ความเป็นศูนย์กลางของนมาซ

ความเป็นศูนย์กลางของนมาซ

 

อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงบันดาลจักรวาลพร้อมทั้งกฎระเบียบมาคอยควบคุม ทรงประทานหลักคำสอน คำสนทนาธรรมที่ประเสริฐและสมบูรณ์ที่สุดมาให้ ทรงจัดโปรแกรมที่มีความเป็นระเบียบและสอดคล้องกับสภาพชีวิตของมนุษย์ เช่น พระองค์ได้สร้างน้ำนมให้กับมารดาซึ่งภายในน้ำนมนั้นประกอบด้วยวิตามิน และธาตุอาหารต่าง ๆ มากมายที่มีความสอดคล้องและเพียงพอสำหรับทารกโดยไม่ต้องพึ่งอาหารอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงโครงร่างและการสร้างมนุษย์จะพบว่าสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติจะถูกพบในตัวมนุษย์เช่นกัน

· ในธรรมชาตินั้นมีเสียงฟ้าร้อง ส่วนในมนุษย์มีเสียงร้องตะโกน

· ในธรรมชาตินั้นมีพืชและก้อนหิน ส่วนในมนุษย์มีต่อมและรูขุมขน

· ในธรรมชาตินั้นมีแม่น้ำลำคลอง ส่วนในมนุษย์มีเส้นเลือดต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็ก

· ในธรรมชาตินั้นมีน้ำทั้งหวานและเค็ม ส่วนในมนุษย์มีน้ำตาที่เค็ม ส่วนน้ำย่อยในปากนั้นหวาน

· ในธรรมชาติมีแร่ธาตุจำนวนมากมาย ส่วนในมนุษย์มีความสามารถและสติปัญญาซ่อนอยู่

นมาซเช่นกัน ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ทรงรวบรวมคุณค่าที่ดีงามทั้งหลายไว้ในนมาซ ด้วยเหตุนี้ยังมีความสมบูรณ์ใดอีกที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์แต่ไม่อาจพบได้ในนมาซ

การระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีค่าและเป็นวิธีการเดียวที่สามารถทำให้จิตเกิดสัมมาสติ ขณะที่นมาซคือการระลึกถึงพระองค์เราจึงกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ”

การระลึกถึงวันแห่งการตัดสิน จะทำให้เป็นผู้รู้จักและยับยั้งตนเองจากความผิดบาปทั้งหลาย ขณะที่นมาซคือ การรำลึกถึงวันแห่งการตัดสิน (เยามิดดีน)

การดำเนินชีวิตอยู่บนแนวทางของบรรดาศาสดา (อ.) ผู้พลีชีพในแนวทางอัลลอฮฺ และบรรดากัลยาณชน ถือเป็นแนวทางที่เที่ยงตรงและเป็นความสำเร็จของชีวิต ขณะที่นมาซเราวิงวอนต่อพระองค์ว่า “ขอทรงโปรดประทางแนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์โปรดปรานพวกเขาแก่เราเถิด”

บนวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์สิ่งที่เขาไม่ปรารถนา คือการกดขี่ การออกนอกลู่นอกทางไปจากแนวทางที่เที่ยงธรรม และการหลงทางไปจากความจริง ในนมาซนั้น สิ่งที่เราปรารถนา คือ “ขอพระองค์โปรดนำเราออกห่างจากกลุ่มชนที่ทรงโกรธกริ้วและหลงผิด”

ความยุติธรรมถือเป็นมงกุฎของความดีงามทั้งหลาย ขณะที่อิมามญะมาอัตนำนมาซต้องเป็นผู้มีความยุติธรรม

การปฏิบัตินมาซตามอิมามญะมาอัต ถือเป็นฐานรากที่มั่นคงของสังคม ที่มีประโยชน์มากกว่าความสันโดษ และการชอบปฏิบัติคนเดียว เพราะเป็นพื้นฐานให้กับการเลือกปฏิบัติตามผู้นำที่มีความยุติธรรม

การยืนหันหน้าไปทางกิบละฮฺเป็นการรำลึกถึงคุณค่าที่มีประโยชน์เป็นอนันต์ เพราะ มักกะฮฺคือสถานที่ทรมานท่านบิล้าล เป็นสถานที่เชือดพลีท่านศาสดาอิสมาอีลเป็นสถานที่ประสูติของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นสถานที่ปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮฺดี (อ.) เป็นสถานที่ทำการทดสอบท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และเป็นสถานที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺของบรรดาศาสดาทั้งหลายและบรรดามวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ

นมาซคือพลังที่ขับเคลื่อนคนในทุก ๆ ยามรุ่งอรุณ ตอนบ่ายและตอนค่ำและทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นการยืน การนั่ง และการเดินไปยังมัสญิด หรือสถานที่นมาซ ทั้งหมดเป็นการขยับเขยือนตัวเอง มิให้นิ่งและหยุดอยู่กับที่ ทว่ามนุษย์ต้องขวนขวายพยายามต่อสู้ เคลื่อนไหวตลอดเวลาโดยมีทิศาทางอยู่ที่อัลลอฮฺ (ซบ.)

นมาซเป็นการกระทำที่ทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์เกิดความอ่อนน้อม มีการตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณาเห็นจิตในจิต และเป็นการปลุกเร้าให้เกิดปัญญาญาณ อีกทั้งเป็นการปลดเปลื้องตนเองออกจากความหยิ่งยโสและการอวดดี เพราะทุก ๆ วัน มนุษย์จะนำอวัยวะส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายก้มกราบลงแนบกับดิน ขณะที่การสัจญะดะฮฺลงบนดินนั้นดีกว่าหิน เพราะอย่างน้อยสุดเป็นการเตือนสำทับมนุษย์ว่า เจ้ามาจากดินและเจ้าต้องกลับคืนสู่ดิน

ริวายะฮฺได้กล่าวว่าจงสัจญะดะฮฺลงบนดินที่สะอาด เพราะแนวทางของความสกปรกโสโครกไม่อาจกำเนิดแนวทางที่สะอาดได้

การร้องไห้เพราะความยำเกรงที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีค่า ขณะที่อัล-กุรอานกล่าวสรรเสริญการร้องไห้ในสัจญะดะฮฺ “และพวกเขาลงสัจญะดะฮฺและร่ำไห้” (ซูเราะฮฺมัรยัม/๕๘)

นมาซคือแนวทางของพระผู้เป็นเจ้าที่รับใช้มนุษย์ตั้งแต่กำเนิดจนถึงหลุมฝังศพ เพราะ ทารกเมื่อคลอดออกมาเป็นมุสตะฮับให้ทำการอะซานทางหูข้างขวาและทำอิกอมะฮฺทางหูข้างซ้าย เท่ากับเป็นการแนะนำนมาซแก่ทารกนั้น และเมื่อเขาอำลาจากโลกไป จงทำนมาซมัยยิตให้กับเขาก่อนจะนำร่างของเขาไปฝัง

ตลอดอายุไขต้องอยู่ร่วมกับอิบาดะฮฺและการภักดี อัล-กุรอานกล่าวว่า.. “ จงนมัสการพระผู้อภิบาลของเจ้า จนกว่าความมั่นใจจะประสบแก่เจ้า” (ซูเราะฮฺอัล-หิจรฺ/๙๙)
นมาซ เป็นความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะการรู้จักเวลานมาซทั้งนมาซศุบฮฺและนมาซซุฮรฺ ต้องพิจารณาที่ดวงอาทิตย์ การค้นหากิบละฮฺต้องอาศัยดวงดาว การทำนมาซมุสตะฮับในวันที่มีความสิริมงคล ตอ้งสังเกตการโคจรของดวงเดือน เมื่อต้องการทำวุฎู่และฆุสลฺ ตอ้งอาศัยน้ำ และเมื่อต้องการทำตะยัมมุมหรือสัจญะดะฮฺ ต้องมีดิน และยังจะมีพระเจ้าอื่นใดอีกหรือที่สามารถกำหนดการเคารพภักดีให้กับมนุษย์ได้ลงตัวไปกว่าอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร
วาญิบ (ข้อบังคับ) อื่นๆของศาสนาสามารถพบได้ในนมาซ

ผู้ปฏิบัตินมาซเหมือนกับคนถือศีลอดที่ไม่อาจรับประทานและดื่มได้

ผู้ปฏิบัตินมาซเหมือนกับคนประกอบพิธีหัจญ์ที่มีกะฮฺบะฮฺและกิบละฮฺเป็นศูนย์กลาง

ผู้ปฏิบัตินมาซเหมือนกับคนเดินทางไปญิฮาด (ต่อสู้บนแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า) ทว่าการญิฮาดที่ยิ่งใหญ่คือการต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง

นมาซคือ ตัวการสำคัญในการเชิญชวนสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว

การอพยพถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดทางศาสนา ขณะที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ปรารถนาที่จะทำนมาซ ท่านจึงยอมอพยพโดยนำเอาครอบครัวของท่านร่วมเดินทางไปยังมักกะฮฺด้วย อัล-กุรอานกล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของเราแท้จริงข้าฯ ให้ที่พำนักแก่ครอบครัวของข้าฯ ณ หุบเขาที่มีแต่ความแห้งแล้วปราศจากพืชพันธ์ใกล้กับบ้านของพระองค์ (บัยติลลาฮฺ) โอ้พระผู้อภิบาลของเรา เพื่อพวกเขาจะได้ดำรงนมาซ” (ซูเราะฮฺอิบรอฮีม/๓๗)

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มิได้กล่าวว่า เพื่อการประกอบพิธีหัจญ์ ฉันจึงยอมอพยพ แต่ท่านกล่าวว่า “เป้าหมายในการอพพยของฉันเพื่อการดำรงนมาซ” ฉะนั้น สิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้คืออัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานคุณค่า ของความดีทั้งหมดให้เป็นของนมาซ เพื่อนมาซและโดยนมาซ

ถ้าความสะอาดและเครื่องประดับถูกวัดว่าเป็นของมีค่า อิสลามแนะนำว่า “พวกเจ้าจงแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับของพวกเจ้าเมื่อไปมัสญิด” (ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ/๓๑)

ในความหมายหนึ่งของโองการคือ ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และประพรมน้ำหอม เมื่อไปมัสญิด ดังเช่นที่อิสลามได้แนะนำว่า สตรีควรสวมใส่เครื่องประดับของนาง ขณะปฏิบัตินมาซ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๐ หน้า ๑๘๘)

แม้กระทั่งเรื่องแปรงฟันได้ถูกแนะนำไว้เช่นกันว่า “ควรแปรงฟันก่อนนมาซ เพราะนมาซนั้นจะมีคุณค่ามากกว่านมาซที่ไม่ได้แปรงฟันถึง ๗๐ เท่า” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๓ หน้าที่ ๑๓๓)

ริวายะฮฺกล่าวอีกว่า “ก่อนไปมัสญิดไม่ควรรับประทานหัวหอมและกระเทียม”

(ริซาละตุ้ลอะหฺกามของท่านอิมามคัยนี (รฎ.) ข้อที่ ๙๑๕) เพราะว่ากลิ่นของมันจะสร้างความรำคาญและรบกวนผู้อื่น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ผู้คนเบื่อหน่ายมัสญิด

อย่างไรก็ตาม นมาซคือสัญลักษณ์ของอิสลาม ส่วนนมาซของเราบางครั้งก็ทำ บางครั้งก็ไม่ทำ บางครั้งทำแบบมีสมาธิ แต่หลายต่อหลายครั้งที่ปราศจากสมาธิและญะมาอะอฺหรือไม่ก็ทำขณะเวลานมาซเกือบจะหมด

มัสญิดซึ่งสมัยหนึ่งท่านศาสดาอิบรอฮีมอิสมาอีล และอิสหาก เคยเป็นผู้รับใช้ อัล-กุรอานกล่าวว่า “และเราได้สัญญาแก่อิบรอฮีม กับอิสมาอีลว่า เจ้าทั้งสองจงชำระบ้านของข้าให้สะอาดสำหรับผู้มาเวียน” (ซูเราะฮฺอัล-บะกอเราะฮฺ : ๑๒๕)

มารดาท่านหญิงมัรยัมได้นะซัร (บนกับอัลลอฮฺ) ว่าขอให้บุตรของท่านเป็นผู้รับใช้มัสญิดอัล-กุรอานกล่าวว่า “เมื่อภริยาของอิมรอนได้กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ ข้าฯขอบนต่อพระองค์ว่า บุตรที่อยู่ในครรภ์ของข้านี้ขอถวายกับพระองค์ ขอพระองค์โปรดรับจากข้าฯด้วย (ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน/๓๕)

แต่น่าเสียใจในสมัยนี้คนรับใช้มัสญิดนั้นส่วนมากเป็นคนว่างงาน หรือไม่ก็เป็นคนแก่ คนไม่สบาย คนจน คนไร้การศึกษา และเป็นคนไม่มีมารยาท เป็นเพราะเหตุใดหรือที่ผู้คนไม่ค่อยใส่ใจต่อมัสญิด ขณะที่หะดีษกล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ มีสามสิ่งที่จะทำการร้องเรียนมนุษย์ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้รู้ที่ประชาชนไม่ยอมใช้ประโยชน์จากเขา อัล-กุรอานที่ถูกเก็บรักษาไว้ตามบ้านเรือนแต่ไม่ถูกนำออกมาอ่าน และมัสญิดที่ผู้คนไม่ให้ความสนใจ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๐)