การมีเนียตบริสุทธิ์ในนมาซ

การมีเนียตบริสุทธิ์ในนมาซ

 

หมวดที่ ๒ เนียตบริสุทธิ์


เนียต
เนียต หมายถึง การตั้งใจหรือตั้งเจตนา และรู้ตลอดเวลาว่า เรากำลังทำอะไร พูดอะไร และเพื่อสิ่งใดที่เราจะทำ เนียตคือรุ่กุ่นข้อแรกของนมาซ คุณค่าของการกระทำ ขึ้นอยู่กับเนียตและวิสียทัศน์ที่จะกระทำสิ่งนั้นเหมือนกับคนขับรถที่หยุดรอสัญญาณไฟ บางคนหยุดเพราะปฏิบัติไปตามกฎจลาจรและต้องการรักษากฎระเบียบ แต่บางคนหยุดเพราะกลัวตำรวจและกลัวเสียค่าปรับทั้งสองจึงมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อิบาดะฮฺก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นมาซซึ่งถือว่า เนียตนั้นเป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นการงานใดก็ตาม ถ้าปราศจากเนียต แม้ว่างานนั้นจะดีและมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ถือว่าไม่มีคุณค่าเลย ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “อันที่จริงแล้วการกระทำขึ้นอยู่กับเนียต” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที ๗๐ หน้าที่ ๒๑๐) เนียตที่บริสุทธิ์ หมายถึง การตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นเพียงเพื่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว และเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระองค์ โดยมิได้รอคอยหรือมุ่งหวังผลตอบแทน หรือคำขอบคุณจากผู้ใด (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้า ๒๑๐)
อัล-กุรอานกล่าวยกย่องเกียรติคุณของอะหฺลุลบัยตฺ (อ.) ในฐานะของกลุ่มชนผู้แสดงความบริสุทธิ์ว่า “อันที่จริงเราได้ให้อาหารแก่พวกท่านโดยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และเรามิได้ปรารถนาผลตอบแทน หรือคำขอบคุณใดๆ จากพวกท่าน (ซูเราะฮฺอัล – อินซาน ๙)
ประวัติศาสตร์ได้สอนว่า หากผู้ใดถูกฆ่าตายในสนามรบจะได้รับเกียรติว่าเป็นชะฮีด ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งประชาชนทั้งหมดเรียกผู้ที่ถูกฆ่าตายคนหนึ่งว่าเป็นชะฮีด แต่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่ยอมรับ ท่านกล่าวว่า "เขาพลีชีพบนหนทางของลา ประชาชนต่างพกกันแปลกใจ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงกล่าวว่า เพราะเป้าหมายในการไปรบของเขามิใช่เพื่ออัลลอฮฺเขาเห็นว่า ศัตรูขี่ลาที่มีความสวยงาม จึงพูดกับตัวเองว่า เราต้องฆ่าศัตรูเพื่อยึดเอาลามาเป็นของเรา แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จและถูกศัตรูฆ่าตาย ดังนั้น เท่ากับเขา ถูกฆ่าตายบนวิถีทางของลา” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๔)
การทำให้เนียตบริสุทธิ์ เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะในบางครั้งมนุษย์ได้ซ่อนสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺในจิตใจ โดยที่ตัวเองไม่รู้ ริวายะฮฺกล่าวว่า “การโอ้อวดกับการการทำชิริก (ตั้งภาคี) มีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่ามดดำที่เดินในตอนกลางคืนบนแผ่นหินสีดำ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๒ หน้าที่ ๙๓)
ผู้คนจำนวนมากมายที่คิดว่าตนได้เนียตเพื่อ แสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (กุรบะตัน) แต่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจึงรู้ว่า สิ่งที่ตนทำมิได้มีความบริสุทธิ์ใจแม้แต่นิดเดียว
ท่านชะฮีดมุเฏาะฮะรีย์ ได้ให้นิยามของเนียตว่า “คือการรู้ตัวเองตลอดเวลา” ริวายะฮฺกล่าวว่า “เนียตของมุอฺมินนั้นดีกว่าการกระทำของตัวเอง” บิฮารุ้ลอันวานเล่มที่๗๐ หน้าที่ ๒๑๐)
ถ้าหากเราจะทำการเปรียบเทียบระหว่างสังขารกับจิตวิญญาณ แน่นอนจิตวิญญาณต้องดีและมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์นั้นขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างการกระทำกับเนียตแน่นอนเนียตมีความสำคัญมากกว่า เพราะ เนียตคือ วิญญาณ ของการกระทำ
เนียตนั้นมีความสำคัญถึงขั้นที่ว่า ถ้าหากมนุษย์ไม่สามารถปฏิบัติคุณงามความดีได้ แต่ถ้าเขามีเนียตว่า จะกระทำในสิ่งนั้น เพียงแค่นี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ก็ตอบแทนผลรางวัลให้แล้ว

เนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด

กุรบะตัน หมายถึงการแสวงความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจุดประสงค์ของความใกล้ชิดมิได้หมายถึง ใกล้ชิดทางสรีระ แต่เป็นความใกล้ชิดของจิตวิญญาณ หรือญาณด้านในฉะนั้นเวลาเราพูดว่านาย ก. มีความใกล้ชิดผู้ใหญ่คนหนึ่ง มิได้หมายถึง สรีระหรือตำแหน่ง เพราะมิเช่นนั้น คนรับใช้ส่วนตัวย่อมมีความใกล้ชิดมากกว่า ดังนั้นการแสวงหาความพึงพอพระทัย มิได้หมายความว่า การงานของเราไปกดดันพระองค์และทำให้พระองค์ต้องปรับเปลี่ยนท่าที แต่หมายถึงจิตวิญญาณได้พัฒนาและก้าวไปอีก ก้าวหนึ่งที่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย และได้พบกับพระองค์ด้วยกับตาใจ
ดังทราบกันดีว่าในหมู่มนุษย์ และมวลสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นก้อนหินหรือ พืชพันธ์โดยซาตของแต่ละสิ่งมีความแตกต่างกัน และขั้นตอนของมนุษย์ในการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (ซบ.) ยิ่งมีความแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเป็นมนุษย์ของคนๆนั้น เพราะบางครั้งมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (ซบ.) จนกลายเป็นเคาะลีฟะฮฺ (ตัวแทน) ของพระองค์บนหน้าแผ่นดินก็มี และในบางครั้งบางคนก็ไม่สามารถหลุดพ้นแม้ความเป็นดิน
อิบาดะฮฺที่กระทำโดยมีเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ จะเพิ่มนูรรัศมี ให้กับมนุษย์และต่อเติมความสมบูรณ์ให้กับเขา ซึ่งอิบาดะฮฺส่วนมากจะเป็นเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมาซมุสตะฮับต่างๆนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ดังหะดีษของมะอฺซูม (อ.) ที่กล่าวว่า “มนุษย์สามารถสร้างความใกล้ชิดกับฉันได้ด้วยการปฏิบัตินมาซนาฟิละฮฺ” (บิฮารุ้ลอัลวาร เล่มที่ ๗๕ หน้าที่ ๑๕๕)
เป็นไปได้ที่ว่า คนเราปฏิบัตินมาซวาญิบเพราะกลัวการลงโทษ หรือกลัวว่า พระองค์จะไม่พอพระทัยแต่สำหรับนมาซนาฟิละฮฺ แล้วมิได้มีเจตนาอย่างอื่นแอบแฝงอยู่นอกจากความรักที่มีต่อพระองค์และนมาซ
ฐานันดรของความใกล้ชิด

คำว่า ฐานันดร (ดะรอญาต) ถูกกล่าวไว้หลายครั้งในอัล-กุรอาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ คำๆนี้ถูกอธิบายไว้หลายวาระที่แตกต่างกัน และแต่ละวาระนั้นมีประเด็นให้ขบคิดมากมายเช่นบางครั้งพระองค์ตรัสถึงคนบางกลุ่มว่า “พวกเขาได้รับหลายฐานันดร”  (อัล อัน-ฟาล/๔)
กับอีกบางกลุ่มทรงตรัสว่า “พวกเขามีหลายฐานันดร” (อาลิรอน / ๑๖๓)
เหมือนกันในบางครั้งมีผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งใหญ่โตให้เกียรติมาร่วมงาน แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานเล็กๆ ที่จัดแบบเรียบง่าย จะกลายเป็นงานใหญ่โตหรูหราขึ้นมาทันทีทันใด เพราะผู้ใหญ่เหล่านั้นคือผู้สร้างสีสัน และความหรูหราของงาน มิใช่ความหรูหราสร้างฐานันดรให้กับพวกผู้ใหญ่
ฐานันดรเหล่านี้ (ฐานันดรที่ได้มาจากการแสดงเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของมนุษย์เท่านั้น แม้แต่ในหมู่มวลมะลาอิกะฮฺทั้งหลายก็มีฐานันดรนี้เช่นกัน อัล-กุรอานได้กล่าวถึงมหาเทพญิบรออีลว่า “พวกเขาเชื่อฟังและมีความซื่อสัตย์เป็นที่สุด” (ซูเราะฮฺ อัตตักวีร/๒๑)
ฉะนั้นจะสังเกตเห็นว่า ฐานันดร ของมนุษย์ ในการภักดีกับพระผู้เป็นเจ้ามีความแตกต่างกันซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
๑.   บางครั้งมนุษย์ จำใจต้องเชื่อฟัง มิได้เกิดจากความพอใจหรือความยินดี
๒.  บางครั้งมนุษย์เชื่อฟังและปฏิบัติตน ซึ่งมิได้เกิดจากความรัก เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่มันเกิดมาจากความหลงใหลและความชื่นชอบที่จะปฏิบัติตาม
๓.  และบางครั้งก็มิใช่ทั้งความรักหรือความหลงใหล แต่เป็นการรู้จัก (มะอฺริฟะฮฺ) ที่สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อถึงตำแหน่งนี้เขาจะไม่เห็นสิ่งใดเลยนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า.. “ฉันมองไม่เห็นสิ่งใดเลย นอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เพียงผู้เดียวทั้งก่อนหน้า และพร้อมกับพระองค์”
จงเรียกร้องพระองค์เพื่อพระองค์

เล่ากันว่า “ซุลฎอน มะหฺมูด” ได้ทำการทดสอบบรรดาทหารองค์รักษ์ของตนว่าพวกเขาจะมีความซื่อสัตย์แค่ไหน จึงได้มีบัญชาให้จัดกองคาราวานขึ้นเพื่อขนย้ายทรัพย์สินและของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งภายในนั้นมีหีบใบหนึ่งบรรจุแก้วแหวนเงินทองและเพชรนิลจินดาจำนวนมากมาย บรรทุกอยู่บนหลังอูฐโดยมิได้ปิดล๊อก เมื่อกองคาราวานเดินทางมาถึงทางลาดชัน กษัตริย์ได้หยุดอูฐกะทันหัน ทำให้อูฐเสียหลัก และหีบที่บรรจุของมีค่าอยู่นั้นได้หล่นลงมา ทำให้สิ่งมีค่าเหล่านั้นกระจัดกระจายไปทั่ว กษัตริย์ได้รับสั่งว่า ใครเก็บของสิ่งใดได้ก็เอาไป ทำให้พวกทหารทิ้งขบวนแห่กันมาเก็บทรัพย์สินเหล่านั้น แต่บรรดาทหารองค์รักษ์ ยังคงติดตามกษัตริย์ไปเหมือนเดิม โดยไม่สนใจต่อทรัพย์สิน กษัตริย์ได้รับสั่งถามว่า “ทำไมพวกเจ้าจึงไม่ไปเก็บสิ่งของเหล่านั้นล่ะ” พวกเขาตอบว่า “พวกเรามีทรัพย์ที่ล้ำค่าคือพระองค์อยู่แล้ว และทำไมจะต้องลำบากไปเก็บทรัพย์สินอย่างอื่นอีก”
อัล-กุรอานได้กล่าวตำหนิกลุ่มชนที่เรียกร้องพระองค์ เมื่อยามที่พวกเขาประสบกับปัญหาเท่านั้น แต่ยามที่พวกเขามีความสุข พวกเขากลับหลงลืมพระองค์ อัล-กุรอานกล่าวว่า “ เมื่อพวกเขาโดยสารอยู่ในเรือ พวกเขาวอนขอต่อ อัลลอฮฺ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์และนอบน้อม ครั้นเมื่อพระองค์บันดาลความปลอดภัยแก่พวกเขาโดยให้ไปถึงฝั่งพลันพวกเขาก็ตั้งภาคีกับพระองค์ทันที” (ซูเราะฮฺ อัล-อังกะบูต/๖๕)
• ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามถ้ามนุษย์ทำเพื่อตนเอง เรียกว่าเป็นคนหลงอัตตาตัวตนและเห็นแก่ตัว
• ถ้าทำเพื่อประชาชน เท่ากับเป็นการสักการะวัตถุและเทวรูป
• ถ้าทำเพื่ออัลลอฮฺและประชาชน เท่ากับเป็นการเคารพในสองรูปแบบ
• แต่ถ้างานของตนและของคนอื่น ทำเพื่ออัลลอฮฺ เท่ากับเป็นเคารพบูชาอัลลอฮฺ
ในดุอาอฺ เรามักจะอ่านเสอมว่า “โอ้ข้าแต่พระองค์ ข้าฯมิได้ทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์เพราะกลัวการลงโทษของพระองค์ และมิใช่เพราะอาหารที่ทรงจัดเตรียมไว้ในสรวงสวรรค์ แต่เป็นเพราะว่า ข้าฯพบว่าพระองค์คือผู้ทรงสูงส่งควรค่าต่อการเคารพภักดี ดังนั้นข้า ฯ จึงเคารพภักดีต่อพระองค์” (บิฮารุ้ลอันวารเล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๑๘๖)
อีกหะดีษหนึ่งกล่าวว่าผู้คนที่ทำ อิบาดะฮฺ ต่อพระองค์นั้น แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ
“แท้จริงคนบางกลุ่มทำ อิบาดะฮฺ เพราะคาดหวังในผลกำไร อิบาดะฮฺเช่นนั้นจึงเป็นอิบาดะฮฺของพ่อค้า บางกลุ่มทำอิบาดะฮฺ เพราะนิอฺมัตและความโปรดปรานของพระองค์ และนั้นเป็นอิบาดะฮฺของพวกทาสและบางกลุ่มทำอิบาดะฮฺ เพราะปรารถนาขอบคุณพระองค์ อิบาดะฮฺเช่นนี้คือ  อิบาดะฮฺ ของผู้มีความเป็นอิสระ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๑๔)
โดยธรรมชาติแล้วคนที่มีความรักต่อวัตถุหรือเพศตรงข้าม มักจะนำเอาคนและสิ่งของที่ตนรักมาเป็นของตนหรือเก็บรักษาไว้ใกล้ๆกับของตน แตกต่างกับคนที่มีความรักต่อวัตถุหรือจริยธรรมด้านใน มักจะมอบตนหรือยอมพลีตนเองเพื่อคนรักเสมอ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รำพันไว้ในดุอาอฺกุเมลว่า “โอข้าแต่พระองค์ ขอทรงโปรดทำให้จิตใจของข้าฯ เปี่ยมล้นไปด้วยความรักที่มีต่อพระองค์”
หนทางไปสู่ความใกล้ชิด

การไปถึงยังความใกล้ชิดและเนียตกรุบะตัน (เพื่อแสดงหาความใกล้ชิด) มีอยู่ ๒ แนวทาง
๑. การรู้จักความยิ่งใหญ่และฐานะของพระองค์
๒. การรู้จักความไร้แก่นสารและความไม่แน่นอนนอกเหนือไปจากพระองค์
อัล-กุรอานได้อรรถธิบายถึงนิอฺมัตความโปรดปรานและความเมตตาการุณย์ทั้งหลายของพระองค์ แก่ปวงประชาชาติเพื่อมนุษย์จะได้สำนึกและรักในพระองค์ ดังนั้น การกล่าวถึงคุณสมบัติของพระองค์ การสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย การช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุปัจจัย และด้านจริยธรรม ตลอดจนนิอฺมัตอื่น ๆ ทั้งใหญ่และเล็ก อีกจำนวนมากมายที่ไม่อาจคำนวณนับได้เพียงเพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักและเพิ่มพูนความรักที่มีต่อพระองค์
อีกด้านหนึ่งโองการอัล-กุรอานได้กล่าวถึงความอ่อนแอและการไร้แก่นสารของสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ เช่นกล่าวว่า สรรพสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์ ไม่มีอำนาจและไม่มีเกียรติยศ มาตรว่าทั้งหมดเหล่านั้น ได้ร่วมกันและช่วยกันสร้างแมลงวันสักตัว พวกเขาก็ไม่อาจทำได้ นอกเหนือจากพระองค์แล้วยังมีใครสามารถตอบสนองคำเรียกร้องของผู้เดือดร้อนได้ และสมควรแล้วหรือที่เราจะนำเอาสรรพสิ่งอื่นมาเทียบเคียงกับพระองค์ และมอบให้สรรพสิ่งเหล่านั้นเท่าเทียมกับพระองค์

ข้อเตือนสต
มีนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามคนหนึ่ง (ชีอะฮฺ) นามว่า ท่านอายะตุ้ลลอฮฺ อัลอุซมาบุรูญิจดีย์ ท่านได้จัดพิธีกรรมรำลึกถึงท่าน อิมามฮุซัยนฺ (อ.) ที่บ้านของท่าน แต่ในขณะนั้นท่านป่วย จึงได้นอนพักในห้องส่วนตัวของท่าน ขณะนอนพักอยู่นั้นได้มีผู้ร่วมงานคนหนึ่งตะโกนขั้นว่า “เพื่อสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงของท่านอิมามซะมาน และอายะตุ้ลลอฮฺ บุรูญิจดีย์ ให้เศาะละวาต”
ทันใดนั้นท่านอายะตุ้ลลอฮฺ ได้ใช้ไม้เท้าเคาะไปที่ประตู คนใกล้ชิดของท่านได้เข้ามาหา และถามว่า ท่านต้องการสิ่งใดหรือ ท่านมิได้ตอบอะไรแต่กล่าวว่า ทำไมจึงเอาชื่อของฉันไปกล่าวเคียงคู่กับนามของท่านอิมามซะมาน ฉันไม่มีเกียรติพอที่พวกท่าน จะนำเอาชื่อของฉันไปกล่าวพร้อมกับนามของท่านอิมามและเศาะละวาตให้กับนามทั้งสองพร้อม ๆ กัน
ขณะที่ฐานะของท่านบุรุญิจดี ในตอนนั้น คือ ตัวแทนของท่านอิมาม (อ.) แต่ท่านกับไม่พร้อมที่จะให้เอ่ยนามของท่านพร้อมกับนามของท่านอิมาม (อ.) ในทางกลับกันพวกเราต่างหาก ที่เข้าใจผิด โดยนำเอาชื่อของมนุษย์ผู้อ่อนแอ และมากด้วยตัณหาไปกล่าวพร้อมกับพระนามของพระผู้เป็นเจ้า
วิธีการกับคุณภาพ
อิสลามให้ความสนใจเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ เป้าหมายและอุดมการณ์มากกว่าอย่างอื่น อัล-กุรอานกล่าวสรรเสิรญ การงานที่ดีที่มีคุณภาพ มากกว่าการกระทำจำนวนมากมาย อัล-กุรอานกล่าวว่า
“พระองค์ทรงทดสอบสูเจ้า เพื่อจะได้รู้ว่าใครคือผู้ทำดี” ซูเราะฮฺฮูด/๗
ครั้งหนึ่งท่านอิมามอะลี (อ.) ได้บริจาคแหวนให้กับคนจน ขณะที่ท่านกำลังทำรุกูอฺ ซึ่งหลังจากนั้นได้มี อัล-กุรอานประทานลงมาเน้นย้ำถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่า แหวนของท่าน คงจะมีราคาแพง อัลลอฮฺ (ซบ.) ถึงได้ประทานอัล-กุรอานลงมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเพราะแหวนของท่านมิได้มีค่าดังที่พวกเขาคิดกัน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงสอนให้รู้ว่า สิ่งที่เป็นที่ปรารถนา คือ คุณภาพ มิใช่ปริมาณ การแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ เช่นกัน มิได้ขึ้นอยู่กับขนาดหรือจำนวนหากทว่า มันขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจ

ข้อเตือนใจ
ท่านบะหฺลูล ได้เห็นคนกลุ่มหนึ่ง กำลังก่อสร้างมัสญิด และพวกเขาพูดว่า “เราได้ทำเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” เมื่อท่านบะหฺลูลเห็นดังนั้นจึงได้เดินเข้าไปและเขียนจารึกว่า “ผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง คือ บะหฺลูล" หลังจากนั้นได้นำไปติดไว้ที่ประตูทางเข้า เมื่อข่าวรู้ไปถึงฮารูนรอซีด เขาจึงได้สั่งให้บะหฺลูล เข้าพบเป็นการด่วนและถามว่า “ทำไมจึงเขียนว่า ท่านคือผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็รู้ดีว่าใครคือผู้อุปถัมภ์”
ท่านบะหฺลูลได้ตอบว่า ถ้าท่านทำเพื่ออัลลอฮฺจริง จะแปลกอะไรกับการที่จะเขียนชื่อใครลงไป เพราะอย่างไรเสียอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทราบดี และทรงตอบแทนผลรางวัลให้อย่างไม่ผิดตัว ท่านบะหฺลูลต้องการบอกกับฮะรูนรอซีดว่า แท้จริงแล้ว การงานของเขามิได้มีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เขาต้องการสร้างชื่อเสียงเพื่อให้คนอื่นชื่นชม อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงอุปมาการงานของพวกมุนาฟิกีนว่าเหมือนกับมิราจฉ์ ที่เป็นเพียงภาพลวงตา อัล-กุรอานกล่าวว่า “และบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย ผลงานของพวกเขาเปรียบประดุจดังภาพลวงตา ที่ปรากฏ ณ ทุ่งกว้างผู้กระหายคิดว่าเป็นน้ำ” (ซูเราะฮฺอันนูร :๓๙)

ข้อเตือนใจ
ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้านั่งอยู่บนเครื่องบิน และเครื่องบินได้เตรียมพร้อมที่จะบิน ทันใดนั้นกัปตันได้ประกาศว่า ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านลงจากเครื่องบินก่อน เที่ยวบินนี้ จะทำการบินล่าช้าไปกว่าเดิม ข้าพเจ้าได้ถามว่า เป็นเพราะอะไรหรือ ทำไมจึงบินล่าช้าออกไป ได้รับคำตอบว่า ในเครื่องมีแมลงปีกแข็งคล้ายกับด้วงตัวหนึ่ง ข้าพเจ้าพูด้วยความประหลาดใจว่า แค่แมลงตัวเดียวนี่นะ ถึงกับต้องเลื่อนเที่ยวบินเชียวหรือ พนักงานตอบว่าา ใช่ครับ เพราะเจ้าแมลงตัวนี้อาจจะไปกัดกินสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่งให้ขาดได้ และเป็นเหตุให้ระบบควบคุมต้องสูญเสีย ถึงตอนนั้นพวกเราคงได้พบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างแน่นอน
และจะไปนับประสาอะไรกับคุณงามความดี ที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ต้องมาหยุดชะงักลงเพราะหัวใจเป็นโรค ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้มนุษย์ต้องชะงักงันแล้วยังทำให้มนุษย์ต้องประสบกับความตกต่ำอีก
การตั้งเจตนาก่อนทำย่อมเพิ่มพูนคุณค่า

สมมติว่ามีคน ๆหนึ่งฆ่าคนตายโดยเจตนา ต่อมาทราบว่า คนที่ถูกฆ่าเป็นคนไม่ดี แน่นอนซึ่งถ้าถูกจับต้องโดนประหารชีวิตอย่างแน่นอน ฉะนั้นแม้ว่าการกระทำของฆาตรกรจะมีประโยชน์ แต่ประชาชนจะไม่สรรเสริญมาตรกรอย่างแน่นอน เพราะว่าเขามีเจตนาฆ่าคนดี มิได้มีเจตนาฆ่าคนชั่วบนหน้าแผ่นดิน
ดังนั้นประโยชน์ของการกระทำเพียงอย่างเดียวถือว่า ไม่เพียงพอที่จะทำให้งานนั้นกลายเป็นงานที่ดีได้ (อมั้ลศอลิหฺ) ทว่าจะต้องมีเนียตและมีเจตนาที่บริสุทธิ์ด้วย
อัล-กุรอานพยายามเน้นให้เห็นว่า ภารกิจทุกอย่างต้องมีเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด (กุรบะตัน)
ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย คุมสฺ หรือซะกาตหรือการบริจาคทรัพย์สินส่วนอื่น ตลอดจนการทำสงครามเพื่อปกป้องศาสนา ดังนั้นถ้าสังเกตกุรอานจะพบว่าอัล-กุรอานได้กล่าวถึงภารกิจเหล่านี้ว่า..
“บนแนวทางของอัลลอฮฺ” (บะกอเราะฮฺ : ๑๙๐)
“บนความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ” (อินซาน : ๙)
“เพื่อหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ” (บะกอเราะฮฺ : ๒๐๗)
สิงเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของการ เนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ ฉะนั้น ใครก็ตามที่ได้อุทิศทรัพย์สินเพื่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หอพักนักศึกษา มัสญิด หรือทำงานบริการด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ไม่ได้เนียตเพื่ออัลลอฮฺ ถือว่าเขาได้กดขี่ตัวเอง เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยจากการกระทำของเขา แม้ว่าประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นก็ตาม
อัล-กุรอานได้กล่าวถึงอมั้ลศอลิหฺ (การงานที่ดี) พร้อมกับอีมานว่า “บรรดาผู้ซึ่งมีศรัทธาและปฏิบัติการงานที่ดี (อมั้ลศอลิหฺ)” หรือกล่าวว่า “ผู้ที่ปฏิบัติอมั้ลศอลิหฺทั้งบุรุษและสตรี เขาคือ มุอฺมิม (ผู้ศรัทธา)”
สรุปได้ว่า การงานที่ดีเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ ทว่า ผู้กระทำต้องดีด้วย
สองข้อเตือนใจ
๑. ท่านบล้าล หะบะชีย์ หรือที่รู้จักกันในนามของคนอะซาน (มุอัซซิน) ประของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ท่านบิล้าลจะมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ ออกเสียงตัว ชีน เป็นตัว ซีน ซึ่งประชาชนถือว่านั้นเป็นข้อบกพร่องประการหนึ่งของท่านบิล้าล ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับพวกเขาว่า “ซีน ของท่านบิล้าลคือ ชีน ณ.เอกองค์อัลลอฮฺ” (มุสตัดร๊อกวะสาอิ้ล หะดีษที่ ๔๖๙๖)
แม้ว่าดูภายนอกจะพบว่ามีความบกพร่อง แต่เป็นเพราะว่า มีเนียตที่ดี เพื่อแสดงหาความใกล้ชิด และความโปรดปรานจากพระองค์ การกระทำนั้นจึงได้รับผลรางวัล
๒. อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มักตูม เป็นหนึ่งในเศาะฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และเป็นคนตาบอด วันหนึ่งเขาได้เข้ามาในมัจลิสที่ท่านศาสดากับชนอีกกลุ่มกำลังสนทนากันอยู่ แต่เนื่องด้วยเขาเป็นคนตาบอดมองไม่เห็นใคร เมื่อเดินเข้ามาจึงส่งเสียงดังกลบเสียงทั้งหมด บางคนที่นั่งอยู่ในกลุ่มได้หันไปมองด้วยความโกรธแค้น
แม้ว่าจะมิใช่เหตุการสำคัญแต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานอัล-กุรอานลงมาเตือนว่า
“เขามีสีหน้าที่บึ้งตึงและผินหลังให้ เมื่อชายตาบอดได้เข้ามาหา และเจ้ารู้ไหมบางที่เขาอาจเป็นผู้ปลดเปลื้องมลทิน” (๘๐ / ๑-๓)
ฉะนั้น จะเห็นว่า รูปแบบของการกระทำ มิได้ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วจะมีประโยชน์หรือว่าเป็นอันตราย หมายถึงถ้ามีประโยชน์กับคนอื่น ถือว่าเป็นอมั้ลศอลิหฺ และถ้าเป็นอันตรายไม่ถือว่าเป็นอมั้ลศอลิหฺ ทว่า เขาต้องพิจารณาที่ตัวเองด้วยว่า เขามีจุดประสงค์อะไรในการกระทำ และการงานที่ไม่ให้คุณหรือให้โทษกับคนอื่นเป็นอย่างไร
แบบฉบับของบรรดาศาสดา (อ.) ถือว่า จริยธรรมนั้นมีคุณค่าที่เป็น ซาตี มิใช่อะระฎีตัวตนของมันถือว่ามีค่า มิใช่คุณค่าจากภายนอกผ่านเข้ามาบนมัน เช่น มารยาทของผู้ขายมักจะเรียกร้องความสนใจจากผู้ซื้อ มีกำลังการผลิตสูงและให้คนอื่นมาสนใจตน
ซูเราะฮฺ อะบะสะ ถูกประทานลงมาในลักษณะของการท้วงติงถึงการกระทำดังกล่าวว่า ทำไมเจ้าต้องมองคนตาบอดที่เดินเข้ามาด้วยสีหน้าบึ้งตึงด้วย (แม้ว่าคนตาบอดเขาจะไม่เห็นมารยาทของเจ้าก็ตาม) แต่การแสดงมารยาทเช่นนั้นกับมุอฺมิน ถือว่าเป็นการกระทำที่หน้าเกียจ
อย่างไรก็ตาม การเนียตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า นั้นหมายถึง ภารกิจทั้งหมดของเราที่ทำมีเป้าหมายเพื่อ อัลลอฮฺ (ซบ.) มิใช่คนอื่นหรือเพื่อสิ่งอื่น หรือเป็นไปตามครรลองของการเมือง ดังนั้น การเนียตเพื่อแสดงหาความใกล้ชิด คือการกระทำทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่แท้จริงว่า “พวกเขาออกต่อสู้ดิ้นรนบนแนวทางของอัลลอฮฺและพวกเขาไม่หวั่นกลัวต่อคำตำหนิของผู้ตำหนิตนใด” (๕ / ๕๔)
อีกความหมายหนึ่ง ของการเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดคือ การพูดความจริงหรือพูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรม โดยไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์ได้ตรัสถึงบรรดาผู้ประกาศสัจธรรมของพระองค์ว่า “บรรดาผู้ประกาศสารธรรมของอัลลอฮฺ พวกเขามีความเกรงกลัวต่อพระองค์ และมิเกรงกลัวผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากอัลลอฮฺ” (๓๓ / ๓๙)
สัญลักษณ์ของการมีเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดคือ ความบริสุทธิ์ใจและหนึ่งในสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ใจคือ การที่เราไม่ให้ความแตกต่าง ในเรื่องของขนาดหรือจำนวนเขตพื้นที่ ประเภทของงานและเงื่อนไขของมัน เพียงแต่หวังในความพึงพอใจของพระองค์เท่านั้น ไม่คำนึงว่าประชาชนจะเข้าใจหรือไม่ จะมีผู้ให้การสนับสนุนหรือเปล่า และจะมีผลประโยชน์ตอบแทนให้หรือไม่มีก็ตาม
ผลของการมีเนียตบริสุทธิ์

อัล-กุรอานและริวายะฮฺจำนวนมากได้กล่าวถึงผลและบาระกัตของการมีเนียตบริสุทธิ์เช่น
๑. หะดีษกล่าวว่า “ใครก็ตามมีเนียตดี ริซกีของเขาจะเพิ่มพูน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๙)
จุดประสงค์ของหะดีษอาจหมายถึงว่า การมีเนียตดีและประพฤติดีกับคนอื่น ย่อมเป็นที่รักใคร่และเอ็นดูของคน ซึ่งจะส่งผลให้หน้าที่การงานของเราดีไปด้วย
๒. หะดีษกล่าวว่า “ การมีเนียตดีเป็นการเพิ่มพูนเตาฟีก (ความสำเร็จ) ให้กับตนเอง” (ฆุรรอรุ้ลหะกัม) ขณะที่ความเมตตาของพระองค์ ขึ้นอยู่กับเนียตที่ดี  ดั้งนั้น ถ้ามีเนียตที่ดีและบริสุทธิ์ มากเท่าไร ความเมตตาของพระองค์ ก็จะทวีคูณขึ้นมากเท่านั้นตามลำดับ
๓. “การมีเนียตดีจะทำให้อายุยืน” ริวายะฮฺกล่าวว่า “ หากใครได้ไปทำหัจญ์ เมื่อกลับมาจากหัจญ์ ได้เนียตว่า ฉันจะไปทำหัจญ์อีกในปีหน้า อัลลอฮฺ (ซบ.) จะเพิ่มอายุให้กับเขา เนื่องจากเขามีความหวังและเนียตที่ดี” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๗)
๔. การมีเนียตดีสิ่งที่บกพร่องจะได้รับการตอบแทน ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ถ้าคนทำความผิดบาป ได้ทำการสารภาพผิด โดยมีเนียตที่ดี อัลลอฮฺ (ซบ.) จะอภัยและไม่เอาโทษความผิด และหากเรามีอุปสรรค์ปัญหาในภารกิจการงาน พระองค์จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น” (นะญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๑๗๘)
๕. อัลลอฮฺ (ซบ.) จะตอบแทนผลรางวัลให้กับเนียตที่ดี แม้ว่าจะยังมิได้ปฏิบัติ ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ถ้าหากว่ามุอฺมิน ได้พูดว่า ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) ให้กับฉัน ๆ จะทำโน้นทำนี่ ดังนั้น ถ้าเรามีเจตนาที่ดีจริง อัลลอฮฺ (ซบ.) จะตอบแทนผลรางวัลให้กับเรา” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐) ถ้าเขามีความหวังอยากจะเป็นชะฮีต และวอนขอการเป็นชะฮีตนั้นจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์จะเพิ่มพูนตำแหน่งชะฮีตให้กับเขา มาตรว่าเขาจะตายบนเตียงนอนก็ตาม (บิฮารุ้ลวันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๐๑)
ด้วยเหตุนี้หากเราจะพิจารณาถึง ความเมตตาของพระองค์ จะพบว่า มันมีมากมายเป็นล้นพ้นจนไม่อาจคำนวณนับได้ แค่เรามีเนียตดีพระองค์ก็ทรงตอบแทนความดีนั้น แต่ถ้าเนียตไม่ดี เช่น ต้องการทำความผิดบาป พระองค์จะไม่เอาผิด แต่จะชะลอการลงโทษจนกว่าเราจะทำผิดจริง และหลังจากทำผิด ถ้าเราสำนึกตัว และยอมสารภาพผิดกับพระองค์ ๆ ทรงยกโทษความผิดนั้นให้กับเรา (วาซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐)
๖. เนียตที่ดีสามารถทำให้วัตถุปัจจัยในชีวิตประจำวัน เป็นตัวสร้างสรรค์ความใกล้ชิดประดุจดังเช่น จริยธรรมด้านในที่ดีที่สุด คือ การสัจญะดะฮฺหรือการร้องไห้ แต่ถ้าเป็นไปเพราะความโอ้อวด ถือว่าเป็นสื่อที่นำมนุษย์ออกห่างจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ริวายะฮฺกล่าวว่า “ร่างกายคือฐานที่มั่นคงของวิญญาณ ส่วนดีนที่มั่นคงขึ้นอยู่กับเนียตที่บริสุทธิ์ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๘ หน้าที่ ๓๑๒)
จิตใจที่สะอาดกับเนียตที่ดี ถือเป็นอัญมณีที่มีค่าที่สุด ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) และยิ่งเนียตดีเท่าไร อัญมณีย่อมมีค่าสูงไปตามลำดับ (ฆอรฺรอรุ้ลหะกัม)
เนียต การตัดสินใจ และความปราถนา มีความจริงจังสูงเท่ากับเป็นการเพิ่มพลังให้กับร่างกาย ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะรวมประชาชนขึ้นตามพื้นฐานของเนียตของเขา” (กิศอรุ้ลญุมัล)
ใครก็ตามที่เป้าหมายของเขาคือ การปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ประเภทของงานและการบรรลุเป้าหมายจึงถือว่าไม่สำคัญ อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَمَنْ يُقَاتِلْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَيُقْتَلْ أَوْ يَغْلِبْ فَسَوْفَ نُؤْتِيهِ أَجْرًا عَظِيمًا
“และใครต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ถ้าเขาถูกฆ่าตายหรือพ่ายแพ้ แน่นอน เราจะให้รางวัลอันยิ่งใหญ่แก่เขา” (อัลนิสาอฺ / ๗๔)
สิ่งที่สำคัญคือการต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะปราชัยหรือได้รับชัยชนะถือว่าไม่มีผลอันใดต่อรางวัลของพระองค์ อัล-กุรอานยังกล่าวอีกว่า
وَمَنْ يَخْرُجْ مِنْ بَيْتِهِ مُهَاجِرًا إِلَى اللَّهِ وَرَسُولِهِ ثُمَّ يُدْرِكْهُ الْمَوْتُ فَقَدْ وَقَعَ أَجْرُهُ عَلَى اللَّه “และผู้ใดได้ออกไปจากบ้านเรือนของเขา โดยมุ่งอพยพไปสู่อัลลอฮฺ (ซบ.) และศาสนฑูตของพระองค์ หลังจากนั้นความตายได้มาสู่เขา แน่นอน รางวัลของเขาปรากฎอยู่ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) (อันนิสาอฺ/๑๐๐)
จากโองการสามารถเข้าใจได้ว่า ใครก็ตามที่ได้เดินทางออกจากบ้านของตนโดยมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แม้ว่าเขาจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถือว่าเขาได้รับรางวัลแล้ว เพราะสิ่งสำคัญคือเนียตของการกระทำ มิใช่การกระทำ อีกนัยหนึ่ง การก้าวเดินไปบนหนทางมีความสำคัญมากกว่า การไปถึงเป้าหมาย
ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวกับท่านอบูซัร ว่า “ท่านจงตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีเสมอ แม้ว่าท่านจะไม่มีเตาฟีก ได้กระทำมันก็ตาม เพราะการตัดสินใจเช่นนั้นจะทำให้ท่านหลุดพ้นจากจุดของความหลงลืม” (วาซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๙)
อีกหะดีษกล่าวว่า “ กิจการงานใดก็ตามที่มีเนียตเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ถือว่ามีความยิ่งใหญ่แม้ว่างานนั้นจะเล็กก็ตาม” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๘๗)
ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ งาน ถ้าเนียตไม่ดีต่อให้งาน ดีแค่ไหน ก็ไร้ความหมาย ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ประชาชาติของฉันจำนวนมากมายได้นอนตายอยู่บนเตียงนอน มีจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่เขาตายในสนามรบ แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงล่วงรู้ถึงเนียตของพวกเขา” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๓)
ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวในสงครามตะบูกว่า “ส่วนผู้ที่อยู่ในนครมะดีนะฮฺ แต่มีความหวังและปราถนาที่จะมาร่วมกับเราในสนามรบ ถือว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการรบ เพราะเนียตของเขา (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๔)
ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เข้านอนโดยมีเนียตว่า จะตื่นขึ้นเพื่อปฏิบัติเศาะลาตุ้ลลัยน์ แต่เขามิได้ตื่น ฉะนั้น ถือว่าการนอนหลับของเขาเป็นเศาะดะเกาะฮฺ ส่วนลมหายใจของเขาเป็นการตัสบีห์ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบันทึกผลบุญของเศาะลาตุ้นลัยน์ให้กับเขา” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๐๖)
“ถือว่ามิใช่สิ่งไร้สาระ หรือปราศจากเหตุผล การที่อิสลามได้แนะนำว่า แม้เรื่องการนอนหรือเรื่องการกินก็จำเป็นต้องมีเนียตเพื่อพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ)
“ถ้าเรารักใครสักคนเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และคิดว่าเขาเป็นคนดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเขามิใช่คนดี ท่านก็จะไม่เปลืองตัวเปลืองใจแต่อย่างใด เพราะท่านมิได้รักเขาเพื่อเขา แต่ท่านรักเขาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฎอ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๗๔)
ความพิเศษของเนียตต่อการกระทำ

ความพิเศษของเนียต มีผลต่อการงานที่จะกระทำ กล่าวคือ ในบางครั้งงานที่ทำนั้นอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมแอบแฝงอยู่ เช่น โอ้อวด (ริยาอฺ) หรือชอบแสดงออกหน้าออกตา เป็นต้น เนียตคือการตั้งเจตนาขึ้นในจิตวิญญาณ ไม่มีผลปรากฏภายนอก ความโอ้อวดหรือความอิจฉาริษยา ไม่อาจมีผลรบกวนต่อมันได้ ความพิเศษของเนียตคือ สามารถเกิดได้ขึ้นทุกที่ทุกเวลา ไม่มีเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ส่วนการกระทำนั้น ต้องการเงื่อนไข ที่เฉพาะเจาะจง ต้องการเวลา สถานที่และความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกมากมาย
มีริวายะฮฺประเภทหนึ่งเรียกว่า ริวายะฮฺ มันบะลัฆฺ ริวายะฮฺประเภทนี้กล่าวว่า “ถ้าใครเคยได้ยินริวายะฮฺแล้วพูดว่า การกระทำเช่นนี้มีผลบุญมากมาย ซึ่งได้มีผู้กระทำตาม และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบแทนผลบุญนั้น แม้ว่าริวายะฮฺดังกล่าวไม่ถูกต้องก็ตาม เพราะเขาได้ปฏิบัติตามหะดีษโดยมีเจตนา (เนียต) ที่ดี”
ตำแหน่งของเนียต

๑. บางครั้งเป็นเพราะความหวาดกลัว หรือมุ่งหวังในพระเมตตาของพระองค์ มนุษย์จึงได้ปฏิบัติอะมั้ล อัล-กุรอานกล่าวว่า    وَادْعُوهُ خَوْفًا وَطَمَعًا “และพวกเจ้าจงวอนขอพระองค์ด้วยความหวาดกลัว และความมุ่งหวัง” (อัล – อะอฺรอฟ ๕๖)
وَيَدْعُونَنَا رَغَبًا وَرَهَبًا
“พวกเขาได้วอนขอต่อเราด้วยความพิศมัยและหวาดกลัว” (อัมบิยาอฺ ๙๐)
๒. บางครั้งมนุษย์ได้ปฏิบัติอะมั้ล เพื่อเป็นการขอบคุณในความเมตตของพระองค์ ไม่ว่าจะมีผลรางวัล หรือการลงโทษหรือไม่ก็ตาม ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่าพระองค์มิได้ทรงสัญญาการลงโทษต่อการกระทำความผิดไว้ก็ตามมันก็ เป็นวาญิบสำหรับมนุษย์ที่ต้องไม่อกตัญญูในการขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระองค์” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ ฮิกมะฮฺ ๒๙๐)
๓. บางครั้งมนุษย์ได้ปฏิบัติอะมั้ล โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทน หรือมีความหวังในสรวงสวรรค์ หรือหวาดกลัวต่อไฟนรก เพียงแค่ตระหนักว่า พระองค์นั้นคู่ควรต่อการแสดงความเคารพภักดี เขาจึงปฏิบัติ
๔. และในบางครั้งเป็นเพราะว่า ความรักที่มีต่อพระองค์ เขาจึงยอมปฏิบัติอมั้ลทุกอย่าง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ความรักของฉันที่มีต่อความตาย และการได้กลับไปพบกับอัลลอฮฺ (ซบ.) มีความคุ้นเคยมากกว่าเด็กทารกที่มีความผูกพันอยู่กับเต้านมของมารดาเสียอีก” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๕)
ท่านกอซิม บุตรชายของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวที่กัรบะลาว่า “การตายบนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) สำหรับฉันแล้วมีความหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง”
อิทธิพลของเนียตต่อการลงโทษ

อิสลามได้แยกบทลงโทษสำหรับคนที่กระทำความผิดโดยเจตนากับไม่เจตนา ไว้ต่างหากดังนี้
การฆ่าคนอื่นตายตายโดยเจตนา และมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า การสอบสวนและบทลงโทษ ย่อมต่างไปจากบทลงโทษของคนที่ฆ่าผู้อื่นตายโดยมิได้เจตนา อัล-กุรอาน กล่าวว่า “ผู้ศรัทธาคนหนึ่งไม่มีสิทธิ์สำหรับผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งได้ นอกเสียจากว่าทำความผิด และใครสังหารผู้ศรัทธาอย่างผิดพลาด (เป็นวาญิบ) ต้องปลดปล่อยทาสผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งให้เป็นอิสระ และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของเขา นอกเสียจากกว่า พวกเขาจะยกโทษให้ แต่ถ้าผู้ถูกสังหารเคยเป็นกลุ่มชนที่เคยเป็นศัตรูกับพวกเจ้า และเป็นผู้ศรัทธา ก็ให้ปล่อยทาสผู้ศรัทธาคนหนึ่งให้เป็นอิสระ และถ้าหากเขามาจากกลุ่มชนที่เคยมีสัญญากันระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขา ก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวของเขา และปล่อยทาสผู้ศรัทธาคนหนึ่งให้เป็นอิสระ ฉะนั้น ผู้ใดมิอาจปฏิบัติได้ ให้ถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลาสองเดือน อันเป็นการลุกโทษ (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (อันนิสาอฺ ๙๒)
ส่วนคนที่ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา เขาจะถูกลงโทษประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน ซึ่งยังมีบทลงโทษอื่น ๆ อีกมากมายที่แตกต่างกันระหว่างการมีเจตนา กับไม่ได้มีเจตนา แต่ยกตัวอย่างมาพอสังเขปเพื่อให้รู้ว่า แท้จริงแล้ว เนียต (ตั้งเจตนา) นั้นมีอิทธิต่อการกระทำ และบทลงโทษมากน้อยเพียงใด
การรู้จัก คือปฐมบทของเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด

ดีที่สุดของการแสวงหาความใกล้ชิด คือ เนียตที่สะอาดบริสุทธิ์ และการรู้จักในอาตมัน(ซาต)ของพระองค์อัลลอฮฺ อัล – กุรอาน กล่าวว่า        ان القوة لله جميعا “แท้จริงพลัง ทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)” (อัล บะกอเราะฮฺ ๑๖๕)
فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِنْ النَّاسِ تَهْوِي إِلَيْهِم

َْ“ขอพระองค์ทรงดลบันดาลให้จิตของมนุษย์มีความอ่อนโยนรักใคร่พวกเขาด้วยเถิด” (อิบรอฮีม ๓๗)
-มะนาญาตชะอฺบานี ได้รำพันว่า “พวกเรารู้ว่าผลประโยชน์ และความเสื่อมเสียของเรามิได้อยู่ในมือของคนอื่น”
-ถ้าหากเรารู้ว่า การงานที่ทำเพื่อพระองค์ บางครั้งมีผลบุญมากมายเป็นสองเท่า บางครั้งสิบเท่า และบางครั้งมากถึงเจ็ดสิบเท่า เราก็คงไม่กระทำมันเพื่อคนอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์"
“จงรู้ไว้เถิดว่า ความสูงส่งทางสังคม มิได้ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตน เพราะควันดำก็ลอยสู่เบื้องบนเหมือนกัน”
“จงรู้ไว้เถิดว่าการจ้องมอง ความสนใจ และคำสรรเสริญเยินยอของผู้คนมิได้มีค่าอันใดต่อเรา เพราะมาตรว่า มีช้างตัวหนึ่งเดินอยู่บนถนน ผู้คนก็จ้องมองเหมือนกัน”
“คนที่ประสบความสำเร็จ คือ คนที่อาศัยประสบการณ์ เอาใจใส่ต่อคำโจทย์ขาน เสียงวิพากษ์วิจารณ์และออกห่างจากการโอ้อวดต่าง ๆ”
“จงรู้ไว้เถิดว่า วันหนึ่งที่รออยู่ข้างหน้า ไม่มีใครสนใจและไม่สามารถช่วยเหลือกันและกันได้ ยกเว้น มวลผู้ศรัทธาที่มีจิตใจนอบน้อมและสงบมั่น”
ดังนั้น เมื่อทราบดีว่า เนียตที่ไม่ดีได้ทำลายคุณค่าการงานของเราไปมากมายแค่ไหน ก็จงกลับตัวกลับใจและสร้างเจตนาใหม่ เพื่อการงานที่บริสุทธิ์ และเพื่อความใกล้ชิดกับพระองค์
ผลของการมีเนีตยที่ไม่ดี

หากจะเปรียบเทียบเนียตที่ไม่ดี ก็คงจะไม่แตกต่างอะไรไปจากสนิม เพราะมันคือส่วนเกินของความสะอาดบริสุทธิ์ และทำลายคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
๑. ทำให้ดุอาอฺไม่ถูกตอบรับ ท่านอิมามสัจญาด (อ.)กล่าวว่า “เนียตที่ไม่ดีคือสาเหตุที่ทำให้ดุอาอฺไม่ถูกตอบรับ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๓๗๕)
เนียตที่ไม่ได้มีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) นอกจากจะทำให้อะมั้ล และการงานต่าง ๆ มิได้ถูกย้อมสีด้วยสีของอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วยังทำให้ประสบกับอันตรายต่างๆ อีกมาก
อิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “ถ้าใครต้องการขอยืมเงินของคนอื่นโดยมีเจตนาว่าจะไม่ใช้คืน เขาอยู่ในฐานะของขโมย” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๘๖)
การแต่งงานโดยเจ้าบ่าวมีเจตนาว่าจะไม่จ่ายมะฮัรฺให้กับเจ้าสาวของตน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาอยู่ในฐานะของคนทำซินา (ผิดประเวณี) (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒)
๒. ริซกีเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่ามุอฺมินคนหนึ่งมีเจตนาว่าจะกระทำความผิด อัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่ประทานริซกีให้กับเขา”
ตัวอย่างของหะดีษนี้ดูได้จากเรื่องราวของ เรือกสวนหนึ่งที่อัล – กุรอานกล่าวไว้ในซูเราะฮฺ กอลัม โองการที่ ๑๖ – ๓๐ ว่า “มีชาวสวนกลุ่มหนึ่งได้เจตนาไปเก็บผลไม้ในตอนเช้าตรู่ เพื่อมิให้คนจนได้พบพวกเขา และพวกเขาจะได้ไม่ต้องแบ่งปันผลไม้ให้ เมื่อถึงตอนเช้าตรู่ พวกเขาได้เดินทางไปสวนของพวกเขา และพบว่าสวนนั้นได้แปรสภาพไปประดุจดังสวนที่ถูกเก็บผลผลิตไปแล้ว ขั้นแรกพวกเขาคิดว่า พวกเขาหลงทางมา หรือไม่ก็เดินทางผิด เผอิญว่าในหมู่ของพวกเขามีคนที่มีสติอยู่บ้างได้พูดว่า “ฉันมิได้เตือนพวกท่านหรือว่า อย่าคิดและตั้งเจตนาเช่นนี้ ซึ่งพวกท่านมีเจตนาไม่เผื่อแผ่แก่คนยากจน ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงได้ห้ามพวกท่านมิให้ได้รับผลผลิต
จากเรื่องราวของอัล – กุรอานทำให้รู้ว่า ในบางครั้งอัลลอฮฺ (ซบ.) จะลงโทษหรือกำราบมนุษย์ บนพื้นฐานของเจตนาที่ตั้งเอาไว้ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม
๓. เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “เนียตที่ไม่ดีเป็นสาเหตุให้เกิดควาทุกข์ทรมาน” (ฆอรฺรอรุ้ลหะกัม หะดีษ ที่ ๑๖๑๐)
๔. เป็นสาเหตุให้ชีวิตการเป็นอยู่ไม่มีบะรอกัต
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงนำบะรอกัตออกจากชีวิตของคนที่มีเนียตไม่ดี โดยเขาไม่อาจใช้ประโยชน์จาก นิอฺมัตที่ดีของพระผู้เป็นเจ้าได้” (ฆอรฺรอรุ้ลหะกัม หะดีษที่ ๑๖๑๕)
ได้มีคนกล่าวว่า “ มีคนกล่าวกับคนหนึ่งว่า เป็นเพราะการงานที่ดี เป็นสาเหตุทำให้ดุอาอฺของท่านสามต้นจะถูกตอบรับ เขาดีใจมากและพูดว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดทำให้ภรรยาของข้าฯ เป็นคนที่สวยงามที่สุด และภรรยาของเขาก็กลายเป็นคนสวยงาม แต่ทว่าชีวิตของเขาได้แปรเปลี่ยนไป และมีแต่ความขมขื่นตลอดเวลา เนื่องจากว่า ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนมีแต่คนคอยจ้องมองภรรยาของเขา”
เขาจึงได้ขอดุอาอฺบทที่สองว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดทำให้ภรรยาของข้า ฯ เป็นคนที่น่าเกียดและขี้เหร่ที่สุด” ดุอาอฺของเขาได้ถูกตอบรับ ทว่าเขาไม่อาจอดทนต่อสภาพชีวิตดังกล่าวได้ หลังจากนั้นเขาได้ขอดุอาอฺบทที่สามว่า “โอ้ ข้า ฯ แต่พระองค์โปรดทำให้ภรรยาของข้าฯเหมือนดังเดิม” ดุอาอฺของเขาถูกตอบรับ และภรรยาของเขาได้กลับมามีหน้าตาเหมือนเดิมเหมือนตอนแรก จะเห็นว่าชายผู้นี้ขอดุอาอฺถึงสามครั้ง แต่น่าเสียดายว่า ดุอาอฺของเขามิได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และ มิอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นไปในแนวทางที่ดีได้ อีกทั้งยังมิอาจนำพาบะรอกัตมาสู่ชีวิตครอบครัวได้อีกต่างหาก และสิ่งนี้คือความหมายของประโยคที่ว่า “ชีวิตการเป็นอยู่ไม่มีบะรอกัต”