เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิลมุลกิรออะฮ์กับปรมจารย์นักอ่านทั้ง 7

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อิลมุลกิรออะฮ์กับปรมจารย์นักอ่านทั้ง 7


อิลมุล กิรออะฮ์ เป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่อง กฏเกณฑ์ในการอ่านออกเสียง  การหยุด  การเริ่มต้น การอ่านควบตัวอักษร รวมทั้งกล่าวถึงการอ่านคำในกุรอานในรูปแบบต่าง ๆ  ด้วยท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ถือเป็นครูสอนกุรอานคนแรกของโลกอิสลามบรรดาซอฮาบะฮ์บางท่านเช่น ท่านอิมามอะลี (อ) ท่านอุศมาน บิน อัฟฟาน ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด ได้เรียนรู้กุรอานโดยตรงจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) บรรดาสาวกที่เรียนรู้กุรอานแล้วก็มีหน้าที่สอนกุรอานให้กับสาวกคนอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งบรรดาชนรุ่นหลังที่ไม่ได้อยู่ในช่วงสมัยของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ก็เรียนกุรอานกับบรรดาซอฮาบะฮ์

ในช่วงเวลาการถ่ายทอดวิชาความรู้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งนี้เองได้กำเนิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการอ่านกุรอานขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่บรรดามุสลิมมีจำนวนมากขึ้น ต่างคนต่างต้องการที่จะเรียนรู้กุรอาน ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการของเหล่าผู้หลงใหลในกุรอาน

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดศาสตร์การอ่านกุรอานและได้รายงานการอ่านที่ถูกต้องจากบรรดาซอฮาบะฮ์ อีกทั้งแต่ละคนก็มีลูกศิษย์ที่แตกแขนงออกไปมากมาย จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าศาสตร์การอ่านกุรอานถูกถ่ายทอดมาจากแหล่งเดียวคือจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) โดยผ่านบรรดาซอฮาบะฮ์ และตาบิอีน แต่เราจะเห็นการอ่านที่หลากหลายและแตกต่างกัน มีคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

มีคนตั้งสมมุติฐานว่าอาจเป็นเพราะว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เองอนุญาตให้สามารถอ่านคำบางคำในกุรอานได้หลากหลายรูปแบบ หรือจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.)ทรงประทานกุรอานโดยอนุญาตให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อ่านคำบางคำได้หลายรูปแบบตั้งแต่แรกแล้ว แต่บางคนก็เชื่อว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นเกิดจากการรายงานฮะดิษเกี่ยวกับการอ่านของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ที่แตกต่างกันของนักรายงานฮะดีษ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือมุสลิมทุกคนพยายามอย่างที่สุดที่จะให้การอ่านของตนเองใกล้เคียงกับการอ่านของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เองบางคนต้องเดินทางด้วยความลำบากเพื่อเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาศาสตร์การอ่านจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) โดยตรง

ในช่วงแรกนักอ่านและผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจะถ่ายทอดวิธีการอ่านแบบตัวต่อตัว  แต่ต่อมาภายหลังได้มีการเขียนกฏเกณฑ์ทั้งหมดเป็นตำราโดยเชื่อกันว่าตำราเล่มแรกที่เขียนเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ต่าง ๆ นี้คือหนังสือของ ฮัมซะฮ์ บิน ฮะบีบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกุรรอ ซับอะฮ์ ด้วย

ในหมู่ซอฮาบะฮ์และตาบิอีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 1 และ 2 มีจำนวน 10 คนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผุ้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการอ่านกุรอาน ซึ่งในจำนวน 10 คนดังกล่าวนั้นมีอยู่ 7 ท่านด้วยกันที่มีชื่อเสียงมากทีสุดซึ่งต่อมาภายหลัง 7 ท่านนี้เองได้รับฉายานามว่า กุรรออ์ ซับอะฮ์ (นักอ่านทั้ง 7) ซึ่งก็มีรายนามพร้อมประวัติโดยสังเขปดังต่อไปนี้

อิบนิอามิร
ท่านมีชื่อว่า อับดุลลอฮ์ บิน อามิร บิน ยะซีด ยะฮ์ซุบีย์ มีฉายานามว่า อะบูอิมรอน เป็นชาวซีเรีย มีเชื้อสายตระกูลเป็นชาวเยเมน ท่านเรียนการอ่านมาจากท่าน มุฆีเราะฮ์ บิน อะบี ชะฮาบ มัคซูมีย์ ซึ่งท่านมุฆีเราะฮ์สืบทอดการอ่านมาจากท่านอุศมาน บิน อัฟฟาน

ท่านอิบนิอามิรถือเป็นนักอ่านที่เข้มงวดในการออกเสียงพยัญชนะให้ชัดเจนและเข้มงวดในหลักตัจวีดเป็นอย่างมาก ซึ่งนักวิชาการด้านการอ่านถือว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของท่านอิบนิอามีร รูปแบบการอ่านของท่านอิบนิอามิร มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวซึ่งจะขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนเช่น ในการอ่านคำว่า لکن จะมีการเพิ่มตัวพยัญชนะ ا  (อะลิฟ) เมื่อต้องการอ่านเชื่อกับประโยคอื่น เช่นในโองการที่ 9 ซูเราะฮ์ อัรรูมที่กล่าวว่า

فَمَا كَانَ اللَّهُ لِيَظْلِمَهُمْ وَلَكِنْ كَانُوا أَنْفُسَهُمْ يَظْلِمُونَ

จะอ่านเป็น

فَمَا كَانَ اللَّهُ لِيَظْلِمَهُمْ وَلَكِنا كَانُوا أَنْفُسَهُمْ يَظْلِمُونَ
ซึ่งนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากการอ่านของชาวซีเรีย

ลูกศิษย์คนสำคัญของท่านอิบนิอามิรที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่การอ่านของท่านคือ ยะฮ์ยา บิน ฮาริซ ซะมารีย์  ท่านอิบนิอามิรมีนักรายงานการอ่าน 2 ท่านด้วยกันคือ ฮิชาม บิน อัมมาร และ อิบนิ ซิกวาน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านยะฮ์ยา บิน ฮาริซ การอ่านของท่าน อิบนิ อามิรแพร่หลายในประเทศซีเรียและบางส่วนของประเทศอิยิปต์

อิบนิ กะซีร
ท่านมีชื่อว่า อับดุลลอฮ์ อิบนิ กะซีร ดารี มักกีย์ เป็นนักกอรีจากเมืองมักกะฮ์ คำว่าดารีเป็นฉายาของท่านหมายถึงพ่อค้าน้ำหอม ซึ่งมาจากการที่ช่วงเวลาหนึ่งท่านมีอาชีพเป็นพ่อค้าน้ำหอมอยู่ในตลาดเมืองมักกะฮ์ ท่านเป็นชาวมักกะฮ์โดยกำเนิดและเสียชีวิตที่เมืองนี้ด้วย

ท่านอิบนิกะซีร เรียนกุรอานในรูปแบบ อัรฎ์ (อ่านให้อาจารย์ฟังโดยอาจารย์จะคอยตรวจสอบความถูกต้อง) จากท่านอับดุลลอฮ์ บิน ซาอิบ (เป็นซอฮาบะฮ์สมัยนบี) จากท่านมุญาฮิด และจากท่าน ดาร์บาส คนรับใช้ของท่านอิบนิอับบาส ในบางโองการในอัลกุรอานท่านอิบนิกะซีร จะอ่านตามรูปแบบกุรอานที่บันทึกโดยชาวมักกะฮ์ซึ่งจะมีการอ่านแตกต่างบ้างเล็กน้อยกับการอ่านของมุสลิมในเมืองอื่น ๆ

รูปแบบการอ่านของท่านอิบนิกะซีรจะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางตอนดังต่อไปนี้

– ในกรณีที่เป็นกฏ อิดฆอม มุตะกอริบัยน์ ในตัวอักษร د   (ดาล) หรือตัวอักษร ذ  (ซาล) ท่านอิบนิกะซีรจะอ่านออกเสียง ตัว د   (ดาล) ในประโยคเช่น ما عبدتم   แทนการออกเสียงตัว ت  (ตาอ์)  หรือในประโยคเช่น اذ ظلموا  จะออกเสียงตัว ذ  (ซาล) แทนตัว ظ  (ซอ)

– ในกรณีอ่าน คำสรรพนาม  هم   ที่มีตัวอักษร ญัร (คำบุพบท) นำหน้า เช่น بهم   หรือ اليهم โดยใส่สระ ฎอมมะฮ์ ที่ตัว م (มีม) ในกรณีที่มีประโยคอื่นตามหลังเช่นประโยคที่ว่า إِذَا رَجَعْتُمْ إِلَيْهِمْ قُل لاَّ تَعْتَذِرُوا จะอ่านเป็น

إِذَا رَجَعْتُمْ إِلَيْهِمُ قُل لاَّ تَعْتَذِرُوا   หรือประโยคที่ว่า  وَإِذَا مَرُّوا بِهِمْ يَتَغَامَزُونَ  จะอ่านเป็น وَإِذَا مَرُّوا بِهِمُ يَتَغَامَزُونَ
มีนักรายงานฮะดิษรายงานการอ่านของท่านอิบนิกะซีร 2 ท่านด้วยกันคือ มุฮัมมัด บิน ท่านอะบูอับดุลเราะห์มาน หรือที่รู้จักกันในนาม กอมบัล และ อะห์มัด บิน มุฮัมมัด บัซซีย์

อาซิม
ท่านชื่อ อบูบักร อาซิม บิน อะบิลนุญูด อัล อะซะดีย์ ท่านเป็นนักอ่านที่มีชื่อเสียงที่สุดในหมู่นักอ่านทั้ง 7 ท่านเป็นชาวกูฟะฮ์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับด้วย ท่านอาซิมเรียนกุรอานในรูปแบบอัรฎ์ (อ่านให้อาจารย์ฟังโดยอาจารย์จะคอยตรวจสอบความถูกต้อง) กับ ท่านท่านอะบูอับดุลเราะห์มานซุลละมีย์

ท่านท่านอะบูอับดุลเราะห์มานซุลละมีย์ มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดศาสตร์การอ่านกุรอานให้กับนักอ่านชาวกูฟะฮ์เป็นอย่างมากซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์โดยตรงของท่านอิมาม อะลี บิน อะบีฏอลิบ ซึ่งลูกศิษย์คนสำคัญของท่านท่านอะบูอับดุลเราะฮ์มานซุลละมีย์ก็คือท่านอาซิมนั่นเอง
จากตรงนี้เส้นทางการสืบทอดศาสตร์แห่งการอ่านของท่านอาซิมสามารถกล่าวได้ดังนี้
ท่านอาซิม — ท่านอะบูอับดุลเราะห์มานซุลละมีย์ — ท่านอิมามอะลี บิน อะบีฏอลิบ — ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ)

จะเห็นว่าท่านอาซิมเรียนการอ่านกุรอานโดยผ่านสื่อกลางเพียงสองท่านเท่านั้นจนถึงท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ซึ่งเรื่องดังกล่าวในหมู่นักวิชาการถือว่าเป็นการสืบทอดที่เรียกกันว่า “ซิลซิละตุซซะฮับ” เป็นสายที่ดีที่สุด ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของท่านอาซิมด้วย

ท่านอาซิม มีนักรายงานการอ่านของท่าน 2 คนด้วยกันคือ ซุอ์บะฮ์ หรือ อะบูบักร์ บิน อัยยาช และ ฮัฟซ์ บิน สุไลมาน ท่านอะบูบักร์ บิน อัยยาช กล่าวเกี่ยวกับท่านอาซิมว่า – ท่านอาซิมกล่าวกับฉันว่า – ฉันไม่เคยเรียนกุรอานกับใครเลยนอกจากท่านอะบูอับดุลเราะห์มาน

ในหมู่นักวิชาการด้านการอ่านเชื่อว่า รายงานของท่านฮัฟซ์ บิน สุไลมาน  จะมีความน่าเชื่อถือกว่ารายงานของท่าน อะบูบักร์ บิน อัยยาช โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากท่านฮัฟซ์ เป็นลูกของนางรอบีบ ซึ่งเป็นลูกติดแม่ ของท่านอาซิม โดยได้เรียนรู้กุรอานโดยตรงจากท่านอาซิม ด้วยเหตุนี้เองรายงานของท่านจึงน่าเชื่อถือกว่า และการอ่านของท่านอาซิมเป็นรูปแบบที่ใช้อ่านกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

อะบูอัมร์
ท่านชื่อ ซับบาน บิน อะลา บิน อามิร บินอุรยาน ท่านเป็นคนเดียวใน 7 ท่านที่เป็นชาวอาหรับดั้งเดิม ท่านอบูอัมร์เรียนกุรอานกับอาจารย์หลายท่านด้วยกัน ซึ่งอาจารย์ของท่านมีทั้งใน บัศเราะฮ์  กูฟะฮ์  มักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ซึ่งนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าการมีอาจารย์มากนี้เองถือเป็นจุดเด่นของท่านอะบูอัมร์ โดยอิบนิเญาซีย์กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่มีนักกอรีคนใดใน 7 ท่านที่มีอาจารย์มากมายขนาดนี้

อาจารย์ของท่านอะบูอัมร์ มีหลายต่อหลายท่านด้วยกันซึ่งคงไม่สามารถกล่าวรายนามของท่านได้ทั้งหมดจึงจะขอกล่าวรายชื่อเพียงบางท่านเท่านั้นเช่น มุญาฮิด บิน ญับร์ ซะอด์ บิน ญุบัยร์ อักรอมะฮ์ บิน คอลิด อะฏอ อิบนิ อะบีรอยยาฮ์  อิบนิ กะซีร  อิบนิ มะฮีซีน

ท่านอะบูอัมร์ มีรูปแบบการอ่านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งมีกฏเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากนักอ่านท่านอื่น ๆ เช่นในกฏของอิดฆอม มุตะกอริบัยน์ ในคำว่า مَقعَد صِّدقٍ   อ่านควบตัว د (ดาล) ไปในตัว ص (ซ็อด) หรือ ในคำว่า رَبَّک قَّدِيرًا  จะอ่านควบตัว ک  (กาฟ) ไปในตัว ق   (กอฟ) จากตรงนี้ถ้าเราเปรียบเทียบรูปแบบการอ่านของท่านอะบูอัมร์กับท่านอิบนิกะซีรจะเห็นว่าค่อนข้างจะใกล้เคียงกันก็เนื่องจากว่าท่านอิบนิกะซีรเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของท่านอะบูอัมร์นั่นเอง

ท่านอะบูอัมร์มีลูกศิษย์คนสำคัญซึ่งเป็นผู้สืบทอดรูปแบบการอ่านของท่านคือ ท่านอะบูมุฮัมมัด หรือยะฮ์ยา บิน มุบาร็อก ยะซีดีย์ และมีนักรายงานรูปแบบการอ่านของท่านอะบูอัมร์ 2 ท่านคือ ท่านฮัฟซ์ บิน อุมัรและอะบูชุอัยบ์ หรือซอลิฮ์ บิน ซิยาด ซูซีย์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้เป็นลูกศิษย์ของท่านยะฮ์ยา บิน มุบาร็อก

ฮัมซะฮ์
ท่านมีชื่อว่า ฮัมซะฮ์ บิน ฮะบีบ ท่านมีฉายาว่าซิยาต เป็นชาวกูฟะฮ์ แต่ถือกำเนิดในอิหร่าน ท่านใช้ชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับซอฮาบะฮ์และเคยได้พบกับซอฮาบะฮ์บางท่านด้วย ท่านเคยได้เข้าพบท่านอิมามซอดิก (อ) และอ่านกุรอานให้ท่านอิมามซอดิก (อ) ฟังด้วย ท่านเชคฏูซีย์ นักวิชาการชื่อดังของชีอะฮ์กล่าวว่า ท่านฮัมซะฮ์ เป็นสาวกคนหนึ่งของท่าน อิมามซอดิก (อ)

ในหนังสือประวัติศาสตร์บันทึกว่า เหตุที่ท่านได้รับฉายานามว่า ซิยาต (คนขายน้ำมัน) ก็เพราะว่า ท่านมีอาชิพนำน้ำมันจากกูฟะฮ์ ไปขายในเมือง ฮัลวาน ท่านฮัมซะฮ์นอกจากจะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการอ่านแล้วท่านยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลามด้วย ซึ่งมีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ท่านอบูฮะนีฟะฮ์เคยกล่าวกับท่านฮัมซะฮ์ว่า มีอยู่สองเรื่องที่ฉันไม่กล้าที่จะถกเถียงกับท่านอย่างแรกคือเรื่องกุรอานเรื่องที่สองคือหลักนิติศาสตร์อิสลาม

เส้นทางการสืบทอดศาสตร์แห่งการอ่านกุรอานของท่านฮัมซะฮ์สามารถกล่าวได้ดังนี้
ฮัมซะฮ์ บิน ฮะบีบ – อะบูมุฮัมมัด สุไลมาน บิน มะฮ์รอน อะอ์มัช – ยะฮ์ยา บิน วะซาบ – ซัร บิน ฮะบีช – อะลี บิน อะบีฏอลิบ – ท่านศาสดา มุฮัมมัด (ศ็อล ฯ)

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า หลังจาก ซัร บิน ฮะบีช ท่านฮัมซะฮ์ เรียนกุรอานจากท่านอุศมาน บิน อัฟฟาน แต่บางคนก็เชื่อว่าท่านฮัมซะฮ์เรียนจากท่าน อิบนิ มัสอูด

มีนักรายงานรูปแบบการอ่านของท่าน 2 คนด้วยกันคือ เคาะลัฟ บิน ฮิชาม และ ค็อลลาด บิน คอลิด ซึ่งทั้งสองได้เรียนการอ่านจากท่านฮัมซะฮ์โดยตรงด้วย

นาฟิอ์
ท่านมีชื่อว่า อับดุลลอฮ์ นาฟิอ์ บิน อับดุรเราะห์มาน บิน อาบี นาอีม มะดะนีย์ ท่านเป็นคนอิสฟาฮานโดยกำเนิดจากนั้น มาอาศัยอยู่ในมะดีนะฮ์ และเสียชีวิตในมะดีนะฮ์ ท่านมีฉายานามว่า อะบี รอวีม ท่านเรียนกุรอานจาก อะบูมัยมูนะฮ์ ซึ่งเป็นคนรับใช้ของ อุมมุซะละมะฮ์ ภรรยาของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มีนักรายงานที่รายงานรูปแบบการอ่านของท่าน 2 คนด้วยกันได้แก่ อีซา บิน มีนา หรือที่รู้จักกันในนาม กอลูน ซึ่งเป็นลูกบุญธรรมของท่านนาฟิอ์เอง และอีกคนคือ อุศมาน บิน ซะอีด หรือที่รู้จักกันในนาม วัรช์ การอ่านของท่านแพร่หลายในประเทศโมร็อคโค และอาหรับบางประเทศ

กะซาอีย์
ท่านมีชื่อว่า อะลี บิน ฮัมซะฮ์ กะซาอีย์ เป็นชาวเปอร์เซียโดยกำเนิดมีรายงานกล่าวว่า ท่านเสียชีวิตในเมืองเรย์ทางตอนเหนือของอิหร่าน ท่านกะซาอีย์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านไวยากรณ์อาหรับโดยได้รับการแต่งตั้งให้เเป็นอาจารย์สอนไวยากรณ์อาหรับให้กับลูก ๆ ของฮารูณ รอชีด คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ด้วย ท่านอิมามชาฟิอีย์กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า – ไม่มีใครเทียบกะซาอีย์ได้อีกแล้วในเรื่องความรู้ด้านไวยกรณ์อาหรับ

ท่านยังมีชื่อเสียงด้านจริยธรรมและกริยามารยาทที่งดงาม ท่านอิมามอะห์มัด บิน ฮัมบัลเคยกล่าวไว้เมื่อได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับท่านกะซาอีย์ว่า – ฉันไม่เคยเห็นใครเป็นคนซื่อสัตย์และมีมารยาทงดงามเท่ากับท่านฮัมซะฮ์กะซาอีย์อีกแล้ว

ในหนังสือฟิฮ์ริซ ของท่านอิบนินะดีม รายงานว่า ท่านกะซาอีย์เรียนการอ่านมาจากท่านฮัมซะฮ์ บิน ฮะบีบ ด้วยเหตุนี้การอ่านของท่านจึงคล้ายคลึงกับการอ่านของท่านฮัมซะฮ์แต่ก็มีบางกฏเกณฑ์ที่ท่านอ่านตามรูปแบบการอ่านของอาจารย์อีกท่านหนึ่งนั่นก็คือท่านอิบนิ อะบี ลัยลา ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านอิมามอะลี

มีนักรายงานรูปแบบการอ่านของท่าน 2 คนคือ ลัยซ์ บิน คอลิด และ ฮัฟซ์ บิน อุมัร ซึ่งท่านฮัฟซ์ เป็นนักรายงานของ อะบูอัมร์ด้วยเช่นกัน

ขอขอบคุณ ฟานูส
บทความโดย เชคมูฮัมหมัดอะลี ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม