดเห็นต่างหรือมีความเชื่อต่าง คือธรรมชาติบริสุทธิ์ดั้งเดิม(ฟิตเราะฮ์)ของมนุษย์  และเป็นไปไม่ได้ที่มนุษยชาติต่างได้เรียกร้องสู่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโลโลยี เรียกร้องการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แต่มิได้เรียกร้องการสร้างความสันติและการสร้างอารยธรรมแห่งสังคมอารยะ นั่นคือการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนที่มีความเชื่อและศรัทธาที่ต่างกัน  และโลกวันนี้ต่างก็ได้เรียกร้องให้สังคม ไม่ว่าสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ ก้าวไปสู่ความเจริญงอกงามอย่างมีคุณค่าทางจริยธรรมและวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการไปถึงการมีอายธรรม ที่มนุษยชาติทุกชนชาติ ทุกลัทธิ ทุกศาสนาต่างอยู่ร่วมกันอย่างศานติ  และเครื่องมือหนึ่งของการสร้างสันติภาพและความสมานฉันท์คือ การหันมานั่งสนทนาธรรม หรือสานเสวนาระหว่างกันและกัน  แสวงหาทางสายกลาง ปฏิเสธความรุนแรงและการมีความคิดหรือการแสดงออกแบบสุดโต่ง  ให้เกียรติระหว่างศาสนาและเคารพในสิทธิต่อกัน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งจากคำสอนของศาสนาที่ได้กล่าวไว้

ศาสนาทั้งหลายในอดีตได้แสดงบทบาทที่สำคัญและเห็นด้วยกับหลักการนั้นโดยการให้ความร่วมมือจึงเป็นที่คาดหวังว่าในยุคหนึ่งนั้นบรรดาศาสนาทั้งหลายจะอยู่กันอย่างสันติเคารพในศาสนากันและกันและสร้างความพึงพอใจและความต้องการด้านต่างๆของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นทุกศาสนาได้เชื่อและมีความศรัทธาว่า โลกแห่งสันติภาพยังมิอาจบรรลุถึงได้ นอกเสียจากบรรดาศาสนาและผู้นำของศาสนาต่างๆ ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมอันดีงามและมีอารยธรรมอันน่ายกย่องนั้น มาร่วมสานเสวนาและพูดคุยสนทนาทางด้านศาสนากัน เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีศาสนาใดในโลกใบนี้ที่มีความเชื่อหรือมีหลักคิดที่เป็นลบต่อกันหรือส่งเสริมมุ่งร้ายและแข่งขันในทางที่มิชอบ แต่ตรงกันข้ามศาสนาทั้งหลายต่างชิ่นชมและยินดีในความเป็นมิตรและมีจิตเอื้ออาทรต่อกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่าศาสนาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อกัน

ก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกใบนี้  ความหลากหลายในธรรมชาติได้มีมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง และแท้จริงมนุษย์นั้นถือว่าเป็นส่วนย่อยหนึ่งของเอกภพและการเกิดขึ้นของมนุษย์มีความแตกต่างกับสรรพสิ่งอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณลักษณะของมนุษย์คือการอยู่ร่วมกัน เป็นการอยู่กันอย่างเป็นหมู่คณะ อีกทั้งมนุษย์นั้นยังมีการปฎิสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นในแต่ละแห่งของมนุษย์ก็ย่อมมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยการอยู่ร่วมกันนั้นอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ถึงแม้ว่ามีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เราเรียกว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ และมนุษย์ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน และจากการที่มนุษย์มีปฎิสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม เป็นบ่อเกิดของการรู้จักกันและเข้าใจกันและกัน พร้อมที่จะเกื้อกูลและสนับสนุนกันและกันและสร้างความสันติในการอยู่ร่วมกัน.

อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องของความสัมพันธภาพของมนุษย์ ดังนี้

“โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และเราได้ทำให้พวกเจ้าเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพื่อที่จะได้รู้จักกันและมีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน  แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุด ณ องค์อัลลอฮ คือผู้มีความยำเกรงและสำรวมตนที่สุด”(บทอัลฮุจรอต โองการที่๑๓)

เมื่อพิจารณาในระบบย่อยลงมาจากจักรวาล ก็สามารถมองเห็นอย่างประจักษ์ชัดว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันในระบบองค์รวม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในท่ามกลางความหลากหลาย สรรพสิ่งต่าง ๆ ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มิใช่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ตามที่เคยคิดและเข้าใจกันมาแต่ก่อน มนุษย์จึงต้องทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติมนุษย์

จอห์น ฮิก (เกิด ค.ศ. 1922) ถือได้ว่าเป็นบุคคลแรกได้นำเสนอแนวคิดในเรื่องพหุนิยมทางศาสนา และเขาเป็นผู้วางแผนและได้ส่งเสริมให้เกิดขึ้นของแนวคิดนี้ไปทั่วโลก

เขากล่าวว่า :

“ศาสนาที่แตกต่างกัน, เป็นกระแสที่แตกต่างกันของประสบการณ์ทางศาสนา ซึ่งแต่ละจุดนั้นอยู่ในระดับอันเฉพาะเจาะจง ที่เริ่มต้นขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และตัวการที่รู้แจ้งด้วยปัญญาของตน ก็จะถูกกู้คืนในบรรยากาศของวัฒนธรรม.”

เขากล่าวอีกว่า:

“ในมุมมองด้านปรากฏการณ์วิทยา นิยามที่ว่าความหลากหลายทางศาสนา (ศาสนาจำนวนมาก) ในรูปคำง่ายๆ หมายถึงความจริงที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ของศาสนา กล่าวคือ การแสดงแบบฉบับอันหลายหลากเป็นจำนวนมากของแต่ละประเภทเหล่านั้น ในทัศนะของปรัชญาที่จะนำไปสู่ความจริงได้กันทั้งหมด นิยามดังกล่าวคือการสังเกตทางทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีต่างๆ การอ้างอิง และการแข่งขันกับพวกเขาคำนิยามนี้ หมายถึงทฤษฎีที่ว่า ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของโลก,ได้ประกอบขึ้นโดยการรับรู้ที่แตกต่างกันจากความจริงสุดท้าย  ในความลึกลับแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

เป็นไปได้ว่า ทัศนะที่ จอห์น ฮิก ได้แสดงออกมา  อาจจะสมมติฐานว่า แท้จริงความคิดในเรื่องพหุนิยมทางศาสนา เป็นการนำเสนอถึงหลักคิดที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกๆศาสนา มีความจริงและผู้นับถือศาสนาได้แสดงออกการตอบสนองออกมาที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่าง  และการตอบสนองนั้นได้วางอยู่บนเงื่อนไขด้านวัฒนธรรม   แต่หลักคิดของฮิกได้แตกต่างกับหลักคิดหลักปรัชญาแบบคานท์นิยม(Kantianism) ที่เรียกว่า จิตนิยมอุตรวิสัย(transcendental idealism) กล่าวว่า มนุษย์ใช้แนวคิบางอย่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ในการรับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวในโลกใบนี้  รับรู้โลกด้วยผ่านทางประสาทสัมผัสและประกอบกับมโนภาพที่ติดตัวมา ดังนั้นจึงมีความแตกต่างและไม่เหมือนกัน และฮิกเชื่อว่า แท้จริงประสบการณ์และความเป็นจริงแท้ มีสองมุมและสองมิติ  และเป็นไปได้ที่เขาต้องการจะระงับข้อถกเถียงและความขัดแย้งระหว่างศาสนาต่างๆ และเป็นไปได้ที่เขาต้องการจะให้ศาสนาต่างๆใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

สังคมโลกาภิวัตน์ ได้ถือว่าทุกๆความขัดแย้งนั้นสามารถจะแก้ไขได้ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในศาสนาและศาสนิกหรือแม้แต่ในระหว่างนิกาย ดังนั้นการสนองตอบต่อทฤษฎีพหุนิยมในศาสนาและนิกายคือทางออกหนึ่งของความขัดแย้งและนำไปสู่สันติภาพ โดยพวกเขาได้นำเสนอทางออกของความขัดแย้งระหว่างศาสนาหรือระหว่างนิกายลดลงไปหรืออาจจะทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างกันมากยิ่งขึ้น คือการนั่งสานเสวนาและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์แบบยึดมั่นถือมั่น มาเป็นกระบวนทัศน์แบบพหุนิยม  หรือถ้าเราอาจจะมองให้แคบกว่านั้นในความแตกต่างของนิกายในศาสนาเดียวกัน โดยมองว่าเป็นไปได้ที่จะพิจารณาระหว่างศาสนาด้วยกัน ในลักษณะที่ว่าทุกศาสนานั้นความจริงและความถูกต้อง หรือมองว่าทุกๆศาสนาต่างได้ประโยชน์จากความจริงทั้งสิ้น หรือในศาสนาหนึ่งๆอาจแบ่งออกเป็นหลายนิกาย และแต่ละนิกายนั้นต่างมีความจริงทั้งสิ้น เช่น นิกายซุนนี และชีอะฮ์  มีอยู่ภายในศาสนาอิสลาม และแต่ละนิกายจะแนะนำตัวเองว่าเป็นอิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีบางหลักปฏิบัติที่แตกต่างอยู่ก็ตาม  ดังนั้นตามทัศนะของผู้นิยมในหลักคิดพหุนิยมแล้วทั้งสองนิกายสามารถวางอยู่บนความถูกต้อง หรือกล่าวได้ว่าการได้รับประโยชน์จากความจริง มีอยู่ทั้งสองนิกายก็ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พหุนิยมทางศาสนา สามารถแบ่งออกเป็นความหลากหลายภายนอกและภายในศาสนา

กระแสเหตุการณ์ของโลกวันนี้ ทุกพื้นที่ ทุกประเทศ และทุกๆมุมของโลก เรียกร้องและต้องการสันติภาพ  ความยุติธรรม  เสรีภาพ และการมีความสัมพันธ์ฉันมิตร และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่ทว่าอุดมคติและโลกทัศน์ต่างๆได้ถูกทำให้สับสน และทำให้มนุษย์ต่างก็แสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้น เกือบจะสิ้นหวัง

แตทว่าตลอดเวลาของประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นถึง บทบาทของศาสนา ต่างได้แสดงบทบาทหนึ่งที่สำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่มนุษย์ จึงเกิดความหวังอยู่ว่า สักวันหนึ่งด้วยกับวิถีทางแห่งศาสนาจะนำพามนุษยชาติไปสู่สันติภาพ  และความหวังนั้นได้ก่อตัวขึ้นด้วยการก่อเกิดเป็นอารยธรรมและวัฒนธรรมในการสร้างความเข้าใจระหว่างกันและกันและระหว่างในหมู่ศาสนิกชนของศาสนานั้นๆทั้งหมด  และในความเป็นจริงแล้วไม่มีศาสนาใดบนโลกใบนี้มีคำสอนให้มุ่งร้ายต่อกัน  แต่ตรงกันข้ามศาสนาทั้งหลาย ต่างก็ชื่นชมยินดีในความเป็นมิตร ซึ่งมีจิตเอื้ออาทรต่อกันและกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ศาสนาไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อกัน

จากร่องรอยทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าศาสนาเกิดควบคู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน เริ่มจากความเชื่อที่ไม่สลับซับซ้อน นักวิชาการได้กล่าวสรุปถึงสาเหตุของการเกิดขึ้นของศาสนาไว้ดังนี้

๑. เกิดจากความไม่รู้ (อวิชชา)

๒. เกิดจากความกลัว

๓. เกิดจากความจงรักภักดี

๔. เกิดจากความอยากรู้เหตุผล (ปัญญา)

๕. เกิดจากอิทธิพลของคนสำคัญ

๖. เกิดจากลัทธิการเมือง

อย่างไรก็ตามศาสนามีบทบาทและอิทธิต่อความคิด ความเชื่อ และรูปแบบวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ทว่ายังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติด้วยเช่นกัน ด้วยอิทธิพลของคำสอนทางศาสนาและแบบอย่างอันงดงามของบรรดาผู้ให้กำเนิดศาสนาได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากมาย โดยได้ฉุดดึงสังคมที่กำลังอยู่ในสภาพที่มืดบอดและจมดิ่งลงสูความหายนะ สู่สังคัมสงบสุข(เชคอิมรอม พิชัยรัตน์  สาส์นอิสลาม ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กรุงเทพฯ  ปี 2019)

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความสันติ ที่มุ่งเน้นให้ใช้ชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมบนความแตกต่างที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับวิธีการปฏิบัติตนต่อเพื่อนมนุษย์โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติในการเผชิญหน้ากับความต่างทางความเชื่อและความคิดอย่างมีตรรกะบนพื้นฐานของเหตุและผล และปฏิเสธวิธีการและสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่จะนำพาสู่ความเกลียดชังและการเป็นศัตรูกันและกัน ศาสนาอิสลามได้นำเสนอวิธีการและแนวทางในการสันติสุขด้วยการสานเสวนาและการสนทนาทำความเข้าใจร่วมกันนับแต่เมื่อครั้งการสร้างอาดัมและพระเจ้าเป็นผู้ใช้วิธีการนี้ด้วยพระองค์เองเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่มนุษย์ทั้งหลาย

 

บทความโดยบทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม