ผลสะท้อนและบะรอกัตของการนมัสการ

 ผลสะท้อนและบะรอกัตของการนมัสการ


๑. ความรู้สึกภาคภูมิใจ

อิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวพรรณนามะนาญาตไว้ว่า “โอ้ข้าแต่พระองค์เพียงพอแล้วและเป็นเกียรติยศสำหรับฉันที่ได้เป็นบ่าวของพระองค์” (บิฮารุ้ลอันวารเล่มที่ ๗๗ หน้าที่ ๔๐๒)

ยังจะมีเกียรติยศใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่บ่าวได้มีโอกาสสนทนากับพระผู้สร้างตนเอง พระองค์ทรงรับฟังคำพูดของมนุษย์และทรงตอบรับ

บนโลกมนุษย์ที่หาค่าไม่ได้ใบนี้ ถ้าหากมนุษย์ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนใหญ่คนโต หรือนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองมีเกียรติอย่างยิ่ง และจะไปนับประสาอะไรถ้าคู่สนทนาของเราเป็นอัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงอภิบาลสากลจักรวาล


๒.ความรู้สึกในพลัง

เด็ก ๆ นั้น ตราบเท่าที่ยังอยู่ในการดูแลของบิดา มารดา จะทำให้เขามีความรู้สึกว่าตนเองมีพลังและแข็งแรง แต่เมื่อใดก็ตาม ถ้าเขาอยู่คนเดียวตามลำพัง จะมีความรู้สึกหวาดกลัว และเกรงว่าอาจจะมีคนมากลั่นแกล้งและทำร้ายเขาได้ แต่ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์อยู่กับอัลลอฮฺ (ซบ.) ตลอดเวลาความรู้สึกตรงนี้จะไม่มี เพราะเขาได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระผู้ซึ่งทรงเดชานุภาพที่สุดในสากลจักรวาล และจะทำให้เขารู้สึกว่าตนนั้นมีพลังพอที่จะต่อต้านกับอำนาจต่าง ๆ ได้อย่างไม่เกรงกลัว


๓. ความรู้สึกในอำนาจ

อิสลามกล่าวว่า อำนาจนั้นเป็นของพระผู้เป็นเจ้าบรรดาอำนาจทั้งหลายล้วนมาจากพระองค์ เช่นเดียวกันกับพลังที่มาจากพระองค์ ดังนั้นอัล-กุรอานจึงได้กล่าวประณามคนที่ขออำนาจจากคนอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า “เจ้าปรารถนาอำนาจจากคนอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺหรือ” (อันนิซาอฺ/๑๓๙)

แน่นอนการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวซึ่งเป็นอำนาจที่ไร้ขอบเขตจำกัดย่อมทำให้เราพลอยมีอำนาจไปด้วย ดังเช่นคำว่า “อัลลอฮฺอักบัรฺ” จะให้พลังกับผู้กล่าวและมองดูว่าบรรดาผู้กดขี่ทั้งหลายและฏอฆูตไร้อำนาจลงทันที และเขากลายเป็นผู้มีอำนาจเมื่ออยู่ต่อหน้าพวกเขา

ดังนั้นเราจะเห็นว่า อัล-กุรอานได้สั่งสำทับกับเราว่า ในภาวะคับขันและประสบกับอุปสรรคปัญหาเจ้าจงดำรงนมาซ “เจ้าจงขอความช่วยเหลือด้วยความขันติ และนมาซ” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๕)

บรรดามวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) จะใช้นมาซเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสมอดังเช่นเหตุการณ์ในแผ่นดินกัรบะลา เมื่อตอนบายของวันที่ ๙ มุฮัรรอม กองทัพของยะซีดได้เคลื่อนพลมายังที่พักของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ท่านอิมามได้กล่าวกับพวกเขาว่า ขอให้เลื่อนเวลาสู้รบออกไปอีก ๑ คืน เพราะฉันรักและปรารถนาที่จะปฏิบัตินมาซ โดยเฉพาะคืนนี้ฉันต้องการทำอิบาดะฮฺจนถึงเช้า

บ่าวที่เป็นกัลยาณชนของอัลลอฮฺ (ซบ.) มิใช่นมาซที่เป็นวาญิบอย่างเดียวที่พวกเขารักและหวงแหน ทว่านมาซที่เป็นมุสตะฮับด้วยเช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนมาซมุสตะฮับนั้นเป็นเครื่องหมายของคนที่รักนมาซ เพราะในบางครั้งอาจเป็นไปได้ว่า คนที่ทำนมาซเนื่องจากมีความเกรงกลัวต่อการลงโทษแต่นมาซมุสตะฮับ มิใช่ความหวาดกลัวแต่เป็นความรักที่มีต่อพระองค์และนมาซ

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรักย่อมมีความปรารถนาที่จะพูดคุยและอยู่ใกล้ชิดกับคนรักของตนตลอดเวลา ไม่ยอมที่จะพรากจากกัน ฉะนั้นเป็นไปได้อย่างไรที่มุสลิมคนหนึ่งกล่าวอ้าวว่า ตนรักอัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างมากแต่ไม่มีอารมณ์ที่จะสนทนาด้วย

แน่นอนการที่เขาไม่ยอมนมาซหรือไม่เคยใส่ใจต่อนมาซนาฟิละฮฺเลยนั้น มิใช่ว่าเขาจะไม่มีเหตุผล ริวายะฮฺได้กล่าวว่าสาเหตุที่เขาเป็นเช่นนั้นเพราะ การกระทำความผิดบาปในตอนกลางวันมันได้กลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นมิให้เขาผู้นั้นได้มีโอกาสปฏิบัตินมาซ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๓ หน้าที่ ๑๒๒)

อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่ปฏิบัตินมาซนาฟิละฮฺเท่ากับเราไม่มีเกียรติ แล้วเราจะขอเกียรติจากพระองค์เพื่อการใด คนเราเมื่อรักความสะอาด ตัวเองต้องสะอาดด้วย

ริวายะฮฺ กล่าวว่า “นมาซนาฟิละฮฺ คือ สิ่งที่จะมาต่อเติมความบกพร่องของนมาซวาญิบ (ตับสีรฺอะฏีบุ้ลบัยยอน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๖๑)

ได้มีคนหนึ่งถามท่านอิมาม (อ.) ว่า “ขณะปฏิบัตินมาซ จิตใจของฉันไม่มีสมาธิเลย ฉันจึงไม่เคยได้รับบะระกัตของนมาซจะให้ฉันทำอย่างไรดี” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “ท่านจงทำนมาซนาฟิละฮฺซิ เพราะจะได้ช่วยต่อเติมความบกพร่องและส่วนที่ขาดหายไปของนมาซวาญิบ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้นมาซวาญิบถูกตอบรับอีกต่างหาก”

และด้วยกับบะระกัตของนมาซนาฟิละฮฺนี้เองบรรดามวลมิตรของพระผู้เป็นเจ้านอกจากจะเคร่งครัดต่อนมาซวาญิบแล้ว พวกเขายังให้ความกระตือรือร้นต่อนมาซนี้อย่างมาก อีกทั้งได้ออกห่างจากอุปสรรคนานาประการที่คอยรบกวนและแทรกแซงวิถีทางพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงส่งของพวกเขา อาทิเช่น รับประทานอาหารมาก , พูดมาก, นอนมาก, รับประทานสิ่งที่เป็นหะราม ทำในสิ่งไร้สาระที่เป็นเหตุให้ลุ่มหลงดุนยา และการกระทำอื่นที่เป็นเหตุทำให้เขาเบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติอิบาดะฮฺและนมาซ

อัล-กุรอานกล่าวว่า

“แท้จริงแล้ว (นมาซ) เป็นภารกิจที่หนักอึ้ง (สำหรับพวกกลับกลอก) ยกเว้นบรรดาพวกที่มีความอ่อนน้อม” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๕)


๔.ตัวการในการอบรม

แม้ว่านมาซจะเป็นความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณโดยมีเป้าหมายเพื่อการระลึกถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่อิสลามปรารถนาที่จะทำการอบรมจิตวิญญาณให้อยู่ในกรอบตามแบบฉบับของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงพบว่ามีการกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขมากมายเกี่ยวกับนมาซ อาทิเช่น ความถูกต้องของนมาซ เงื่อนไขที่ตอบรับ และเงื่อนไขที่สมบูรณ์

ส่วนร่างกายและเสื้อผ้าต้องสะอาดปราศจากการเปรอะเปื้อนนะญิส ต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ อ่านออกเสียงถูกต้อง เสื้อผ้าและสถานที่ต้องได้รับอนุญาต สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมิใช่จิตวิญญาณ

ขณะที่อิสลามได้กำหนดอิบาดะฮฺไว้บนเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อให้ประชาชาติเป็นผู้มีความสะอาดและดูแลรักษามัน ตลอดจนต้องเป็นผู้รักความเสรีภาพและพึงรักษาสิทธิของคนอื่น

อิสลามได้สอนว่า เงื่อนไขในการตอบรับนมาซคือ สำรวมจิตใจให้มีสมาธิมั่นคง การยอมรับอิมามผู้บริสุทธิ์ จ่ายคุมส์ และบริจาคซะกาตแก่คนยากจนที่มีสิทธิในซะกาซนั้น ส่วนการปฏิบัตินมาซให้ตรงเวลา ปฏิบัติในมัสญิดเป็นรูปญะมาอัต สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ฉีดน้ำหอม แปรงฟัน และรักษาระเบียบของแถวญะมาอัต เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่สมบูรณ์ของนมาซ ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงกฎเกณฑ์ จะพบว่าในความเป็นจริงแล้ว กฎเหล่านี้คือ แผนการในการอบรมมนุษย์ให้ไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

ขณะปฏิบัตินมาซ ท่านจะยืนหันหน้าไปทางไหนก็พบอัลลอฮฺ (ซบ.) ทั้งนั้น เพราะอัล-กุรอานยืนยันว่า “ไม่ว่าเจ้าจะหันหน้าไปทางไหนก็จะพบกับอัลลอฮฺ” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๑๑๕)

แต่เพื่อเป็นการประกาศต่อชาวโลกถึงความเป็นเอกภาพและการมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชาติอิสลามและการดำเนินชีวิตให้ไปในทางทิศเดียวกัน จึงกำหนดว่า มุสลิมทุกคนต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ อันเป็นสถานตั้งวิหารกะอฺบะฮฺ และทำไมต้องเป็นอัล-กะอฺบะฮฺด้วย

· เพราะกะอฺบะฮฺ คือ สถานที่แรกที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชาติประกอบอิบาดะฮฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า “บ้านหลังแรกที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อมวลมนุษย์ ได้แก่ อัล-กะอฺบะฮฺ เป็นบ้านที่จำเริญ” (อาลิอิมรอน/๑๖)

· ผู้ก่อตั้งกะอฺบะฮฺ และซ่อมแซม คือ บรรดาศาสดาทั้งหลาย ดังนั้น การหันหน้าไปทางกะอฺบะฮฺเท่ากับเป็นการร่วมมือและประสานใจกันทางมัซฮับ (ศาสนา) นับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

· กะอฺบะฮฺ คือ สัญลักษณ์ของความเป็นเสรีภาพและปลอดภัย เพราะในยุคแรกของอิสลามมุสลิมทำนมาซโดยหันหน้าไปทาง บัยตุ้ลมุก็อดดิส บรรดายะฮูดีและนัศรอนีต่างพากันพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามว่า พวกมุสลิมไม่มีกิบละฮฺเป็นของตัวเอง เวลาประกอบอิบาดะฮฺต้องหันหน้ามาทางกิบละฮฺของเรา ทำให้มองดูว่า บรรดามุสลิมไม่มีเสรีภาพเป็นของตนเอง อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงประทานโองการมาว่า “เจ้าจงผินหน้าไปทางมัสญิดุ้ลหะรอมเถิด และไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ ณ ที่ใดพวกเจ้าก็จงผินหน้าไปทางนั้น ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งแก่พวกเจ้า” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๑๕๐)

ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า กะอฺบะฮฺ คือสัญลักษณ์ของเสรีภาพและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นบทเรียนที่อยู่ในแผนของนมาซทั้งสิ้น


๕.การบำบัดจิต

ปัจจุบันจะพบว่าสถิติของคนเป็นโรคจิต มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างหน้าเป็นห่วง บรรดาจิตแพทย์ทั้งหลายต่างวิเคราะห์ ถึงสาเหตุและวิธีรักษา กระนั้นก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งมันได้เพราะจิตมนุษย์ฟุ้งซ่านตลอดเวลา สิ่งจำเป็นคือ การแสงหาวิธีการดับจิตและทำอย่างไรจึงจะสามารพควบคุมจิตได้ อิสลามจึงได้แนะนำ นมาซให้กับมนุษย์เพราะในความเป็นจริงแล้ว นมาซก็คือการนำจิตวิญญาณเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นการดับความฟุ้งซ่านและรักษาสัมมาสมาธิให้กับตน

ท่านอิมามซัยนุ้ลอาดีน (อ.) ได้กล่าวไว้ใน มะนาญาตซากิรฺ เกี่ยวกับจิตที่ฟุ้งซ่านที่พรรณนาถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) ว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าฯ ขอฟ้องต่อพระองค์ว่าจิตของข้าฯ ชอบทำตามอารมณ์และหนีความจริงเสมอ”

ความมหัศจรรย์ของบรรดาศาสดา (ศ็อลฯ) คือการแสดงภาระกิจที่เหนือธรรมชาติ โดยได้รับอนุญาตจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังนั้น การที่กล่าวว่า “การเคารพภักดีที่บริสุทธิ์ใจ คือพลังที่แข็งแรงซึ่งได้มาจากพระผู้อภิบาล” หมายถึง อำนาจที่มีอยู่เพื่อสรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นผลมาจากการเคารพภักดีที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

หะดีษกล่าวว่า“อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่า มนุษย์สามารถใกล้ชิดกับข้าได้ด้วยกับการปฏิบัติ อมั้ลที่เป็นมุสตะฮับ และนมาซนาฟิละฮฺต่าง ๆ และกลายเป็นที่รักของข้าในที่สุด และถ้าเขาไปถึงยังตำแหน่งดังกล่าว ข้าจะเป็น ตา เป็นหูเป็นลิ้น และเป็นแขนขาให้กับการเคลื่อนไหวของเขาจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเพื่อข้า” เหมือนกับตำแหน่งของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่อัล-กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงการนมาซของฉัน อิบาดะฮฺของฉัน ชีวิตของฉัน และความตายของฉัน ล้วนเพื่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก” (อัล-อินอาม/๑๖๒) “ในสภาพเช่นนี้เมื่อใดที่เขาดุอาอฺของเขา และเมื่อใดที่เขาเรียกร้องหรือวิงวอนข้าจะตอบรับเขา” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๒)