เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนและอุทาหรณ์แห่งอาชูรอ ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนและอุทาหรณ์แห่งอาชูรอ ตอนที่ 2

 

หัวข้อ " ไม่มีตรงกลางระหว่างฮักก์กับบาติล "


 มุฮัรรอม คือเดือนแห่งการสร้างความผูกพัน เป็นเดือนแห่งการทบทวนตัวเอง พร้อมกับเรียนรู้บทเรียนในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน บทเรียนและอุทาหรณ์ที่ได้จากเหตุการณ์ในแผ่นดินกัรบาลานั้นมีมากมายหลากหลาย อยู่ที่เราจะตักตวงนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ในบทก่อนหน้านี้เราได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า "เกียรติยศและความอัปยศ" ที่ให้เราเลือกว่าต้องดำเนินชีวิตไปในเส้นทางใด เปรียบเสมือนทางสองแพร่งที่กำหนดให้เราต้องเลือกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และด้วยเหตุที่เราต้องเลือก เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของความหมายของคำแต่ละคำที่เรานำมาใช้  ซึ่งในบทนี้เราจะมากล่าวถึงความหมายของคำว่า "ฮักก์"และ"บาติล"


          บรรดานักอักษรศาสตร์ภาษาอาหรับได้อธิบายความหมายของคำว่า"ฮักก์"ไว้ว่า "การตรงต่อความเป็นจริงและการสอดคล้องต่อความจริง" ส่วน"บาติล"คือคำที่ตรงข้ามกับคำว่าฮักก์ หมายถึงผลความเป็นโมฆะ ความไร้ประโยชน์และความไร้ผล ทั้งสองคำนี้เป็นคำที่มีความหมายบ่งชี้ไปถึงคำว่าสัจธรรมและการมดเท็จ ,ธรรมะกับอธรรม,ความจริงกับความเท็จ หรือความสัจจริงกับความโป้ปดมดเท็จ  มีหลายกรณีที่ความหมายของคำแต่ละคำถูกเข้าใจในมุมมองที่ต่างกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องเข้าใจความหมายของคำที่อยู่ตรงกันข้ามกับคำๆนั้นด้วย ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพและความกมายของคำแต่ละคำได้อย่างชัดเจน


        หากเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การสร้างสรรพสิ่งต่างๆบนโลกนี้ของพระผู้เป็นเจ้า    เราจะได้เห็นการปะทะและการเผชิญหน้ากันระหว่างฮักก์กับบาติลอยู่ตลอดระยะเวลาของห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา  ตั้งแต่การก่อกำเนิดขึ้นของมนุษยชาติ  ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกันระหว่างฮาบีนกับกอบิลบุตรของนบีอาดัม , ไม่ว่าเป็นนบีอิบรอฮีมกับนัมรูด , นบีมูซากับ ฟิรอูน(ฟาโรห์) , นบีอีซากับผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิโรมัน ,  ในยุคต้นของศาสนาอิสลามกับเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างท่านศาสดามุฮัมมัดกับพวกพ้องอบูซุฟยาน , ในยุคของท่านอิมามอะลีที่ต้องเผชิญหน้ากับมุอาวิยะฮ์ หรือแม้กระทั่งในยุคของท่านอิมามฮุเซนที่ต้องเผชิญหน้ากับยะซีด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มิใช่เป็นเพียงเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เท่านั้น แต่เรื่องราวระหว่างสัจธรรมและความอธรรม , ความสัจจริงกับความโป้ปดมดเท็จ เป็นหัวข้อที่ยังถูกกล่าวถึงทุกยุคทุกสมัย ปัจจุบันในสังคมที่เราดำรงชีวิตอยู่ก็ต้องพบเจอกับเรื่องราวที่เป็นสัจธรรมและความอธรรมอยู่เสมอ การเรียนรู้ความหมายของคำว่าฮักก์กับบาติล อย่างเข้าใจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะส่งผลต่อการตัดสินใจเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างสัจธรรมกับความอธรรม เพราะเราไม่สามารถยืนอยู่ตรงกลางระหว่าง สองสิ่งนี้ได้


          การจำแนกระหว่างฮักก์กับบาติล เป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปนัก สำหรับการที่จะเข้าใจและแยกแยะ แม้จะมีความสับสนและความคลุมเครืออยู่บ้าง แต่เราสามารถแยกระหว่างสองสิ่งนี้ได้โดยใช้บรรทัดฐานจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน การเลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งฮักก์หรือบาติลถือเป็นบททดสอบอย่างหนึ่งของมนุษย์จากพระผู้เป็นเจ้า  หากผู้ใดเข้าใจความหมายของมันอย่างลึกซึ้งเขาจะเข้าใจและสามารถเล็งเห็นได้ว่าแก่นแท้ของมันคืออะไร   หากผู้ใดไม่สามารถแยกแยะออก  เขาจะมองว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เป็นแก่นแท้เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์  ซึ่งแท้จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น   ดังเช่นเรื่องราวที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ยกเป็นอุทาหรณ์ในซูเราะฮ์อัรเราะดุ โองการที่17 ซึ่งเปรียบเปรยสัจธรรมกับความมดเท็จเหมือนดั่ง ฟองที่ลอยอยู่บนผิวน้ำกับน้ำที่อยู่ภายใต้ฟองนั้น  ในชั่วขณะแรกที่ได้เห็นก็คือฟอง แต่สิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริงคือน้ำที่อยู่ใต้ฟองนั้นต่างหาก  สิ่งที่ดับกระหายได้อย่างแท้จริงคือน้ำไม่ใช่ฟองที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ  หรือสิ่งที่ให้ชีวิตชีวากับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายได้นั้นก็คือน้ำซึ่งมิใช่ฟองที่ลอยอยู่บนผิวน้ำเนื่องจากว่าในบางครั้งฮักก์ก็ถูกปกปิดด้วยบาติล ความคลุมเครือและไม่ชัดเจนที่ครอบงำอยู่ทำให้เราไม่สามารถมองออกได้แค่การได้สัมผัสเพียงผิวเผิน แต่ก็มิใช่ว่าจะมีความคลุมเครือสับสนทุกครั้งไป   ตัวอย่างเช่นการเผชิญหน้ากันระหว่างอิมามฮุเซนกับยะซีดเชื่อได้ว่าเราทุกคนสามารถแยกออกได้อย่างง่ายดายว่าฝั่งไหนคือฮักก์และฝั่งไหนคือบาติล เพราะพฤติกรรมที่ทั้งสองฝั่งได้แสดงออกมาทำให้เห็นและแยกแยะได้อย่างไม่ยากนัก


            แต่ในบางสถานการณ์ฮักก์กับบาติล มิได้มาในรูปแบบของความขาวและความดำอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดความสับสนและคลุมเครือเกิดขึ้นในสังคม เช่นในยุคที่อิมามต้องเผชิญหน้ากับมุอาวิยะฮ์ ซึ่งมีการปฏิบัติตนแตกต่างจากยะซีด มุอาวิยะฮ์ไม่ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อคำสอนในศาสนาอิสลามอย่างชัดเจนแบบที่ยะซีดปฏิบัติ อีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ของตนต่อสังคมในรูปแบบของผู้ที่มีความศรัทธาต่อศาสนาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ทำให้การเปรียบเทียบและแยกแยะระหว่างสัจธรรมและความอธรรมของคนในสังคมขณะนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก  เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามญะมัล(อูฐ)


ในยุคที่ท่านอิมามอะลีเป็นคอลีฟะฮ์ผู้ปกครองอาณาจักรอิสลาม ที่กล่าวได้ว่าฮักก์และบาติลมีความยากต่อการจำแนกให้ออกของคนในสังคม เนื่องด้วยเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างอิมามอะลีกับท่านหญิงอาอีชะฮ์ผู้เป็นภรรยาของท่านศาสดา อีกทั้งมีฏอลหะฮ์และซุบัยร์สาวกของท่านศาสดาอยู่เคียงข้าง ดังนั้นหากบุคคลใดมิได้มีความเข้าใจถึงแก่นแท้และความหมายอย่างแท้จริง เมื่อฮักก์ถูกปกปิดบิดทับด้วยบาติลบุคคลที่มิได้เข้าใจความหมายอย่างแท้ก็จะติดกับดักและหลงกลอยู่กับตัวบุคคล โดยลืมการใช้มาตรวัดที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉะนั้นเมื่อมีสาวกคนหนึ่งได้ถามต่อท่านอิมามอะลีในภาวะสงครามว่า พวกท่านหญิงอาอิชะฮ์,ฏอลหะฮ์และซุบัยร์ตั้งอยู่บนความโป้ปดมดเท็จกระนั้นหรือ? ท่านอิมามจึงได้ตอบไปว่า:เจ้ากำลังสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น สัจธรรมและความมดเท็จมิอาจรู้จักได้ด้วยกับตัวบุคคล(บุคคลมิใช่มาตรวัด) ดังนั้นเจ้าต้องรู้จักสัจธรรมก่อนแล้วถึงจะรู้ว่าใครกันเล่าที่อยู่กับสัจธรรมและจงรู้จักสิ่งมดเท็จก่อนแล้วจะรู้ว่าใครกันเล่าเป็นผู้ที่นำพามันมา


        ฮักก์และบาติล จึงมิอาจรู้จักและแยกให้ออกได้ด้วยกับตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  หากเราต้องการรู้จักความหมายของฮักฮ์กับบาติลก็ต้องทำการค้นหาแก่นแท้ของสัจธรรมที่แท้จริงก่อน มิเช่นนั้นก็อาจจะถูกยึดติดไว้ด้วยกับข้อจำกัดของตัวบุคคล  มีผู้คนมากมายในประวัติศาสตร์ที่ถูกบททดสอบในการเลือกระหว่างฮักก์กับบาติล  มีทั้งคนที่เลือกอยู่ฝั่งฮักก์และคนที่เลือกอยู่ฝั่งบาติล  จากเหตุการณ์ในเดือนมุฮัรรอมและวันอาชูรอ บางคนเลือกที่จะเดินทางไปกับอิมามและอยู่เคียงข้าง ต่อสู้ร่วมกันจนวันสุดท้าย บางคนเลือกที่จะทอดทิ้งอิมาม จะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม  ทั้งๆที่ศาสนาสอนให้เราต้องเลือก เพราะเมื่อใดก็ตามที่สัจธรรมถูกละทิ้งและถูกลืมเลือน เมื่อใดก็ตามที่ฮักฮ์ไม่ถูกนำไปปฏิบัติใช้  เมื่อใดก็ตามที่การกระทำที่บาติลไม่มีใครห้ามปรามสังคมก็จะมีแต่ความชั่วร้าย


   จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะเรียนรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของฮักก์และบาติล รวมไปถึงการนำเอาบทเรียนและอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ นำมาศึกษาเหตุการณ์ที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับทำความเข้าใจและแยกแยะให้ออกระหว่างสองสิ่งนี้  ฮักก์และบาติลคือทางสองแพร่งที่เราทุกคนต้องเลือกว่าจะเดินไปในทิศทางใดและจะยืนอยู่ข้างใด เพราะไม่มีตรงกลางระหว่างหนทางนี้


มัจลิสค่ำคืนที่ 2 เดือนมุฮัรรอม  ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 1443
ฮูซัยนียะฮ์ซัยยิดุชชุฮาดาอ์
บรรยายโดย เชคกอซิม อัสการี

โปรดอ่านตอนต่อไป

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม