อิมามอะลีกับหลักสิทธิมนุษยชน

อิมามอะลีกับหลักสิทธิมนุษยชน

 

โดย อิมามอะลีกับหลักสิทธิมนุษยชน

ศูนย์อิสลามศึกษา  วทส.

 

 

อิมามอะลีกับหลักสิทธิมนุษยชน

มนุษย์ได้ถือกำเนิดมาโลกใบนี้ช้านานหลายพันปีมาแล้ว และเป็นสัตว์ที่มีความประหลาดและน่าสนเท่ยิ่งนัก และยังถือว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณลักษณะพิเศษเดียว นั่นคือเป็นสัตว์แห่งปัญญาและมีจิตวิญญาณ พร้อมที่จะก้าวสร้างจินตการและความหวังต่างๆให้เป็นรูปธรรม โดยสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก็เช่นเดียวกันพลานุภาพของมนุษย์ที่อยู่ในฐานะบุคคลแห่งพระเจ้าสามารถสร้างคนและพัฒนาคนให้บรรลุความเป็นอารยะบุคคล แล้วเกิดสังคมที่ดีงามและมีคุณธรรม

ชาวกรีกโบราณ ได้สำแดงความสูงส่งและเกียรติยศอย่างน่าภาคภูมิ ซึ่งพวกเขาได้สร้างปรากฏการณ์ ไม่ว่าทางด้านศิลปะ โดยการนำเสนอความงดงามอย่างประณีต ได้สร้างกระบวนการทางความคิด ทางปรัชญา ทางศิลปะ วิทยาการ จริยศาสตร์ และทั้งหมดของทุกๆศาสตร์ หรือแม้แต่การสำแดงออกถึงความมีเสรีภาพและอิสรภาพของความเป็นมนุษย์ โดยพวกเขาได้วางรากฐานสำคัญ และสร้างรากฐานนั้น จนทำให้มหานครเอเธนท์ แห่งนครรัฐกรีก ได้กระจ่อนชื่อเสียงอันอุโศก และเป็นมหานครที่ คนทั่วทุกมุมโลกปรารถนาจะไปสังครั้งเพื่อเชยชมมันและได้สร้างแรงดึงดูดและแรงปรารถนาที่ทำให้ทุกสายตาหันมาสนใจมัน

ประวัติศาสตร์ความเป็นสากลและเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ คือปัญหาหนึ่งที่เป็นโครงสร้างหลักและถือว่าเป็นความจำเป็น นั่นคือความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เป็นปัจเจกหรือส่วนที่เป็นสังคม นั่นคือมนุษย์ทุกคนต้องการและปรารถนา ต่อสัจธรรมและความก้าวหน้าทางกายภายและจิตภาพ เพราะว่ามนุษย์จากสมัยเริ่มแรกจนถึงยุคปัจจุบันก็มีแรงปรารถนาดังกล่าวอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

หากเราก้าวเท้าและท่องเดินไปในโลกใบนี้ด้วยกับกฏเกณท์ของการเชื่อมั่นที่ว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนโลกได้ นั่นคือ การมองหาผู้เสียสละและสืบค้นหาวีรบุรุษสักคนหนึ่ง โดยผ่านการมองประวัติศาสตร์ของคนบางคนที่ได้สร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวโลกไว้นั้น  ข้าพเจ้าคิดว่าประวัติศาสตร์ของชาวอาหรับก็มีส่วนที่สร้างปรากฏการณ์นั้นอย่างความน่าสนอกสนใจและมีความมหัศจรรย์ยิ่งนัก นั่นคือ การปรากฏเกิดของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ผู้มีนามว่า อะลี บินอะบีตอลิบ  บุรุษผู้นี้ได้สร้างตำนามของความงดงามทางศิลธรรม ผู้สร้างตำนานแห่งความรักและการอภัย และยังสำแดงออกถึงความเป็นอารยะบุคคลระดับสูง ผู้มีธรรมะอันสูงส่ง เป็นนักปราชญ์และนักปกครอง สร้างความยุติธรรมและทำลายความชั่วร้าย ทำลายความป่าเถื่อน และได้สรรค์สร้างความดีงามนั้นเป็นรูปธรรมและเป็นอัตลักษณ์  อีกทั้งยังได้นำเสนอชุดความคิดทางการเมืองการปกครองที่โลกจะจดจำไม่มีความลืมเลือน

                ประวัติศาสตร์และร่องรอยของมหาบุรุษแห่งโลก อะลี บินอะบีตอลิบผ่านรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง และปรากฏถึงบุคคลบางคนที่ได้สำแดงออกความงดงามและความดีงามต่อชาวโลกอย่างน่าสรรเสริญยิ่งนัก

บุคคลแห่งพระเจ้าถือว่าเป็นบุคคลสากลเป็นของทุกๆคน ไม่จำเพาะอยู่ชาติพันธุ์หนึ่งชาติพันธุ์ใด ไม่ได้เป็นของประเทศหนึ่งประเทศใด  ดั่งโซคราติส ต่างก็ได้อ้างอิงถึงความดีงามของเขา ไม่ว่าจะเป็นชาวกรีก ชาวอินเดียหรือชาวอาหรับ

คอลีฟะฮ์อะลี บินอบีฎอลิบ(อ)ก็เช่นเดียวกันเป็นมหาบุรุษของมนุษยชาติ เป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตะวันออกที่ส่งผ่านสู่ชาวโลกทั้งผอง  การมีอยู่ของเขาหรือพฤติกรรมของเขา คือความดีแห่งสากลประดุจดังดวงอาทิตย์ที่ได้ให้แสงสว่างทุกมุมโลก ทอแสงอันเจิดจรัสนั้นต่อสรรพสิ่งต่างๆทั้งที่อยู่บนบก อยู่บนภูเขา หรืออยู่ในทะเลทราย และทุกๆสถานที่จะได้รับแสงนั้นอย่างเท่าเทียมกัน  และสำหรับสิ่งต่างๆเหล่านั้น ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตจะได้รับความร้อนแห่งแสงอาทิตย์ และด้วยกับแสงนั้นจะสร้างความเจริญงอกงามแก่สิ่งเหล่านั้นและให้ชีวิตแก่สิ่งเหล่านั้น เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาเองที่ได้ปกปิดตัวเองมิให้ได้รับแสงนั้น

         

อาลี บินอะบีฏอลิบ ผู้มีธรรมะขั้นสูงและถูกรู้จักในนามผู้สำรวมตนและเป็นนักปฎิบัติธรรมเข้าถึงสารัตถะธรรมะ เป็นสาวกทรงธรรมแห่งศาสดา เป็นบุคคลต้นแบบแห่งโลกสมัยเก่าและสมัยใหม่ เป็นนักปกครองผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ผู้ยึดมั่นหลักความเที่ยงธรรมและรังเกียจความอยุติธรรม

ภาวะความสำรวมตนของอิมามอาลีไม่ได้มีผลมาจากเหตุปัจจัยภายนอกหรือจากบรรดานักพรตจากลัทธิอื่นๆใด แต่มันเกิดมาจากเงื่อนไขทางความสูงส่งทางจิตวิญญาณของอิมามอะลีเองต่างหาก ที่มีจิตอันบริสุทธิ์และได้ผ่านการฝึกปฏิบัติจิตและปฎิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จนบรรลุธรรมในระดับสูงสุด และอยู่ในฐานะเป็นบุรุษแห่งพระเจ้า( หนังสือ Ali bin AbiTalib : The Voice of Human Justice ศาสตราจารย์ ดร.จอร์ก โจร์ด๊าก อาจารย์ประจำคณะวรรณคดีอาหรับ มหาวิทยาลัยเบรุต เลบานอน)

วีรบุรุษเปรียบเสมือนพลังดึงดูดที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับมนุษยชาติและทำให้สามารถขับเคลื่อนชีวิตคนๆหนึ่งสู่ความยิ่งใหญ่และเป็นคนดีของสังคมและของโลก

วีรบุรุษเปรียบเสมือนดวงประทีปที่ให้แสงแห่งทางนำในยามที่มนุษย์ตกอยู่ในความมืด เพื่อการก้าวเดินและการมองเห็นทิศทาง

วีรบุรุษคือผู้ให้ความหวังและให้พลังศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อตนเองและการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีเป้าหมายและมุ่งไปสู่การรับใช้มนุษย์ชาติ

วีรบุรุษผู้นั้น เราพบเจอแล้ว เขาคือ อะลี บินอะบีตอลิบ เป็นวีรบุรุษผู้กล้า ผู้เสียสละ ผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นผู้ฉายแสงแห่งความดีงามเป็นบุคคลต้นแบบแห่งมนุษยชาติ

เรานั้นจะต้องไม่หมดหวังหรือพ่ายแพ้กับความพยายามที่จะยืนหยัดและมั่นคง โดยพร้อมจะถวายอุดมการณ์ เกียรติและศักดิ์ศรี เพื่อดำรงไว้อุดมการณ์ของวีรบุรุษชน เหมือนดั่งที่ อะลี บินอะบี ตอลิบได้มอบกาย ถวายชีวิต เพื่อให้คำว่า”วีรบุรุษ”เป็นอมตะและคงอยู่ตลอดไป(คำนิยม บีช๊อป มีกาเอล นะอีมะฮ์ สภาคริสตจักร กรุงเบรุต เลบานอน ต่อหนังสือ Ali Bin AbiTalib : The Voice of Human Justice)

คำสั่งเสียของอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ (อ) ที่มอบแด่บุตรชายทั้งสองของท่านหลังจากที่ถูกลอบสังหารในมัสญิดกูฟาอ์ในวันที่ 19 เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ. 40 (26 Jan 661 A.D. ) เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.โรเช่ การูดี (Roger Garaudy) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสมีความประทับใจในอิมามอะลี และเขาได้กล่าวถึงคำสั่งเสียดังกล่าวให้แก่นักศึกษาคนหนึ่งตามบทความด้านล่าง เราคงอาจมีน้ำตาคลอเบ้า เช่นเดียวกับนักศึกษาสตรีคนที่ถามศาตราจารย์ผู้นี้  ศาสตราจารย์โรเช่ การูดี (Roger Garaudy, 1913-2012) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสและอดีตนักการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและมาร์กซิสม์มากกว่า 50 เล่ม และต่อมาเข้ารับอิสลามในปี 1982 เล่าถึงประสบการณ์การสอนของเขาในครั้งหนึ่งว่า:

วันหนึ่งในขณะที่ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนอันเลื่องชื่อของฝรั่งเศส มีนักศึกษามาถามผมว่า ‘ท่านเป็นอาจารย์คนหนึ่งที่ดิฉันพยายามติดตามงานเขียนและร่วมฟังบรรยายของท่านอยู่ตลอดเวลา มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตคือ ท่านมักจะพูดถึงชื่อของบุคคลสำคัญของมุสลิมที่ชื่อ “อะลี” ใครคืออะลี แล้วทำไมเขาถึงสร้างความประทับใจให้ท่านได้ถึงขนาดนี้’ ผมบอกเธอไปว่า อะลี เป็นลูกพี่ลูกน้องของศาสดาแห่งอิสลาม และเป็นสามีของบุตรีของท่าน อีกทั้งยังเป็นแม่ทัพและเป็นบุคคลสำคัญอันดับสองในอิสลามหลังจากมุฮัมมัด และเป็นตัวแทนของท่าน ฉะนั้น อะลีจึงเป็นบุคคลสำคัญที่ไม่มีใครเสมอเหมือน

ผมขอถามคุณสักนิด เพื่อที่คุณจะได้เข้าถึงสถานภาพ หรือส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบุคคลสำคัญท่านนี้ หากว่าคุณข้ามถนนแล้วมีรถมาชน จะเกิดอะไรขึ้น เธอตอบว่า ‘ดิฉันก็ต้องตายหรือไม่ก็หมดสติไป’ ผมกล่าวต่อไปว่า ดี แล้วหากว่าคุณตกลงมาจากตึกชั้นสี่ล่ะ เธอก็ตอบด้วยคำตอบเดิม คือ หากไม่ตายก็คงหมดสติ ผมจึงกล่าวต่อว่า บุรุษผู้นี้ถูกฟันด้วยดาบในขณะที่ท่านกำลังก้มกราบพระผู้เป็นเจ้าในขณะที่ทำการนมัสการ* ซึ่งบาดแผลของท่านลึกลงไปจนถึงส่วนในของกะโหลกศีรษะ กล่าวคือ บาดแผลมันลึกลงไปจนถึงสมอง แล้วคุณคิดว่าท่านจะมีสภาพอย่างไร เธอตอบว่า ‘เขาจะต้องตายในทันใดหรือไม่อย่างดีก็สิ้นสติ’ ผมจึงบอกเธอว่า ลองคิดดู บุรุษท่านนี้มิได้เสียชีวิตในทันใด อีกทั้งยังไม่เสียสติสัมปชัญญะ ทั้ง ๆ ที่ดาบฟันลงไปถึงสมองของท่าน สมองที่เก็บรักษาวิทยปัญญาและคลังความรู้ โดยที่ท่านไม่เสียสติหรือประสบกับสภาพที่ผู้คนทั่ว ๆ ไปต้องประสบ และหลังจากที่ถูกฟันเพียงวันเดียวท่านก็กล่าวคำสั่งเสียแก่หะซัน บุตรคนโตของท่านทั้ง ๆ ที่ท่านนอนป่วยอยู่บนเตียงในสภาพที่ใกล้ตายด้วยบาดแผลที่ลึกลงไปถึงด้านในของสมอง คำสั่งเสียของท่านในวันนั้นถือได้ว่าเป็นคำสั่งเสียที่ดีที่สุดที่มรดกทางปัญญาของมนุษย์ได้รับรู้มาในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นคำสั่งเสียที่รวบรวมไว้ซึ่งวิทยปัญญา คำสอน และความเมตตา ท่านบันทึกคำสั่งเสียที่งดงามนั้นด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ในฐานะของบิดาคนหนึ่งที่ทำการสั่งเสียบุตรของเขา ท่านกล่าวกับหะซัน บุตรของท่านว่า

“โอ้ลูกเอ๋ย จงปฏิบัติอย่างนิ่มนวลต่อเชลยของเธอ (ฆาตรกร) จงแสดงความเมตตาต่อเขา ปฏิบัติดีต่อเขา และแสดงความกรุณาต่อเขา ด้วยสิทธิที่พ่อมีต่อเธอ โอ้ลูกเอ๋ย จงมอบอาหารให้แก่เขาจากอาหารที่เธอกิน จงมอบน้ำที่เธอดื่มให้เขาดับกระหาย และจงอย่าพันธนาการมือและเท้าของเขาด้วยโซ่ตรวน และหากว่าพ่อตายไปก็จงลงโทษเขาด้วยการฟันเพียงครั้งเดียว (เพื่อเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม) แต่จงอย่าเผาเขาด้วยไฟ และอย่าทำลายศพของเขา เพราะพ่อเคยได้ยินท่านตาของเธอ ศาสนทูตแห่งพระเจ้า กล่าวว่า พวกท่านจงอย่าทำลายศพ ถึงแม้ว่าจะเป็นศพของสุนัขที่ดุร้าย แต่หากพ่อรอดชีวิตพ่อก็มีสิทธิที่สุดที่จะอภัยให้แก่เขา และพ่อนั้นรู้ดีในสิ่งที่พ่อกระทำ พ่อขอสั่งเสียเธอทั้งสอง (หะซันและหุเซน) ให้ยึดมั่นในการยำเกรงต่อพระเจ้า และจงอย่าถวิลหาโลกใบนี้ถึงแม้ว่ามันจะถวิลหาเธอทั้งสอง และจงอย่าโศกเศร้าเสียใจในสิ่งที่เธอสูญเสียไปในมัน จงกล่าวในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและจงปฏิบัติเพื่อผลตอบแทน (จากพระเจ้า) จงเป็นศัตรูต่อผู้อธรรมและจงเป็นผู้ให้การช่วยเหลือต่อผู้ถูกกดขี่…”

การูดีกล่าวต่อไปว่า

“เพียงแค่คำสั่งเสียบางส่วนที่ผมได้เล่าให้นักศึกษาคนนั้นฟัง ผมสังเกตเห็นน้ำตาของเธอไหลหลั่งออกมาในขณะที่เธอกำลังรับฟังคำสั่งเสียต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เอง นักศึกษาคนนั้นจึงเข้าใจว่าเหตุใดผมจึงประทับใจในบุรุษที่ชื่ออะลี”(ถอดความโดย Miqdad Wongsena-aree * เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรุ่งอรุณของวันที่ 19 รอมฎอน ฮ.ศ. 40 ( 26 มกราคม ค.ศ. 661) และคำกล่าวที่ท่านกล่าวขณะถูกฟันที่ศีรษะคือ فزت وربّ الكعبة – “ขอสาบานด้วยกับพระผู้อภิบาลแห่งอัล-กะอฺบะฮฺ ฉันพบกับความสำเร็จแล้ว” เพราะท่านปรารถนาที่จะสิ้นชีวิตในขณะเสียสละตนในวิถีทางของพระองค์ตลอดชั่วชีวิตของท่าน ตั้งแต่เมื่อครั้งนำตนเองเสี่ยงชีวิตแทนท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ด้วยการนอนบนที่นอนของท่าน ในขณะที่ชาวกุเรชมาล้อมเพื่อสังหารท่านศาสดา โดยขณะนั้นท่านยังมีอายุในเยาว์วัย จนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของท่านเมื่ออายุ 59 ปี)

 

สิทธิมนุษยชนในมโนทัศน์อิมามอะลี

แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้กำเนิดเป็นทางการครั้งแรกใน คริสต์ศตวรรษที่ 13 (หลังจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามนานถึง 7 ศตวรรษ) อันสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปชนชั้นในยุโรป ต่อมาได้มีการวิวัฒนาการในสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการป้องกันการเหยียดผิว การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการป้องกันความอยุติธรรมในสังคม จนกระทั่งได้มีการยกย่องว่า ศตวรรษที่ 18 คือ ศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน

องค์กรสิทธิมนุษยชนได้รับการก่อตั้งครั้งแรกโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ.1945 และในปี ค.ศ.1948 ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ซึ่งถือเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลในทุกปีนับแต่นั้นมา

ชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจว่าโลกตะวันตก คือ ฝ่ายที่ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนก่อนใคร เพราะพวกเขาประกาศตนว่าเป็นกลุ่มที่พัฒนาแล้วในทุกๆด้าน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งมีข้ออ้างสามประการคือ ภารดรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในทำนองเดียวกันได้มีปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์กรสหประชาชาติได้ประกาศเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว เพื่อพัฒนาและแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่ในคำประกาศของฝรั่งเศสเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน

แต่ในความเป็นจริง มุสลิมและชาวโลกทั้งหมดต้องทราบความจริง คือ แท้จริงแล้วอิสลามได้ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า 14 ศตวรรษแล้ว ก่อนที่ฝรั่งเศสจะประกาศถึง 12 ศตวรรษ และก่อนที่องค์กรสหประชาชาติจะประกาศมากกว่า 1380 ปี

อิสลามมิได้ประกาศเรื่องนี้เฉพาะชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น หรือเฉพาะยุคใดยุคหนึ่ง แต่เป็นการประกาศเพื่อเป็นหลักการที่สมบูรณ์แบบสำหรับชาวโลกทั้งมวล อิสลามมิได้บังคับให้ผู้คนนับถือศาสนาด้วยการใช้กำลัง และใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ตามที่ถูกกล่าวหา โจมตีจากผู้ไม่หวังดีต่อศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นยังประกาศอย่างชัดแจ้งว่า อิสลามให้สิทธิเสรีภาพในความเชื่อ โดยได้รับการค้ำประกันภายใต้ร่มธงร่มเงาแห่งอิสลามอีกทั้งยังให้สิทธิและเสรีภาพทั้งทางปัจเจกบุคคลและทางสังคม

อิสลามประกาศการให้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในความเป็นมนุษย์ทางด้านสิทธิและหน้าที่ ในกรณีต่างๆที่อิสลามให้การยอมรับคือ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ในการวัดกันที่สีผิว เชื้อชาติ สายตระกูล ความมั่งมี ความยากจน  และอิสลามยังให้รายละเอียดถึงสิทธิและเสรีภาพและหลักสิทธิมนุษยชนต่อการนับถือศาสนาและต่อสตรีเพศและบุรุษเพศอย่างน่าสนใจ

อิมามอะลี(อ)เป็นผู้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล และเป็นบุคคลที่ทรงพลังในตัวเอง มีความมั่นใจสูงอีกทั้งมีความเป็นตัวของตัวเอง และนั่นเป็นการเริ่มต้นของการสร้างมุมมองและโลกทัศน์ที่ได้ผ่านการฝึกฝนจากกรอบความคิดและการมีปัญญาระดับสูงและความมีธรรมะขั้นสูงของท่าน จึงได้สำแดงของการคิดและการกระทำที่ไม่มีเลยสักเสี้ยววินาทีหนึ่งที่จะปล่อยให้เกิดการหลงใหลต่อโลกแห่งวัตถุนี้หรือโลกมายาใบนี้หรือการจะละเมิดสิทธิของผู้อื่น

การปฏิบัติต่อผู้อื่นของอิหม่ามอะลีและความประพฤติของเขาต่อผู้อื่นนั้นตั้งอยู่เสรีภาพของพวกเขา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนควรจะตัดสินสิ่งต่าง ๆ ตามวิจารณญาณของตนเองและด้วยความมีเสรีภาพ หนทางต่างๆ โดยตัวของมันเองมีประสิทธิภาพอยู่แล้วโดยไม่มีผลจากภายนอก สิ่งขัดขวางจากภายนอกในส่วนหนึ่งทำให้พวกเขาไม่อาจจะประสบผลสำเร็จได้ กิจกรรมร่วมกันจะถูกต้องเฉพาะเมื่อสอดคล้องกับหลักการของมโนธรรมที่เป็นอิสระและกฎหมายธรรมชาติ ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นสิ่งที่เป็นอิสระ คนแต่ละคนเป็นอิสระโดยหลักการพื้นฐาน ผู้ที่เป็นอิสระจะมีความรู้สึก เขาผู้นั้นจะคิดด้วยอำนาจในตัวเอง พูดด้วยความเป็นตัวของตัวเอง และกระทำด้วยวิจารณญาณของตน การทำให้เขาต้องตกอยู่ในบังคับอันที่จริงแล้วเท่ากับทำให้เขาสิ้นสุดความเป็นตัวตนที่แท้จริง ดังนั้น เราจะไปจำกัดอิสรภาพของบุคคลได้ก็เฉพาะเมื่อเป็นการชอบที่จะฆ่าบุคคลนั้นเท่านั้น

อิมามอะลีได้กล่าวไว้ว่า..
“หากฉันจะได้ครองอาณาจักรของโลกทั้งมวลนี้ โดยมีข้อแม้อยู่ว่าให้ฉันกลั่นแกล้งมดสักตัวหนึ่ง ที่มันกำลังนำเมล็ดพืชไปกินเป็นอาหาร(โดยการอธรรมต่อมดนั้น) ขอสาบานต่ออัลลอฮว่า ฉันจะไม่ทำเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด”