กำเนิดศาสนาอันจีรัง



สภาพสังคมในคาบสมุทรอรับก่อนยุคศาสดามุฮัมมัด
ถาม) ดร.มุฮัมมะดียอนครับ พระองค์อัลลอฮ์ทรงเอ่ยถึงสภาพสังคมของคาบสมุทรอรับในสมัยที่ท่านนบีได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสดาโดยใช้คำว่า "ฎอลาลิมมุบีน" (ความหลงผิดอันชัดแจ้ง) และคำว่า "ญาฮิลียะฮ์" (ยุคแห่งอวิชชา) จากคำเหล่านี้เราสามารถทราบได้ว่า คาบสมุทรอรับในยุคนั้นเกิดความเสื่อมโทรมในแง่จิตวิญญาณอย่างหนัก ผมคิดว่าเราควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของอรับชนเผ่าต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขาในยุคนั้นเป็นอันดับแรกนะครับ

ตอบ) หากเราย้อนมองประวัติศาสตร์คาบสมุทรอรับ จะพบว่าแผ่นดินแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าอรับ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ อรับ"บาอิดะฮ์" หรือกลุ่มชนอรับโบราณที่สูญสิ้นการสืบเชื้อสายไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชนษะมูดและอ้าด คือตัวอย่างของกลุ่มชนอรับประเภทนี้ ซึ่งถูกพระองค์อัลลอฮ์ลงโทษกระทั่งไม่เหลือรอดชีวิตแม้เพียงคนเดียว

กลุ่มที่สองก็คือ ชนเผ่าอรับดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายจาก"ยะอ์ริบ อิบนิ เกาะฮ์ฎอน" อรับกลุ่มนี้เป็นชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบประเทศเยเมนในปัจจุบัน ซึ่งได้อพยพขึ้นไปทางเหนือของคาบสมุทรเนื่องจากเขื่อนมะริบพังทลาย สองเผ่า"เอาส์" และ "ค็อซร็อญ" ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของมะดีนะฮ์ก็จัดอยู่ในอรับประเภทนี้ด้วยเช่นกัน

กลุ่มที่สามคือ ชนเผ่าอรับอพยพที่สืบเชื้อสายจาก"อัดนาน" ซึ่งสืบเชื้อสายจากท่านนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล ชนเผ่าแห่งอัดนานนี้แบ่งออกเป็นหลายเผ่า หนึ่งในนั้นคือเผ่ากุเรชและหนึ่งในกลุ่มย่อยของเผ่ากุเรชก็คือกลุ่มบนีฮาชิม

คุณลักษณะเด่นทางขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของอรับในยุคนั้นได้แก่ การต้อนรับขับสู้แขกเหรื่ออย่างเต็มความสามารถ, การไม่ปองร้ายต่อผู้ขอความคุ้มครอง, ความอาจหาญฮึกเหิม, พรสวรรค์ในการแต่งโคลงกลอน เป็นต้น ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปพร้อมกับการผินหลังให้ศาสนบัญญัติของท่านนบีอิบรอฮีม ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและจริยธรรมก็ได้ย่างกรายเข้ามาครอบงำชาวอรับ จะเห็นได้จากการกดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอกว่า หรือการที่สุราเมรัยและอิสตรีกลายเป็นองค์ประกอบหลักของโคลงกลอนต่างๆอย่างแพร่หลาย ระบอบสรรเสริญเผ่าได้ซึมซับและถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดีความต่างๆ อันก่อให้เกิดสงครามมากมายที่เกิดจากสาเหตุเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นสงครามที่ยืดเยื้อนับสิบปีเพียงเพราะการดูถูกอูฐเพียงตัวเดียว และกรณีฝังบุตรสาวทั้งเป็นซึ่งล้วนเกิดจากการบูชาระบอบเผ่าทั้งสิ้น

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดรวมทั้งการตั้งภาคี "ชิริก" และการบูชาเจว็ดรูปปั้นเป็นเหตุให้กุรอานกล่าวถึงยุคดังกล่าวว่าเป็นยุคแห่งการหลงทางและเป็นยุคอวิชชาอย่างแท้จริง นอกจากคาบสมุทรอรับแล้ว สองอู่อารยธรรมอย่างจักรวรรดิโรมันและเปอร์เซียก็มิได้มีสถานภาพทางศีลธรรมที่ดีไปกว่าคาบสมุทรอรับสักเท่าใด เปอร์เซียประสบปัญหาการแบ่งชั้นวรรณะและการกดขี่ ตลอดจนความเสื่อมทรามของสถาบันกษัตริย์ ส่วนโรมันก็คละคลุ้งไปด้วยการกดขี่ข่มเหงของคริสตจักรในทุกรูปแบบเช่นเดียวกัน

ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเชิญชวนของท่านนบีมุฮัมมัด
ถาม) นอกจากความเสื่อมโทรมดังที่กล่าวไปแล้ว ผมคิดว่าการที่พระองค์ทรงสถาปนาท่านนบีเป็นศาสนทูตในจุดภูมิศาสตร์อันจำเพาะนี้(คาบสมุทรอรับ) ย่อมมีปรัชญาแฝงอยู่อย่างแน่นอน ท่านคิดว่าอย่างไรครับ?

ตอบ) แน่นอนครับ เหตุผลแรกคือเหตุผลทางภูมิศาสตร์ กะอ์บะฮ์คือสถานที่ศักดิ์สิทธิและเป็นบ้านหลังแรกบนแผ่นดิน มักกะฮ์ก็เป็นนครอันทรงเกียรติที่พระองค์ทรงยกฐานะให้เป็นแผ่นดินอันปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกประเภท

เหตุผลที่สองคือ ชาวอรับบางเผ่ายังคงยึดถือศาสนบัญญัติและคำสอนของท่านนบีอิบรอฮีมที่เรียกว่า"ฮะนีฟ"อยู่ ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงคำสอนของอิสลามเป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นสุดท้ายคือ คาบสมุทรอรับกลายเป็นศูนย์รวมผู้นับถือศาสนาต่างๆ เช่น โซโรแอสเตอร์ ยิว คริสเตียน และพวกบูชาเจว็ดรูปปั้น อันอำนวยให้ชาวคาบสมุทรเปิดใจรับฟังคำสอนของอิสลามได้โดยไม่ยากนัก

เหล่านี้คือองค์ประกอบที่ทำให้มักกะฮ์และคาบสมุทรอรับมีความเหมาะสมยิ่งสำหรับการเผยแผ่ศาสนาใหม่เช่นอิสลาม เพราะหากอิสลามจุติขึ้นในจักรวรรดิโรมันหรือเปอร์เซียแล้ว ย่อมมีข้อครหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอนว่าอิสลามอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอู่แห่งอารยธรรมดังกล่าว และหากเป็นเช่นนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิที่เป็นปรปักษ์ย่อมมีอคติต่อการเชิญชวนสู่อิสลามอย่างแน่นอน

กระแสตอบรับของมหาชนต่อการเชิญชวนของท่านนบีมุฮัมมัด
ถาม) ชนชั้นต่างๆ ในสังคมอรับให้การตอบรับการเชิญชวนของท่านนบีอย่างไรบ้างครับ?

ตอบ) โดยรวมแล้ว เราไม่สามารถฟันธงในประเด็นนี้ได้อย่างตายตัวว่า ชนชั้นสูงไม่ตอบรับการเชิญชวน ส่วนชนชั้นล่างของสังคมตอบรับอย่างเต็มใจ เพราะประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าทาสผิวดำอย่างบิลาล อยู่ใต้ร่มธงอิสลามเคียงข้างชายหนุ่มจากชนชั้นสูงอย่าง มุศอับ อิบนิ อุมัยร์ ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางของสังคมอย่าง ยาซิร, สุมัยยะฮ์, อุมัร และอบูบักรก็รับอิสลามเช่นกัน และดังที่คุณจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของกษัตริย์องค์ต่างๆ ที่ได้รับสาส์นเชิญชวนสู่อิสลามจากท่านนบี บางองค์ไม่พอพระทัยต่อข้อความในสาส์น ในขณะที่บางองค์น้อมรับด้วยความเต็มพระทัย

สรุปคือ เราไม่สามารถพิสูจน์ในเชิงกฏเกณฑ์ตายตัวได้ว่า กลุ่มชนชั้นใดของสังคมเป็นผู้สนับสนุนท่านศาสดาโดยสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ยอมรับว่า สถานภาพทางสังคมของมนุษย์สามารถกำหนดท่าทีของเขาที่มีต่อการเชิญชวนของท่านศาสดาได้

เล่ห์กลของกาฟิรมุชริกีนเพื่อสกัดกั้นท่านนบีมุฮัมมัด
ถาม) หากเราย้อนมองประวัติศาสตร์จะพบว่าบรรดากาเฟรมุชริกีนงัดกลเม็ดเด็ดพรายทุกชนิดเพื่อสกัดกั้นแนวทางของนบี ทว่าพวกเขาก็ต้องปราชัยต่อความศรัทธาอันมั่นคงของท่านทุกครา กรุณาชี้แจงประเด็นดังกล่าวด้วยครับ?

ตอบ) อย่างที่ท่านกล่าวละครับ หากเราย้อนมองประวัติศาสตร์เราจะเห็นความพยามของชาวกุเรชที่จะหยุดยั้งท่านศาสดามิให้เผยแผ่อิสลาม ผมจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อเป็นหลักฐานในเรื่องนี้

ในหนังสือ ซีเราะฮ์ อิบนิ ฮิชาม ได้รายงานไว้ว่า ชาวกุเรชได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับท่านอบูตอเล็บโดยหวังที่จะให้ท่านอบูตอเล็บเป็นผู้หยุดยั้งการเผยแผ่อิสลามของท่านศาสดา โดยที่พวกเขากล่าวว่า “ โอ้อบูตอเล็บ ท่านเป็นทั้งผู้อาวุโสและมีเกียรติในทัศนะของพวกเรา แต่พวกเราก็ปรารภกับท่านไว้หลายครั้งแล้ว แต่ท่านกลับทำเป็นเมินเฉย ขณะนี้พวกเราหมดความอดทนแล้ว เราทนไม่ได้อีกแล้วที่จะให้มูฮัมหมัดมากล่าวร้ายต่อพระเจ้าของเรา ขณะนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับท่านแล้วที่จะต้องหยุดยั้งเขา หรือไม่ก็เรากับท่านต้องสู้รบกันให้พ่ายแพ้กันไปข้างหนึ่ง”

ท่านอบูตอเล็บนำความดังกล่าวมาบอกกับท่านศาสดา ท่านศาสดาไม่เพียงปฏิเสธคำขอร้องแกมขู่ของชาวกุเรชเท่านั้น แต่ท่านศาสดายังตอบกับท่านอบูตอเล็บว่า “ ขอสาบานต่อพระเจ้า โอ้ท่านลุง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะนำดวงอาทิตย์มาวางบนมือขวา และดวงจันทร์มาวางบนมือซ้ายของข้าเพื่อให้ข้าล้มเลิกงานนี้ จงรู้ไว้เถิดว่า ข้าจะไม่มีวันล้มเลิกงานนี้โดยเด็ดขาดจนกว่าพระเจ้าจะทรงให้ข้าได้รับชัยชนะหรือไม่ก็ก็สิ้นชีวิตไปในหนทางนี้”

คำพูดดังกล่าวได้สร้างความเชื่อมั่นในหัวใจของท่านอบูตอเล็บอย่างแรงกล้า ถึงกับประกาศกร้าวต่อหน้าสาธารณะชนว่า “ ข้าขอสาบานต่อพระเจ้า ข้าจะขอยืนเคียงข้างกับมูฮัมหมัดจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ถึงกระนั้นก็ตามชาวกุเรชก็ยังไม่ละความพยายาม พวกเขาได้ยื่นข้อเสนอมากมายให้ท่านศาสดา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหน้าที่ ทรัพย์สิน และอื่นๆ เพื่อให้ท่านศาสดาล้มเลิก แต่ข้อเสนอดังกล่าวมิได้ทำให้ท่านศาสดาสั่นคลอนแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ความเชื่อมั่นของท่านศาสดาเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

เป้าหมายของบรรดาศาสดา
ถาม) ในช่วงท้ายเราอยากจะขอให้ท่านชี้แจงถึงจุดประสงค์และเป้าหมายของการส่งบรรดาศาสดามายังมนุษย์ชาติด้วย?

ตอบ) กุรอานและริวายะฮ์มากมายได้กล่าวถึงเป็นหมายการส่งศาสดามายังมนุษย์ชาติไว้หลายประเด็นด้วยกันซึ่งผมจะชี้แจงประเด็นที่สำคัญเท่านั้น

1- ศาสดาทุกองค์ที่ถูกส่งมามีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด นั่นก็คือการเรียกร้องไปสู่การเคารพภักดีอัลลอฮ์เพียงผู้เดียว

2- อีกเป้าหมายหนึ่งที่อัลลอฮ์ทรงส่งศาสดามายังมนษย์ชาติคือ ให้ศาสดาเรียกร้องให้ประชาชนให้ความสำคัญและใคร่ครวญถึงสัญญานต่างๆของอัลลอฮ์

3- ศาสดาถูกส่งมาเพื่อทำการขัดเกลามนุษย์ และอบรมมนุษย์ไปสู่การมีจริยธรรมอันสู่งส่ง

4- บรรดาศาสดาที่มาพร้อมกับคัมภีร์มีหน้าที่สั่งสอนประชาชาติของตัวเองถึงหลักคำสอนที่มีปรากฏในคัมภีร์นั้นๆ

5- การยืนหยัดและสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมนุษย์เป็นอีกหนึ่งจุดประสงค์ที่สำคัญในการส่งศาสดาสู่มนุษย์ชาติ

6- การแจ้งข่าวดีและการเตือนสำทับเกี่ยวกับการลงโทษถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งท่านศาสดาสู่มนุษย์ชาติอีกเช่นกัน





แปลและเรียบเรียงโดย มุญาฮิด ฮาริซี