เหตุใดมนุษย์จึงต้องมีศาสนา



เพราะเหตุใดจึงไม่มีสิ่งใดสามารถแทนที่ศาสนาได้? ศาสนาสนองตอบความต้องการใดของมนุษย์บ้าง และเพราะเหตุใดจึงไม่มีสิ่งใดสามารถแทนที่ศาสนาได้? มนุษย์ต้องการศาสนาเพื่อขับเคลื่อนชีวิตประจำวันทางโลกดุนยาหรือไม่ ? หรือว่าเขาสามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสติปัญญาและประสบการณ์ของตนเอง ?

มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาสารธรรมแห่งศาสนาเพื่อกำหนดระเบียบแบบแผนให้กับชีวิตสังคมหรือไม่ ? หรือมนุษย์สามารถจะมีระบอบสังคมขั้นต้นได้โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนรวมของมวลชน.

ในสายตาบางคน มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาคำสอนของศาสนาแม้ในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ หรือเพื่ออธิบายสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ความเชื่อเช่นนี้ถูกคัดค้านโดยนักวิชาการบางท่าน เช่น ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ซึ่งได้กล่าวย้ำอย่างถูกต้องว่า"มนุษย์สามารถจะบำบัดความต้องการในเรื่องเหล่านี้ได้โดยอาศัยสติปัญญาและประสบการณ์ของตน"

สามารถกล่าวได้ว่า ปัจจัยหลักแห่งความต้องการศาสนาของมนุษย์มิไช่การกำหนดระเบียบแบบแผนให้กับชีวิตสังคมของพวกเขา เพราะมนุษย์สามารถจะจัดการกับปัญหาและความต้องการทางสังคมในระดับหนึ่งได้ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวและส่วนรวม( ที่สั่งสมความทรงจำอันน่าประทับใจและขมขื่นมากมาย) โดยไม่ต้องพึ่งพาคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด แม้ว่าเราจะนำเสนอข้อมูลให้เห็นในภายหลังว่าศาสนามีส่วนสำคัญต่อชีวิตสังคมเป็นอย่างมากก็ตาม.

ชีวิตหลังความตาย กุญแจไขสู่ความต้องการศาสนา ฉะนั้นจึงยังมีปริศนาสำคัญหลงเหลืออยู่ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ปราศจากศาสนาไม่ได้ ?

เชื่อกันว่าประเด็นความต้องการศาสนาของมนุษย์จะมีความหมายชัดเจนต่อเมื่อมีการพิจารณาถึงประเด็น "ชีวิตหลังความตาย" ดังที่ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอีกล่าวไว้ว่า "การวิเคราะห์ประเด็นนุบูวะฮ์ (ความจำเป็นต้องมีศาสนฑูต ) และความต้องการศาสนาของมนุษย์จะไม่สามารถกระทำได้อย่างเหมาะสมและกระจ่างแจ้งหากไม่คำนึงถึงมะอฺาด ( ชีวิตหลังความตาย )

หากชีวิตมนุษย์จำกัดอยู่เพียงโลกดุนยานี้ ย่อมไม่มีความจำเป็นนักที่จะต้องพึ่งพาศาสนา เพราะเขาสามารถค้นหาแนวทางดำเนินชีวิตด้วยการลองผิดลองถูกได้ด้วยตนเอง และสุดท้ายก็มุ่งหน้าสู่ความสูญเปล่าหลังจากจบชีวิตอันเต็มไปด้วยความทรงจำในหมู่เพื่อนฝูง

แต่หากมนุษย์มีความกระวนกระวายใจในโลกนี้ ครุ่นคิดหรืออย่างน้อยก็สันนิษฐานว่าจะมีอีกโลกหนึ่งรอคอยเขาอยู่หลังจากโลกนี้ ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ในโลกหน้าสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันของเขา เมื่อนั้นจะเห็นความสำคัญของการวิเคราะห์ถึงความจำเป็นต้องมีศาสนาอย่างชัดเจน.

ความรู้สึกมุ่งสู่ภพที่จะมีภายหลังจากโลกปัจจุบันมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนที่ห่วงใยและกังวลถึงชะตากรรมของตน และความรู้สึกนี้เองที่เป็นตัวผลักดันมนุษย์สู่การยอมรับการเชิญชวนของบรรดาศาสดาผู้ทรงธรรม. "แซม คีน" กล่าวถึงทัศนะของกาเบรียล มาร์เซลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "นักปรัชญาและนักจิตวิทยารุ่นใหม่ต่างมีความเห็นสอดคล้องกับมาร์เซลในประเด็นที่ว่า "ภายในฐานโครงสร้างแห่งความเป็นมนุษย์มีความระส่ำระส่ายแฝงอยู่ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นทุกข์จากความรู้สึกอ้างว้างและเดียวดายในส่วนลึกของตน และมีความหวังอย่างยิ่งยวดที่จะได้มาซึ่งความสงบทางจิตใจที่เสาะแสวงหามาตลอดชีวิต เฝ้ากังวลถึงสถานะของตน กระวนกระวายใจแม้อยู่เพียงลำพัง และพยายามจะมีชัยเหนือสภาวะที่ปล่าวเปลี่ยวและเดียวดายตลอดเวลา ทว่าจะมีผลการวิเคราะห์เช่นใดสำหรับความกระวนกระวายนี้ ที่มาร์เซลเรียกว่า "ความทุกข์แห่งการจากลาการมีอยู่"

ความรู้สึก"มุ่งสู่ภพที่จะมีภายหลังจากโลกปัจจุบัน" เราสามารถวิเคราะห์ความรู้สึกดังกล่าวได้สองมุมมอง
1. ความหวังและความกระวนกระวายของมนุษย์บ่งชี้ถึงความไร้แก่นสารของการมีอยู่และชีวิตปัจจุบัน.

2. ความทุกข์แห่งการจากลาการมีอยู่ คือสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบและกลไกอันเป็นนิรันดร์ ซึ่งความทุกข์จะไม่เป็นกฏของชีวิตภายในระบบนี้อีกต่อไป และความตายก็หามีอิทธิพลต่อระบบดังกล่าวไม่.

เป็นที่แน่นอนว่าความรู้สึก"มุ่งสู่ภพที่จะมีภายหลังจากโลกปัจจุบัน"แสดงให้เห็นว่ามนุษย์คือนักเดินทางที่มีความกระวนกระวายใจ และวิตกกังวลต่อวิถีทางที่มุ่งสู่จุดหมายของตนเสมอ. ความกระวนกระวายใจนี้มีต้นกำเนิดจากเบื้องลึกของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่ในหนทางแห่งความผาสุก. และจุดนี้เองที่เราจะทราบถึงความสำคัญของศาสนาอย่างชัดเจน ท่านมัรฮูม ฟัยฏ์ กาชานี ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "พึงทราบว่าจุดประสงค์หลักของการแต่งตั้งศาสดาตลอดจนการประทานศาสนบัญญัติ (ชะรีอะฮ์) ก็เพื่อเปิดโอกาสให้โลกดุนยาได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือที่เหนือประสาทสัมผัส ( ฆ็อยบ์ ) , เชิญชวนและสนับสนุนให้มนุษย์มุ่งสู่พระผู้เป็นเจ้า , ควบคุมอารมณ์มนุษย์ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของสติปัญญา , แนะแนวชีวิตดุนยาสู่วิถีแห่งอาคิเราะฮ์ เพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากความชั่วช้าหันมาสู่ความผาสุกอันเป็นนิรันดร์. แต่หากมิได้เป็นดังที่กล่าวมา ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสดา (และศาสนบัญญัติ )เพื่อจุดประสงค์ที่จะมีวิถีการดำเนินชีวิตที่สามารถคงไว้ซึ่งสังคมมนุษย์หากไม่คำนึงถึงชีวิตที่เป็นนิรันดร์. เพราะจุดประสงค์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยหนทางอื่นๆ ( โดยไม่ต้องพึ่งพาศาสนาและศาสดา)

ด้วยพื้นฐานแห่งความจำเป็นต้องมีศาสนาและศาสนบัญญัตินับแต่อดีตกาลเพื่อก้าวสู่ความผาสุกอันเป็น นิรันดร์ของมนุษย์ นักปรัชญา และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชากะลามได้พิสูจน์ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องมีศาสนาและศาสดาด้วยกฎแห่ง "ฮิดายะฮ์อฺามมะฮ์" ( การชี้นำโดยรวม )และ "ลุฏฟ์" ( ความเมตตา )ของพระองค์.

เราจะมาร่วมกันพิจารณาถึงความจำเป็นต้องมีศาสนาและศาสดาจากทั้งสองกฏและสองมุมมองที่แตกต่าง

ความจำเป็นต้องมีศาสนาและศาสดาจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญวิชากะลาม (กฏลุฏฟ์ ) วิชากะลามเป็นศาสตร์สำคัญแขนงหนึ่งจากขุมวิชาการอิสลามอันกว้างไกล วิชาดังกล่าวมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นักวิชาการกะลามมีหน้าที่อรรถาธิบายความเชื่อทางศาสนาและพิทักษ์ความเชื่อดังกล่าวเมื่อต้องเผชิญกับข้อสงสัยและข้อโต้แย้งต่างๆจากผู้ที่มีความเชื่อที่แตกต่าง . ในบางครั้งข้อสงสัยและข้อโต้แย้งเกิดขึ้นนอกอาณาเขตความเชื่อของมุสลิม เช่นผู้นับถือแนวความเชื่ออื่นต้องการจะหักล้างความเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า หรือเอกานุภาพ ( เตาฮีด ) ของพระองค์อันเป็นความเชื่อของมวลมุสลิมทุกมัซฮับ ในสถานการณ์เช่นนี้นักวิชาการกะลามทั้งหมดจะร่วมกันปกป้องความเชื่อของตนโดยพร้อมเพรียง แต่บางครั้งข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งเกิดขึ้นภายในโลกอิสลามเนื่องจากมุสลิมบางกลุ่มต้องการหักล้างความเชื่อของมุสลิมกลุ่มอื่นๆที่มีความเชื่อต่างจากตน สภาวะเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดแนวคิดทางวิชากะลามมากมาย

ในจุดนี้เราขอนำเสนอเหตุผลที่กลั่นกรองจากความคิดของนักวิชาการกะลามอิมามียะฮ์ผู้มีชื่อเสียง "ซัยยิด มุรตะฏอ" เพื่อแสดงถึงความจำเป็นต้องมีศาสนาในมุมมองของนักวิชาการกะลาม

มนุษย์สามารถเข้าใจและแยกแยะผิดชอบชั่วดีในบางสิ่งได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคำสอนทางศาสนาจากพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด เราสามารถรับรู้ความดีของความยุติธรรม , ความสัจจริง , ความซื่อสัตย์ และสามารถรับรู้ความชั่วร้ายของการกดขี่และการล่วงละเมิดสิทธิผู้อื่นได้โดยปราศจากการชี้นำของ ศาสนบัญญัติ

มนุษย์มิเพียงแต่จะทราบถึงความดีงามของความยุติธรรมหรือการขอบคุณผู้มีบุญคุณเท่านั้น หากแต่รู้สึกถึงแรงจูงใจให้ยึดปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน หรืออีกนัยหนื่ง สติปัญญามนุษย์ไม่เพียงแต่จะทราบถึงความดีงามของความยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ทราบอีกเช่นกันว่ามนุษย์มีหน้าที่ต้องกระทำตามหลักความยุติธรรม โดยบรรดานักวิชาการกะลามได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด

การเน้นย้ำถึงบทบาทอันสำคัญของสติปัญญาในการรู้จักผิดชอบชั่วดี ตลอดจนรับรู้หน้าที่ต่างๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงฐานะอันสูงส่งของสติปัญญาที่มีต่อชีวิตมนุษย์ บางริวายะฮ์ได้เปรียบสติปัญญาเป็น " ศาสดาภายในตัวมนุษย์"

แต่กระนั้นก็ตาม การยกย่องเหล่านี้ต้องไม่ทำให้เราหยุดคำนึงถึงขอบเขตและข้อจำกัดของสติปัญญา เพราะ การพิจารณาถึงขอบเขตของสติปัญญาเป็นรากฐานหลักของเหตุผลทางวิชากะลามเพื่อพิสูจน์ความจำเป็นต้องมีศาสนาและศาสดา ( ที่ถูกแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า)

ข้อจำกัดบางประการของสติปัญญา 1- แม้สติปัญญาจะสามารถรับรู้ผิดชอบชั่วดีในเชิงหลักการโดยรวมก็ตาม ทว่าไม่สามารถชี้ชัดในทำนองเดียวกันนี้ในกรณีของการกระทำปลีกย่อยต่างๆได้เลย ( ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมาก) สติปัญญามักจะผิดพลาดในการวินิจฉัยสถานะของสิ่งปลีกย่อยเสมอ สติปัญญาของมนุษย์สามารถรับรู้ความดีของการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนหน้าที่ของเขาที่จะต้องขอบคุณพระองค์ ทว่าไม่สามารถจะทราบได้เลยว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า สติปัญญาอาจจะทราบถึงความจำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพสิทธิของผู้อื่น แต่ไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะถือเป็นการเคารพสิทธิผู้อื่น ซ้ำยังไม่ทราบอีกด้วยว่าอะไรคือสิทธิของผู้อื่นบ้างที่ตนจะต้องเคารพ ?

2- แน่นอนว่าการรับรู้ผิดชอบชั่วดีโดยสติปัญญามีจุดประสงค์เพื่อให้มนุษย์ยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติสิ่งที่ดีและหลีกห่างสิ่งที่ไม่ดี ทั้งนี้ก็เพื่อประคองตนสู่ความผาสุกและความสมบูรณ์แบบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับรู้ถึงความดีและการรู้จักหน้าที่ๆตนพึงปฏิบัติไม่สามารถผลักดันให้มนุษย์นำสู่การปฏิบัติได้โดยด้วยตัวของมันเอง และการรับรู้ถึงความชั่วและหน้าที่ๆพึงหลีกห่างก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งมนุษย์ไม่ให้ปฏิบัติสิ่งดังกล่าวได้ด้วยตัวของมันเอง เหตุเพราะการกระทำที่มนุษย์สามารถเลือกปฏิบัติได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมนุษย์โดยตรงนอกเหนือจากการรับรู้ชั่วดีและหน้าที่ต่างๆโดยสติปัญญา และระบบการตัดสินใจของมนุษย์ก็มักจะได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และความรู้สึกของเขาเสมอ ดังที่จะเห็นได้ทั่วไปเช่น บางคนทราบดีว่าการรับประทานอาหารของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติเป็นสิ่งไม่ดี แต่ด้วยความหิวกระหาย เขากลับปล่อยให้ความต้องการของตนกุมบังเหียนการตัดสินใจแทนที่สติปัญญา.

บทบาทสำคัญของอารมณ์และความความรู้สึกที่อ่อนใหวของมนุษย์เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "การควบคุมตนเองให้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบและชัยชนะสูงสุดมิได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาเพียงอย่างเดียว" ฉนั้นจึงต้องคิดหาวิธีการแปรสภาพความรู้สึกและอารมณ์มนุษย์ให้เป็นพาหนะของเขา โดยที่ไม่เป็นตัวสกัดกั้นการกระทำที่ดี ( อมั้ลศอลิฮ์ ) ที่ถูกรับรองโดยสติปัญญาอีกต่อไป





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี