ชะฟาอัตกับความกล้าในการกระทำบาป

بسم الله الرحمن الرحیم
นะซีฮัตออนไลน์โดย: คุณครูไซม่า ซาร์ยิด
หัวข้อ:: ชะฟาอัตกับความกล้าต่อบาป
ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ การชะฟาอัตคือ ต้นเหตุที่ทำให้กล้าทำบาปใช่หรือไม่?
คำตอบ  ต้องกล่าวว่า หนึ่ง คำสัญญาของการชะฟาอัตที่จะเป็นต้นเหตุให้คนกล้าทำบาปก็ต่อเมื่อมีการระบุไว้ชัดเจน(ว่าใครจะได้หรือว่าต้องได้อย่างแน่นอน) แต่หากการชะฟาอัตไม่ได้ถูกระบุไว้ชัดเจนว่าผู้กระทำผิดคนใดจะได้รับและได้รับตามเงื่อนไขใดย่อมไม่เป็นต้นเหตุให้คนกล้าทำบาปได้อย่างแน่นอน
สอง การชะฟาอัตนอกจากไม่นำไปสู่การทำบาปแล้วแต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำบาปน้อยลงด้วยเพราะหากผู้กระทำผิดรู้ว่ายังมีบางหนทางเหลืออยู่เช่นชะฟาอัต เขาก็จะมีความหวังต่อพระผู้เป็นเจ้าและไม่สิ้นหวังอีกต่อไปซึ่งการสิ้นหวังเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุด
สาม การชะฟาอัตไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีกฎเกณฑ์จนนำไปสู่การทำบาปของคนๆหนึ่งได้
สี่ ช่วงเวลาแห่งการเกิดชะฟาอัตยังไม่เป็นที่ชัดเจน วันแห่งการพิพากษาเทียบเท่าระยะเวลาถึงห้าหมื่นปีซึ่งในวันนั้นมีสถานที่ที่ต้องหยุดอีกมากมายและไม่ชัดเจนว่าการชะฟาอัตจะเกิดขึ้นในตอนไหนและเวลาใด อาจเป็นไปได้ว่าหลังจากที่มนุษย์ผ่านขั้นตอนมากมายและความลำบากที่ยากมากทั้งหมดการชะฟาอัตจึงจะเกิดขึ้น
ห้า หากการมีความหวังต่อชะฟาอัตแล้วทำให้ผู้กระทำผิดกล้าทำบาป การเตาบะฮ์และคำสัญญาของพระองค์ที่จะตอบรับการขออภัยโทษย่อมทำให้ผู้กระทำผิดกล้าทำบาปด้วยเช่นกัน และทำให้บุคคลที่มีความหวังแบบนี้เมื่อเตาบะฮ์แล้วก็กลับไปทำบาปมากยิ่งขั้นไปอีก

:: ผู้ให้ชะฟาอัต
เมื่อพิจารณาจากโองการกุรอานจะพบว่าบรรดาผู้ให้ชะฟาอัตในวันกิยามัตมีหลากหลาย และขอบเขตการให้ชะฟาอัตของพวกเขาก็มีความแตกต่างกัน เช่น บรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า บรรดามลาอิกะฮ์ บรรดาผู้ศรัทธา อัลกุรอาน การเตาบะฮ์ อะมัลที่ศอเละห์
ท่านศาสดา(ศ)ได้กล่าวว่า
«ثَلاثَهٌ یَشْفَعونَ إلی اللّهِ عَزَّ وَ جَلَّ، فَیُشَفَّعُونَ: الأنبیاءُ، ثُمَّ العُلَماءُ، ثُمَّ الشُهَداءُ
“มีอยู่สามกลุ่มที่พวกเขาจะให้ชะฟาอัต ณ.เอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.) ดังนั้นการชะฟาอัตของพวกเขาจะถูกยอมรับ มีบรรดาศาสดา นักวิชาการและบรรดาชะฮีด”
شیخ صدوق، الخصال، ج1، ص156.

:: ชะฟาอัตกุบรอ
ชะฟาอัตกุบรอในวันกิยามัตเป็นของท่านศาสดา(ศ) โองการกุรอานและริวายัตทั้งหลายได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ไว้ เช่น ซูเราะฮ์ฎุฮา/5 ว่า
وَلَسَوْفَ يُعْطِيكَ رَبُّكَ فَتَرْضَىٰ “และความแน่นอนพระเจ้าของเจ้าจะให้แก่เจ้าจนกว่าจะพอใจ”
แน่นอนว่าความพอใจของท่านศาสดา(ศ)ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องที่ทำให้ท่านได้รับการช่วยเหลือเท่านั้นแต่ท่านจะพอใจก็ต่อเมื่อชะฟาอัตของท่านที่ให้กับประชาชาติของท่านนั้นถูกตอบรับ
ท่านอิมามบาเก็ร(อ) รายงานต่อมาจากท่านอิมามอะลี(อ)และรายงานต่อมาอีกทีจากท่านศาสดา(ศ) ซึ่งท่านกล่าวว่า
«أَشْفَعُ لِأُمَّتِی حَتَّى یُنَادِی رَبِّی رَضِیتَ یا مُحَمَّدُ؟ فَأَقُولُ: رَبِّ رَضِیتُ؛
“ฉันจะยืนอยู่เพื่อให้ชะฟาอัตซึ่งฉันจะให้ชะฟาอัตแก่ผู้กระทำผิด มากถึงขั้นที่อัลลอฮ์จะตรัสกับฉันว่า “เจ้าพอใจแล้วหรือยังมุฮัมหมัด?” และฉันจะกล่าวว่า “ข้าพระองค์พอใจแล้ว”