อ่านกุรอานคือ การทำอิบาดะฮ์แบบมีศิลป์

อ่านกุรอานคือ การทำอิบาดะฮ์แบบมีศิลป์


โดยทั่วไปแล้วมุสลิมจะใช้ประโยชน์จากกุรอานใน 2 รูปแบบด้วยกันคือ

หนึ่งคือการอรรถาธิบาย และ สองคือการอ่าน ในเรื่องเกี่ยวกับการตัฟซีรมุสลิมจะค้นคว้าอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจกับกุรอาน ส่วนในเรื่องของการอ่านมุสลิมจะฝึกฝนและเฟ้นหาผู้ที่มีน้ำเสียงที่ไพเราะเพื่อให้การอ่านวจนะของพระเจ้าเป็นไปแบบที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด  โดยที่ความพยามในด้านการอรรถาธิบายกุรอานก็เพื่อค้นหาและทำความเข้าใจกับกุรอาน แต่ส่วนในเรื่องของการอ่านมุสลิมพยายามคงรักษาเรื่องนี้ไว้เพื่อให้กุรอานอยู่ในใจของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา

เป้าหมายของการส่งเสริมให้มีการอ่านกุรอานและรูปแบบของการอ่านกุรอานถูกกล่าวไว้ในตัวบทของกุรอานเองแล้ว โดยจะต้องอ่านกุรอานด้วยเสียงอันไพเราะ พร้อมทั้งจะต้องทำตัวให้สะอาดในทั้งร่างกายและจิตใจในขณะที่อ่านกุรอานรวมทั้งระมัดระวังในการอ่าน ในซูเราะมุซัมมิล โองการที่ 4 กล่าวว่า :
وَرَتِّلِ الْقُرْآنَ تَرْتِيلا

และเจ้าจงอ่านกุรอานเป็นท่วงทำนองอย่างช้าๆ

เป้าหมายหลักของการส่งเสริมให้มีการอ่านกุรอานนอกจากเพื่อจะเป็นการสร้างความพึงพอพระทัยให้กับอัลลอฮ์แล้ว การอ่านกุรอานยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้อ่านได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตนได้อ่านอีกด้วย ทั้งนี้การอ่านกุรอานก็มีบทบาทในการสร้างสังคมมุสลิมให้มีเอกภาพด้วย

รูปแบบของการอ่านกุรอานถูกกล่าวไว้ในฮะดิษมากมาย ซึ่งมีรายงายจำนวนมากกล่าวว่า "ท่านศาสดาจะอ่านกุรอานด้วยเสียงอันไพเราะ ท่านจะหยุดทุกครั้งเมื่ออ่านจบแต่ละโองการ และท่านจะอ่านคำแต่ละคำในกุรอานโดยการลากเสียงเพื่อให้เกิดความไพเราะ  และในหมู่บรรดาสาวกของท่านศาสดา อะบูมูซา อัชอารีย์ เป็นผู้ที่อ่านกุรอานได้ไพเราะที่สุด"

ตามรายงานฮะดิษกล่าวว่า  กุรอานจะต้องถูกอ่านด้วยเสียงอันไพเราะและไม่ใช่เป็นทำนองแบบเสียงคร่ำครวญ  เสียงของการอ่านกุรอานจะต้องเป็นในรูปแบบที่จะสร้างความยำเกรงให้เกิดขึ้นในหัวใจของผู้ฟัง  ดังที่กุรอานได้กล่าวไว้ว่า :
وَإِذَا قُرِئَ الْقُرْآنُ فَاسْتَمِعُوا لَهُ وَأَنْصِتُوا لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ

เมื่อ อัล กุรอานถูกอ่าน ท่านทั้งหลายจงสดับตรับฟัง และจงนิ่งเงียบ เพื่อพวกท่านจะได้รับความเมตตา (อะอ์รอฟ / 204)

การอ่านกุรอานถูกเรียกว่าเป็น การอิบาดะฮ์ ที่ต้องใช้ศิลปะมากที่สุดในการอิบาดะฮ์ทั้งหมด  ด้วยเหตุนี้เองในสมัยท่านศาสดา (ศ็อลฯ) การอ่านจึงถูกเรียกว่า “อิบาดะฮ์ที่แฝงด้วยศิลปะ”  และต่อมาในสมัยท่านอบูบักรและท่านอุมัร ได้มีการก่อตั้งกลุ่มนักกอรี (นักอ่านกุรอาน) ขึ้น โดยหลังจากนั้นต่อมาได้มีการก่อตั้งโรงเรียนสอนกุรอาน และพัฒนากลายเป็นโรงเรียนสอนกุรอานในรูปแบบปัจจุบัน