วิญญาณของอิบาดะฮ์

วิญญาณของอิบาดะฮ์

มนุษย์นั้นมีองค์ประกอบอยู่ ๒ อย่างคือ สังขารกับวิญญาณ ซึ่งทั้งสองนั้นต้องการการเจริญเติบโตและการเจริญเติบโตต้องอาศัยอาหารเป็นหลัก หลักการแพทย์กล่าว อาหารที่ดีที่สุด คืออาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายในการสร้างพลังงานและกล้ามเนื้อเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ดังนั้นเมื่อสังขารต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตวิญญาณก็ต้องการด้วยเช่นกันซึ่งอาหารของวิญญาณคืออิบาดะฮฺ อิบาดะฮฺที่ดีที่สุด คืออิบาดะฮฺที่ให้ความอิ่มเอิบกับวิญญาณ มีการปฏิบัติด้วยความนอบน้อม และมีสมาธิมั่นคง การรับประทานอาหารมากมิได้เป็นประโยชน์กับร่างกาย สิ่งที่ร่างการต้องการคือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านญาบีร อันศอรีย์ว่า “แท้จริงแล้วศาสนาของอัลลอฮฺ มีความแข็งแรงมั่นคง แฝงเร้นด้วยปรัชญา ดังนั้นเจ้าจงรีบดำเนินไปพร้อมกับมัน ครั้นเมื่อวิญญาณของเจ้ายังไม่พร้อม จงอย่าบังคับตัวเองเพราะอิบาดะฮฺมันจะโกรธเจ้า” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๑ หน้า ๒๑๒)

อีกหะดีษหนึ่งท่านศาสดากล่าวว่า

“ช่างเป็นความผาสุกอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รักในอิบาดะฮฺและหวงแหนมัน”

(บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๑ หน้า ๒๑๒)
การรู้จักประมาณในอิบาดะฮฺ

เมื่อวิญญาณของอิบาดะฮฺถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา บุคคลนั้นควรรู้จักประมาณในการปฏิบัติ ดังที่เราพบว่า หนังสือหะดีษจำนวนมากมาย ได้รวบรวมหะดีษไว้ภายใต้หัวข้อว่า

“ความจำกัดในอิบาดะฮฺ” (อุศูลกาฟีย์เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๘๖ )

คนที่มีร่างกายสมบูรณ์ครบสามสิบสอง หมายถึงคนที่ร่างกายและอวัยวะทุกส่วนมีความเหมาะสมพอดิบพอดีกันไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป แต่ถ้ามีอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่สมบูรณ์หรือผิดปรกติธรรมชาติ จะเรียกว่าเป็นคนพิการ จิตวิญญาณก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีการฟูมฟักในลักษณะที่มีความเหมาะสม และสัมพันธ์กัน ได้มีข่าวมาถึงท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า

“มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ทอดทิ้งภรรยาและครอบครัวไปเพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า สิ่งนี้มิใช่แบบฉบับของฉัน เพราะฉันใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาและครอบครัวภายในบ้านหลังเดียวกัน และใครก็ตามที่มิได้ปฏิบัติเช่นนี้มิใช่พวกของฉัน” (อุศูลกาฟีย์ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๙๖)

ท่านอิมามศอดิก (อ.) ได้เล่าถึงประวัติของมุสลิมคนหนึ่งที่มีเพื่อนบ้านเป็น คริสต์เตียนต่อมาเพื่อนบ้านของเขาได้กลายเป็นมุสลิม และมุสลิมคนนี้เขาได้ปลุกเพื่อนบ้านทุกวัน พาไปมัสญิด และบอกให้ทำนมาซมุสตะฮับก่อนถึงเวลาศุบฮฺ และเมื่อนมาซศุบฮฺเสร็จ เขาก็จะบอกให้อ่านดุอาอฺจนกว่าตะวันจะขึ้น และเมื่อถึงเวลาซุฮฺริ ก็ให้อ่านอัล-กุรอาน ซึ่งตลอดทั้งวันเขามิได้ทำอย่างอื่นเลย นอกจากนมาซ อ่านอัล-กุรอานและดุอาอฺ

“เมื่อคริสเตียนที่เป็นมุสลิมใหม่กลับถึงบ้าน ได้เลิกเป็นมุสลิมและตั้งแต่บัดนั้นเขาไม่เดินผ่านมัสญิดอีกเลย” (ซีรีย์ ดัรซีรีย์ นะบะวีย์ หน้าที่ ๒๑๓)

แน่นอนการปฏิบัติอิบาดะฮฺ ที่ไม่รู้จักประมาณแบบเลยเถิด โดยเคร่งเครียดอยู่กับอิบาดะฮฺตลอดเวลา มิใช่แบบฉบับของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้มิได้สร้างผลดีให้กับอิสลามแม้แต่นิดเดียว นอกจากสร้างความเบื่อหน่าย และทำให้ผู้คนเหินห่างออกจากอิสลาม

ท่านชะฮีด มุรตะฎอ มุเฏาะฮฺฮะรีย์ เล่าว่า อัมริอาค์ มีบุตรชาย ๒ คน คนหนึ่ง เป็นคนดีมีอีมาน ส่วนอีกคนเป็นคนไม่ดี (ซึ่งต่อมาคนที่มีอีมานได้เป็นผู้สนับสนุนท่านอิมามอะลี (อ.) ส่วนอีกคนได้สนับสนุนมุอาวิยะฮฺ) ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับคนที่มีอีมานว่า “ฉันได้ยินว่าเจ้านั้นปฏิบัติอิบาดะฮฺตลอดทั้งคืน ส่วนตอนกลางวันถือ ศีลอด ใช่ไหม ตอบว่า ใช่ครับ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงกล่าวว่า การปฏิบัติเช่นนี้มิใช่แบบฉบับของฉัน” (เฏาะฮาเราะฮฺ รูหฺ หน้าที่ ๑๒๒)

ริวายะฮฺ ได้กล่าวว่า

“จิตวิญญาณของมนุษย์มีสองลักษณะคือยอมจำนนกับดื้อดึง” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๓๕๗) ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าจิตมีความสมัครใจ เราก็ควรใช้ประโยชน์ตรงนั้น แต่เมื่อจิตไม่พร้อมจงอย่าบีบบังคับ เพราะจะทำให้เตลิดหนีและมีความเกลียดชังในที่สุด

อิสลามได้แนะนำว่า จงแบ่งเวลาของท่านออกเป็น ๔ ส่วน สิ่งหนึ่งในสี่นั้น ควรเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนหาความสุข เพราะถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้จะเป็นเหตุทำให้มีความสุขกับการปฏิบัติ อมั้ลอื่น ๆ ต่อไป (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๑)

แต่การหาความสุขควรอยู่บนพื้นฐานของขนบธรรมเนียม โดยไม่เบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น ดังเช่น อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวของพวกยะฮูดีไว้ว่า ในวันหยุดพักผ่อนพวกเขาจะไปจับปลา และทำการล่วงละเมิดต่าง ๆ “ขอสาบานแท้จริงพวกเจ้ารู้ดีถึงผู้ล่วงละเมิดในหมู่พวกเจ้าในวันเสาร์ (มีบัญญัติห้ามมิให้จับปลา) ดังนั้นเราจึงสาปพวกเขาว่า พวกเจ้าจงกลายเป็นสิ่งที่มีแต่ความอัปยศเถิด” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๖)

ฉะนั้น การพักผ่อนหาความสุขเพื่อรักษาความสดชื่นในการปฏิบัติอิบบาดะฮฺ ถือว่าจำเป็นและเป็นหนึ่งในหลักการของการอิบาดะฮฺที่รู้จักประมาณ
การบริหารในอิบาดะฮฺ

การบริหารมิได้จำกัดอยู่ แต่ปัญหาของสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองเท่านั้น หากแต่ทว่ามันครอบคลุมไปถึงเรื่องอิบาดะฮฺด้วย สิ่งจำเป็นที่หลักการบริหารกล่าวไว้ เช่น การวางแผนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว, การจัดหาบุคคลที่เหมาะสมมาบริหาร การวางกฎเกณฑ์ และการควบคุม อิบาดะฮฺก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีหลักการและปฏิบัติไปตามนั้น เพื่อการเติบโตและสมบูรณ์

นมาซเป็นหนึ่งในการอิบาดะฮฺที่มีแผนงานระยะยาวโดยเริ่มจากตักบีรฺ เราะตุ้ลอิหฺรอม จนถึงสลามมีการกำหนดไว้อย่างแน่นอนถึงจำนวนระกะอัต รุกูอฺ สุญูด เวลาที่ปฏิบัติ และทิศทางที่ต้องหันหน้าไปสู่ขณะปฏิบัติ

แต่เฉพาะแผนงานเพียงอย่างเดียว ถือว่าไม่เพียงพอ เพราะเมื่อถึงขั้นตอนของการปฏิบัติ สิ่งที่จำเป็นคือ การเลือกเฟ้น อิมามผู้นำนมาซ การจัดระเบียบ การเชิญชวนประชาชนด้วยมารยาทที่ดีงามไปสู่มัสญิด รวมไปถึงการจัดเตรียมสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มาปฏิบัตินมาซเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมในฐานะที่เป็นสถานที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺ
อิบาดะฮฺเปรียบเสมือนร้านขายยาที่เปิด ๒๔ ชั่วโมง

ใครก็ตามที่มีความปรารถนาติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าเขาสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องจองเวลาล่วงหน้า และไม่ต้องการสื่อกลาง แม้ว่าบางทีอาจมีการกำหนดเวลาที่ตายตัวเอาไว้เฉพาะ เช่น ในตอนเช้าก่อนรุ่งอรุณ ตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินของวันศุกร์ หลังจากคุฎบะฮฺนมาซวันศุกร์ ขณะฝนตก ค่ำคืนก็อดรฺ และค่ำวันศุกร์ ช่วงเวลาเหล่านี้บ่งบอกถึงความประเสริฐของมัน แต่มิได้กำหนดดุอาอฺที่เฉพาะเจาะจงที่ต้องอ่านในช่วงนี้

อิบาดะฮฺนั้นเปรียบเสมือนยาที่ใช้บำบัดความหลงลืมและความพลั้งเผลอต่าง ๆ

อัล-กุรอาน กล่าวว่า

“เจ้าจงดำรงการมนาซเพื่อระลึกถึงข้าเถิด” (อัฎฎอฮา/๑๔)

อีกโองการกล่าวว่า

“การระลึกถึงอัลลอฮฺ ทำให้จิตใจสงบ” (อัรเราะดุ/๒๘)