เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 6

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 6


 
การก่อตั้งรัฐอิสลามของท่านศาสดา



เมื่อท่านศาสดา(ศ็อลฯ) เห็นการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคลั่ง ด้วยความดีใจ และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ทำให้ท่านมีความปิติยินดีภารกิจแรกที่ท่านกระทำ นั่นก็คือ การสร้างมัสญิด เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับมวลมุสลิมเนื่องจากมิได้เป็นสถานประกอบศาสนกิจสำหรับมุสลิมอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ใช้ในการสอนหนังสือ และทำการพิพากษาคดีความ นอกจากท่านศาสดาเป็นผู้ปกครอง เคาะลีฟะฮ์แล้ว ท่านยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา หรือ เรียกกันว่า กอฎี

มัสญิดในอดีตคือ ศูนย์กลางแห่งการเรียนการสอน และอบรม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของมวลมุสลิมทุกเผ่าพันธ์ บรรดานักกวีได้อ่านบทกวีของตนในมัสญิด บรรดามุสลิมร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในมัสญิดร่วมกันกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ)

ท่านศาสดาและบรรดามุสลิมได้ร่วมกันก่อสร้างมัสญิดด้วยกับความรัก ระคนกับความดีใจ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) แบกหินด้วยตัวของท่านเอง เหมือนกับคนอื่น ๆ และมัสญิดหลังนั้นก็คือ มัสญิดอันนบี ที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน รองจากมัสญิด อัลฮะรอม ซึ่งถือว่าเป็นอันดับสองของโลก

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) สร้างความสมานฉันท์ระหว่างเผ่าเอาซ์ กับเผ่าค็อซรัจที่ทะเลาะวิวาทกันมานานแรมปี ระหว่างพวกมุฮาญิรอนกับประชาชนชาวมะดีนะฮฺ ซึ่งออกมาต้อนรับท่านศาสดา หรือรู้จักกันในนามของอันซอร ท่านได้อ่านอักดฺแสดงความเป็นพี่น้องระหว่างพวกเขา เตาฮีด อิสลาม ความเชื่อ และความเป็นพี่น้องได้แทนที่ความเป็นเผ่าพันธุ์ ถ้อยแถลงที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ประกาศออกไป ในความเป็นจริงก็คือ กฎหมายอิสลาม สังคมอิสลามได้เริ่มต้นที่เเมืองมะดีนะฮฺ ท่านศาสดาได้ประกาศให้ทุกคนทราบว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลามเหมือนกัน ยะฮูดียฺที่อาศัยอยู่ภายในและภายนอก อาณาจักรอิสลามต่างได้รับความปลอดภัยกันถ้วนหน้า

 สรุปได้ว่า ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)ได้ทำให้ ประชาชนที่เคยมีอคติกันอย่างรุนแรง ไม่เคยรู้จักสังคมและกฎหมาย อยู่ท่ามกลางความหลงทาง บัดนี้ได้กลายเป็นสังคมที่มีความสมัครสมานสามัคคี มีความเป็นพี่น้องกัน เจริญก้าวหน้า และมีความเสียสละ

อิสลามในมะดีนะฮฺได้ค่อย ๆ เติบโตจนกระทั่งย่างเข้าปีที่ ๒ หลังจากอพยพ เมื่อศัตรูบุกโจมตีสามารถจัดทัพรบกับศัตรูได้อย่างเข็มแข็ง


สงครามต่าง ๆ

ศัตรูตัวฉกาจของอิสลามคือ บรรดาผู้ปฏิเสธชาวมักกะฮฺ ซึ่งเป็นไปได้ที่สังคมใหม่ เฉกเช่น อิสลามสามารถพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย บรรดาศัตรูจึงเหิมเกริมยกทัพมาบุกหมายกำจัดอิสลามให้สิ้นซากในทันใด

 ท่านศาสดาออกคำสั่งให้บรรดามุสลิมเตรียมพร้อมรับมือศัตรู

ด้วยเหตุนี้ เมื่ออิสลามเริ่มต้นศักราชใหม่ ก็ต้องเผชิญหน้ากับสงครามทันที และ ณ ที่นี้จะกล่าวเฉพาะสงครามที่มีความสำคัญเท่านั้น แต่ก่อนอื่นจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ควรทราบก่อนคือ สงครามที่ท่านศาสดาเข้าร่วมเรียกว่า ฆุซวะฮฺ ส่วนสงครามอื่น ๆ ที่เกิดในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เรียกว่า ซะรียะฮฺ


สงครามบะดัร (บัดรฺ)

ปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ ๒ สงครามบัดรฺ ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสงครามที่มีความแตกต่างกันมาก ด้านกองกำลัง  ฝ่ายศัตรูมีกำลังทหารมากถึง ๙๕๐ นาย ส่วนฝ่ายมุสลิมมีเพียง ๓๑๓ นายเท่านั้น ทหารฝ่ายมุสลิมได้รบด้วยพลังศรัทธา และเปี่ยมล้นไปด้วยความเสียสละ ในระยะเวลาอันสั้นพวกเขาสามารถเอาชนะทหารฝ่ายศัตรูได้ ในสงครามครั้งนี้ฝ่ายมุสลิมสามารถสังหารทหารฝ่ายศัตรูได้ ๗๐ คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ศัตรูตัวฉกาจของอิสลาม อบูญะฮัล ถูกฆ่าตายในสงครามนี้ด้วย และจับทหารฝ่ายศัตรูเป็นเชลยอีก ๗๐ คน พวกเขาได้ละทิ้งทรัพย์สงครามไว้เป็นจำนวนมาก ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นใบเบิกทางให้กับอิสลาม


การเปลี่ยนทิศกิบละฮฺ

ในปีนั้นเองพระเจ้าทรงมีบัญชาให้บรรดามุสลิม เปลี่ยนทิศนมาซจากบัยตุลมุก็อดดัซ ไปสู่บัยตุลลอฮฺหรืออัล กะอฺบะฮฺ สาเหตุของการเปลี่ยนกิบละฮฺในครั้งนี้ เนื่องจากพวกยิวได้เย้ยหยันอิสลามว่า จะเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ได้อย่างไร ในเมื่อกิบละฮฺยังไม่มีเป็นของตนเอง พวกเขาเชื่อว่าอิสลามไม่มีวันเป็นสากลได้อย่างเด็ดขาด มัสญิดกิบละตัยนฺ ที่มะดีนะฮฺคือ สัญลักษณ์สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว

สงครามอุฮุด

หลังจากสงครามบัดรฺ ๑ ปีผ่านไป ทหารฝ่ายศัตรูได้เตรียมกำลังมากกว่าสงครามครั้งที่แล้วถึง ๓ เท่า เคลื่อนทัพมายังมะดีนะฮฺ เพื่อล้างแค้นต่อความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งที่แล้ว ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ปรึกษาหารือกับบรรดาสาวก และได้บทสรุปว่าพวกเราจะตั้งแนวรบอยู่บริเวณรอบ ๆ เขาอุฮุด ในระยะแรกทหารฝ่ายมุสลิม ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ามากได้สู้รบด้วยพลังศรัทธา และดูเหมือนว่าจะมีชัยเหนือศัตรู แต่เนื่องจากว่าพวกเขาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทหารฝ่ายอารักขาด้านหลัง ถอนกำลังออกจากที่ตั้งมั่นเพราะมีความละโมบ และพากันกรูลงมาแก่งแย่งทรัพย์สินที่ทหารฝ่ายศัตรูได้ละทิ้งไว้ ความพ่ายแพ้ย้อนมาสู่ทหารฝ่ายอิสลามทันที ฮัมซะฮฺ ลุงสุดที่รักยิ่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ชะฮีดในสงครามนี้ แต่เนื่องด้วยความเสียสละอย่างสูงของท่านอะลี ที่ปกป้องอิสลามและชีวิตของท่านศาสดาด้วยชีวิตของท่าน ประกอบกับท่านศาสดาเปลี่ยนวิธีรบใหม่ ทำให้สามารถขับไล่ทหารฝ่ายศัตรูถอยร่นออกจากเขตเมืองมะดีนะฮฺไปได้ และมุสลิมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แต่เป็นชัยชนะที่บอบช้ำมากที่สุด


สงครามคอนดัก หรือสงครามอะฮฺซาบ

พวกยิวกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ มะดีนะฮฺ จากเผ่าของ บนี นะฎีร ได้เข้าพบกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในตอนแรกได้สัญญาเป็นมิตร และร่วมมือกัน แต่พวกยิวมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งอันเป็นนิสัยดั้งเดิมของพวกเขาคือ การหักหลัง บิดพลิ้ว ทรยศ และเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก พวกเขาเป็นฝ่ายทรยศท่านศาสดาก่อน และสร้างความเสื่อมเสียให้อิสลามมาโดยตลอด ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นผู้มีความปรานี และเป็นเมตตาธรรมต่อประชาชาติทั้งหลาย แต่ท่านไม่สามารถอดทนต่อความหน้าไหว้หลังหลอกของพวกยิวได้ ท่านไม่ให้อภัยและได้คาดโทษพวกเขา

เผ่าบนี นะฎีร เมื่อเห็นว่าแผนการของตนล้มเหลว จึงหันไปร่วมมือกับพวกตั้งภาคีเทียบเทียมพระเจ้าแห่งมักกะฮฺ ซึ่งมีอยู่หลายเผ่าด้วยกัน และในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ ๕ กองทัพขนาดใหญ่ที่มีทหารนักรบถึง ๑๐,๐๐๐ นาย มีอบูซุฟยานเป็นแม่ทัพ เคลื่อนทัพจากมักกะฮฺโจมตีมะดีนะฮฺ โดยมีเป้าหมายเพื่อขุดรากถอนโคนอิสลาม ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาทดสอบและเสียสละ บรรดามุสลิมร่วมปรึกษาหารือกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และซัลมาน อัลฟารซีย์ ได้เสนอให้ขุดสนามเพลาะรอบ ๆ เมืองมะดีนะฮฺ เพื่อดักข้าศึกไม่ให้ประชิดตัวเมืองได้รวดเร็ว ท่านศาสดายอมรับข้อเสนอ จึงสั่งให้มีการขุดสนามเพลาะ เมื่อกองทัพของอบูาซุฟยานเคลื่อนทัพมาประชิดเมืองมะดีนะฮฺ ก็เผชิญกับสนามเพลาะขนาดใหญ่ พวกยิวเผ่า บนีฟะรีเซาะฮฺ ก็เหมือนกับยิวเผ่าอื่นที่ได้ร่วมมือกันทรยศท่านศาสดา ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาความยากลำบากอย่างรุนแรง

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ใชั ยุทธ์วิธีรบแบบใหม่ทำให้ศัตรูไม่สามารถประชิดเมืองได้ ต้องตั้งแนวรบอยู่นอกเขตเมือง อุมัร บุตรของอับดูนวุด เป็นนักรบที่ร้ายที่สุดของมักกะฮฺที่ไม่มีใครเหมือน ถูกอะลีสังหาร ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวถึงการฟันของอะลีในวันนั้นว่า เป็นการฟันที่ประเสริฐ และดีกว่าอิบาดะฮฺของมนุษย์และญิน ในที่สุดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า การถอดใจสู้ของพวกยิว และพายุทะเลทรายที่โหมกระหน่ำ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสาเหตุทำให้ทหารฝ่ายมุสลิมได้รับชัยชนะอีกครั้ง ทหารฝ่ายศัตรูได้แตกกระเจิงและหนีทัพกลับไปยังมักกะฮฺ


ฮิจเราะฮฺศักราชที่ ๖ สัญญาสงบศึกฮุดัยบียะฮฺ

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการประกาศศาสนาที่มะดีนะฮฺ และโชดดีมาโดยตลอด ขณะที่บรรดามุสลิมกำลังบำเพ็ญฮัจญฺ ณ มัสญิดอัล ฮะรอม มีประกาศมายังพวกเขาว่าให้เตรียมตัวปฏิบัติอุมเราะฮฺ ในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ทั้งหมดเตรียมพร้อมและกองคาราวานได้เริ่มเคลื่อนขบวน

เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้อยู่ในช่วงเดือนฮะรอม (ต้องห้าม) บรรดามุสลิมจึงมิได้พกพาอาวุธอย่างอื่นไปนอกจากดาบที่คนเดินทางทั่วไปต้องพกพาเป็นอาวุธป้องกันตัว อีกด้านหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับพวกกุเรช ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจต้องมีการนองเลือดกัน การเดินทางครั้งนี้ท่านศาสดาได้ทำสัญญาสงบศึกกับพวกกุเรช ซึ่งรู้จักกันในนามของ สัญญาฮุดัยบียะฮฺ ตามข้อตกลงระบุว่าปีนี้ ให้ท่านศาสดาและบรรดามุสลิมยกเลิกการทำอุมเราะฮฺไปก่อน โดยกำหนดให้มาทำในปีต่อไป สัญญาฉบับดังกล่าวสร้างความพอใจแก่มุสลิมทั่วไป เนื่องจากในสัญญาตกลงกันว่าภายในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ทั้งสองฝ่ายต้องยุติสงครามลงอย่างสิ้นเชิง และให้มีการไปมาหาสู่กันอย่างเสรี สัญญาในครั้งนี้นับเป็นชัยชนะอย่างสูงของอิสลาม เนื่องท่านด้านหนึ่งท่านศาสดาไม่ต้องคอยระวังเรื่องการนองเลือดและการรบราฆ่าฟันกันอีกต่อไป สามารถเผยแผ่ได้อย่างเต็มที่ และเป็นโอกาสเหมาะสำหรับการเชิญชวนให้บรรดาเหล่าผู้นำประเทศต่าง ๆ เข้ารับอิสลาม


จดหมายเชิญชวนของท่านศาสดาที่ส่งให้กษัตริย์ต่าง ๆ

ดั่งเป็นที่ประจักษ์ชัดจากอัล-กุรอานว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาสากลและเป็นศาสนาสุดท้าย ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นบรมศาสดาและเป็นศาสดาท่านสุดท้าย ที่พระเจ้าทรงประทานลงมาสั่งสอนมนุษยชาติ

 ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของท่านศาสดามุฮัมมัดจึงมีมากกว่าศาสดาท่านอื่น ท่านจึงได้ส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ต่าง ๆ ให้เข้ารับอิสลาม เช่น
โคซโร พัรวีซ มหาราชอิหร่าน ฮัรกิล มหาจักรพรรดิแห่งโรม มักกูซกิซ ผู้บัญชาการแห่งอิยิปต์ และคนอื่น ๆ อีก

สาส์นของท่านศาสดาปัจจุบันยังคงมีอยู่ เป็นสาส์นที่เขียนโดยมีโวหารสั้น แต่เปี่ยมไปด้วยความหมายและสาระ ท่านได้มอบให้เจ้าหน้าที่ ๆ มีความศรัทธามั่นคงเป็นผู้นำสาส์นไปส่งให้กษัตริย์เหล่านั้น สาส์นของท่านได้เชิญชวนพวกเขาเข้ารับอิสลาม มาสู่ถ้อยคำที่มีความเสมอภาค ถ้าปฏิเสธให้คอยระวังการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า สาส์นดังกล่าวกลายเป็นปฐมบทของการเติบโตของอิสลาม

สงครามค็อยบัร


สงครามค็อยบัร หรือที่ถูกควรเรียกว่า วาดียฺค็อยบัร เกิดขึ้นบนสถานที่นามว่า ฮาซิลคีซียฺ อยู่ทางตอนเหนือของมะดีนะฮฺ ห่างจากเมืองมะดีนะฮฺประมาณ ๓๒ ฟัรซัค เป็นเขตพื้นที่สำคัญของพวกยิว ซึ่งพวกเขาสร้างความรำคาญและรบกวนอิสลามตลอดเวลา

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตัดสินใจว่าต้องปราบปรามพวกยิว ที่ชอบแสดงตนเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก และจำกัดขอบเขตให้อยู่ในพื้นที่ ท่านจึงสั่งให้บรรดามุสลิมเตรียมตัวเคลื่อนพลไปยังดิยาร เพื่อทำสงครามค็อยบัร หลังจากที่ได้ยืนหยัดต่อสู้อยู่นาน ในที่สุดประตูแห่งค็อยบัรก็ถูกเปิดออก หลังจากนั้นพวกยิวที่อาศัยอยู่แถบ เกาะรียะฮฺ หรือฟะดัก ซึ่งห่างจากมะดีนะฮฺประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตร ได้ยอมจำนนต่อท่านศาสดาโดยไม่ต้องทำสงคราม และยอมรับการเป็นผู้นำของท่าน ตามหลักการอิสลามแล้วเขตพื้นที่ใดยอมจำนนต่ออิสลาม โดยไม่มีสงคราม และไม่มีการนองเลือด เขตพื้นที่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของท่านศาสดาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น เมื่อพวกยิวมอบฟะดักให้แก่ท่านศาสดา ท่านจึงมอบต่อให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺบุตรีสุดที่รักของท่าน แต่น่าเสียดายว่าฟะดักถูกยึดไปโดยเคาะลีฟะฮฺอบูบักร์ จนถึงยุคสมัยของ อุมัร บุตรของอับดุลอะซีซ เขาตัดสินใจคืนฟะดักให้กับครอบครัวของท่านศาสดา ซึ่งประเด็นปัญหานี้ศึกษาได้จากประวัติท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ และหนังสือประวัติศาสตร์ทั่ว ๆไป


ขอขอบคุณเว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม