นานาทัศนะว่าด้วยเรื่อง "บิสมิลละฮ์"

 

นานาทัศนะว่าด้วยเรื่อง "บิสมิลละฮ์"

 

 ความจำเป็นในการอ่าน "บิสมิลละฮ์ฯ (بِسْمِ اللَّـهِ الرَّحْمَـٰنِ الرَّحِيمِ )" ในนมาซ และ ความสำคัญของการอ่าน "บิสมิลละฮ์ฯ"

 การกล่าว “บิสมิลละฮ์ฯ” ก่อนเริ่มอ่านซูเราะห์

หนึ่งในข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างมัซฮับชีอะห์และมัซฮับซุนนี่ห์ในประเด็นการนมาซ ก็คือ การกล่าว “บิสมิลละฮ์ฯ” ก่อนเริ่มอ่านซูเราะห์

 มัซฮับชีอะห์ มีความเชื่อว่า “บิสมิลละฮ์ฯ” คืออายะห์หนึ่งของทุกๆซูเราะห์(ยกเว้นซูเราะห์อัตเตาบะฮ์) และถือว่าในทุกๆนมาซวาญิบไม่ว่าจะเป็นนมาซญะรียะฮ์(นมาซที่ต้องอ่านด้วยเสียงดัง/นมาซศุบฮ์/นมาซมัฆริบ/นมาซอีชา) หรือนมาซอิกฟาตียะฮ์(นมาซที่ต้องอ่านค่อย/ซูฮ์ริ และอัสริ)จำเป็นที่จะต้องอ่าน “บิสมิลละฮ์ฯ” ก่อน โดยมีหลักการให้ปฏิบัติ ว่า ในนมาซญะรียะฮ์ การอ่าน "บิสมิลละฮ์ฯ" ด้วยเสียงดังถือเป็นวาญิบ(ข้อบังคับ)ส่วนนมาซ "อิกฟาตียะฮ์" การอ่านบิสมิลละฮ์ฯด้วยเสียงดังให้ถือเป็นมุสตะฮับ

 แต่ในส่วนของมัซฮับซุนนี่ห์ พวกเขามีทัศนะที่ไม่ตรงกัน กล่าวคือ บ้างเชื่อว่า “บิสมิลละฮ์ฯ”เป็นส่วนหนึ่งของทุกๆซูเราะห์ บ้างเชื่อว่า "บิสมิลละฮ์ฯ" ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของซูเราะห์ ฉะนั้นด้วยสาเหตุนี้เอง บางกลุ่มของพวกเขาจึงเริ่มต้นอ่านซูเราะห์ฟาติฮะห์ด้วยกับบิสมิลละฮ์ฯ แต่บางกลุ่มไม่ได้เริ่มต้นด้วยกับบิสมิลละฮ์ฯ และตัด "บิสมิลละฮ์" ออกไปจากซูเราะห์ฟาติอะฮ์

สรุปก็คือ ในหมู่นักนิติศาสตร์ของชาวซุนนี่ห์บิสมิลละฮ์ฯเป็นส่วนหนึ่งของซูเราะห์ และต้องอ่านในนมาซหรือไม่ พวกเขามีทัศนะที่แตกต่างกันออกไป และไม่มีทัศนะที่เป็นเอกฉันท์

 ท่านยัศศอด อุลามาสายฮะนาฟี(เสียชีวิต370 ฮ.ศ.)ได้เขียนไว้ในหน้งสือ "อะกามุลกุรอ่าน" ของท่านว่า “ในหมู่ปราชญ์มุสลิมไม่มีความขัดแย้งกันในประเด็นที่ว่า “บิสมิลละฮ์ฯ” ในอายะห์

“وَقَالَ ارْکَبُوا فِیهَا بِسْمِ اللَّهِ مَجْرَاهَا وَمُرْسَاهَا إِنَّ رَبِّی لَغَفُورٌ رَحِیمٌ ”

เป็นส่วนหนึ่งของอัลกุรอ่าน แต่พวกเขาเห็นต่างกันใน “บิสมิลละฮ์ฯ” ว่าเป็นส่วนหนึ่งของซูเราะห์ฟาติฮะฮ์ด้วยหรือไม่ โดย "กุรรอฮ์กูฟี"  มีความเชื่อที่ต่างออกไปจาก "กุรรอฮ์บัศรี"  ว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟาติฮะฮ์ ทั้งที่เราก็ไม่พบริวายะฮ์จากศ่อฮาบะฮ์เลยว่า “บิสมิลละฮ์ฯ” เป็นส่วนหนึ่งของฟาติฮะฮ์ และอิมามชาฟีอีก็เชื่อว่ามันคือส่วนหนึ่งของฟาติฮะห์ และใครละทิ้งมันในนมาซให้ถือว่านมาซนั้นเป็นโมฆะ แต่สิ่งที่ชาฟีอีเชื่อนั้นก็มีเพียงเขาเท่านั้น เพราะอุลามาก่อนหน้านี้ต่างมีทัศนะที่ต่างกัน(ไม่มีบทสรุป)ว่า “บิสมิลละฮ์ฯ” เป็นส่วนหนึ่งของฟาติฮะห์หรือไม่ แต่มีมติ(ไม่ขัดแย้งกันในประเด็นที่)ว่า “บิสมิลละฮ์” ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของซูเราะห์อื่นๆ

لا خلاف بین المسلمین فی أن بسم الله الرحمن الرحیم من القرآن فی قوله تعالى: (إنه من سلیمان وإنه بسم الله الرحمن الرحیم)
ثم اختلف فی أنها من فاتحة الکتاب أم لا فعدها قراء الکوفیین آیة منها ولم یعدها قراء البصریین ولیس عن أصحابنا روایة منصوصة فی أنها آیة منها...وقال الشافعی هی آیة منها وإن ترکها أعاد الصلاة... وما سبقه إلى هذا القول أحد لأن الخلاف بین السلف إنما هو فی أنها آیة من فاتحة الکتاب أو لیست بآیة منها ولم یعدها أحد آیة من سائر السور

أحکام القرآن للجصاص  ج 1   ص 8،  أحمد بن علی الرازی الجصاص أبو بکر الوفاة: 370 ، دار النشر : دار إحیاء التراث العربی - بیروت - 1405 ، تحقیق : محمد الصادق قمحاوی

 ความสำคัญของบิสมิลละฮ์ฯ

 ประโยค “บิสมิลละฮ์ฯ” คือประโยคแรกของทุกๆคัมภีร์แห่งฟากฟ้า ไม่เฉพาะแต่อัลกุรอ่าน แต่รวมถึงทุกคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาจากพระองค์ก่อนหน้าอัลกุรอ่าน และเป็นคำสั่งจากอัลลออ์ให้เริ่มต้นด้วยกับประโยคนี้ในทุกๆกิจการงาน แล้วจะได้รับการคุ้มครองจากองค์อัลลอฮ์ เมื่อท่านนบีนุห์ อ. ตกอยู่ในพายุที่รุนแรงท่านได้กล่าวกับสาวกของท่านว่า

 “พวกท่านจงลงในเรือด้วย “พระนามของอัลลอฮ์” (และจงรำลึกถึงพระองค์)ทั้งในยามแล่นของมันและในยามจอดของมัน แท้จริงพระเจ้าของฉันเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
« وَقَالَ ارْکَبُوا فِیهَا بِسْمِ اللَّهِ مَجْرَاهَا وَمُرْسَاهَا إِنَّ رَبِّی لَغَفُورٌ رَحِیمٌ (هود/41)؛
ท่านนบีสุไลมานก็เช่นกันเมื่อมลาอิกะฮ์สะบะฮ์ได้เชิญชวนให้ศรัทธาในองค์อัลลอฮ์ ท่านได้เริ่มต้นสาส์นของท่านด้วยกับประโยค “บิสมิลละฮ์ฯ” ดังที่อัลกุรอ่านได้ตรัสว่า

 “แท้จริงมันมาจากสุลัยมาน และแท้จริงมันเริ่มว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

«إِنَّهُ مِنْ سُلَیْمَانَ وَإِنَّهُ بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِیمِ (نمل/30)؛

หลักฐาน “บิสมิลละฮ์ฯ” เป็นส่วนหนึ่งของฟาติฮะห์ และต้องอ่านในนมาซ
มีการบันทึกไว้ในตำราฮะดิษมากมายที่แสดงให้เห็นว่า “บิสมิลละฮ์ฯ” เป็นส่วนหนึ่งของฟาติฮะห์ และจำเป็นต้องอ่านในนมาซ บางส่วนจากริวายะฮ์เหล่านั้นเช่น

(1)-อิมามชาฟีอี ได้บันทึกไว้ในมุสนัตของเขาเองว่า “วันหนึ่งมุอาวียะฮ์ได้มายังมะดีนะห์ และได้ทำนมาซซึ่งเขาไม่ได้อ่าน “บิสมิลละฮ์ฯ” และลงรุกูอ์ และสุญูดโดยปราศจาการตักบีร เมื่อเขากล่าวสลาม ชาวอันซอรและมุฮายิรีนได้เข้าไปหาเขาแล้วกล่าวว่า “เจ้าได้ขโมยนมาซของรอซูลไป ทำใมท่านไม่กล่าว “บิสมิลละฮ์ฯ” ทำไมท่านไม่ตักบีรก่อนรุกูฮ์และสูญูด ? จากการท้วงติงนี้ทำให้มุอาวียะฮ์ได้นมาซใหม่อีกครั้ง

อิมามชาฟีอีได้กล่าวเสริมว่า “มุอาวียะฮ์คือผู้ปกครองที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลมาก หากการนมาซของเขาถูกต้อง เขาคงไม่ปล่อยให้ชาวอันซอรและมุฮายิรีนท้วงติงเขาได้หรอก สิ่งนี้ย่อมแสดงว่า “การไม่กล่าวบิสมิลละฮ์ฯ” ถือว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องจริงๆ

(อ้างอิงจากหนังสือมุสนัต ชาฟีอีก หน้า 13 / หนังสือ ตัฟซีร ฟัครุกรอซี เล่ม 1 หน้า 204 /หนังสือมุสตักร็อก อัลฮากิม เล่ม 1 หน้า 233)

(2)-ชาฟีอี รายงานจาก มุสลิม รายงานจาก ญะรีร รายงานจาก อิบนิ อบี มะลีกะฮ์ จากอุมมุลสะลามะฮ์ ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ได้นมาซโดยเริ่มนับ “บิสมิลละฮ์ฯ” เป็นหนึ่งอายะ และ «الْحَمْدُ لِلّهِ رَبِّ الْعالَمِینَ» เป็นอายะที่สอง และ «الرَّحْمنِ الرَّحِیمِ» เป็นอายะที่สาม และ «مالِکِ یَوْمِ الدِّینِ» เป็นอายะที่สี่ และ «إِیّاکَ نَعْبُدُ وَإِیّاکَ نَسْتَعِینُ» เป็นอายะที่ห้า และ «اهْدِنَا الصِّراطَ الْمُسْتَقِیمَ» เป็นอายะที่หก
 และ «صِراطَ الَّذِینَ أَنْعَمْتَ عَلَیْهِمْ غَیْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَیْهِمْ وَلاَ الضّالِّینَ» เป็นอายะที่เจ็ด
(บันทึกโดย อัลมุสตักร็อก อัลฮากิม เล่ม 1 หน้า 232 )

(3)- ซะลาบี รายงานจากอบูฮุรัยเราะ ว่า วันหนึ่งฉันได้นั่งร่วมอยู่กับท่านนบี ศ. ต่อมาได้มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในมัสยิด เขาได้เริ่มนมาซด้วยกับการกล่าว «اعوذ بالله»และต่อด้วยฟาติฮะห์โดยไม่กล่าว “บิสมิลละฮ์” ท่านนบี ศ. ได้ลุกขึ้นไปหาเขาแล้วกล่าวว่า เจ้าได้ตัดทอนนมาซของเจ้าไปแล้ว ทำใมเจ้าไม่กล่าว “บิสมิลละฮ์” เจ้ารู้หรือไม่ว่ามันคือส่วนหนึ่งของฟาติฮะห์ ใครได้ละทิ้งมัน(ไม่อ่าน)ก็เท่ากับได้ละทิ้งหนึ่งอายะจากอัลกุรอ่าน และใครได้ละทิ้งอายะหนึ่งก็เท่ากับเขาได้ทำให้นมาซนั้นบกพร่อง(โมฆะ)
(บันทึกโดย อัดดุรุลมันซูร เล่ม 1 หน้า 21)

(4)- อบูดาวูด ตีรมีซี บัยฮากี รายงานจากอิบนิอับบาส ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. จะเริ่มนมาซของท่านด้วยกับการกล่าว “บิสมิลละฮ์ฯ” ในเริ่มต้นของฟาติฮะห์
(หนังสือสุนันตีรมีซี เล่ม 1 หน้า 155 ฮะดิษที่ 245 /ซุนัน อัลกุบรอ เล่ม 2 หน้า 47 )

(5)- อิบนิ ฮะบาน ได้บันทึกไว้ในศ่อเอี้ยะของเขาถึงชายคนหนึ่งที่เขาได้นมาซตามหลังอบูฮุรัยเราะห์ โดยเขาได้เล่าว่า ฉันได้นมาซตามหลังอบูฮุรัยเราะห์ หลังการกล่าวตักบีร เขาได้อ่าน “บิสมิลละฮ์” ต่อด้วยฟาติฮะฮ์

أَخْبَرَنَا مُحَمَّدُ بْنُ الْحَسَنِ بْنِ قُتَیْبَةَ قَالَ حَدَّثَنَا حَرْمَلَةُ بْنُ یَحْیَى قَالَ حَدَّثَنَا ابْنُ وَهْبٍ قَالَ أَخْبَرَنِی حَیْوَةُ قَالَ أَخْبَرَنِی خَالِدُ بْنُ یَزِیدَ عَنْ سَعِیدِ بْنِ أَبِی هِلالٍ عَنْ نُعَیْمٍ الْمُجْمِرِ قَالَ صَلَّیْتُ وَرَاءَ أَبِی هُرَیْرَةَ فَقَالَ بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِیمِ ثُمَّ قَرَأَ بِأُمِّ الْکِتَابِ

صحیح ابن حبان: ج 5 ص 100، رقم 1797، دار النشر : مؤسسة الرسالة - بیروت - 1414 - 1993 ، الطبعة : الثانیة ، تحقیق : شعیب الأرنؤوط.

การอ่าน “บิสมิลละฮ์” ด้วยเสียงดังเป็นซุนนะห์ของท่านนบีมุอัมมัด ศ. และอะฮ์ลุลบัยต์

ในข้างต้นได้พิสูจน์ไปแล้วว่า “บิสมิลละฮ์” เป็นส่วนหนึ่งของฟาติฮะห์ และการไม่อ่านบิสลิละฮ์ในนมาซจะทำให้นมาซเป็นโมฆะ และเช่นกันหากจำเป็น(วาญิบ)ที่จะต้องอ่านบิสมิลละฮ์ฯด้วยเสียงดังในนมาซที่ต้องอ่านออกเสียงดัง โดยมีบันทึกถึงซุนนะห์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ. ไว้มากมายในเรื่องนี้ ซึ่งบางส่วนจากริวายะฮ์เหล่านั้น เช่น

(1)- ฮากิม อัลนีชาบูรีอ์ ได้บันทึกฮะดิษจากอบูฮุรัยเราะห์ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. จะอ่าน “บิสมิลละฮ์ฯ” ด้วยการออกเสียงดัง (อัลมุสตักร็อก อัลฮากิม เล่ม 1 หน้า 232)

(2)- ฮากิมได้รายงานจากฮุมัย ฏอวีล ที่รายงานมาจากอนัส ว่า “ฉันได้นมาซตามหลังท่านนบีมุฮัมมัด ศ. อบูบักร อุมัร อุษมาน และอะลี ทั้งหมดจากพวกเขาได้อ่าน “บิสมิลละฮ์ฯ” ด้วยการออกเสียงดัง
(อัลมุสตักร็อก อัลฮากิม เล่ม 1 หน้า 232)

 

บทความจาก เพจ Ansor Thailand