เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ศาสนากับวิถีชีวิตคนยุคใหม่?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ศาสนากับวิถีชีวิตคนยุคใหม่?

 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้คือ ทุกสรรพสิ่งล้วนมุ่งสู่ความสมบูรณ์ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดที่มุ่งสู่เส้นทางที่ขัดแย้งกับความสมบูรณ์ของตนเอง ทว่ามีเพียง “มนุษย์” เท่านั้นที่มีเสรีในการเลือกที่จะไปในเส้นทางใด นั่นก็เพราะมนุษย์มีความคิดและอิสระในการเลือกซึ่งแตกต่างจากสรรพสิ่งอื่นๆ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการมุ่งสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์นั้นได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างครบถ้วนแล้วสำหรับเขา ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ต้องการความสมบูรณ์ในตัวของมันเองตามระบบที่ถูกวางไว้อย่างน่าอัศจรรย์
 และอะไรที่เป็นสื่อที่น่าเชื่อถือที่สุดในการที่จะนำพามนุษย์สู่ความสมบูรณ์นั้นได้?กฎเกณฑ์ที่มนุษย์กำหนดขึ้น? หรือต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่มาจากแหล่งแห่งพลานุภาพ คลังแห่งวิทยาญาณสูงสุด ของผู้วางระบบให้ทุกสรรพสิ่งมุ่งสู่ความสมบูรณ์นั้น?

 ถึงตรงนี้คำตอบคงชัดเจนแล้วว่า กฎเกณฑ์ที่เกิดจากการกำหนดของมนุษย์ด้วยกันเองนั้นไม่อาจนำพามนุษย์สู่ความสมบูรณ์นั้นได้ เพราะมนุษย์ไร้ความสามารถที่จะรอบรู้ถึงระบบแห่งความสมบูรณ์นั้นได้อย่างสมบูรณ์ ทางด้านกายภาพมนุษย์มีอายุขัยที่จำกัด มีความรู้ที่จำกัด นอกจากนั้นยังมีอารมณ์ความรู้สึกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความคิดและการตัดสินใจ ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า มนุษย์ไร้ความสามารถที่จะจัดวางระบบแห่งความสมบูรณ์นั้นได้
 แนวทางที่น่าเชื่อถือที่สุด ปลอดภัยที่สุด รอบด้านและครอบคลุมในทุกด้านของชีวิตของมนุษย์ ต้องมาจากผู้ที่รอบรู้ในระบบแห่งความสมบูรณ์นั้น และในมุมมองของเทวนิยมโดยเฉพาะอิสลามแล้วเชื่อว่า “พระเจ้า” คือผู้ทรงรอบรู้ในระบบแห่งความสมบูรณ์นั้น เพราะพระองค์คือผู้สร้างระบบ จึงทรงคู่ควรและเหมาะสมที่สุดในการวางกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับการสร้างสรรค์ทั้งหมด

 พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีโครงสร้างมุ่งสู่ความสมบูรณ์โดยอิสระ ฉะนั้นการต้องการความสมบูรณ์จึงเป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมที่มีอยู่ในอัตลักษณ์ของมนุษย์ทุกคน และไม่อาจมีผู้ใดพูดได้ว่า “ฉันไม่ต้องการไม่ถึงยังความสมบูรณ์”  เพราะมันขัดแย้งกับสัญชาติญาณดั้งเดิมของเขา ตามกฎที่ว่าทุกสรรพสิ่งมุ่งสู่ความสมบูรณ์ และมนุษย์คือส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งต่างๆ ที่มุ่งสู่ความสมบูรณ์โดยอิสระ กล่าวคือการฝืนกฎธรรมชาตินี้ก็เหมือนกับการปฏิเสธความเป็นของเหลวของน้ำ ซึ่งไม่กินกับสติปัญญาและขัดกับกฎของธรรมชาตินั่นเอง

 ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าชีวิตมนุษย์มีจำกัด และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีกครั้ง และอีกฝั่งหนึ่งคือโลกหน้าที่จีรัง ฉะนั้นจึงมีเวลาไม่มากพอที่จะทดลองใช้ชีวิตไปในทุกวันได้ ทว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีป้ายบอกทางที่น่าเชื่อถือไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น เพื่อมนุษย์จะได้เดินไปตามทางนั้นอย่างปลอดภัยและได้พบกับชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริงปราศจากความกังวลใดๆ และป้ายบอกทางนั้นคือ “ศาสนา” ที่เป็นความโปรดปรานจากพระเจ้าส่งผ่านยังบรรดาศาสดาและบรรดามิตรแห่งพระเจ้า (เอาลิยาอ์)

 เรามักเข้าใจกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีความเจริญก้าวหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องมีศาสนาที่ถูกต้อง ผู้คนมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข ทั้งที่ชีวิตที่แท้จริงคือ การไปถึงยังความสมบูรณ์สูงสุดของจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากกายภาพของมนุษย์ และไม่อาจไปถึงยังความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณได้โดยปราศจาก “ศาสนา”

 เมื่อพูดถึงประโยชน์ของศาสนา ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายๆ ด้าน การประเมินประสิทธิผลของศาสนานั้นต้องประเมินทั้งด้านปัจเจก สังคมด้านผัสสะ ด้านจิตวิญญาณ ประโยชน์ทั้งชีวิตทางโลกและผลต่างๆ ในปรโลก ทั้งนี้เพื่อจะได้มีทัศนคติที่ชัดเจน มั่นคงเกี่ยวกับศาสนา

คุณสมบัติของศาสนา
ในการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับ “ศาสนา” นั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญถึงประเด็นนี้ที่ว่า ในระบบทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในระบบที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศ ชีวิตของมนุษย์ย่อมมีความเกี่ยวพันและสอดคล้องกับสภาพและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขา กล่าวคือ หนทางที่มนุษย์ได้เลือกนั้นไม่อาจแยกออกจากสิ่งที่เขาเป็นอยู่ได้ บทบาทของชีวิตและชีวิตที่แท้จริงนั้นเกี่ยวข้องกับการรู้จักสภาพแวดล้อมและสถานะภาพของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมนั้นได้อย่างถูกต้อง บนพื้นฐานนี้แนวทางการใช้ชีวิตที่ถูกเขียนขึ้นสำหรับมนุษย์ต้องเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับระบบโดยรวมทั้งหมด กล่าวคือเป็นโปรแกรมที่คำนึงถึงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน เป็นโปรแกรมที่ครอบคลุมอย่างสมบูรณ์ปราศจากข้อบกพร่องใดๆ มุ่งสู่ปรัชญาการสร้างนั่นคือ “การรู้จักองค์สัมบูรณ์เจ้า” และชีวิตจะไม่สิ้นสุดลงอย่างไร้สาระ
อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ กล่าวว่า:
“พระเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงชี้นำทุกสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง หนึ่งในนั้นคือ “มนุษย์” สู่ความผาสุก และเป้าหมายการสร้างที่แท้จริง และหนทางที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์นั้นคือ การเชิญชวนสู่การรังสรรค์ที่พิเศษนั้น เป็นกฎเกณฑ์ชีวิตทั้งทางด้านปัจเจกและสังคมที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ศาสนาที่เป็นธรรมชาติ ไม่ทำลายตัวตนของความเป็นมนุษย์ ด้วยการเข้ามาสร้างความสมดุลย์แก่อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของมนุษย์” จากตรงนี้จึงได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่เหมาะสมและมีอำนาจออกกฎเกณฑ์ทั้งหมดนั้นคือ “พระเจ้า”  และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากฎเกณฑ์และกฎระเบียบของการใช้ชีวิตที่มีประโยชน์นั้นคือ กฎเกณฑ์ที่พระเจ้าทรงวางไว้ให้แก่มนุษย์ นั่นเอง

โลกยุคใหม่
มีสองประเด็นที่คนในโลกยุคใหม่ควรต้องตระหนัก:
1. แม้ว่าวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่จะมุ่งเน้นถึงความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทว่าไม่อาจที่จะคาดหวังได้ว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจะให้คำตอบวิทยาการที่นอกเหนือจากธรรมชาติและเบื้องหลังปรากฎการณ์ต่างๆ ได้ อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ กล่าวว่า:

“การที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการส่วนหนึ่งนั้นย่อมไม่เพียงพอสำหรับวิทยาการด้านอื่นๆ และไม่อาจแก้ปัญหาความไม่รู้ในด้านอื่นของมนุษย์ได้ ถูกต้องที่ว่าวิทยาการด้านวิทยาศาตร์ธรรมชาติประดุจดังแสงไฟให้ความสว่างในความมืดของความไม่รู้ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทว่าแสงไฟนี้ไม่อาจมีประโยชน์ในการกำจัดความมืดของความไม่รู้ในส่วนอื่นๆ ได้ วิทยาการด้านจิตวิทยาไม่อาจแก้ปัญหาด้านดาราศาสตร์ แพทย์ไม่อาจแก้ปัญหาของนักวิศกรได้ และวิทยาการด้านธรรมชาติวิทยานั้นเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเรื่องที่อยู่เบื้องหลังปรากฎการณ์ และจิตวิญญาณ และไม่สามารถที่จะวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ สรุปคือหากถามเรื่องที่เกี่ยวกับเบื้องหลังแห่งปรากฎการณ์จากวิทยาศาสตรธรรมชาติ คำตอบที่ได้รับคือ ความว่างเปล่าและการนิ่งเงียบ ที่ไม่อาจให้คำตอบที่ยืนยันหรือปฏิเสธได้!
เพราะวิทยาการที่เนื้อหาของมันคือ “วัตถุ” ย่อมไม่อาจให้คำตอบในเรื่องที่มีเนื้อหานอกเหนือจากวัตถุ และวิทยาการไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกความเห็นยืนยันหรือปฏิเสธในเรื่องนั้นได้”

2. ผู้คนโลกยุคใหม่กำลังประสบกับข้อบกพร่องต่างๆ อย่างหนัก จนสร้างความกังวลให้กับนักคิดชาวตะวันตกหลายท่าน เช่น มาร์ทีน ไฮเด็กเกอร์ เป็นนักปรัชญาและนักคิดชาวเยอรมัน ที่กล่าวถึงโลกยุคมัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรม หรือคำกล่าวของ Paul Johannes Tillich เป็นนักปรัชญาคริสเตียนอัตถิภาวนิยมชาวเยอรมัน ว่า
“ แม้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการจะสามารถกำจัดระห่างของเวลาและสถานที่ลงได้ แต่ความห่างเหินของหัวใจของกันและกันนั้น ยิ่งเพิ่มความกังวลมากขึ้น” (PAUL TILLICH: THE SHAKING OF THE FOUNDATIONS،P 157)

 จากความเป็นจริงนี้จึงเห็นเรื่องราวที่ขมขื่นมากมายเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตัดด้านจิตวิญญาณออกไปจากมนุษย์ และคงมนุษย์ไว้ประดุจดังเครื่องจักรกล ไม่เป็นการไร้เดียวสาไปอย่างนั้นหรือที่จะปล่อยฐานที่มั่นคงและน่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งคือ “ศาสนา” ออกไปจากชีวิต และปล่อยให้ชีวิตตกอยู่ในวิกฤติแห่งความกังวล ความทุกข์ เป็นชีวิตที่ไม่สงบสุข? ไม่เป็นการดีหรอกหรือที่จะค้นหาความบกพร่องและช่องว่างของชีวิตจากการเข้าหาศาสนา ทำความเข้าใจกับศาสนา และศรัทธาต่อศาสนา

แหล่งอ้างอิง
1.กุรออน ดัร อิสลาม
2. ฟิฏรัต,มุรตะฏอ มุฏอฮารีย์ เล่ม 1 หน้า 154
3. อัลมีซาน,อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ เล่ม 2 หน้า 122
3. ฟะรอซฮออีย์ อัซ อิสลอม, มุฮัมหมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอีย์ เรียบเรียงโดย ซัยยิดมะฮ์ดี อายาตุลลอฮี หน้า 8


บทความโดย เชคอิมรอน พิชัยรัตน์
เรียบเรียง เชคญะมาลุดดีน ปาทาน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม