เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บิสมิลลาฮ์ คือ กุญแจไขความเร้นลับของชั้นฟ้าและแผ่นดิน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บิสมิลลาฮ์ คือ กุญแจไขความเร้นลับของชั้นฟ้าและแผ่นดิน

 

 บทคำอ่าน"บิสมิลลาฮิรเราะฮ์มานิรร่อฮีม"(ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณายิ่ง ผู้ทรงเมตตายิ่ง) เป็นปฐมบทของสาส์นจากฟากฟ้า เป็นคำกล่าวที่ใช้เริ่มต้นของทุกๆกิจการงาน  ซึ่งถ้าปราศจากการกล่าวบิสมิ้ลลาฮ์ จะถือว่าการงานนั้นบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ดังคำกล่าวของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ที่ว่า  "ทุกกิจการงานที่สำคัญ หากปราศจากการกล่าวบิสมิ้ลลาฮ์ การงานนั้นย่อมบกพร่อง" คือไม่บรรลุถึงเป้าหมาย ปราศจากความจำเริญ ในหลายประเพณีและวัฒนธรรมเวลาจะเริ่มกิจการงาน จะใช้นามของบุคคลสำคัญ หรือสิ่งสำคัญต่างๆที่คนในแต่ละท้องถิ่นให้เคารพศรัทธาเป็นการเริ่มต้น ซึ่งในศาสนาอิสลามใช้นามของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากจะมีนามใดที่คู่ควรไปกว่านามของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระผู้สร้าง , ทรงเป็นปฐมเหตุของทุกสรรพสิ่งและทรงเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด  ซึ่งอาจมีคนตั้งคำถามขึ้นว่าทำไมจะต้องเริ่มกิจการด้วยการกล่าวบิสมิ้ลลาฮ์ คำตอบก็คือ เมื่อเราเชื่อและศรัทธาต่อพระองค์ ทุกๆการกระทำของเราก็ปรารถนาให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและการชี้นำของพระองค์ กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือเราต้องการให้มีกลิ่นอายของพระองค์โชยอยู่ในทุกกิจการงาน เพื่อที่จะได้รับความจำเริญที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

    ในแต่ละวันสำหรับผู้ที่ดำรงนมาซวาญิบห้าเวลา  เขาจะต้องกล่าว บิสมิ้ลลาฮ์ รวมแล้ววันละสิบครั้ง นั่นย่อมบ่งบอกถึงความคุ้นเคย ซึ่งยังไม่นับรวมที่มีในนมาซมุสตะฮับ การอ่านอัลกุรอานตลอดจนการอ่านดุอาอ์ในแต่ละวัน ฉะนั้นการกล่าว บิสมิ้ลลาฮ์จึงเป็นประโยคที่คุ้นชินและผูกพันกับเรา นอกจากนี้นมาซที่ขาดบิสมิ้ลลาฮ์ก็ไม่สามารถที่จะเป็นนมาซที่สมบูรณ์ได้ ฉะนั้นแม้แต่การกล่าวยังสำคัญเพียงนี้แล้วในเชิงความหมายหรือนัยยะจะสำคัญขนาดไหน

   ในหมู่บรรดานักวิชาการด้านอัลกุรอานมีมุมมองทัศนะคติที่แตกต่างกันในเรื่องการกล่าวบิสมิ้ลลาฮ์ที่อยู่ช่วงต้นของแต่ละซูเราะฮ์(บางส่วนถือเป็นส่วนหนึ่งของซูเราะฮ์แต่บางส่วนไม่นับว่าเป็น) แต่มีความเห็นใกล้เคียงกันในเรื่องที่"บิสมิ้ลลาฮ์"ในซูเราะฮ์ฮัมด์ถือเป็นส่วนหนึ่งของซูเราะฮ์ และส่วนใหญ่ของพวกเขาได้นับ"บิสมิ้ลลาฮ์"ในซูเราะฮ์ฮัมด์เป็นหนึ่งโองการที่เป็นเอกเทศ จะอย่างไรก็ตามในเรื่องเกี่ยวกับ"บิสมิ้ลลาฮ์"ถือเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่เสมอ ในยุคสมัยของมุอาวิยะฮ์ กาหลิบของราชวงค์อุมัยยะฮ์ ได้ทำการนำนมาซแต่เขาไม่ได้กล่าว บิสมิ้ลลาฮ์ ภายหลังจากนมาซได้มีคนทักท้วงโดยทันทีว่า "ท่านขโมยโองการนี้ไปหรือว่าหลงลืม" ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอิมามบาเกร(อ)ได้กล่าวถึงการไม่กล่าวบิสมิ้ลลาฮ์ในนมาซหรือไม่นับว่าเป็นหนึ่งในโองการของอัลกุรอานว่า"พวกเขาได้ขโมยโองการที่ดีที่สุดไป"

  ในคัมภีร์อัลกุรอานมีบิสมิ้ลลาฮ์อยู่114 ที่ด้วยกัน ซูเราะฮ์ที่ไม่มีบิสมิลลาคือซูเราะฮ์อัตเตาบะฮ์หรืออัลบะรออะฮ์ และก็มีซูเราะฮ์เดียวที่ถูกกล่าวไว้2ครั้ง ในซูเราะฮ์อัลนัมล์ ซึ่งถูกกล่าวไว้ในโองการแรกและโองการที่30 นอกจากนี้บิสมิ้ลลาฮ์ยังรู้จักสั้นๆในชื่อของบัสมะละฮ์หรือตัสมียะฮ์อีกด้วย

 

ความหมายโดยรวมของบิสมิลลาฮ์

 "บาอ์" เป็นคำในภาษาอาหรับที่เรียกว่าหัรฟุลญัร ถ้ามาลำพังเพียงอักษรเดียวจะไม่มีความหมายแต่จะมีความหมายได้ก็เมื่อมีคำที่เชื่อมสัมผัสถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ ในภาษาไทยอาจแปลเป็น"ด้วย"หรือ"โดย" ในที่นี้หมายถึงเมื่อรวมเข้ากับคำว่าอิสมุน(แปลว่า:นาม-ชื่อ)กับคำว่าอัลลอฮ์(นามของพระเจ้า)  จึงแปลได้ใจความว่า ข้าขอเริ่มต้นด้วยนามของอัลลอฮ์ , ข้าขอความช่วยเหลือด้วยนามของอัลลอฮ์ หรือในความหมายทางรหัสยนัย "การมี(วุญูด)ปรากฎขึ้นด้วยกับนามของอัลลอฮ์"

คำว่า "อิสมุน"  แปลว่า ชื่อหรือนาม  มาจากรากศัพท์ที่ให้ความหมาย สัญญานหรือสัญลักษณ์  เดิมทีเป็น "บิอิสมิลลาฮ์" เนื่องด้วยกับการใช้บ่อยครั้งและง่ายต่อการออกเสียงจึงกลายเป็น "บิสมิลลาฮ์"

คำว่า"อัลลอฮ์" หมายถึงนามของพระองค์ เป็นนามที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์แบบที่สุด เดิมที มาจากคำว่า "อัล อิละห์" ซึ่งอิละฮ์หมายถึงสิ่งที่ถูกเคารพสักการะ คำว่าอัลลอฮ์เป็นคำที่ใช้มาก่อนหน้าอิสลาม เป็นนามที่รู้จักกันทั่วไปในฐานะของพระผู้เป็นเจ้า

"อัรเราะฮ์มาน" หมายถึงความเมตตา กรุณา ที่ครอบคลุมเหนือทุกสรรพสิ่ง และด้วยนามนี้เองความเมตตาของพระองค์จึงแผ่ไพศาลครอบคลุมอยู่เหนือทุกสรรพสิ่ง แต่ใช้เป็นนามเฉพาะสำหรับพระองค์เท่านั้น

"อัรร่อฮีม" หมายถึงความเมตตา แต่เป็นความเมตตาเฉพาะสำหรับผู้ศรัทธาต่อพระองค์เท่านั้น แต่เป็นนามที่สามารถใช้นอกเหนือจากพระองค์ได้

ความสำคัญของบิสมิ้ลลาฮ์ : เป็นสิ่งที่บรรดาศาสดาทั้งหลายได้นำมาใช้เช่น ท่านนบีนูฮ์ ใช้ "บิสมิ้ลลาฮ์" เป็นสิ่งบังคับเรือของท่านในการแล่นกับในการหยุด  อัลกุรอานได้กล่าวว่า"และเขากล่าวว่า พวกท่านจงลงในเรือ  ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ทั้งในยามแล่นและในยามจอดของมัน"(ซูเราะฮ์ฮูด/41) ท่านนบีสุไลมาน

ใช้หัวหนังสือในการส่งสาส์นให้กับราชินีแห่งชีบาด้วยบิสมิ้ลลาฮ์  อัลกุรอานได้เล่าถึงในเรื่องนี้ว่า “แท้จริงมันมาจากสุลัยมานและแท้จริงมันเริ่มว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณายิ่ง ผู้ทรงเมตตายิ่ง”(ซูเราะฮ์อัลนัมล์/30)   นอกจากนั้นยังมีคำกล่าวของท่านอิมามอะลี(อ)ที่ว่า "ทุกกิจการงานที่เริ่มด้วยกับบิสมิ้ลลาฮ์จะมีแต่ความจำเริญ ส่วนกิจการงานที่ละทิ้งบิสมิ้ลลาฮ์จะบกพร่องไม่บรรลุผล"  ความสำคัญของการกล่าวนามของพระองค์ มีให้เห็นตั้งแต่การประทานอัลกุรอาน ตั้งแต่โองการแรกของซูเราะฮ์แรกที่ถูกประทานลง พระองค์ได้สั่งให้ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) อ่านนามของพระองค์ "จงอ่าน ด้วยนามองค์อภิบาลของเจ้าที่ทรงสร้าง" (ซูเราะฮ์อะลัก/1)  ทั้งหมดทั้งปวงนี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความสำคัญของคำว่า"บิสมิ้ลลาฮ์..."

 ท่านอิมามโคมัยนีได้กล่าวไว้ใน"หนังสืออาดาบุซซอลาฮ์"ว่า "การที่ใครคนหนึ่งอยากเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของบิสมิ้ลลาฮ์  คือให้เขานำความเมตตาของความเป็นเราะฮ์มาน กับความเป็นเราะฮีมเข้าสู่หัวใจของเขา สัญญานที่บอกได้ว่าสิ่งนั้นได้เข้าถึงหัวใจของเขาแล้วหรือยัง ก็ให้ดูว่าเขาใช้สายตาของเขามองดูบรรดาปวงบ่าวของพระองค์โดยปรารถนาสิ่งดีงามและเปี่ยมด้วยความหวังดี ห่วงใยต่อพวกเขาไหม เพราะสายตาที่บรรดาอัมบิยาอ์มองดูผู้คนทั้งหลาย เป็นสายตาเช่นนี้" ท่านยังได้กล่าวเสริมอีกว่า:"นักจาริกทางจิตวิญญานที่เดินทางสู่พระองค์อัลลอฮ์ ต้องทำให้หัวใจของเขารับรู้ด้วยว่าในเวลาที่กล่าวบิสมิ้ลลาฮ์ สรรพสิ่งทั้งหลายที่เห็นอยู่อย่างเปิดเผยและมีอยู่อย่างเร้นลับ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกที่เราเห็นกันอยู่หรือในโลกแห่งความเร้นลับ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอัสมาอุลลอฮ์(พระนามต่างๆของพระองค์) ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายปรากฎเผยออกมาได้ด้วยกับการปรากฎของพระนามเหล่านั้น"

ส่วนรายงานที่ถูกกล่าวถึงกันมากในเรื่องจุดใต้อักษรบาอ์นั้น ในความหมายรวมที่ว่า ทั้งหมดของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานถูกย่ออยู่ในซูเราะฮ์ฮัมด์ และทั้งหมดของซูเราะฮ์ฮัมด์ถูกย่ออยู่ในบิสมิ้ลลาฮ์... และทั้งหมดของบิสมิ้ลลาฮ์...ย่ออยู่ในตัวบาอ์ และอิมามอะลีคือจุดใต้บาอ์นั้น รายงานเช่นนี้ไม่พบเจอในตำราหะดิษที่สำคัญของชีอะฮ์ แต่ได้ถูกกล่าวไว้ในตำราตะเซาวุฟ ถึงแม้ว่าในการรายงานไม่ชัดเจนแต่ในเชิงความหมายไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะอิมามอะลีคือวะซีย์(ทายาทที่แท้จริง)ของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)มีหน้าที่สืบสานและอธิบายคำสอนของศาสนาภายหลังจากท่านศาสดา ดังนั้นนัยยะของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าอักษร"บาอ์"ปราศจากจุดข้างใต้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะอ่านได้ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออักษรตัวไหน ถ้ามีหนึ่งจุดข้างบนก็เป็นอักษร"นูน" สองจุดบนก็เป็นอักษร"ตา" สามจุดบนก็เป็นอักษร"ซาอ์" ฉะนั้นจุดใต้บาอ์จึงมีความหมายพิเศษ นัยยะของมันก็คือถ้าปรารถนาที่จะเข้าใจอัลกุรอานก็ต้องผ่านทางท่านอิมามอะลี(อ) ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เห็นภาพของหะดิษที่ท่านนบี(ศ็อลฯ)ได้กล่าวไว้กับท่านอะลี(อ)อย่างชัดเจนว่า"ฉันคือนครแห่งความรู้ ส่วนอะลีคือประตูของนครนั้น ใครก็ตามที่ต้องการจะเข้าสู่นครนั้นก็ต้องเข้ามาทางประตูของมัน"

บิสมิลลาฮ์ถือเป็นโองการที่มีความอัศจรรย์ที่สุด ในหมู่บรรดานักจาริกทางจิตวิญญานทั้งหลายทราบดีถึงอานุภาพของบิสมิลลาฮ์ แม้การแสดงปาฏิหาริย์จะไม่อยู่ในวิสัยของพวกเขาก็ตาม แต่ก็ทราบกันเป็นอย่างดีว่าพวกเขามีอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากพระองค์ในการควบคุมบางสิ่งบางอย่างในโลกใบนี้ หรือที่คนทั่วไปเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้มีก่อรอมัต เนื่องจากความเคร่งครัด การขัดเกลาจิตวิญญานและตักวาที่พวกเขามี ซึ่งพวกเขาใช้บิสมิ้ลลาฮ์...เป็นกุญแจในการคลี่คลายปัญหาทั้งสิ้น

 

บทสรุป : บิสมิ้ลลา คืออัตลักษณ์ที่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดแจ้งของเหล่าบรรดาผู้ศรัทธา  บิสมิ้ลลาถูกนำไปใช้ในทุกห้วงเวลา เกือบทุกอิริยาบถของผู้ศรัทธาใช้ประโยคนี้ในการเริ่มการกระทำหรือกิจการงานต่างๆ ไม่ว่าจะในเวลารับประทานอาหาร ดื่มน้ำ ก่อนเข้านอน แม้กระทั่งในยามที่ลุกขึ้นจากที่นอน   นอกเหนือจากอิริยาบถประจำวันที่กล่าวมาแล้วนั้น  บิสมิ้ลลายังถูกใช้ในการเขียนจดหมายหรือเขียนบันทึกต่างๆ  ใช้ในการเริ่มต้นเดินทางออกจากบ้านหรือสถานที่ต่างๆ แม้แต่ในการบริโภคเนื้อสัตว์ (ที่ตอนเชือดต้องกล่าวนามของพระองค์) หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  บิสมิ้ลลาคืออัตลักษณ์ของศาสนาอิสลามด้วยซ้ำไป เหมือนกับการแสดงสัญลักษณ์โลโก้บนสินค้าที่ผู้คนทั่วไปเห็นแล้วสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นสินค้าใด ประเภทไหน  เหมือนธงที่โบกสะบัดอยู่บนเรือสินค้าเพื่อแสดงให้ทราบว่าเป็นเรือของชาติใด  ซึ่งบิสมิ้ลลาฮ์คือสัญลักษณ์แห่งเตาฮีด , เป็นเคล็ดลับในความสำเร็จต่างๆ , เป็นการแสดงออกถึงความรักและความไว้วางใจที่มีต่อพระองค์ , เป็นการแสดงความเชื่อมั่นต่อพระองค์อีกทั้งยังเป็นการละทิ้งความหยิ่งทนงของตน , เป็นการขับไล่ชัยฏอนกับมนุษย์ที่มีคุณสมบัติของชัยฏอนให้ห่างไกลจากเรา

อีกทั้งยังเป็นการรำลึกถึงพระองค์ผู้ทรงอภิบาลทุกสรรพสิ่งบนโลก ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าอัตลักษณ์ภายนอกคือการเข้าใจและเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของบิสมิ้ลลา หากเราสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของประโยคอันเป็นสิริมงคลนี้ได้อย่างแท้จริง มิได้นำไปใช้ด้วยกับความคุ้นชินในชีวิตประจำวันแค่เพียงเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือสิ่งดีงามที่จะติดตามมาอย่างมากมาย เมื่อเรารับรู้ว่าประโยคบิสมิ้ลลาที่เราเอ่ยทุกวัน วันละหลายเวลามีนัยยะที่สำคัญซ่อนอยู่อย่างมากมายเช่นนี้   เราต้องเริ่มปรับกระบวนทัศน์เพื่อทำความเข้าใจและเข้าถึงนัยยะที่แท้จริงของ"บิสมิ้ลลาฮ์"ให้ได้ ด้วยความหวังว่าบทความนี้จะทำให้การเอ่ยบิสมิ้ลลาฮ์ในครั้งต่อไป โดยเฉพาะเวลาทำนมาซจะทำให้เราพัฒนาก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้การเดินทางทางจิตวิญญานของเราสามารถเข้าใกล้ชิดพระองค์มากยิ่งขึ้น อินชาอัลลอฮ์...

บทความโดย เชคกอซิม อัสการี

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม