บทเรียนและอุทาหรณ์แห่งอาชูรอ ตอนที่ 6 หัวข้อ มอง"ดีน"และ"ดุนยา"ผ่านอาชูรอ

บทเรียนและอุทาหรณ์แห่งอาชูรอ ตอนที่ 6 หัวข้อ มอง"ดีน"และ"ดุนยา"ผ่านอาชูรอ

 

"มนุษย์คือทาสของดุนยา ส่วนศาสนานั้นติดอยู่แค่เพียงปลายลิ้นของพวกเขา พวกเขาอยู่กับศาสนาตราบที่การดำเนินชีวิตของเขาได้รับประโยชน์จากมัน แต่เมื่อใดที่พวกเขาถูกทดสอบ เมื่อนั้นผู้ที่อยู่กับศาสนานั้นจะเหลือเพียงน้อยนิด”
        --หนึ่งในวาทกรรมของท่านอิมามฮุเซน--

    ในศาสตร์ด้านเทววิทยา"ดีน"(ศาสนา)กับ"ดุนยา"(การใช้ชีวิตในโลกนี้) เป็นหัวข้อที่มีนักวิชาการนำมาถกเถียงกันอย่างมากว่า ระหว่างดีนกับดุนยา สามารถสัมพันธ์และมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่  ความหมายของดีนคือระบบที่มีความเชื่อความศรัทธา  มีหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักศรัทธา  มีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือความเชื่อ , การปฏิบัติ จริยธรรมและศีลธรรม  ส่วนดุนยาเป็นคำที่ชาวมุสลิมคุ้นเคยเป็นอย่างดีแต่ไม่ง่ายสำหรับการให้นิยาม  เป็นคำที่หมายถึงสรรพสิ่งที่อยู่ภายนอก เช่นโลก จักรวาล ดวงดาว ภูเขา ต้นไม้ ทะเล ป่า ทรัพย์สินเงินทอง  ยศฐาบรรดาศักดิ์ รวมไปถึงรูปแบบในการดำเนินชีวิตในสังคม  ดุนยาให้ความหมายในทางลบก็ต่อเมื่อเราไปยึดติดอยู่กับมัน  เพราะแท้จริงแล้วดุนยาคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา สิ่งที่ถูกสร้างเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายไปในทางลบ แต่จะมีความหมายในทางลบก็ต่อเมื่อลุ่มหลงและหลงใหลต่อมัน  ซึ่งแท้จริงแล้วดุนยาในความหมายของศาสนาคือทางผ่าน เป็นที่พำนักชั่วคราว  มิใช่สิ่งที่จะอยู่กับเราไปชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป้าหมายหลักอยู่ที่อาคิเราะฮ์  คำถามคือแล้วถ้าเรามีดีน เราต้องละทิ้งดุนยาด้วยหรือไม่?  

 
      คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่มุมมองที่เรามีต่อดีนและดุนยา ซึ่งตามทัศนะของศาสนา ดีนและดุนยาสามารถรวมเข้ากันได้ดังเช่นในหะดิษของท่านศาสดาที่กล่าวว่า "ดุนยาคือเรือกสวนไร่นาสำหรับอาคิเราะฮ์"  หมายถึงว่าสามารถเก็บเกี่ยวตักตวงเสบียงจากดุนยาเพื่อไปสู่อาคิเราะฮ์   ฉะนั้นดุนยาในความหมายนี้จึงมีมุมบวกอยู่ในตัวของมัน เป็นมุมบวกที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากมันเพื่อพาไปสู่อาคิเราะฮ์ การใช้ชีวิตอยู่ในโลกดุนยาคือการใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวตักตวงเอาความดีงามจากการดำรงชีพอยู่บนแนวทางของศาสนาเพื่อต่อยอดไปสู่ชีวิตนิรันดร์  กล่าวได้ว่าการก้าวผ่านจากดุนยาไปสู่อาคิเราะอ์ต้องใช้ดีนเป็นแนวทางเพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายอันสูงส่งนั่นเอง

      โดยส่วนใหญ่ดุนยามักถูกมองในด้านลบ เพราะผู้คนมักยึดติดและหลงใหลในชื่อเสียง  เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ และสิ่งปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มิใช่ค่านิยมที่แท้จริงตามหลักของศาสนา  ดุนยาเปรียบเสมือนสะพานที่พาเราข้ามจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง  ระหว่างทางเราอาจหลงใหลชื่นชมไปกับทิวทัศน์และความสวยงามของบรรยากาศสองข้างทาง โดยหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วเป้าหมายในการเดินทางที่แท้จริงคืออีกฝั่งฟากฝั่งหนึ่งของสะพาน และเราก็ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่บนสะพานนั้นได้ตลอดไป

 
        แท้จริงแล้วดุนยาเป็นแค่เพียงทางผ่าน มิใช่ที่พำนักที่ถาวร เป็นที่ๆใช้ตักตวงสิ่งดีงามเพื่อพาเราไปสู่อาคิเราะฮ์  พาเราไปสู่เป้าหมายอันสูงส่งโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมและค่านิยมอันแท้จริง แต่ดุนยาที่ถูกประณามคือให้ความหมายไปในทางที่ตัดขาดออกจากอาคิเราะอ์   เป็นดุนยาที่นำไปสู่สิ่งจอมปลอม เป็นดุนยาที่เป็นกับดักของชัยฏอนมารร้าย เป็นดุนยาที่ไม่สามารถต่อยอดไปสู่อาคิเราะฮ์ได้ ฉะนั้นด้วยความหมายนี้หากสัมผัสเพียงผิวเผินดุนยาจึงถูกมองว่าอยู่ตรงกันข้ามกับดีน ไม่สามารถเชื่อมโยงและสัมพันธ์ด้วยกันได้

      ในยุคสมัยของท่านอิมามฮุเซนที่มีทั้งผู้คนที่ยึดติดในดุนยา ที่หนักไปกว่านั้นพวกเขาได้กลายเป็นทาสของดุนยา เช่น "ชุเรห์" ผู้พิพากษาในเมืองกูฟะฮ์ที่เป็นยอมเป็นอุลามาอ์ราชสำนัก คอยรับใช้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ หรืออุมัร อิบนุซะอ์ แม่ทัพที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับท่านอิมามฮุเซนที่ถูกสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเรย์  กับอีกกลุ่มบุคคลหนึ่งที่มองว่าดุนยาเป็นเพียงทางผ่านและเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ถ้าจะมีชีวิตอยู่ก็ต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ  เบื้องหน้าของพวกเขาคือความตายแต่พวกเขามิได้หวาดหวั่นแต่อย่างใด ซึ่งขบวนการแห่งอาชูรอภาพที่ฉายชัดและโดดเด่นคือบรรดาสาวกของอิมาม ที่เลือกยืนอยู่เคียงข้างอิหม่ามจวบจนวินาทีสุดท้าย  พวกเขาเลือกดุนยาที่พาไปสู่อาคิเราะฮ์ ซึ่งก็คือดุนยาที่สอดคล้องกับดีน  ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่เป้าหมายอันสูงส่ง

       ในทุกยุคสมัยมีหลายเหตุการณ์หลายผู้คนที่ถูกทดสอบว่าพวกเขายืนอยู่ตรงจุดไหนเมื่อต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือก  หลังเหตุการณ์ในวันอาชูรอ หลายผู้คนที่ยืนอยู่กับอำนาจ เพียงเพราะหลงใหลไปกับทรัพย์สินเงินทองหาได้รับเกียรติยศที่แท้จริงไม่ หลายคนถูกตามสังหาร  ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างอัปยศท่ามกลางคำสาปแช่งของผู้คน  ข้อสอบในวันอาชูรอคือข้อสอบแห่งความตายอันมีเกียรติ เป็นข้อสอบที่ยากมากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถสอบผ่านไปได้

แต่บรรดาคณาจารย์เฉกเช่นอิมามฮุเซนและผู้ร่วมขบวนการคือผู้ที่สอนบทเรียนทั้งในภาคทฎษฎีและภาคปฏิบัติ และทำให้เห็นว่า หากเราเข้าใจดีนอย่างถ่องแท้ และมิได้หลงใหลไปกับดุนยาจนตกเป็นทาสของมัน  ไม่ว่าในช่วงชีวิตของเราจะพบเจอกับบททดสอบใดก็ตาม เราจะผ่านมันไปได้  แม้ข้อสอบมันจะยาก แต่ก็มิใช่ว่าเราจะทำไม่ได้......

มัจลิสค่ำคืนที่ 6 มุฮัรรอม ปีฮ.ศ.1443
ฮูซัยนียะฮ์ซัยยิดุชชุฮะดาอ์

บรรยายโดย เชคกอซิม อัสการี