ประเภทของการญิฮาดในศาสนาอิสลาม

ประเภทของการญิฮาดในศาสนาอิสลาม

ประเภท “การญิฮาด” (การต่อสู้ในหนทางของศาสนา) ในอิสลาม


บรรดานักวิชาการศาสนาทั่วไปแบ่ง “การญิฮาด” (การต่อสู้ในหนทางของศาสนา) ออกเป็นสองประเภท ตามรายงานบทหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) คือ “ญิฮาดุลอักบัร” (การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในหนทางของศาสนา คือการต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำ หรือกิเลศตัณหาของตัวเอง) และ “ญิฮาดุลอัสฆัร” (การต่อสู้ที่เล็กในหนทางของศาสนา คือการต่อสู้ทำสงครามด้วยคมหอกและดาบ ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ การหลั่งเลือด การพลีเพื่อศาสนา)
ทว่าบรรดานักวิชาการศาสนาที่เป็น "อาริฟ" (ผู้รู้แจ้งในสภาวะของพระเจ้า)  ได้แบ่ง “การญิฮาด” ออกสามประเภท โดยลดระดับให้ “ญิฮาดุลอักบัร” เป็น "ญิฮาดุลเอาซัฏ" (การต่อสู้ระดับกลางในหนทางของศาสนา) เพราะ “บรรดาอาริฟ” เหล่านี้ได้กล่าวว่า “การต่อสู้เพื่อเอาชนะอารมณ์ฝ่ายต่ำของตนเองนั้น ยังไม่ใช่การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง” เป็นเพียงการญิฮาดที่อยู่ในระดับกลางเท่านั้น และการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ (ญิฮาดุลอักบัร) ที่แท้จริงในทรรศนะของบรรดาอาริฟ คือ “การต่อสู้เพื่อเอาชนะเหตุผล และสติปัญญาในการนับถือศาสนา” หมายถึงไม่ใช้เหตุผลและสติปัญญา มาวางเป็นหลักในการนับถือศาสนา ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะเข้าใจกันได้ทุกคน 
และพลังที่จะใช้ในการต่อสู้ใน "ญิฮาดุลอักบัร" นี้นั้นคือ "ความรัก" หมายถึงต้องนับถือศาสนาด้วยความรักบริสุทธิ์เท่านั้น พวกเราทุกคนก็เคยพูดและยอมรับว่า ความรักเมื่อเกิดขึ้นแล้ว บางครั้งมันไม่มีเหตุผล เพราะมีเรื่องราวในศาสนามากมาย ที่เหตุผลและสติปัญญาเข้าไปไม่ถึง ซึ่งด้วยความรักเท่านั้นที่จะทำให้ความลับต่างๆ ในศาสนาถูกเปิดเผย และบุคคลที่จะเข้าสู่ "ญิฮาดุลอักบัร" นี้ได้ เบื้องต้นเขาจะต้องเป็นผู้ที่มีชัยใน "ญิฮาดุลเอาซัฏ" ที่คนทั่วไปเรียกว่า "ญิฮาดุลอักบัร" เสียก่อนเท่านั้น
การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ศัตรูที่เราต้องพิชิต คือเหตุผลความคิดและสติปัญญา แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสนานี้ปฏิเสธเหตุผลและสติปัญญา สาเหตุที่มนุษย์ยังเข้าใจไม่ได้ เพราะมนุษย์ยังไม่มีชัยใน "ญิฮาดุลเอาซัฏ" หลายคนยังใช้อารมณ์และเหตุผลในการทำความเข้าใจศาสนา ซึ่งบางเรื่องในศาสนาไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลและและอารมณ์ของมนุษย์ มีเฉพาะแค่ความรักที่บริสุทธิ์เท่านั้น
ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางคนมีชัยแล้วใน "ญิฮาดุลเอาซัฏ" ก็มิได้หมายความว่าเขาจะมีชัยใน "ญิฮาดุลอักบัร" ทว่าบางคนแม้แต่ "ญิฮาดุลอัสฆัร" ก็ยังไม่เคยปฏิบัติ เช่นการพร้อมที่จะพลีชีวิตและทรัพย์สินในหนทางของศาสนา ดังนั้นพวกเขาจึงห่างไกลเสียเหลือเกินที่จะเข้าสู่สนามของการ "ญิฮาดุลอักบัร" 
ตัวอย่างที่ชัดแจ้งที่สุด ที่จะทำให้เราพอจะเข้าใจได้บ้างใน "ญิฮาดุลอักบัร" ก็คือ “การพลีที่กัรบาลา” โดยเฉพาะเหตุการณ์ในคืนอาชูรอที่อิมามฮูเซน (อ) ทั้งขอร้องและขอดุอาอฺให้ทุกคนละทิ้งท่านไป แต่ในทางกลับกัน บรรดาวีรชนปฏิเสธคำขอของท่านอิมามฮูเซน (อ) แน่นอนถ้าใช้สติปัญญา มนุษย์ก็จะตัดสินว่า ถ้าเราจะจากไปก็ไม่เสียหายใดๆ เพราะอิมามฮูเซน (อ) ก็ดุอาอฺให้กับการจากไป ถือว่าอยู่เหนือ "ชัรอีย์" (ข้อบังคับทางศาสนา) ไปแล้ว 
แต่เมือความรักมีชัยเหนือเหตุผลและสติปัญญา วีรกรรมอันอมตะและยิ่งใหญ่จึงเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องราวของท่าน "ญูน" เมื่ออิมามฮูเซน (อ) ไม่อนุญาตให้ออกไปทำสงคราม ถ้าหากท่านญูนใช้เหตุผลและสติปัญญา ก็เพียงพอที่จะทำให้ท่านญูนนั้นเอาชีวิตรอด และไม่มีคำตำหนิใดๆ สำหรับท่าน เพราะท่านอิมามฮูเซน (อ) ไม่อนุญาต แต่ท่านญูนกลับใช้น้ำตาล้างเท้าของอิมามฮูเซน (อ) เพื่อที่จะออกไปพลีในครั้งนี้ การกระทำครั้งนี้ของท่านญูน ไม่มีคำอธิบายใดๆ เว้นแต่ 'ความรัก' เท่านั้น


ที่มา สุนทรวลีซัยยิดสุไลมานฮูซัยนี