สิทธิของมารดาในอิสลาม

สิทธิของมารดาในอิสลาม

 

สิทธิของมารดานั้นกว้างขวางและสำคัญยิ่งกว่า แม้แต่สิทธิของบิดา ด้วยเหตุนี้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :

إِذَا كُنْتَ فِيْ صَلَاةِ التَّطَوُّعِ ، فَإِنْ دَعَاكَ وَالِدُكَ فَلَا تَقْطَعْهَا ، فَإِنْ دَعَتْكَ وَالِدَتُكَ فَاقْطَعْهَا

“เมื่อใดก็ตามที่ท่านนมาซอาสา (มุสตะฮับ) แล้วบิดาของท่านเรียกหาท่าน ดังนั้นก็จงอย่าออกจากการนมาซ แต่ถ้ามารดาของท่านเรียกหาท่าน ก็จงออกจากการนมาซเถิด”

 

การเน้นย้ำอย่างมากมายในการทำดีต่อมารดา

 

    ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า : ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้ทูลขอต่อพระผู้เป็นเจ้าถึงสามครั้งว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำกับข้าฯ ด้วยเถิด! ในทั้งสามครั้ง พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าให้เชื่อฟังข้า จากนั้นเขาก็ทูลขออีกว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำกับข้าฯ ด้วยเถิด! พระองค์ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าในเรื่องของมารดาของเจ้า เขายังคงทูลขออีกว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำสั่งเสียแก่ข้าฯ ด้วยเถิด! พระองค์ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าในเรื่องของมารดาของเจ้า เขาทูลขออีกว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำสั่งเสียแก่ข้าฯ ด้วยเถิด! พระองค์ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าในเรื่องของบิดาของเจ้า ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวเสริมว่า : ด้วยเหตุเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า สิทธิในการทำดีต่อมารดาคือ สองในสาม และสำหรับบิดาคือหนึ่งในสาม” (4)

หมายเหตุ : แม้ว่าในฮะดีษ (วจนะ) ทั้งหลายจะเน้นย้ำถึงการทำดีต่อมารดามากกว่าการทำดีต่อบิดา แต่ในฮะดีษ (วจนะ) บทนี้มีความเป็นไปได้ว่า การเน้นย้ำดังกล่าวที่มีต่อท่านศาสดามูซา (อ.) นั้นเนื่องมาจากคุณลักษณะเฉพาะของมารดาของท่าน

    ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวถึงเอกสิทธิ์ของมารดาว่า : “พึงรู้เถิดว่า สิทธิของมารดานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นวาญิบที่สุด เนื่องจากนางอุ้มลูกน้อยโดยที่ไม่มีใครจะอุ้มมันเช่นนี้ นางจะใช้หู ตาและอวัยวะทุกส่วนเฝ้าระวังลูกน้อยอย่างมีความสุขและมีความหวัง นางจึงอุ้มลูกน้อยแม้จะด้วยความยากลำบากเพียงใดก็ตาม โดยที่ไม่มีใครที่จะอดทนต่อความยากลำบากเช่นนี้ และนางยอมที่จะหิวโหยเพื่อให้ลูกของนางอิ่ม ยอมกระหายเพื่อให้ลูกได้ดื่มกิน ยอมอัตคัดเสื้อผ้าเพื่อให้ลูกได้สวมใส่ ยอมให้ร่มเงาแก่ลูกน้อย ขณะที่เธออยู่กลางแสงแดด ดังนั้นจงขอบคุณมารดาและทำดีและสุภาพอ่อนโยนต่อนางเท่าที่สามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่สามารถกระทำในสิ่งที่เป็นสิทธิที่น้อยที่สุดของนาง เว้นแต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮ์ และแน่นอนยิ่งอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงกำหนดสิทธิของนางไว้เคียงคู่กับสิทธิของพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า : และเจ้าจงของคุณต่อข้าและต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้า (และจงระวังจากการเนรคุณ) เพราะทุกคนจะต้องกลับคืนไปยังข้า”