สาส์นของขบวนการอาชูรอ ตอนที่ 3

สาส์นของขบวนการอาชูรอ ตอนที่ 3

 


อัลกุรอานได้เสนอในทำนองว่า บางคนในภายนอก คือ คนที่คุณคิดว่า เขาคือผู้มีสติปัญญา คือผู้มองเห็นไม่ไดัตาบอด คือผู้ฟังไม่ได้หูหนวก แต่ความเป็นจริงแล้ว พวกเขาโง่เขลา ตาบอด และหูหนวก บางคนคุณอาจคิดว่า เขาพูดความจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาคือคนโกหก บางคนคุณอาจจะคิดว่า เขาถือสัจธรรม แต่ความจริง เขาถือโมฆะ และบางคนคุณคิดว่า เขามีชีวิต แต่ความเป็นจริงแล้ว เขาคือ คนตาย

لَهُمْ قُلُوبٌ لَا يَفْقَهُونَ بِهَا وَلَهُمْ أَعْيُنٌ لَا يُبْصِرُونَ بِهَا وَلَهُمْ آذَانٌ لَا يَسْمَعُونَ بِهَا

โดยที่พวกเขานั้นมีหัวใจ ซึ่งพวกเขาไม่ได้ใช้มันทำความเข้าใจ และพวกเขาก็มีตา ซึ่งพวกเขาไม่ได้ใช้มันมอง และพวกเขาก็มีหู ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้ใช้มันฟังมัน”
บทอัลอะอ์รอฟ โองการที่189

ในอีกภาคหนึ่ง อัลกุรอานเสนอว่า ผู้ที่หันหลังให้แนวทางของอิบรอฮีม คือ คนเขลา

وَمَنْ يَرْغَبُ عَنْ مِلَّةِ إِبْرَاهِيمَ إِلَّا مَنْ سَفِهَ نَفْسَهُ

“และใครเล่าที่จะไม่พึงปรารถนาในแนวทางของอิบรอฮีม นอกจาก ผู้ที่ทำให้ตัวเองโฉดเขลา”
บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่130

ดังนั้น ในมุมมองของอัลกุรอาน มนุษย์กลุ่มหนึ่งคือคนเขลา ที่ใช้ชีวิตแบบโง่เขลา แต่กลับคิดว่าตนฉลาดมีสติปัญญา หรือในบางบทอัลกุรอ่านก็นำเสนอเรื่องราวของ สัจธรรม-โมฆะ และความจริง-ความเท็จ เช่น

وَهُمْ يَحْسَبُونَ أَنَّهُمْ يُحْسِنُونَ صُنْعًا

“และพวกเขาคิดว่า แท้จริงพวกเขาได้ปฏิบัติความดีแล้ว”
บทอัลกะฮ์ฟี  โองการที่104

คนเหล่านี้กำลังใฝ่หาสิ่งที่เลวทราม แต่พวกเขากลับคิดกันไปเองว่ากำลังแสวงหาสิ่งที่เป็นความดี สิ่งที่อัลกุรอ่านให้ข้อสรุปแก่เราคือ อันที่จริงแล้วพวกเขาคือคนตาย ที่คิดว่าตนมีชีวิต และคนที่คิดเดาไปว่า ชีวิตทั้งหมดของมนุษย์เริ่มจากเปลและสิ้นสุดลงที่หลุมฝังศพ และหลังจากนั้นไม่มีสิ่งใดอีก เหลือเพียงความว่างเปล่า ก็คือคนที่จำกัดกรอบของการมีชีวิตให้สิ้นสุดลงเพียงวัตถุ ในทางจิตวิญญาณ คนที่คิดเช่นนี้ คือคนตาย และเพราะเขาคือคนตาย เขาจึงไม่ได้ยิน มองไม่เห็น ไม่ใช่ผู้ถือสัจธรรม ไม่ใช่ผู้สัจจริง ไม่ใช่ผู้ทีมีเกียรติ เพราะ”ศพ”ไม่อาจใช้ประโยชน์ใดๆได้จากคุณลักษณะอันสมบูรณ์เหล่านี้ได้อีกต่อไป

ฮุเซน บิน อาลี (อ) จึงทำหน้าที่เหมือนกับบิดาผู้มีเกียรติ และครอบครัวผู้ทรงธรรมของท่าน นั่นคือ ตราบใดที่ท่านยังสามารถมอบความรู้ ความเข้าใจ ขัดเกลา และเตือนสติ ต่อปวงชนได้ ท่านจะชี้ธรรมและอธิบายความของสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องให้กับพวกเขา แต่ในช่วงเวลาของท่าน มีผู้อ้างธรรมมากมายปรากฎตัว เหล่าผู้นำ แม่ทัพ นายกอง ของฝ่ายอะมาวีย์ พูดสิ่งหนึ่ง ในขณะที่ครอบครัวของศาสดามุฮัมมัด(อะฮ์ลุลบัยต์) พูดอีกสิ่งหนึ่ง เรื่องนี้คล้ายคลึงกับยุคสมัยของมูซา(อ) ที่ท่านศาสดามูซา และฮารูน พูดสิ่งหนึ่ง ส่วนฝ่ายฟาโรและสหายข้าทาส ก็พูดอีกแบบหนึ่ง ในอัลกุรอ่าน ฟาโร พูดกับประชาชนว่า

إِنِّي أَخَافُ أَنْ يُبَدِّلَ دِينَكُمْ أَوْ أَنْ يُظْهِرَ فِي الْأَرْضِ الْفَسَادَ

“แท้จริงฉันเกรงว่าเขาจะมาเปลี่ยนศาสนาของพวกท่าน หรือจะก่อการร้ายให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน” บทอัลฆอฟิร โองการที่ 26

คำพูดของมูซา(อ) และคำพูดของฟิรอูนหรือฟาโรห์ ทั้งสองต่างก็มีฝ่ายที่สนับสนุน กลุ่มหนึ่งยอมรับในคำพูดของมูซา อีกกลุ่มให้น้ำหนักแก่คำพูดของฟิรอูน คำพูด การอ้างสิทธิของสองฝ่ายในลักษณะนีั มักปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ ทั้งก่อนยุคมูซา ทั้งหลังยุคของเขา ทั้งยุคสมัยของฮุเซน บิน อาลี และหลังจากนั้น

เมื่อฮุเซน มองเห็นแล้วว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คำพูด และคำตักเตือน ไม่มีผลใดๆ เมื่อท่านมั่นใจแล้วว่า มีเพียงสีเลือดเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนเปฺ็นแสงไฟ และทำให้สังคมตาสว่าง ท่านจึงสร้างขบวนการอาชูรอ และใช้ขบวนการอาชูรอ เป็นกุญแจสำคัญ โดยมอบกุญแจดอกนี้ให้กับประชาชน ในการเปิดสู่ประตูแห่งศาสนา และเมื่อพวกเขาได้รับกุญแจดอกนี้ พวกเขาใช้มันเปิดประตูสู่แก่นแท้ และขุมคลังแห่งความรู้ในวัฒนธรรมของศาสนา เมื่อนั้นเองพวกเขาจึงรู้ว่าอะไรคือ เกียรติยศที่แท้จริง และอะไรคือความอัปยศ อะไรคือเสรีภาพ
อะไรคือการกักขัง อะไรคือความมั่นคง อะไรคือความหายนะ อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ และสุดท้ายพวกเขาจึงได้รู้ว่า อะไรคือสัจธรรมที่แท้จริง อะไรคือโมฆะที่จอมปลอม ดังนั้น การรู้จักชีวิตกับความตายที่ถูกต้อง คือ เครื่องมือในการแยก ความจริงกับความเท็จ สัจธรรม กับ โมฆะ และความดีกับความชั่วทั้งมวล

ฮุเซน (อ) กล่าวแก่มิตรสหายผู้เคียงข้างท่านจนวาระสุดท้ายว่า คนอื่นเขามองว่าความตายคือจุดจบของขีดเส้นแห่งชีวิต แต่ฉันมองว่ามันคือต้นสะพาน คือ จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ “ความตาย คือต้นสะพาน และความดีงามทั้งปวงอยู่พ้นหลังสะพานนั้น”
(บิฮารุลอันวาล 6/154)
 การข้ามฟาก ต้องมีสะพาน และความดีงามทั้งปวง อาทิ เกียรติ คุณธรรม ความสัจจริง ความสว่างไสว สัจธรรม ตลอดจนไปถึงชีวิตที่สมบูรณ์ อยู่เบื้องหน้าสะพานนี้ ดังนั้น ฮุเซน บิน อาลี จึงเลือกหนทางแห่งชะฮีด(การสละชีวิตตนเอง)เพื่อส่งต่อแก่นแท้ ทำให้มนุษย์มีชีวิต และปลุกให้มนุษย์ตื่นจากการหลับไหล…

เมื่อในโลกนี้ เหมือนราตรีไร้ซึ่งแสงไฟ..
เมื่อในดวงใจมันหายไปซึ่งคำตักเตือน…
เมื่อในท้องฟ้าสิ้นจันทรา และสิ้นดาวเดือน…
ต้องพลีกายให้เฉือน ให้สีเลือดนั้นเป็นแสงไฟ..

 

บทความโดย เชคมูฮัมหมัด เบเฮชตีย์
ขอขอบคุณ ที่มา เอบีนิวส์ทูเดย์
เรียบเรียงโดย เชค ญะมาลุดดีน ปาทาน