อิสลามไม่เคารพในเสรีภาพและความเท่าเทียมกันจริงหรือ?


อิสลามไม่เคารพในเสรีภาพและความเท่าเทียมกันจริงหรือ?

 

อิสลามเรียกร้องสู่ความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ทั้งอิสลามยังเรียกร้องสู่ความยุติธรรมอีกด้วย นั่นเพราะอิสลามเชื่อว่า ความเท่าเทียม มิใช่ความยุติธรรมเสมอไป แต่เป็นการวางสิ่งที่ถูกต้องในสถานที่ของมันต่างหาก และในบางครั้ง ความเท่าเทียมนี้แหละ คือ ความอธรรม ความไม่ชอบธรรม

 อิสลามให้ค่าความเป็นมนุษย์ของทั้งเพศชาย และหญิง โดยไม่มีเพศใดด้อยไปกว่าอีกเพศ ทุกคนมีเกียรติ ณ ที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ห้ามละเมิด ห้ามระราน หรือก่อความเสียหายไม่ว่าจะเป็นต่อเพศใดก็ตาม (บทอาลิอิมรอน : 195)

 ในการทำงานของท่านนบี ตลอดชีวิตของท่าน ท่านกำชับหลายครั้งมาก ให้บรรดาบุรุษ ดูแลและปกป้องสตรี เข้าใจธรรมชาติของนาง กระทั่งโอวาทอำลาของท่านก่อนจะจากไป ก็ยังฝากฝั่งบุรุษให้ปกป้องและดูแลสตรี ให้เกียรติพวกนางให้มากที่สุด (คุฏบะฮ์ อัลวะดาอ์ โอวาทครั้งสุดท้าย)(จากตำราของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ วัลญะมาอัต)

มีหลายบทบัญญัติของศาสนา ชี้ให้เห็นว่า สตรี ก็เป็นหนึ่งในประตูสวรรค์ เช่น การทำความดีกับมารดา หรือเลี้ยงดูลูกสาวด้วยความดีงาม รวมทั้งการที่ท่านนบีวางบรรทัดฐานที่ว่า “คนที่ดีที่สุด คือคนที่มารยาทดีที่สุดต่อคนในบ้าน” ที่ครอบคลุมหลักไปยังภรรยา และสตรีเพศ (ศอฮีฮ์ อัตตัรฆีบ : 1924)
(จากตำราของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ วัลญะมาอัต)

อิสลามกำหนดให้แต่ละเพศ มี “สิทธิและหน้าที่” ที่แตกต่างกัน ตามที่เหมาะสมกับเพศนั้น ๆ โดยสิทธิ หมายถึง สิ่งที่คนหนึ่งต้องได้รับจากอีกฝั่ง ในขณะที่หน้าที่ คือ สิ่งที่คน ๆ หนึ่งต้องให้หรือรับผิดชอบต่ออีกฝ่าย
 
 สิทธิและหน้าที่ของแต่ละเพศต่างกัน อันเนื่องจากรายละเอียดและธรรมชาติที่แตกต่างกัน อิสลามมีบัญญัติขอบข่ายงานและหน้าที่ ที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ โดยมิได้มองหรือลดทอนคุณค่าของบุคคลหรือภาระงานใด แต่กระนั้น แม้มีความขอบข่ายงาน อิสลามก็เรียกร้องสู่ความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (ตัฟซีรอิบนุกะษีร ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ อายะฮ์ที่ 19)

ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่อง หลายประเด็นที่อิสลามกำหนดให้ผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบ (รับผิดชอบที่ถ้าบกพร่องก็ต้องถูกสอบสวน) ซึ่งหลักการเหล่านี้ แต่ละข้อล้วนสาหัส เช่น การจ่ายค่าเลี้ยงดู(นัฟเกาะฮ) การดูแลในฐานะเป็นมะฮ์รอม(ทั้งด้านการให้เวลา/รักษาเกียรติ/ความเพียงพอในด้านทรัพย์สิน ฯลฯ)  อีกทั้งบทบัญญัติบางประการ เช่น การนมาซแบบญามาอะฮ์ การทำสงครามญิฮาด ก็เป็นการกระทำที่ถูกวางไว้บนบ่าของบุรุษ มิใช่สตรี โดยที่สตรีมีสิทธ์ที่จะได้ผลบุญเช่นนั้น ด้วยการงานที่เบากว่า สามารถพบเห็นตามฮะดีษในกลุ่มสำนวนที่ว่า ”โดยที่นางได้ผลบุญประหนึ่งการงานนี้ การงานนั้น"

บางบทบัญญัติ ที่กำหนดให้อีกเพศใดเพศหนึ่งปฏิบัติ นั่นก็เพราะความเหมาะสมต่อเพศนั้น ๆ ซึ่งมิได้หมายถึงว่า จะมีฝั่งใดสบายกว่า หรือมีศักดิ์ความเป็นมนุษย์ที่สูงส่งกว่า

การดูถูกเหยียดและกดขี่ต่อสตรี เป็นแนวคิดของพวกอาหรับยุคญาฮิลียะฮ์(โง่เขลา อวิชชา ) ซึ่งอิสลามได้มาปลดปล่อยให้มนุษย์หลุดพ้นจากแนวคิดนั้น

 หากพระองค์อัลลอฮ์ทรงบัญญัติให้ผู้หญิงมีหน้าที่ ในทุกด้านเช่นเดียวกับผู้ชาย ย่อมเป็นความอธรรมต่อตัวนาง เพราะย่อมหนักอึ้งเกินกว่าที่สตรีทุกคนจะรับผิดชอบได้ เช่นเดียวกัน ถ้าหากพระองค์ทรงบัญญัติให้บุรุษต้องรับผิดชอบในบางภาระงานของสตรี ย่อมเป็นที่อึดอัดสำหรับพวกเขา เพราะสวนทางกับธรรมชาติของบุรุษเพศ

1ฝ การที่มีสตรีบางคนทำงานบางอย่างของบุรุษได้ หรือบุรุษบางคนทำงานบางอย่างของสตรีได้ดี เป็นกรณียกเว้น ที่อาจเกิดขึ้นได้และต้องได้รับการพูดคุยเป็นเรื่อง ๆ แต่มิใช่เหตุผลให้รื้อทั้งโครงสร้าง และเปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์ทั้งระบบ

ดังนั้น สิทธิของผู้หญิงและผู้ชายจึงไม่เหมือนกัน นั่นก็เพราะหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชายไม่เหมือนกัน ตามธรรมชาติ เพศหญิงและเพศชายแตกต่างกัน ซึ่งความไม่เหมือนกัน ไม่เท่าเทียมกัน มิได้หมายถึง ความกดขี่อีกฝั่ง มีบางเรื่องที่เพศชายเป็นผู้ได้รับสิทธิ นั่นพราะมีบางเรื่องที่พวกเขาเป็นผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม และมีบางเรื่องที่ผู้หญิงเป็นผู้ได้รับสิทธิเพียงเพศเดียว เช่นเดียวกับบางหน้าที่ ที่วางไว้ให้เป็นงานของผู้หญิงเพียงฝั่งเดียว

ด้วยเหตุนี้เอง ความเท่าเทียมกัน จึงไม่ได้หมายถึงความยุติธรรม อาจมีเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าต้องเป็นความหมายเดียวกัน ซ้ำ บางครั้ง ความเท่าเทียมนั่นแหละ ที่มีความอธรรมซ่อนอยู่

 จะเท่าเทียมกันในทุกรายละเอียดได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้รู้จักรายละเอียดทางธรรมชาติที่เหมือนกัน เขานั้นสูงส่งในแบบของเขา ขณะที่ฉันสูงส่งในแบบของฉัน เพียงพอแล้วที่ความเท่าเทียมที่เราจะเรียกหา คือ ณ อัลลอฮ์ จะเสียงใส ๆ ของสตรี หรือเสียงทุ้ม ๆ ของบุรุษ (ตามธรรมชาติที่แตกต่างของกล่องเสียง) จะเป็นโทนไหน เสียงอย่างไร เพราะพระองค์ก็ทรงได้ยิน...

ฉันเป็นมุสลิม และฉันก็ภาคภูมิใจในความเป็นอิสลาม อัลฮัมดุลิลลาฮ์

 

บทความโดย เชค ญะมาลุดดีน ปาทาน