อิบาดะฮ์ คือ ตัวการที่ทำให้เกิดความสงบ

 อิบาดะฮ์ คือ ตัวการที่ทำให้เกิดความสงบ

 

ท่านคงเคยพบเห็นบรรดาฏอฆูตผู้มีอำนาจ เศรษฐี นักปราชญ์ผู้รู้ และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว จิตใจของคนพวกนั้นเคยสงบกับใครบ้างไหม ตลอดจนสังคมตะวันตกในปัจจุบัน ดังที่เราได้เห็นกันอยู่ว่าพวกเขามีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดีกันเพื่อชีวิตของดุนยา ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมที่มีการดำรงอิบาดะฮฺและภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) จะสังเกตเห็นว่าบรรดาหมู่มวลมิตรของพระองค์ มีความสงบมั่นและไม่เคยตกใจหรือหวาดกลัวต่อสิ่งอื่นใดในยามที่ต้องเผชิญกับภยันตราย หรือยามที่อยู่ในภาวะคับขัน ดังเช่นตัวอย่างของท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) หลังจากที่ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศนาน ๑๕ ปี จึงได้เดินทางกลับมายังมาตุภูมิอีกครั้ง ขณะที่ท่านอยู่ในเครื่องบิน นักข่าวได้สัมภาษณ์ ท่านว่า “ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อได้กลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง” ตอบว่า “ฉันรู้สึกเฉย ๆ”

ขณะที่ชาวอิหร่านจำนวนหลายสิบล้านคนกำลังเป็นห่วงท่าน แต่ท่านอิมามกับรู้สึก เฉย ๆ มีแต่ความสงบนิ่ง และยังคงดำรงเศาะละตุ้ลลัยนฺ บนเครื่องบินเหมือนปรกติ ซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความสงบของท่านเป็นผลที่เกิดมาจากการระลึกและการปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างต่อเนื่อง

อีกเหตุการณ์หนึ่งบุตรชายของท่าน ซัยยิดอะหฺมัด เล่าว่า ขณะที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่กรุงปารีสได้มีนักข่าวจำนวนมากมายมาทำข่าวและขอสัมภาษณ์ท่านอิมาม (รฎ.) ขณะที่ท่านให้สัมภาษณ์อยู่นั้น ท่านได้หันมาหาฉัน และถามว่า อะหฺมัด ซุฮรฺแล้วหรือยัง ฉันตอบว่า ถึงแล้ว หลังจากนั้นท่านอิมามได้หยุดให้สัมภาษณ์ และลงจากเก้าอี้ทันที สร้างความมึนงงให้กับบรรดานักข่าวว่า เกิดอะไรขึ้น ฉันบอกพวกเขาว่า ไม่มีอะไรหรอก ท่านไปนมาซ (เพราะท่านอิมามจะนมาซตรงเวลา)

สิ่งที่ท่านอิมามปฏิบัตินั้นเป็นบทเรียนที่ได้มาจากท่านอิมามริฎอ (อ.) มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีพวกศอบิอีน (นามของพวกเขาปรากฏอยู่ในอัล-กุรอาน) ซึ่งเป็นกลุ่มนักปราชญ์ที่มีความจองหอง และดื้อรั้นที่สุด ทุกครั้งที่พวกเขาได้บริพาทกับท่านอิมาม (อ.) จะแสดงความอวดดี และไม่ยอมรับเหตุผล แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเขาจนด้วยเหตุผลและหมดปัญญาที่จะแก้ไขสถานการณ์ จึงกล่าวกับท่านอิมามว่า พวกเราขอยอมจำนน ซึ่งในขณะนั้นเสียงอะซานได้ดังขึ้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ออกจากห้องไป บรรดาสาวกของท่านต่างท้วงติงว่าทำไมไม่อยู่ต่อ พวกเขายอมจำนนท่านแล้ว ถ้าท่านอยู่ต่อ พวกเขาคงยอมรับอิสลามทั้งหมด ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า นมาซตรงเวลาสำคัญกว่าการบริพาท ถ้าพวกเขาจะยอมรับความจริงหลังจากนมาซก็ยอมรับได้ เมื่อพวกศอบิอีนได้เห็นความเคร่งครัด และความมั่นคงของท่านอิมามทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในการยอมรับอิสลามมากยิ่งขึ้น (บิฮะรุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๗๕)