เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สำนักปรัชญาอัลฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

สำนักปรัชญาอัลฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ (Al hikmatul motahaliyah)

 

เกริ่นนำ

การวิวัฒนาการทางศาสตร์ปรัชญาอิสลามได้เข้าสู่ยุคฟื้นฟูหลังจากที่ปรัชญาอิสลามได้รับกระแสการต่อต้านมาช้านาน และเกือบที่จะสาบสูญหรือสูญหายไปจากโลกของอิสลามไปทีเดียว จนกระทั้งท่านมุลลาศ็อดรอได้ลุกขึ้นและนำเนื้อหาทางปรัชญาอิสลามมาวิเคราะห์และพิเคราะห์จนเกิดความสัมพันธภาพระหว่างปรัชญาแบบเหตุผลนิยามจัด(มัชชาอียะฮ์)และปรัชญาแบบการหยั่งรู้ชั่วคณะจิต(อิชรอกียะฮ์)อีกทั้งได้ประสานความกลมคลืนให้เข้ากับแนวคิดแบบรหัสยวิทยา(อิรฟานียะฮ์) ในที่สุดความขัดแย้งและการต่อต้านจากนักนิติศาสตร์หรือจากนักเทววิทยาได้ลดน้อยลงไป อีกทั้งยังทำให้นักเทววิทยาหันมาศึกษาปรัชญาอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และแล้วปรัชญาอิสลามได้ฟื้นฟูขึ้นมาเป็นปรัชญาในอัตลักษณ์ใหม่และรูปแบบใหม่ คือไม่เป็นศัตรูกับศาสตร์ใดๆ และศาสตร์ต่างๆยังเกื้อกูลต่อปรัชญาและปรัชญายังเกื้อกูลต่อศาสตร์ต่างๆ และนั่นคือปรัชญาในสำนักฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ หรือ เรียกว่า ปรัชญาปรีชาญาณสูงส่ง

สำนักปรัชญาปรีชาญาณสูงส่งหรือสำนักฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ได้รับการยอมรับโดยทั่งไปจากผู้รู้และนักปรัชญาในยุคปัจจุบันเพราะนั่นคือความสำเร็จและเป็นการบรรลุความสำเร็จระดับสูงสุดในการสังเคราะห์ความรู้ของมนุษย์โดยการเพ่งพินิจและการไตร่ตรองทางการะบวนการทางความคิดปรัชญาโดยสามารถรวมพลังและประสานความกลมกลืนระหว่างความรู้จากวิวรณ์และการประจักษ์แจ้งจากการถูกเปิดเผยทางจิตวิญญาณขั้นสูงและทฤษฎีทางปรัชญาและอภิปรัชญาอันล้ำลึกจนปรากฏเป็นหลักปรัชญาแนวฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์หรือปรัชญาสำนักปรีชาญาณสูงส่ง

ในโลกอิสลามการวิวัฒนาการทางความคิดและการพัฒนาทางกระบวนทัศน์นั้นแบ่งออกได้ ๔ กระบวนทัศน์ คือ

ก.กระบวนทัศน์แบบปรัชญาเหตุผลนิยมจัด(คือการกำเนิดปรัชญาสำนักมัชชาอียะฮ์)

ข.กระบวนทัศน์แบบปรัชญาประจักษ์แจ้งชั่วคณะจิต(การกำเนิดสำนักปรัชญาอิชรอกียะฮ์)

ค.กระบวนทัศน์แบบอัชฌัติกญาณ คือการเกิดสำนักซูฟีและสำนักรหัสยนิยม

ง.กระบวนทัศน์แบบเทววิทยาของสำนักคิดทางอิลมุลกะลาม(เทววิทยาอิสลาม)

ก่อนสมัยของท่านมุลลาศ็อดรอบริบททางศาสนาและวัฒนธรรมได้มีความขัดแย้งและไม่ลงรอยต่อกันในระหว่างสำนักทางความคิดเหล่านั้นที่มีกระบวนทัศน์แตกต่างจนกระทั้งมุลลาศ็อดรอได้พยายามและใช้การเพ่งพินิจต่อองค์ความรู้ของศาสตร์ต่างๆทั้งสี่ จนหาจุดร่วมระหว่างกระบวนทัศน์ทั้งสี่นั้น และสามารถเข้าด้วยกันได้และยังเกื้อกูลต่อกันและกัน

มุลลาศ็อดรอได้นำประเด็นปัญหาทางปรัชญาของสำนักก่อนๆที่มีความขัดแย้งหรือมีทัศนะที่แตกต่างกันมากล่าวและแก้ไขหาคำตอบได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังได้สร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างนักเทววิทยากับนักปรัชญา โดยการนำทฤษฎีทางปรัชญามาแก้ปัญหาทางเทววิทยา จนได้ผลเกินคาดทีเดียว

มุลลาศ็อดรอยังได้นำองค์ความรู้หรือสารัตถะจากคัมภีร์อัลกรุอานหรือจากวจนะของศาสดาอีกทั้งเนื้อหาด้านอภิปรัชญาจากคำสอนของบรรดาอิมามแห่งอะลุลบัยต์ศาสดาโดยเฉพาะการนำบทวิเคราะห์จากหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ซึ่งเป็นสุนทโรวาทของอิมามอะลี บินอะบีฏอบเล็บ(อ) และจุดเด่นของปรัชญามุลลาศ็อดรอ คือการนำปรัชญาเข้ามาใกล้ชิดศาสนามากยิ่งขึ้นและสามารถนำปรัชญามาตีความศาสนาและแสดงให้เห็นถึงการเกื้อกูลปรัชญาต่อศาสนาอย่างมีบทบาทสูงทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเด่นทางปรัชญาปรีชาญาณสูงส่งคือการนำองค์ความรู้ด้านรหัสยวิทยาหรือการเปิดเผยองค์ความรู้ทางจิตวิญญาณ(กัชฟ์)โดยการประจักษ์ที่เกิดขิ้นจากจิตขั้นสูงแล้วนำมาเปิดเผยและอธิบายเป็นหลักปรัชญาเป็นทฤษฎีทางปรัชญาอย่างน่าสนใจนั่นหมายความว่าท่านมุลลาศอ็ดรอได้นำเอากระบวนทัศน์ทางรหัสยวิทยาซึ่งเป็นพื้นฐานจากการประจักษ์แจ้งทางจิตวิญญาณและเปิดเผยออกมาโดยผ่านการพิสูจน์และการอธิบายเชิงปรัชญาที่ลงตัวและน่าทึ่งทีเดียวกล่าวคือการสำแดงให้เห็นว่ารหัสยวิทยาขั้นสูงได้สนับสนุนปรัชญาเชิงลึกและทั้งสองศาสตร์นั้นต่างเกื้อกูลกันและกันไม่ได้เป็นปรปักษ์กันเหมือนกับนักปราชญ์ในยุคต้นๆอิสลามเชื่อกันและดังที่กล่าวผ่านมาแล้วว่ามุลลาศอ็ดรอยังได้นำหลักคำสอนจากวิวรณ์วะฮ์ยูจากพระคัมภีร์อัลกุรอานมาตีความเนื้อหาปรัชญาอย่างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเขาพยายามจะชี้ให้เห็นว่าปรัชญาและศาสนาและรหัสยวิทยานั้นเป็นเนื้อหาเดียวกันและต่างก็เกื้อกูลกันและกันเพียงแต่ระดับความถี่ของแต่ละศาสตร์ต่างกันเท่านั้น ต่างก็สนับสนุนกันและกันไม่ได้เป็นปรปักษ์หรือขัดแย้งใดๆ


ปรัชญาปรีชาญาณสูงส่งหรือฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ เป็นสำนักปรัชญาที่ได้เปิดเผยหลักการต่างๆระดับสูงขององค์ความรู้ที่ถูกปกปิดไว้หรือเปิดเผยความลี้ลับต่างๆของความจริงสูงสุด และยังได้แสดงออกถึงการนำเอาเหตุผลและการหยั่งรู้ทางด้านปัญญา และการแสดงออกถึงความสว่างที่เกิดขึ้นจากการเพ่งพินิจการใคร่ครวญและยังได้รวบรวมแนวคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวข้องกันและสร้างความสัมพันธภาพเกิดข้นต่อกันและกัน ซึ่งเป็นผลในทางบวกที่สร้างความแจ่มแจ้งส่องสว่างขึ้นในจิตใจอันเป็นเรื่องราวตามหลักการพื้นฐาน ซึ่งเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์และเป็นโครงสร้างของความเป็นจริง จนสามารถเข้าถึงธรรมชาติดั้งเดิมแก่นแท้ของมนุษย์และเข้าถึงพระเจ้าโดยธรรมชาติแห่งความเป็นพระเจ้า ตลอดถึงการเข้าใจต่อจุดหมายปลายทางของการสร้างสรรค์หรือการสังสรรค์ทั้งหลายของพระเจ้าหรือเรื่องการแต่งตั้งศาสดาและเรื่องชีวิตอย่างละเอียดอ่อนมาก

ปรัชญาของมุลลาศอ็ดรอเน้นนักในเรื่องจิตและพระเจ้าเป็นอย่างยิ่งถ้าเราพินิจในตำราทางด้านปรัชญาของมุลลาศอ็ดรอ เช่น หนังสือ อัลฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ หรือรู้จักในนามของอัลอัสฟาร อัลอัรบะอะฮ์ หรือหนังสือ ชะวาฮิดุลรุบูวียะฮ์กิตาบมับดะวัลมะอาดและอื่นๆในตำราเหล่านั้นได้กล่าวถึงจุดหมายปลายทางของจิตวิญญาณและการจาริกของจิตวิญญาณสู่จุดสูงสุดและการประจักษ์แจ้งต่อมันอีกทั้งกล่าวถึงการเข้าถึงความจริงสูงสุด

ชีวประวัติของมุลลา ศอ็ดรอ

ชื่อเต็ม ศ็อดรุดดีน มุฮัมมัด บิน อิบรอฮีม ชีรอซีย์ รู้จักกันในนามของ”มุลลา ศ็อดรอ” หรือ “ศ็อดรุลมุตะอัลลีฮีน” ได้ถือกำเนิดปี ๙๗๙แห่งฮิจเราะฮ์เมืองชีรอซประเทศอิหร่านท่านมุลลาศ็อดรอมาจากตระกูลของขุนนาง เพราะว่าบิดาของท่านนั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสมัยการปกครองราชวงศ์ซอฟาวีย์ มุลลาศอ็ดรอได้เรียนรู้วิชาการอิสลามจากปวงปราชญ์จากสำนักคิดชีอะฮ์ และได้อยู่ในเมืองชีรอซจนอายุได้ ๒๑ ปี ต่อมาได้เดินทางมายังเมือง กัซวีน(อยู่ทางตอนเหนือของกรุงเตหราน) และในปี ฮิจเราะฮ์ที่ ๑๐๐๐นั้นได้พำนักอยู่ ณ เมืองกาชานอยู่ระยะหนึ่งและได้เรียนวิชาการทางศาสนากับท่านชาร์ มุรตะฎอ เป็นบิดาของท่านไฟด์ กาชานีย์

มุลลาศ็อดรอ ได้เป็นศิษย์ของปราชญ์ยิ่งใหญ่แห่งยุค คือท่าน เชค บะฮาอุดดีน อามิลี หรือรู้จักในนามของ”เชคบะฮาอีย์”และเป็นศิษย์ของท่าน”มีรดามอด”ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นปราชญ์เรืองนามของสำนักชีอะฮ์ โดยที่มุลลาศอ็ดรอได้รับองค์ความรู้ด้านศาสนวิทยากับท่านเชคบะฮาอีย์ ส่วนวิทยาการด้านปรัชญานั้นได้ร่ำเรียนกับท่านมีรดามอดและต่อมาได้เดินทางมายังเมืองอิศฟาฮานกับทางเชคบะฮาอีและท่านมีรดามอด ต่อมาได้เดินทางไปยังเมืองกุม และได้ปฎิบัติธรรมจาริกทางจิตวิญญาณ เน้นทางด้านรหัสยะเพื่อบรรลุธรรมขั้นสูง และถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดของมุลลาศ็อดรอก็ว่าได้ เพราะว่าท่านได้เขียนหนังสือ”อัสฟาร อัลอัรบะอะฮ์”(คือการจาริกสี่ขั้นสู่ความจริงสูงสุด) และต่อมาท่านมุลลาศ็อดรอ ได้เดินทางกลับเมืองชีรอซอีกครั้ง และได้เปิดสถาบันการศึกษาขึ้น และเป็นสถาบันที่ลือชื่อและถูกรู้จักไปทั่ว เพราะมีสานุศิษย์มาเรียนกับท่านอย่างมากมาย หนึ่งจากสานุศิษย์ชื่อดังของท่านมุลลาศ็อดรอ คือท่าน ไฟฎ์ กาชานีย์ และท่านมุลลา อับดุลรอซัก ลาฮีญีย์ ซึ่งต่อมาบุคคลทั้งสองเป็นนักปรัชญาที่นำแนวทางปรัชญาฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์มาเผยแพร่ หลังจากนั้นมุลลา ศ็อดรอได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และในปี๑๐๕๐ฮิจเราะฮ์เดินทางกลับ และได้เสียชีวิต ณ เมืองบัศเราะฮ์ ประเทศอิรัก

ผลงานทางวิชาการ

ก.อัลฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ หรือรู้จักในนามของ”อัสฟาร อัลอัรบะอะอ์” เป็นหนังสือที่โด่งดังที่สุดของมุลลาศอ็ดรอ เป็นหนังสือปรัชญาในสำนักของเขา มีทั้งหมด ๙ เล่ม จะกล่าวถึง การจาริกทางจิตวิญญาณ สี่ระดับขั้น

ข.อัชชะวาฮีดุลรุบูบียะฮ์ เป็นหนังสือปรัชญาเชิงลึกที่เป็นทัศนะเฉพาะของมุลลาศ็อดรอ โดยการได้รับองค์ความรู้จากการเปิดเผยทางด้านจิตวิญญาณ

ค.อัลมับดะวัลมะอาด เกี่วกับพระเจ้าและชีวิตโลกหน้า

ง.ตะลีกอต อัชชีฟาห์ อิบนิสีน่า เป็นหนังสือที่อรรถาธิบายหนังสือของอิบนุสีน่า

จ. ชัรฮุ อุศูลิลกาฟีย์ เป็นหนังสืออรรถาธิบายหนังสืออัลกาฟีย์

เอกลักษณ์สำนักปรีชาญาณสูงส่ง

จากบริบททางประวัติปรัชญาอิสลามชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆและการเกิดสำนักปรัชญาอิสลาม บ่งบอกถึงความพัฒนาทางปัญญาและการเข้าถึงความจริงสูงสุดมากขึ้นทุกวินาที นั่นเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าศาสตร์ปรัชญาไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ดังนั้นท่านมุลลาศ็อดรอได้เริ่มบริบทใหม่ทางปรัชญาอีกครั้ง ด้วยการพัฒนาศาสตร์ปรัชญาถึงขั้นสูงสุด นั่นหมายความว่ามุลลาศ็อดรอ พยายามจะนำทฤษฎีและแนวคิดทางปรัชญาทั้งปรัชญาของนักคิดต่างชาติ ไม่ว่าจะมาจากซีกตะวันตกอย่างเช่น ปรัชญาสำนักกรีกโบราณ เช่น แนวคิดทางปรัชญาหรือทางอภิปรัชญาของเพลโต หรือ อริสโตเติล และท่านอื่นๆที่มีอิทธิพลในโลกปรัชญา หรือแม้แต่ในซีกโลกตะวันออก ท่านมุลลาศ็อดรอก็ได้นำมาศึกษาและเปรียบเทียบหาจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละสำนัก ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาของศาสนาฮินดู ปรัชญาของศาสนาพุทธ ปรัชญาศาสนาเต๋า

มุลลาศ็อดรอได้ชื่นชมและนิยมในตัวของอริสโตเติลอย่างมาก และได้เขียนคำนิยมในตำราของท่านเองเกี่ยวกับความปรีชาสามารถทางสติปัญญาของอริสโตเติลที่น่าพิศวงที่เดียว เป็นบุคคลที่อัจริยะ มีพรสวรรค์ทางด้านการเสนอความคิดและทฤษฎีทางปรัชญาอย่างล้ำลึก นั่นเป็นการชี้ให้เห็นว่า ปรัชญาสำนักปรีชาญาณสูงส่งของมุลลาศ็อดรอไม่ได้ปฏิเสธหลักคิดเชิงลึกทางอภิปรัชญา และยังสื่อให้เห็นว่า เขานั้นเห็นด้วยกับนักปรัชญามุสลิมในยุคต้นๆ ไม่ว่า อัลกินดีย์ ท่านฟารอบีย์ ท่านอิบนุสีน่า เพราะว่านักปรัชญามุสลิมในยุคต้นๆนั้นได้นิยมปรัชญาแบบฝั่งซึกตะวันตก คือนิยมในอภิปรัชญาของอริสโตเติลหรืออภิปรัชญาของเพลโต

แต่ทว่ามุลลา ศ็อดรอก็ได้วิพากษ์ปรัชญาอิสลามในยุคต้นๆ โดยเฉพาะปรัชญาสำนักมัชชาอียะฮ์ ที่อยู่ในปรัชญาเหตุผลนิยมชัด ว่า แท้จริงแล้วจุดอ่อนของปรัชญาสำนักนี้ยังต้องพึ่งพาและผ่านการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งอีก ถึงจะสามารถบรรลุขั้นสูงทางอภิปรัชญาที่แท้จริง นั่นคือการ การให้ความสำคัญด้านการจาริกทางจิตวิญญาณและการแสวงหาความจริงด้วยการประจักษ์แจ้งทางจิต โดยผ่านการปฎิบัติธรรมและนั่งสมาธิตามวิถีแห่งสำนักรหัสยนิยม เพราะว่าการเข้าหาด้านรหัสยนิยมนั้นเป็นำการประจักษ์แจ้งที่ไม่มีวันจะผิดพลาด ส่วนการผ่านกระบวนการคิดและการเพ่งพินิจทางปรัชญาอาจจะตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาด และผลสุดท้ายก็จะได้ผลลัพท์ที่ผิดพลาดตามไปด้วย และนั่นคือจุดอ่อนของสำนักปรัชญาอิสลามมัชชาอียะฮ์

มุลลา ศ็อดรอได้กล่าวชื่นชมอิบนุสีน่า ว่าเป็นความภาคภูมิและเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับโลกอิสลามทีมีนักปรัชญาอย่างอิบนุ สีน่า และมุลลา ศ็อดรอชี้ให้เห็นว่า แม้แต่บั้นปลายชีวิตของอิบนุ สีน่า ก็ยังได้กล่าวถึงตำแหน่งและระดับขั้นของนักรหัสยนิยมไว้ในหนังสือ”อัลอิชารอต วัตตัลบีฮาต” อย่างน่าสนใจทีเดียว

และในขณะเดียวกันก็ได้แสดงความชื่นชมต่อสำนักปรัชญาอิชรอกียะฮ์ของเชคอิชรอ็ก และยอมรับว่าเชคอิชร็อกได้พยายามจะสร้างความสมดุลย์ระหว่างปรัชญากับรหัสยวิทยา แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะหลายเหตุผลและหลายปัจจัย มุลลาศ็อดรอได้ชื่นชม อิบนุอารอบีย์เป็นอย่างยิ่งและถือว่าเป็นบิดาแห่งนักซูฟีทั้งหลาย แต่ท่านก็ได้วิพากษ์ว่า สำนักอิชรอกียะฮ์หรือสำนักซูฟีแบบอิบนิอารอบีย์ ยังขาความเชื่อมั่นต่อนักเทววิทยา เพราะทำให้นักเทววิทยาและนักนิติศาสตร์อิสลามได้ถล่มและต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากเนื้อหาหรือคำสอนนั้นในภาพภายนอกเป็นที่ตั้งข้อสังเกตของนักเทววิทยาและดูจะออกนอกลู่นอกทาง

ดังนั้นมุลลา ศ็อดรอได้พยายามจะหาจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่สำนักปรัชญา อีกทั้งหาจุดร่วมกันและกัน และในอีกมุมหนึ่งพยายามจะสร้างความเข้าใจระหว่างนักเทววิทยาและนักนิติศาสตร์อิสลาม ด้วยการหยิบยกคำอ้างอิงที่เป็นตัวบทจากคัมภีร์อัลกุรอานและฮะดีษของศาสดา และจุดเด่นหนึ่งของมุลลา ศ็อดรอคือการนำอัลกุรอานและฮะดีษจากบรรดาอิมามแห่งอะลุลบัยต์ศาสดามาตีความปรัชญาแนวปรีชาญาณสูงส่ง จนปรากฏเป็นพยานหลักฐานว่า อัลกุรอานกับปรัชญามิได้ขัดแย้งต่อกัน และทำความเข้าใจว่าอัลกุรอานและปรัชญาต่างเกื้อกุลต่อกันและกัน และนั่นเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงโลกปรัชญาอิสลามครั้งสำคัญและครั้งยิ่งใหญ่ทีเดียว

 

ทฤษฎีหลักเอกภาพในพหุภาพทางภวันต์

สำนักปรัชญาฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮนี้ ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างวิธีทั้งสามเข้าด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งประวัติศาสตร์ทางปรัชญาได้จารึกไว้ว่า เป็นเวลานับพันปีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้ ถึงกับนักปรัชญาต้องถูกนักนิติศาสตร์ออกคำวินิจฉัยว่าเป็นพวกนอกรีตและถูกจองจำมาตลอด และประวัติปรัชญาเก่าแก่ทั้งปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก ไม่ว่าในอียิปต์โบราณ หรือในนครรัฐกรีก ก็ไม่สามารถจะสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นเช่นนี้ได้เหมือนกับที่สำนักปรัชญาฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮได้นำเสนอ สรุปผลก็คือ

๑)เนื้อหาทางปรัชญาและปัญหาทางปรัชญาจากตำราปรัชญายุคก่อนๆหรือตำราที่ได้ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ หรือตำราที่นักปรัชญามุสลิมได้ประพันธ์ขึ้นมาในช่วงแรกๆมีเพียง๒๐๐เรื่องเท่านั้น แต่ปัญหาทางปรัชญาของสำนักฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮนั้น มีถึง ๗๐๐ เรื่อง

๒)ปัญหาทางปรัชญาของสำนักมัชชาอียะฮ(สำนักเหตุผลนิยมจัด) ที่ได้นิยมในปรัชญากรีกแนวของอริสโตเติล และได้รับอิทธิทางแนวคิดจากปรัชญากรีกจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม การเรียบเรียงเนื้อหาทางปรัชญานั้น ไม่เป็นระบบอีกทั้งไม่ความสัมพันธ์กันทางเนื้อหาเลย แต่สำนักดังกล่าวนี้มีเอกลักษณ์ที่เป็นแนวคณิตศาสตร์ วิธีคิดเชิงตรรกะ และได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองวิชาดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง ถึงกับการแก้ปัญหาบางข้อของปัญหาทางคณิตศาสตร์ ด้วยหลักทฤษฎีทางปรัชญา และปัญหาทางปรัชญาใช้หลักทฤษฎีทางคณิตศาสตร์และตรรกะ ดังนั้นจะเห็นจุดเด่นของปรัชญของสำนักนี้ คือความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับธรรมชาติวิทยาแบบแนวดั้งเดิม


๓)ปรัชญาที่เคยเป็นวิชาที่ยากและกระด้าง ไม่เป็นที่น่าสนใจ ได้ถูกเปลี่ยนอัตลักษณ์นั้นไปอย่างสิ้นเชิง โดยการมาของสำนักฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ(ปรัชญาสูงส่ง) โดยสร้างความสนใจแก่นักนิติศาสตร์ นักคิดผู้มีปัญญาขั้นสูง และนักรหัสยะ โดยที่ปรัชญาดังกล่าวยังได้สร้างความน่าสนใจตรงที่ว่าศาสตร์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาใหม่ในโลกปัจจุบัน ที่บางปัญหายังแก้ไม่ได้หรือยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และมีความหวังที่จะได้รับ การไขปริศนานั้นและคลี่คลาย ก็ด้วยกับหลักปรัชญาแนวดังกล่าวนั้นเป็นผู้แก้ไขและไขปริศนานั้นให้ได้อย่างลงตัว หรือยังนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่นทฤษฎีการเคลื่อนของแก่นสสาร(ฮะรอกัตญูฮารียะฮ) เป็นทฤษฎีทีได้นำมาแก้ปัญหาทางปรัชญาและทางด้านวิทยาการอื่นๆ ซึ่งได้นำมาใช้ได้ผลมาแล้วก่อนสามร้อยปีที่แล้วโน้น(แต่บางสำนักปรัชญายังแก้ไม่ตก) และปัญหาขององค์ประกอบทั้งสี่ของสสารและอืนๆ ที่ได้นำทฤษฎีเหล่านั้นมาไขปัญหา จนสำเร็จเกิดขาดทีเดียว

ปรัชญาอิสลามกับทฤษฎีหลักเอกภาพในพหุภาพ

ในปรัชญาอิสลามมีเนื้อหาหนึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญและถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของสำนักปรัชญาอิสลาม คือเรื่อง” หลักเอกภาพในพหุภาพ” เป็นหลักคิดที่มีมุมมองต่อเอกภพในองค์รวมดังนี้

ก.ตามหลักปรัชญาและทฤษฎีทางปรัชญาเชื่อว่าโลกใบนี้และเอกภพมีความหลากหลายและความต่าง และความต่างนั้นแบ่งออกได้ ๓ ประเภทกลุ่มดังนี้

1) ความหลากหลายทางกายภาพ ได้แก่ สิ่งไม่มีชีวิต เช่น แร่ธาตุ ดิน น้ำ อากาศ ทะเลทราย ภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น

2) ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ สิ่งที่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ สัตว์ เชื้อโรค สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

3) ความหลากหลายทางสังคม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เช่น ประชากร เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม พิธีกรรมทางศาสนา และเทคโนโลยี เป็นต้น

ในระบบองค์รวม สิ่งแวดล้อมทั้งสามชนิดของมนุษย์จะต้องดำรงอยู่ในลักษณะประสานสัมพันธ์ สอดคล้องกลมกลืนกัน เพื่อให้เกิดภาวะดุลยภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และจากยุควัตถุนิยมที่ส่งเสริมให้มนุษย์บริโภคเกินขอบเขต ทำให้มนุษย์สร้างปรัชญาในการดำเนินชีวิต ระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ระบบการศึกษา รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างมากมายในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ข.ทุกๆความต่างนั้นมีความเหมือน นั่นคือ ความมีอยู่ หรือสถานะของความมีอยู่ ความเป็นภวันต์

กล่าวคือถ้าเราได้สังเคราะห์แยกเนื้อหาย่อยของกระบวนการคิดแล้วมาวิเคราะห์และแจกแจงมัน จะพบว่าในเอกภพและสิ่งต่างๆที่อยู่บนโลกใบนี้มีความเหมือนกัน และมีสถานะอันเดียวกัน นั่นคือ ความมีหรือความเป็นภวันต์เพราะว่าทุกๆสิ่งปรากฏและดำรงอยู่ถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นมายา ไม่มีอยู่จริง เราคงไม่สามารถให้เนื้อหาแก่มันได้ว่า เป็นนก เป็นนายแดง เป็นผักบุ้งและอื่น

ค. ในความเหมือนนั้นย่อมมีความต่าง

กล่าวคือ ทฤษฎีทางปรัชญาได้กล่าวว่าเมื่อมีสิ่งสองสิ่งเกิดขึ้นย่อมมีความเหมือนและความต่าง และในความต่างนั้นย่อมมีความเหมือนซึ่งทั้งสองมิตินั้นจะอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลต่อกันและจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความเหมือนกันหมดแต่ไม่มีความต่างอยู่เลยซึ่งเป็นหลักธรรมชาติของโลกสสารและโลกวัตถุที่จะต้องธำรงอยู่ในสภาพเช่นนี้

.ง.ระหว่างความเหมือนกับความต่างของสรรพสิ่ง มีอยู่ประการหนึ่งเป็นแก่นแท้

กล่าวคือจากความหลายหลายที่เราประจักษ์ด้วยสายตามหรือจากความต่างที่เรารับรู้ด้วยผัสสะของเราหลักปรัชญาอิสลามได้นำมาวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วในความต่างและความเหมือนนั้นมีโครงสร้างอยู่ ๒ อย่าง และหนึ่งจากสองโครงสร้างเป็นแก่นแท้ เป็นเนื้อแท้ของสรรพสิ่งนั้น และโครงสร้าง ๒ อย่างคือ

๑. ภวันตภาพ คือความมีและการเป็นอาตมัน เช่น ความมีอยู่ของตัวเสือ ความมีอยู่ของตัวแมว

๒. คุณานุภาพ คือ ลักษณะเฉพาะหรือความเป็นอกลักษณะของตัวตน เช่น ความเป็น แมว ความเป็นเสือ

หลักปรัชญาอิสลามเชื่อว่า ภวันตภาพนั้นคือตัวแท้ของสรรพสิ่ง ส่วนความเป็นแมว ความเป็นเสือ เรียกว่า คุณานุภาพ เป็นผลผลิตของภวันตภาพ

จากทฤษฎีปรัชญาอิสลามเรื่องของการเอกภพและโลกทำให้เราเข้าใจได้ว่าแท้จริงสรรพสิ่งทั้งหมดซึ่งมนุษย์เป็นส่วนย่อยหนึ่งของเอกภพนั้นมีความสัมพันธภาพกันอย่างลึกและอย่างแนบแน่นทำให้เข้าใจได้ว่าความต่างและความเหมือนคือกฏธรรมชาติหนึ่งของเอกภพดังนั้นการจะสร้างความสมดุลภาพของเอกภพคือการสร้างเอกภาพในพาหุภาพซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งของนักปรัชญามุสลิม และเป็นเอกลักษณ์ของสำนักปรัชญาฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ จนสามารถนำมาเป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยาและศาสนสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตของมนุษยชาติบนความหลากหลาย และผ่านมุมมองที่ถูกต้องและอยู่บนความเป็นจริงหนึ่งว่า มนุษย์นั้นเป็นส่วนย่อยหนึ่งของเอกภพและมนุษย์สามารถสร้างสัมพันธภาพกับสรรพสิ่งต่างๆได้ทั้งหมด โดยเฉพาะความสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

หากพิจารณาจากยุคสมัยต้นๆของการกำเนิดปรัชญาอิสลาม และประวัติปรัชญามุสลิม จะพบว่านักปรัชญามุสลิมเปิดความคิดและยอมรับกระบวนการทางความคิดของต่างชาติและเห็นว่าการนำเสนอแนวคิดทางปรัชญาไม่ใช่เป็นเรื่องของชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติและศาสนาและนักปรัชญามุสลิมพยายามจะหลีกเลี่ยงความเป็นชาตินิยมทางความคิดโดยที่พวกเขาพยายามหาโอกาสในการสนทนาแลกเปลี่ยนวิชาการพร้อมกับพูดคุยถึงแนวคิดทางปรัชญาของกันและกัน เช่นท่านอบูอิสฮากอัลกินดีย์(Abu-Ishakh Al-Kindi)เป็นนักปรัชญามุสลิมที่นิยมในปรัชญาของอริสโตเติลเป็นอย่างมาก หรือท่าน อัลฟาอรอบีย์(Al-Farabi) ท่านอเวน สีน่า (Aven cina) และถ้าสืบค้นไปสมัยก่อนหน้านั้นที่ปรัชญาอิสลามเริ่มก่อตัวในสมัยการปกครองของราชวงศ์บะนีอับบาส(Abbaziyah)ชาวมุสลิมยินดีที่จะรับแนวคิดปรัชญาแบบกรีกโบราณหรือแบบตะวันออก โดยปราศจากการปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของเพลโต อริสโตเติล หรือนักปรัชญาคนอื่นๆ ตลอดจนทำให้ความความสนอกสนใจต่อศาสตร์ปรัชญาได้ทวีคูณมากยิ่งขึ้นในสมัยนั้น หรือแม้แต่ศาสตร์อื่นๆที่มาจากจีนหรืออินเดีย ก็ได้รับการขานรับจากปราชญ์มุสลิมเป็นอย่างดี และจนถึงปัจจุบันนี้การศึกษาด้านปรัชญาในแวดวงของมุสลิมยังได้ศึกษาแนวคิดต่างๆทางปรัชญามีสาขาปรัชญาตะวันตกสาขาปรัชญาตะวันออกหรือปรัชญาเปรียบเทียบในมหาวิทยาลัยอิสลามและการสนทนาหรือการเสวนาทางความคิดของนักปรัชญามุสลิมกับนักปรัชญาที่ไม่ใช่มุสลิมมีมาทุกยุคทุกสมัยและจากบริบทดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าปรัชญาอิสลามได้บูรณาการจากองค์ความรู้ด้านปรัชญาและแนวทางของนักปรัชญาที่เป็นคำสอนของอิสลามให้รู้จักการให้เกียรติผู้อื่นไม่ยึดมั่นถือมั่นพร้อมที่จะสรรสร้างความถูกต้องและความสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้

 

บรรณานุกรม

فخری ما جد1387 طهران -ايران : مولف : اسلام درجهان سير فلسفه

فلسفه فلسفه اسلامی : عبد الحسین خسروپناه قم- ايران 1392

آموزش فلسفه : آیه الله مصباح یزدی قم- ايران 1387

کلام عرفان وحکمت عملی : شهید مطهری قم- ايران-1382

تاریخ فلسفه اسلامی : هانری کوربن قم- ايران1388

در جستجوی عرفان اسلامی : مصباح یزدی قم- ايران 1391

 

فلسفه اخلاق : مصباح یزدی قم- ايران1389

 

عبد الحسین خسرو قم- ايران1390 : دین فلسفه

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม