เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนและอุทาหรณ์แห่งอาชูรอ ตอนที่ 4 หัวข้อ หัวใจแห่งอาชูรอ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนและอุทาหรณ์แห่งอาชูรอ ตอนที่ 4 หัวข้อ หัวใจแห่งอาชูรอ

 

 " จงอย่าอิงแอบต่อบรรดาผู้ที่อธรรม เพราะไฟนรกจะประสบกับพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะไม่มีผู้คุ้มครองดูแลใดที่นอกเหนือจากอัลลอฮ์ และแล้วพวกเจ้าก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ"
                           ซูเราะห์ฮูด : 113

"ใครก็ตามที่ได้เห็นผู้ปกครองที่อธรรม ได้อนุมัติในสิ่งที่อัลลอฮ์ห้ามปราม  อีกทั้งยังละเมิดฝ่าฝืนสัญญาต่างๆของพระองค์ ต่อต้านคัดค้านแบบฉบับของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์  ได้ละเมิดและแสดงความเป็นศัตรูกับบรรดาปวงบ่าว โดยที่เขาไม่เปลี่ยนแปลงด้วยกับการกระทำและคำพูด ย่อมเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ที่จะนำเขาไปสู่ไฟนรก "

 
     คำกล่าวด้านบน คือวัจนะของท่านศาสดาที่อิมามฮุเซนได้กล่าวกับประชาชาติอิสลามเมื่อเดินทางมาถึงที่พำนักบัยเฎาะฮ์ก่อนเข้าสู่ผืนแผ่นดินกัรบาลา เป็นคำกล่าวที่มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายอุดมการณ์ของการมาในครั้งนี้ รวมถึงเป้าประสงค์ในการลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ปกครองที่อธรรม และการต่อสู้กับผู้ปกครองที่อธรรมนี่เองคือหัวใจหลักของอาชูรอ ซึ่งความยุติธรรมเป็นเรื่องที่เป็นสากล คือหนึ่งในนามธรรมที่เพียงแค่เอ่ยออกมาก็สามารถเข้าใจได้  
   

        ที่ยกคำกล่าวข้างต้นมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าประสงค์จากคำสอนในศาสนา ทั้งในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและจากคำสอนของท่านศาสดาที่มุ่งเน้นในเรื่องของการผดุงความยุติธรรม และต่อสู้กับสิ่งที่อยุติธรรม โดยความหมายของคำที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้คือ "อัดด์"หมายถึงความยุติธรรมและคำว่า"ซุลม์"คำตรงข้ามของมันที่หมายถึงการกดขี่,การละเมิด และความอธรรม นิยามของคำว่ายุติธรรมที่อิมามอะลีได้กล่าวไว้คือการวางสิ่งๆหนึ่งไว้ในที่ของมัน นั่นคือความยุติธรรม แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกนอกขอบเขตของมัน,เกินเลยจากขอบเขตของมัน นั่นคือความอยุติธรรม ซึ่งการกดขี่ข่มเหงต่อผู้อื่นก็คือหนึ่งในความอยุติธรรม

 
    
       ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หากเราต้องการค้นหาว่าคำใดคือคำที่แสดงออกถึงความชั่วร้ายมากที่สุด นั่นก็คือคำว่า ชะริก (การตั้งภาคี - การเชื่อในสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ - การนำเอาสิ่งอื่นขึ้นมาเทียบเคียงพระองค์ ) บาปใดก็ตามที่มีการละเมิดพระองค์จะทรงให้อภัยแต่บาปที่พระองค์จะไม่ให้อภัยเลยก็คือการตั้งภาคี แต่ในประเด็นของการตั้งภาคีพระองค์ทรงได้ตรัสว่า "จงอย่าตั้งภาคีกับพระองค์เพราะการตั้งภาคีนั้นคือซุลม์ที่ยิ่งใหญ่" แม้ว่าการตั้งภาคีจะเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุด แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์ดูจากด้านในของมันแล้ว  มันคือการละเมิดและเป็นการกดขี่ข่มเหงตนเองอย่างที่สุด เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการตั้งภาคี ก็คือการตัดขาดจากความเมตตาของพระองค์ อีกทั้งยังเป็นบาปที่มิได้ รับการอภัยโทษ ฉะนั้นผลลัพธ์ของมันก็คือการกดขี่ข่มเหงตนเอง หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การตั้งภาคีก็คือการ"ซุลม์"ต่อตนเอง มันจึงเลวร้ายยิ่งกว่าการตั้งภาคีเสียอีก นอกจากนี้ในในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึง หนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่พระเจ้าได้ส่งบรรดาศาสนทูตมาก็เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในซูเราะห์หะดีดโองการที่25 พระองค์ทรงตรัสว่า "แท้จริงเราได้ส่งบรรดาศาสนทูตของเรามา ด้วยกับหลักฐานอันชัดแจ้งและเราได้ประทานคัมภีร์และตาชั่งมาพร้อมกับพวกเขา ก็เพื่อให้พวกเขาผดุงความยุติธรรมในหมู่ประชาชาติ" ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยิ่งเป็นการกระจ่างว่าคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอ่านให้ความสำคัญกับความยุติธรรม ซึ่งคำสอนเหล่านี้ล้วนเป็นแบบอย่างที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอดของบรรดาศาสนทูตและบรรดาอิมาม

 
    
       ดังนั้นพื้นฐานที่สำคัญของเราคือการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงในทุกรูปแบบ เหตุการณ์ในกัรบาลาคือการสอนให้เราไม่ก้มหัวให้กับผู้ปกครองที่อธรรม ด้วยกับจุดยืนที่ท่านอิมามฮุเซนได้กล่าวอย่างชัดว่า"การใช้ชีวิตร่วมกับผู้กดขี่ข่มเหงนั้นคือความอัปยศ" เพราะเป้าหมายหลักของอัลลอฮ์ในการส่งศาสนฑูตมาก็คือเพื่อผดุงความยุติธรรม หากสังคมใดเกิดความอยุติธรรม เกิดการกดขี่ข่มเหงขึ้น หน้าที่สำคัญของเหล่าผู้ศรัทธาก็คือการออกมาต่อต้าน และหากจะวัดว่าใครคือผู้ปกครองที่อธรรม  มันเป็นคำตอบที่สามารถเข้าถึงและสัมผัสได้โดยง่ายอยู่แล้ว  ส่วนคำตอบที่ผูกอยู่กับคำสอนทางศาสนา ผู้ปกครองที่อธรรมก็คือผู้ที่ละเมิดสิทธิ์  ทำสิ่งที่ฮารอมให้กลายเป็นฮาลาล ผู้ที่มิได้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่บนบรรทัดฐานของศาสนา อีกทั้งต่อต้านและคัดค้านแบบฉบับซุนนะฮ์ของท่านศาสดา

   
         
      ศาสนาอิสลามมิได้จำกัดอยู่ในเรื่องของปัจเจก ที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคมและมิติในด้านการเมืองการปกครอง เป็นศาสนาที่มีกฎหมายที่ละเอียดอ่อนที่สุดและครอบคลุมในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต อาจกล่าวได้ว่ามีรายละเอียดมากมายตั้งแต่การใช้ชีวิตในบ้านไปจนถึงเรื่องสังคม , การเมืองและการปกครอง  มีปรัชญาการเมืองที่สำคัญก็คือการผดุงความยุติธรรมและการต่อต้านการกดขี่ ข่มเหงในทุกรูปแบบ

เมื่อสังคมมีความอธรรมเกิดขึ้น อิสลามมิได้สอนให้เราหยุดนิ่งหรือละเลย แต่สอนให้เราออกมาต่อต้าน เช่นเดียวกับบรรดาอิมามที่เป็นแบบอย่างในเรื่องการต่อสู้กับการกดขี่และความอธรรม แม้จะมีบริบทและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย แต่ไม่เคยมีอิมามท่านใดเซ็นรับรองหรือเป็นตราประทับให้กับผู้ปกครองที่อธรรม แม้กระทั่งในยุคอิมามริฎอที่อยู่ใกล้ชิดกับราชบัลลังก์ของราชวงศ์อับบาสิดมากที่สุดในตำแหน่งรัชทายาท  แต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นตำแหน่งที่อิมามต้องรับด้วยกับการถูกกดดันและบีบคั้นจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งรัชทายาทท่านอิมามประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ขอเข้าไปมีส่วนในการแต่งตั้งหรือปลดเจ้าเมืองคนใด จะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือแม้จะถูกกดดันและบีบคั้นให้รับตำแหน่งแต่ก็ไม่ได้เป็นตราประทับให้กับผู้ปกครองที่อธรรม
 

   หรือแม้แต่ในช่วงที่บรรดาอิมามตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พวกท่านยังมีการแสดงออกถึงการต่อสู้และการต่อต้านผู้ปกครองที่อธรรม เช่นภายหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่กัรบาลา บรรดาเชลยถูกพาไปยังเมืองชาม ณ.ที่นั่นอิมามซัยนุลอาบิดีนได้ยืนอยู่ต่อหน้ายะซีดและกล่าวแสดงวาจาที่แสดงออกถึงการไม่ก้มหัวให้กับผู้ปกครองแบบยะซีดอย่างกล้าหาญและชัดแจ้งในที่สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนของท่านศาสดาที่เคยกล่าวไว้ว่า"การต่อสู้(ญิฮาด)ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือการกล่าวคำสัตย์จริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม"

        ในท้ายที่สุดจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามคำสั่งเสียของท่านอิมามอะลีที่มีต่อบุตรชายทั้งสองของท่านซึ่งก็คืออิมามหะซันและอิมามฮุเซนก็คือ "เจ้าทั้งสองจงเป็นศัตรูกับผู้กดขี่ข่มเหงและจงเป็นผู้ช่วยเหลือต่อเหล่าบรรดาผู้คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง"  เมื่อคำสอนของศาสนาระบุไว้ชัดว่าเมื่อใดก็ตามที่ปรากฎว่าในสังคมเกิดผู้ปกครองที่มิได้อยู่บนพื้นฐานครรลองของศาสนา การลุกขึ้นต่อต้านถือเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาทุกคน หากแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อม หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้น การนิ่งเฉยก็มิใช่คำตอบและแนวทางที่ศาสนาได้สอนไว้  หากเราเข้าใจถึงเรื่องราวในอาชูรอ การต่อสู้มิได้มาเพียงในรูปแบบของการจับอาวุธเข้าทำสงครามแต่เพียงเท่านั้น แต่การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการยืนหยัดอยู่ตรงข้ามกับความอยุติธรรมต่างหากคือหัวใจที่สำคัญ...

มัจลิสค่ำคืนที่ 4 มุฮัรรอม ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 1443

ฮูซัยนียะฮ์ซัยยิดุชชุฮะดาอ์

 บรรยายโดย เชคกอซิม อัสการี

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม