ระเบียบโลกใหม่กับแนวคิดอิสลามการเมือง

ระเบียบโลกใหม่กับแนวคิดอิสลามการเมือง

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

 

วันนี้รัฐฆารวาสกำลังถูกตั้งคำถามว่าจะไปต่อได้หรือไม่หรือกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยและจะถึงจุดจบหรือไม่อย่างไรดั่งคำทำนายหรือไม่? เพราะว่ากระแสความหมดหวังของประชาชนต่อระบอบการปกครองโดยการกำหนดของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและพยายามที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ตามนิยามแบบประชาธิปไตยนั้นเหมือนว่าถูกตั้งคำถามเพิ่มขึ้นเรี่อยๆ

สถาบันเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือเลือกตั้งระหว่างประเทศ (ไอดีอีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการอิสระ ในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เผยแพร่ผลการจัดทำดัชนีชี้สถานะประชาธิปไตยของโลก หรือ โกลบอล สเตท ออฟ เดโมแครซี ประจำปี 2021 ระบุว่าประเทศประชาธิปไตยในโลกจำนวนมากกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย โดยที่สหรัฐอเมริกาถูกกำหนดสถานะให้เป็นประเทศที่ประชาธิปไตยถดถอยเป็นครั้งแรก(https://www.matichon.co.th/foreign/news_3053294)

กระแสเสื่อมถอยของประชาธิปไตยทั่วโลกสะท้อนให้เห็นเป็นพิเศษจากสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นแสดงการถดถอยให้เห็นมาตั้งแต่ปี 2019 เป็นอย่างน้อย และแม้ว่าบางด้านจะดีขึ้น อาทิ คอร์รัปชันและการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในด้านเสรีภาพพลเมือง, การตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลก็ยังแย่ และยังมีปัญหาพื้นฐานประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงอีกด้วย

อเล็กซานเดอร์ ฮัดสัน ผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวกับเอเอฟพีว่า สหรัฐเป็นประเทศประชาธิปไตยประสิทธิภาพสูง ทั้งยังปรับปรุงประสิทธิภาพในตัวบ่งชี้ของการบริหารที่เป็นกลาง (การคอร์รัปชันและการบังคับใช้ที่คาดการณ์ได้) ในปี 2563 ทว่าความถดถอยในเสรีภาพพลเรือนและการตรวจสอบรัฐบาลบ่งชี้ว่ามีปัญหาร้ายแรงกับรากฐานของประชาธิปไตย และจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์เกิดในปี 2563-2564 เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของผลการเลือกตั้งในสหรัฐเมื่อปี 2563 ยิ่งกว่านั้น ฮัดสันชี้ถึง ความถดถอยในคุณภาพของเสรีภาพในการรวมตัวและการชุมนุมระหว่างการประท้วงเมื่อฤดูร้อนปี 2563 ภายหลังเหตุการณ์ที่ตำรวจทำให้จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี เสียชีวิต(https://www.thaipost.net/abroad-news/30625/)

อีกฟากหนึ่งของรัฐศาสนาที่ดูเหมือนว่ากำลังผงาดขึ้นมาที่ยากจะหาแรงต้านได้  จึงเป็นไปได้ว่าวันนี้จะเกิดคำถามต่อนักปรัชญาการเมืองหรือนักรัฐศาสตร์ว่า  ทำไมการเมืองหรือระบอบการเมืองจึงไม่มีเสถียรภาพ?และอะไรคือต้นแบบของระบอบการเมืองกันแน่? ส่วนอีกฟากหนึ่งบอกว่าปรัชญาการเมืองแบบรัฐศาสนาคือต้นแบบของการปกครองที่แท้จริง

อีกฟากหนึ่งบอกว่ารัฐฆารวาสคือต้นแบบและเป็นอุตมรัฐของมนุษยชาติ และถ้าย้อนดูปรัชญาการเมืองเริ่มจากนครรัฐกรีก กรุงเอเธน  ผ่านการพัฒนาจากยุคโบราณ สู่ยุคกลางแล้วเข้าสู่ ยุคใหม่ จนกระทั้งมาจบอยู่หลังยุคใหม่  และฟากฝั่งตะวันตกพยายามจะบอกว่าแท้จริงการนิยามปรัชญาการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นไม่ได้อิงอยู่กับศาสนาใดๆ  ในขณะที่ปรัชญาการเมืองอิสลามได้ผูกโยงอยู่กับรัฐศาสนาและเชื่อในรัฐแบบเทวธิปไตย บุคคลแรกที่ได้นำนิยามปรัชญาการเมืองและได้สร้างระบอบทางปรัชญาการเมืองอิสลามคือ อบูนัศร์ อัลฟารอบี

อัล-ฟารอบี ได้พยายามที่จะให้การเมืองอิสลามผูกโยงอยู่กับหลักคิดทางปรัชญาและขณะเดียวกันไม่ได้ขัดแย้งกับตัวบทจากวิวรณ์(วะฮ์ยู) จนกระทั้งทำให้นักวิชาการมุสลิมในยุคต่อมาได้จำแนกประเภทของปรัชญาการเมืองอิสลามออกจากเทวญาณการเมือง(อิลมุลกะลาม อัซซิยาซี)อย่างน่าสนใจทีเดียว ซึ่งก่อนหน้านั้นเกือบจะแยกไม่ออกระหว่างปรัชญาการเมืองกับเทวญาณการเมือง  โดยทั้งสองระบอบคิดมีความเหมือนและความต่างดังนี้

หนึ่ง-ปรัชญาการเมือง  เป็นกรอบแนวคิดที่ยึดหลักปรัชญาและทฤษฎีทางปรัชญา และไม่อิงยังวิวรณ์และชะรีอะฮ์ ถึงแม้ว่าเนื้อหานั้นไม่เกิดมีความขัดแย้งอยู่ก็ตาม  ส่วนเทวญาณการเมือง เป็นมุมมองต่อการเมืองผ่านวิวรณ์(วะฮยู)และอิงหลักฐานทางศาสนาและชะรีอะฮ์

สอง-ปรัชญาการเมือง จะใช้การพิสูจน์ด้วยตรรกะวิธีและทฤษฎีปรัชญา  แต่เทวญาณการเมืองจะอ้างอิงและพิสูจน์จากวิวรณ์(วะฮยู)  และนำหลักฐานทางสติปัญญา และหลักฐานจากแบบฉบับศาสดาและสาวกผู้ทรงธรรมหรือแม้แต่จากหนทางวิทยาศาสตร์ก็นำมาเป็นเครื่องมือในการตั้งสมมติฐาน  โดยใช้เครื่องมือจากหลักฐานจากสติปัญญาและหลักฐานจากสายรายงานอ้างอิงในศาสนา

สาม-เทวญาณการเมือง ทำหน้าที่เพื่ออรรถาธิบายชะรีอะฮ์ในบทบาททางการเมืองและการปกครองของศาสนาอิสลาม  ส่วนปรัชญาการเมือง ทำหน้าที่สืบค้นหาหลักสากลต่อหลักการเมืองที่ตั้งอยู่บนหลักปรัชญาและทฤษฎีทางปรัชญา

สี่-เทวญาณการเมือง จะตั้งสมมติฐานอยู่ภายใต้กรอบของศาสนาและชะรีอะฮ์  แต่ปรัชญาการเมืองจะตั้งสมมติฐานอยู่ภายใต้หลักอภิปรัชญาและตรรกวิทยา

ความน่าสนใจของรัฐศาสนาในมุมปรัชญาการเมืองแบบอิสลามถือว่ามีความท้าทายหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์และโลกการเมืองวันนี้  ซึ่งถ้าจะกล่าวแล้ว อัล-ฟารอบีคือบิดาปรัชญาการเมืองอิสลาม เหมือนกับที่เพลโต้บิดาปรัชญาการเมืองตะวันตกยุคโบราณ  เพียงแต่ว่าการก้าวเดินทางปรัชญาการเมืองของอัลฟารอบี ได้ไปไกลกว่าเพลโต้ นั่นหมายความว่าเขาได้นำทฤษฎีทางปรัชญามาตีความการเมือง โดยอาศัยหลักปรัชญาและอภิปรัชญาระดับสูง    แต่ความต่างระหว่างปรัชญาการเมืองของเพลโต้กับปรัชญาการเมืองอัลฟารอบี คือ เพลโต้ไม่ได้นำหลักคิดที่เป็นปรัชญาศาสนาด้านการเมืองมาตีความปรัชญาการเมือง  แต่อัลฟารอบีสามารถไปถึงอีกขั้นของการรวมกันระหว่างอภิปรัชญากับวะฮยู(วิวรณ์)แล้วกำหนดทฤษฎีทางปรัชญาการเมืองในรูปใหม่  และถ้ามองอย่างลึกในรายละเอียดจะพบว่าปรัชญาการเมืองอัลฟารอบีกับปรัชญาการเมืองแบบปรัชญาตะวันตกมีความแตกต่างกันมาก  นั่นหมายความว่าอัลฟารอบีที่ได้นำประเด็นทางปรัชญามาตีความทางการเมืองการปกครอง มีลักษณะไปในทิศทางที่ว่า บางครั้งสมมติฐานนั้นผ่านกรอบวิวรณ์ และบางครั้งสมมติฐานผ่านกรอบปรัชญา  บางครั้งนำกรอบวิวรณ์ขึ้นหน้าปรัชญา และบางครั้งนำกรอบปรัชญาขึ้นหน้าวิวรณ์  ในขณะที่ปรัชญาการเมืองเพลโต้และปรัชญาการเมืองตะวันตก ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวิวรณ์เลย

อิสลามการเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นรูปแบบที่เพิ่งจะเกิดในศตวรรษที่ 21นี้ เพราะถ้าจะสืบค้นแท้จริงแล้วได้ปรากฏมาจากยุคศาสดาอิสลามแล้ว แต่ส่วนมากจะนำมาใช้และถูกแพร่หลายและเผยแพร่ของคำๆนี้ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมุสลิม โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ดเทรดเซนเตอร์ในสหรัฐอเมริกา หรือที่ถูกรู้จักเหตุการณ์9/11 ในปี2001

Esposito นักวิชาการชาวตะวันตกได้กล่าวถึงอิสลามการเมืองว่า “อิสลามการเมืองมีฐานมาจากการฟื้นฟูศาสนาอิสลามร่วมสมัยที่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนโดยเฉพาะชาวมุสลิมเองที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนบัญญัติที่ได้กำหนดไว้และได้กล่าวเป็นอุดมการณ์หรือเป็นทางเลือกขึ้นมาผ่านประโยคต่างๆหรือสโลแกนต่างๆ เช่น อิสลามคือทางออก หรือกล่าวว่า ไม่ใช่ทั้งตะวันออกและตะวันตก”

Espositoได้กล่าวและอธิบายอีกว่า ในบริบทของการเคลื่อนไหวทางการเมืองอิสลามนั้น ทำให้การเคลื่อนไหวกลายเป็นอุดมการณ์ทางเลือกให้กับความล้มเหลวของชาตินิยม ทุนนิยมและสังคมนิยมที่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบฆารวาสนิยมหรือเซคคิวล่าที่แยกศาสนาออกจากการเมือง  ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคมของมุสลิมได้สร้างความชอบธรรม  และต่อมารัฐบาลหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งหลายก็เริ่มขยายความชอบธรรมด้วยอิสลามและได้รับการสนับสนุนทั้งโครงสร้างและเชิงนโยบาย

Charles Hirschkind ให้ทัศนะว่าอิสลามการเมืองเป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายถึงการที่กรอบของศาสนาอิสลามได้ก้าวล้ำเข้าผ่านสู่มิติเซคคิวล่าร์ในขอบเขตของการเมืองและอธิบายถึงกิจกรรมลักษณะนี้เพื่อให้มีคำเฉพาะที่อธิบายแนวคิดนี้ที่มีความแตกต่างจากความเชื่อทางศาสนาส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้แนวทางอิสลามทั่วไป  ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าอิสลามการเมืองเป็นการขยายตัวของกรอบจากอิสลามแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวที่เกี่ยวข้องกับการขยายอำนาจรัฐและมิติทางสังคมที่ศาสนามีบทบาทอยู่ด้วยเช่นกัน

ซัยยิด ญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนี ได้ถือว่าการสำนึกต่อการดำเนินชีวิตมุสลิม ต้องมองอย่างลึกซึ้งทั้งสองด้าน คือด้านศาสนาและด้านการเมือง  ดังนั้นซัยยิดอัลอัฟฆอนีเขาได้พยายามที่จะปลุกเร้าจิตใจประชาชนและสังคมมุสลิมทางด้านการเมืองและนำความคิดแบบอิสลามมามีบทบาททางชุมชนและการปรับปรุงประเทศ(จรัญ มะลูลีม  อิสลามการเมืองในการเมืองตะวันออกกลาง) อัลอัฟฆอนี ได้ปลุกให้มุสลิมตื่นตัวทั้งสองด้านคือด้านการปฏิรูปภายในประเทศและการป้องกันจากศัตรูภายนอก    อัลอัฟฆอนีได้เดินทางไปยังประเทศมุสลิมเวียนไปรอบๆ  เพื่อสร้างแนวคิดว่ด้วยลัทธิการผนึกกำลังอิสลาม  โดยที่เขาได้เชื่อว่าความเป็นเอกภาพของมุสลิมคือพลังของการขับเคลื่อนทางการเมืองแบบอิสลาม และเขาต้องการนำเอามุสลิมทุกส่วนของโลกเข้ามาสู่อาณาจักรอิสลามภายใต้การคุ้มครองของคอลีฟะฮฺผู้มีอำนาจสูงสุด  และจุดเด่นของอัลอัฟฆอนีคือ แนวคิดไม่แยกศาสนาออกจากการเมือง

มุฮัมมัด อัล-อับดุฮ์ เป็นนักวิชาการและอุลามาห์โลกอิสลามช่วงศตวรรษที่สิบเก้า ที่ได้มีทัศนะต่ออิสลามการเมืองและทรงอิทธิพลต่อโลกอิสลามไม่น้อยทีเดียว  มุฮัมมัด อัลอับดุฮ์ได้จัดตั้งสมาคมลับขึ้นในกรุงปารีสชื่อว่า ญะมิอาตุล อุรวะฮ์ อัลวุษกอ(สมาคมแห่งพันธะที่ไม่สามารถจะลบล้างได้) มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมมุสลิมเข้าด้วยกัน  และมุฮัมมัด อัลอับดุฮ์ ยังได้แปลตำราจากภาษาเปอร์เซียจากบทความและหนังสือของอัลอัฟฆอนี เป็นภาษาอาหรับ หนึ่งในหนังสือที่น่าสนใจคือ”การปฏิเสธนักวัตถุนิยม” และยังได้ถูกจัดพิมพ์คำบรรยายที่เขาสอนลูกศิษย์ชาวซีเรียไว้ในหนังสือเรื่อง นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ และหนังสือ มะกอมาต บะดิล อัซซะมาน อัล-หะมาดะนี

ความเป็นนักปฏิวัติและนักฟื้นฟูของ อับดุฮ์  อีกทั้งยังมีความเป็นนักคิดหัวเสรี จึงได้คิดเริ่มการปฏิรูปสังคมมุสลิมจากสภาพที่ตกอยู่การใหลหลงต่ออารยธรรมตะวันตก และในอีกด้านของมุสลิมยังมีความคิดแบบกลุ่มอนุรักษ์นิยมและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง   จนกระทั้งความคิดของเขาได้ส่งทอดและมีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวในอียิปต์และได้รับการขานรับจากปัญญาชนในหลายๆด้าน  โดยเฉพาะการตื่นตัวทางด้านการเมือง  ศาสนาและการศึกษา

อิมามโคมัยนี เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เขย่าโลกอิสลามในยุคปัจจุบันด้วยการสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน นั่นคือการปฏิวัติอิสลามในประเทศอิหร่าน และเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ เป็นระบอบอิสลามภายใต้”ระบอบวิลายะตุลฟากีย์”(ปราชญาธิปไตย) ในปี 1979

การทำความเข้าใจถึงความสำคัญของนักคิดอิสลามในเรื่องการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน นับได้ว่าอิมามโคมัยนีเป็นผู้ที่โดดเด่นอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะการเมืองอิสลามแบบนิกายชีอะฮ์  ส่งผลให้เกิดโลกตะวันตกและตะวันออกหันมาสนใจถึงขบวนการแห่งอิสลามโดยการนำของอิมามโคมัยนีและนิกายชีอะฮ์มากยิ่งขึ้น และเป็นครั้งแรกที่การปฏิวัติของอิมามโคมัยนีได้ของข้อสันนิษฐานในรูปแบบที่เป็นกลไกการทำงานและในฐานะที่เป็นรูปแบบของทฤษฎีการเมืองของรัฐ  ในฐานะของอุดมการณ์ตามกรอบแนวคิดทางการเมืองของอิมามโคมัยนีได้สนองตอบบรทัศฐานในเรื่องอิสลามการเมืองได้อย่างน่าสนใจและยังเป็นรูปธรรมที่สุดก็ว่าได้เท่าเคยปรากฏมา นั่นคืออิมามโคมัยนีได้ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบอิสลามโดยให้แสงสว่างทางปัญญาแก่รากเหง้าของแนวคิดของสำนักคิดชีอะฮ์ได้อย่างโดดเด่น อันเป็นพื้นฐานทางศาสนาของชาวอิหร่าน(อิสลามการเมืองในการเมืองตะวันออกกลาง  ดร.จรัญ มะลูลีม)

จากความคิดที่เชื่อว่าอิสลามเป็นศาสนาที่สมบูรณ์รอบด้าน ทำให้อิมามโคมัยนีมองว่าประเด็นทางการเมืองและสังคมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับมนุษย์และถือว่าการเมืองนั้นถูกกำหนดอยู่ในหลักการของศาสนาอิสลามมาตั้งเริ่มแรกแล้ว  อิมามโคมัยนีเชื่อถ้าใครไม่ยอมรับในหลักการนี้  หรือทราบแต่ไม่ยอมเชื่อและปฏิบัติก็ถือว่ายังไม่รู้จักอิสลามดีพอ  ส่วนบุคคลใดที่ต่อต้าน ก็จะถือว่าเขากำลังทำสงครามกับอิสลามเลยทีเดียว   นั่นคือการไม่รู้จักอิสลามที่แท้จริง

อิมามโคมัยนีกล่าวว่า “ศาสนบัญญัติถือว่าเป็นกฎหมายของอิสลาม นั่นหมายความว่า ศาสนบัญญัติ คือมิติหนึ่งทางการเมือง ว่าด้วยเรื่องอำนาจรัฐ กล่าวโดยนัยก็คือ ศาสนบัญญัติเปรียบเสมือนกลไก เพื่อสถาปนารัฐและแผ่ขยายความยุติธรรมในสังคม”

อิมามโคมัยนีเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองมิได้จำกัดเพียงแค่เรื่อง การจ่ายซากาต  จ่ายเงินคุมส์ หรือเรื่องการจ่ายสินไหมชดใช้ค่าเสียหาย เท่านั้น  แต่ทว่าอิสลามคือศาสนาแห่งการเมืองการปกครอง  ศาสนาแห่งการนำประชาชาติสู่ความยุติธรรมทางสังคม

อิมามโคมัยนีกล่าวว่า  “อิสลามคือศาสนาแห่งการเมืองการปกครอง  หากผู้ใดตรึกตรองสักนิดเกี่ยวกับศาสนบัญญัติของอิสลามที่เกี่ยวข้องกับรัฐ  การเมือง  สังคมและเศรษฐกิจก็จะได้บทสรุปเดียวกันนี้  ฉะนั้น  ใครที่คิดว่าศาสนาแยกออกจากการเมือง ถือว่าเขายังไม่รู้จักทั้งอิสลามและการเมือง”

อุดมการณ์ทางการเมืองอิมามโคมัยนีหรือแนวคิดอิสลามการเมืองนั้นผ่านกรอบปรัชญาการเมืองแบบสำนักปรัชญาปรีชาญาณสูงส่ง(ฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์) นั่นคือ เป็นปรัชญาที่มุ่งเน้นระบอบผู้นำรัฐนั้นเป็นผู้ทรงธรรม และผ่านหลักคิดที่ใช้หลักปรัชญาว่าด้วยจักรวาลวิทยา นั่นคือ พลังแห่งความดีย่อมชนะพลังแห่งความชั่ว  ดังนั้นในทฤษฎีของอิมามโคมัยนีได้ยึดอิสลามการเมืองที่ถูกกำหนดโดยอัลกุรอาน  และการทำความดีและละเว้นความชั่ว โดยการสถาปนารัฐอิสลามในทุกๆหนแห่งที่ปกครองโดยเผด็จการ

ซัยยิด อะบุล อะลา เมาลูดี  ถือว่า อิสลามคือการยอมรับอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าในทุกด้านของกิจกรรมมนุษย์ ทั้งในทางปฏิบัติ ซึ่งหมายถึงความเชื่อฟังต่อศาสดาอย่างมีความหมายจริยธรรมในเรื่องการยอมตนของอิสลามนั้นตรงข้ามกับจริยธรรมแบบมนุษย์นิยมของเสรีภาพภายในซึ่งเป็นส่วนสำคัญของลัทธิทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่นลัทธิประชาธิปไตย ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือลัทธินิยมเหตุผล

เมาลูดีย์ถือว่ารัฐอิสลามคือรัฐอุดมการณ์ เป็นที่ชัดเจนจากการพิจารณาอย่างระมัดระวังจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ว่ารัฐในอิสลามวางอยู่บนอุดมการณ์และวัตถุประสงค์ของรัฐอิสลามคือการสถาปนาอุดมการณ์นั้น

รัฐอิสลามเป็นเครื่องมือของการปฏิรูป และจะต้องปฏิบัติไปในทำนองเดียวกัน มันเป็นการชี้นำถึงพื้นฐานของรัฐอิสลามนี้ว่ารัฐดังกล่าวจะต้องบริหารเป็นการเฉพาะโดยบรรดาผู้ที่เชื่อในอุดมการณ์ที่วางอยู่บนกฏหมายของพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งได้มอบหมายให้เป็นผู้บริหารรัฐอิสลามและจะต้องเป็นผู้ที่ชีวิตทั้งชีวิตของเขาอุทิศให้แก่การปฏิบัติตามและการบังคับให้เป็นไปตามกฏหมายแห่งอิสลาม(ตามตัวบทของอัลกุรอานและซุนนะฮ์)

เมาลูดีย์ในฐานะนักอิสลามนิยม เขาพยายามที่สร้างความเข้าใจต่อโลกมุสลิมต่อเรื่องรัฐอิสลามและเขาพยายามสร้างอิสลามให้ขึ้นมาเป็นศาสนาและระบบการเมืองเพราะเขาถือว่าเป็นการเยียวยาสากลเหมือนกับที่เมาลูดีย์ได้กล่าวว่า เมื่ออิสลามเป็นปรัชญาศาสนาและระบบของชีวิตที่ห้อมล้อมจิตวิญญาณทางกฏหมายและจริยธรรมและลักษณะทางศิลธรรมที่เป็นไปตามแนวทางคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าไปพร้อมๆกันแล้ว การก่อตั้งแบบแผยอิสลามจึงเป็นเงื่อนไขที่มาก่อนเพื่อรับรู้ถึงชีวิตมุสลิม เฉพาะภายใต้รัฐบาลอิสลามซึ่งคำบัญชาของอัลลอฮ์ได้ถูกนำมาใช้ทั้งส่วนบุคคลและในระดับของการใช้ร่วมกันเท่านั้นที่มุสลิมสามารถผ่านชีวิตอิสลามอย่างแท้จริง(จรัญ มะลูลีม  อิสลามการเมืองในการเมืองตะวันออกกลาง)