อะบูอาลี ซีนา

อะบูอาลี ซีนา (Avicenna)

อะบูอาลี ซีนา นักปราชญ์ นักปรัชญา นักการแพทย์ และผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ของอิหร่าน (เปอร์เซีย) โลกได้รู้จักเขาในชื่อว่า แอวิเซนนา (Avicenna) และเขามีสมญานามว่า “หัวหน้าแห่งการแพทย์” อะบูอาลี ซีนา เกิดเมื่อ ค.ศ.980 ณ เมือง บุคอรอ
อิหร่านได้กำหนดให้วันที่ 1 ชะรีวาร (เดือนอิหร่าน) ซึ่งตรงกับวันเกิดของอะบูอาลีซีนาเป็นวันแพทย์แห่งชาติของอิหร่าน เพื่อรำลึกถึงคุณูปการที่อะบูอะลีซีนาได้กระทำไว้

อะบูอาลีซีนาไม่ได้เป็นเพียงแค่หนึ่งในนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์การแพทย์ตลอดกาลอีกด้วย งานเขียนที่สำคัญที่สุดของเขาในด้านการแพทย์คือหนังสือ อัลกอนูนฟีอัฏฏิบบ์ (สารานุกรมทางการแพทย์) ซึ่งถูกเขียนขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1015 ขณะเมื่อเขามีอายุประมาณ 35 ปี โดยตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาหนังสือเล่มนี้ได้เป็นแม่บทแก่หนังสือต่าง ๆ ทั้งในดินแดนอิสลามและในยุโรป และยังถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญและทรงคุณค่าทางการแพทย์ของศูนย์วิชาการการเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วย

ชื่อเสียงของหนังสือ อัลกอนูนฟีอัฏฏิบบ์ ได้โด่งดังไปทั่ววงการแพทย์ กระทั้ง นิซามิ อารูซี (นักกวีและนักเขียนร้อยแก้วชาวเปอร์เซียระหว่างปี 1110 ถึง 1161) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ถ้าหากฮิปพอคราทีสและเกเลนยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นการสมควรที่พวกเขาจะเคารพต่อหนังสือเล่มนี้” นอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้แล้วอะบูซีนายังได้เขียนหนังสือด้านการแพทย์เล่มอื่น ๆ อีก เช่น หนังสืออัรเญาซะฮ์ ฟิตติบ ซึ่งเขียนขึ้นในรูปแบบของกวีนิพนธ์ที่สรุปออกมาจากหนังสืออัลกอนูนฟีอัฏฏิบบ์ บทความเกี่ยวกับวิธีการใช้ยาสมุนไพร เส้นเลือด โรคทางเดินกระเพาะอาหาร และอื่น ๆ เป็นต้น

ชีวิตของอะบูอาลีซีนาได้ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีและที่ปรึกษาของรัฐ ตลอดจนการเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตนต้องการซึ่งที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ด้วยความยากลำบากเหล่านั้นทำให้ตัวของเขาเกิดความอุตสาหะ กระทั้งได้เขียนหนังสือและบทความที่ล้ำค่ามากมายทั้งที่เป็นภาษาอาหรับและเปอร์เซียกว่า 450 เล่ม

ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตอันสมบูรณ์ของอะบูอาลีซีนา เขาได้ทำการเลี้ยงอาหารแก่คนยากจน ปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ และอ่านคัมภีร์กุรอ่านจบทุกสามวัน จนในที่สุดเขาได้เสียชีวิตในวันศุกร์ที่ 1 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 428 (ค.ศ.1037) ณ เมืองฮาเมดานประเทศอิหร่านขณะมีอายุ 58 ปี ทำให้เทียนชีวิตของบุคคลผู้ซึ่งเป็นนักปราชญ์แห่งโลกถูกดับลง

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน