ปรัชญาของอิบาดะฮ์ ในอัลกุรอาน

ปรัชญาของอิบาดะฮ์ ในอัลกุรอาน

 

ดังที่ทราบกันดีอีมาน (ความศรัทธา) คือพลังที่ดึงดูดมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติอิบาดะฮฺส่วนอิบาดะฮฺ คือผลสะท้อนและตัวอธิบายอีมานของผู้ศรัทธา หากจะเปรียบก็เหมือนกับต้นไม้ที่มีรากของมันคอยดูดซับน้ำและอาหารส่งไปเลี้ยงลำต้นและใบ ส่วนใบของมันคอยกรองแสง และความร้อนลำเลียงไปสู่ราก แน่นอนหากใครปฏิบัติอิบาดะฮฺมากกว่า ดีกว่า เขาจะรู้จักสิ่งที่เขาอิบาดะฮฺ (อัลลอฮฺ) มากยิ่งขึ้น

ปรัชญาของอิบาดะฮฺในอัล-กุรอาน

อัล-กุรอานกล่าวถึงปรัชญาในการระลึกถึงอัลลอฮฺว่า “จงดำรงนมาซเพื่อการระลึกถึงข้า” (ฎอฮา/๑๔) การระลึกถึงอัลลอฮฺทำให้เกิดความสงบแก่จิตใจ “การระลึกถึงอัลลอฮฺได้สร้างความสงบแก่จิตใจ” (อัรเราะดฺ/๒๘) ความสงบของจิตใจคือความสำเร็จในการกลับไปพบกับพระผู้อภิบาล “โอ้ดวงจิตที่สงบ จงกลับคืนสู่พระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด” (อัล-ฟัจรฺ/๒๗-๒๘)

บางโองการกล่าวว่า แท้จริงอิบาดะฮฺ คือ การขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า “จงนมัสการต่อพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงบันดาลเจ้ามา” (อันนิซาฮฺ/๑๗)

“ดังนั้นพวกเขาจงนมัสการพระผู้อภิบาลแห่งบ้านหลังนี้ (กะอฺบะฮฺ) พระผู้ซึ่งประทานอาหารแก่พวกเขาให้พ้นจากความหิวโหย และทรงประทานความปลอดภัยแก่พวกเขาให้ปราศจากความหวาดกลัว” (กุรอยชฺ/๓-๔)

บางโองการกล่าวถึงการอบรมของนมาซว่า “แท้จริงนมาซจะยับยั้งความอนาจารและสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (อัล-อังกะบูต/๔๕)

เป็นความจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัตินมาซทุกคนที่ต้องใส่ใจต่อกฎบัญญัติทั้งหลายของอิสลามเพื่อรักษานมาซและให้เป็นที่ยอมรับ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) การรักษากฎระเบียบให้มั่นคงเท่ากับเป็นการเตรียมพร้อมตัวเองให้ออกห่างจากกุนาฮฺความผิดบาปและสิ่งไม่ดีทั้งหลาย เหมือนกับคนสวมใส่เสื้อผ้าสีขาว โดยธรรมชาติแล้วเขาจะไม่นั่งลงบนพื้นสกปรกเด็ดขาด

อัล-กุรอานยังกล่าวแนะนำเกี่ยวกับนมาซอีกว่า “จงดำรงนมาซในสองช่วงของวัน (ศุบฮฺกับซุฮรฺ) และช่วงพลบค่ำ แท้จริงความดีทั้งหลายจะขจัดความเลวร้ายทั้งปวง” (ฮูด/๑๑๔)

ฉะนั้น แท้จริงแล้วจะพบว่า นมาซคือ การขออภัยโทษในความผิดบาปที่เป็นรูปธรรมซึ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งทรงเปิดโอกาส และให้ความหวังต่อผู้กระทำความผิดทั้งหลายว่า หากพวกเขาปรารถนาที่จะกลับตัวกลับใจ ก็จะดำรงนมาซและอิบาดะฮฺเถิด เพราะสิ่งนี้จะขจัดความชั่วร้ายและความผิดบาปให้พ้นไปจากพวกเขา