ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 5

ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 5

 

การเผยแพร่อิสลามในเมืองยัสริบ (มะดีนะฮ์)

 

 

ในช่วงเทศกาลฮัจญฺมีชาวมะดีนะฮฺประมาณ ๖ คน พบกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และยอมรับอิสลามในเวลาต่อมา เนื่องจากการทะเลาะวิวาทและการนองเลือดของ ๒ เผ่า ได้แก่ อุเวซ และ คัซรัจญฺ และอีกด้านหนึ่งพวกยะฮูดีที่อาศัยอยู่รอบ ๆ มะดีนะฮฺคอยกลั่นแกล้ง และบีบบังคับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ชาวมะดีนะฮฺคอยศาสนาบริสุทธิ์ เมื่อข่าวการเผยแผ่อิสลามไปถึงพวกเขาทำให้พวกเขาดีใจมาก และเมื่อมุสลิมใหม่ ๖ คน เดินทางกลับมะดีนะฮฺ ได้แจ้งข่าวแก่ชาวมะดีนะฮฺว่าท่านศาสดาจะเดินทางมายังเมืองของพวกเขา ให้ทุกคนเตรียมตัวต้อนรับท่านและอิสลาม

 

ในปีต่อมาช่วงเทศกาลฮัจญฺอีกเช่นกัน มีผู้เข้ารับอิสลามใหม่อีก ๑๒ คน ท่านศาสดาได้ส่งสาวกของท่านคนหนึ่งร่วมทางกลับไปมะดีนะฮฺพร้อมกับพวกเขา เพื่อสอนอัล-กุรอาน และหลักการปฏิบัติแก่พวกเขา ปีต่อมาได้มีมุสลิมใหม่ ๑๒ คน ให้สัตยาบันกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ณ สถานที่แห่งหนึ่งนามว่า อุกบะฮฺ พวกเขาสัญญาว่าจะปกป้องท่านศาสดาเหมือนกับญาติพี่น้องคนหนึ่งของพวกเขา ต่อมามีมุสลิมทั้งผู้ชายและผู้หญิงอีก ๗๓ คน ให้สัตยาบันกับท่านศาสดา ณ สถานที่ดังกล่าว พวกเขาสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ และปกป้องท่านศาสดาให้รอดพ้นภยันตรายจากศัตรูตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ สถานการณ์ได้เชิญชวนให้ท่านศาสดาต้องอพยพไปยังมะดีนะฮฺ ซึ่งอันดับแรกท่านอนุญาตให้สาวกของท่านเดินทางล่วงหน้าไปก่อน

 

การขึ้นมิอฺรอจญฺของท่านศาสดา

 

ก่อนที่ท่านจะอพยพไปยังมะดีนะฮฺประมาณ ๑๓ ปีหลังการแต่งตั้ง ราวเดือน เราะบีอุลเอาวัล มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของท่านศาสดา เป็นเหตุการณ์ที่พ้นญาณวิสัยของบุคคลทั่วไป และยากที่คนธรรมจะรับได้ ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นโดยสรุปดังนี้

 

ประมาณปีที่ ๑๐ ของการแต่งตั้ง การขึ้นมิอฺรอจญฺของท่านศาสดาได้เกิดขึ้น เป็นการเดินทางไปตามพระบัญชาของพระเจ้าร่วมไปกับญิบรออีลผู้นำสาส์นของพระองค์ โดยมีบุร็อกเป็นพาหนะ ท่านศาสดาเริ่มต้นการเดินทางที่บ้านของ อุมมิฮานี น้องสาวของท่านอิมามอะลี (อ.) ไปยังมัสญิด อัลอักซอ หรือ บัยตุลมุก็อดดิซ ท่านได้เยี่ยมบ้านท่านศาสดาอีซา (อ.) บัยตุลละฮฺมิ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของศาสดาก่อนหน้านั้นหลายท่าน หลังจากนั้นได้เริ่มเดินทางสู่ฟากฟ้า ท่านศาสดาเห็นสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลายของชาวฟ้า เห็นสวรรค์ นรก ท่านเห็นความเร้นลับของสรรพสิ่งที่มีอยู่ โลกแห่งการสร้างสรรค์ และงานต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงอำนาจและความสามารถที่ไร้ที่สิ้นสุดของพระผู้เป็นเจ้า ท่านเดินทางไปจนถึง ซิดเราะตุลมุนตะฮา ณ ที่นั้นท่านเห็นความเบิกบาน ความสูงส่ง และความยิ่งใหญ่ หลังจากนั้น ท่านเดินทางกลับตามเส้นทางที่มา ยังมักกะฮฺ และก่อนที่แสงอรุณจะจับขอบฟ้า ท่านได้กลับมายังบ้านของอุมมิฮานียฺ ชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่า การเดินทางดังกล่าว เป็นการเดินทางด้วยร่างกาย มิใช่จิตวิญญาณ

 

อัล-กุรอาน บทอัล อิซรอ โองการแรกอธิบายถึงการเดินทางครั้งนี้ว่า มหาบริสุทธิ์ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์เดินทางในเวลากลางคืน จากมัสยิดอัลหะรอมไปยังมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งบริเวณรอบนั้นเราได้ให้ความจำเริญ เพื่อเราจะให้เขาเห็นบางอย่างจากสัญญาณต่าง ๆ ของเรา  แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น

 

ในค่ำของมิอฺรอจญฺนั้นเอง ที่พระเจ้าทรงมีพระบัญชาให้ประชาชาติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ดำรงนมาซวันละ ๕ เวลา เป็นการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งรายงานหนึ่งของท่านศาสดา กล่าวว่า นมาซคือมิอฺรอจญฺของบรรดาผู้ศรัทธา

 

 

การเดินทางไปยังฏออิฟ

 

เมื่อประมาณปีที่ ๑๑ หลังการแต่งตั้ง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เดินทางไปยังฏออิฟ เพื่อหลีกเลี่ยงการกลั่นแกล้งของชาวมักกะฮฺ ความอคติ และอื่น ๆ ที่พวกเขามีต่อท่านศาสดา อีกประการหนึ่งท่านต้องการเปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง ท่านจึงเลือกเมืองฏออิฟ และได้เดินทางไปที่นั้นเพื่อพบกับบรรดาหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการเผยแผ่อิสลาม ทว่าประชาชนที่ฏออิฟเป็นคนดื้อรั้น ไม่ยอมฟังคำเทศนาของท่านศาสดา อีกทั้งยังต้องการกลั่นแกล้ง และขับไล่ท่านอีกต่างหาก ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องค้างแรมอยู่ที่ นัคละฮฺ เป็นสถานที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเมืองฏออิฟกับมักกะฮฺ และเนื่องจากว่าประชาชนชาวมักกะฮฺมีอคติอย่างรุนแรงกับท่านศาสดา ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะกลับมายังมักกะฮฺอีกครั้ง ท่านจึงส่งม้าเร็วนามว่า มุฏอิม บุตรของ อะดีย์ มาสืบความเคลื่อนไหวก่อน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งต่อมาบุตรของอะดีย์ ได้กลายเป็นผู้ปกป้องชีวิตของท่านศาสดา ซึ่งท่านได้ขอดุอาอฺและกล่าวเสมอถึงความดีงามและความรักของอะดีย์ที่มีต่อท่าน

 

 

การอพยพสู่มะดีนะฮฺ

 

บรรดามุสลิมได้รับอนุญาตจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ให้อพยพสู่มะดีนะฮฺ ส่วนที่เหลืออยู่ในมักกะฮฺซนอกจากท่านศาสดา ท่านอะลี และอีกไม่กี่คนที่กำลังป่วย หรือถูกจองจำอยู่ในคุกของบรรดาพวกตั้งภาคี เมื่อบรรดาผู้ปฏิเสธทราบข่าวการอพยพของท่านศาสดาและบรรดามุสลิม ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และตกลงกันว่าให้แต่ละเผ่าส่งตัวแทนของตนออกมา ซึ่งรวมกันทั้งหมดประมาณ ๔๐ คน และในค่ำที่ศาสดาจะอพยพให้จู่โจมเข้าทำร้ายและสังหารเสีย เท่ากับว่าการสังหารศาสดาครั้งนี้ทุกเผ่ามีส่วนร่วม บนีฮาชิมจะได้ล้างแค้นใครไม่ได้ ในที่สุดเลือดของศาสดาจะได้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

 

ทว่ามะลาอิกะฮฺได้แจ้งข่าวแผนการอันชั่วร้ายของพวกเขาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในคืนนั้นเองบรรดาพวกปฏิเสธต้องการปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้ เมื่อจู่โจมเข้าไปหมายสังหารท่านศาสดา แต่ปรากฏว่าบุคคลที่นอนแทนที่ศาสดาอยู่บนเดียงของท่านคือ อะลี ท่านศาสดาได้หลบออกจากบ้านไปตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ตอนแรกท่านหลบภัยอยู่ที่ถ้ำซูร (อยู่ทางตอนใต้ของมักกะฮฺ) และจากที่นั้นท่านเดินทางสู่ยัซริบพร้อมกับอบูบักรฺ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมะดีนะฮฺ

 

 

เข้าสู่มะดีนะฮฺ

 

ท่านศาสดาพร้อมกับผู้ร่วมทางถึงมะดีนะฮฺ ในวันจันทร์ที่ ๑๒ เดือน เราะบิอุลเอาวัล ที่แรกที่ท่านไปคือมัสญิดกุบาอฺ ซึ่งห่างจากตัวเมืองมะดีนะฮฺประมาณ ๙ กิโลเมตร ท่านศาสดาอยู่ที่มัสญิดกุบาอฺจนถึงสุดสัปดาห์ กระทั่งอะลีพร้อมกับผู้ร่วมทางคนอื่น ๆ เดินทางมาสมทบ ปัจจุบันมัสญิดกุบาอฺจึงเป็นสถานที่แห่งความทรงจำประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของวันนั้น

 

หลังจากการอพยพของท่านศาสดา อะลีคือผู้รับผิดชอบของฝากของประชาชนที่นำมาฝากกับท่านศาสดาก่อนหน้านั้น ท่านได้ส่งคืนเจ้าของจนหมดสิ้น หลังจากนั้นจึงเดินทางสู่มะดีนะฮฺพร้อมกับสตรีแห่งบนีฮาชิม เช่น ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺบุตรีของท่านศาสดา ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บุตรีของอะซัดมารดาท่านอะลี และมุสลิมคนอื่นที่ยังคงเหลืออยู่ อะลีและเพื่อนร่วมทางได้ออกเดินทางด้วยความยากลำบาก และอันตรายอย่างยิ่ง

 

หลังจาก ๓ วัน ผ่านไปท่านอะลีก็มาถึงมะดีนะฮฺ ด้วยสภาพที่อิดโรย ฝ่าเท้าแตกจนเลือดไหลและระบมไปทั้งฝ่าเท้า อะลีได้รับความเอ็นดูพิเศษจากท่านศาสดา ส่วนประชาชนชาวมะดีนะฮฺ ต่างแสดงความดีใจกันอย่างออกหน้าออกตา หลังจากที่รอคอยท่านศาสดานานถึง ๓ ปี

 

 

 การให้ความสำคัญต่อการอพยพ

 

เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กับบรรดามุสลิมมาถึงมะดีนะฮฺ ประหนึ่งว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของท่าน และอิสลาม เหมือนกับบุคคลที่ถูกคุมขังอยู่ในที่คับแคบ และบัดนี้ได้ออกมาสู่สถานที่ที่กว้างและไม่อึดอัด ไม่ใช่เรื่องแปลก การที่บอกว่า การอพยพในอิสลามเพื่อขยายศาสนาของพระเจ้าให้เติบโต ประหนึ่งการทำสงครามศาสนา

 

การอพยพ หมายถึง การย้ายถิ่นฐานโดยนำพาคนรู้จัก คนรัก และคนรู้ใจร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือการเดินทางออกจากความโง่เขลาไปสู่ความรู้ หรือการเดินทางออกจากความสกปรกโสมม ไปสู่ความสะอาด อย่างนี้ก็เรียกเป็นการอพยพเช่นกัน การอพยพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดามุสลิมจากนครมักกะฮฺ (สังคมที่เต็มไปด้วยความสกปรก) ไปยังเมืองมะดีนะฮฺ (เมืองแห่งความเงียบสงบและร่มรื่น) สังคมอิสลามได้เริ่มต้นก่อร่างสร้างตนที่นี่เป็นครั้งแรก ชัยชนะในการประกาศเผยแผ่ ตลอดจนการขยายอาณาจักรอิสลามได้เริ่มต้นที่นี่ ฉะนั้น จะเห็นว่าสิ่งใหม่ ๆ ที่อิสลามได้รับมาล้วนเป็นผลที่เกิดจากการอพยพของท่านศาสดาทั้งสิ้น หลังจากนั้นในช่วงเคาะลีฟะฮฺที่สองอิมามอะลี (อ.) เสนอให้ปีแห่งการฮิจเราะฮฺ เป็นปีเริ่มต้นศักราชใหม่ของอิสลาม

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์