อิบาดะฮ์ คืออะไร ?

อิบาดะฮ์ คืออะไร ?

 

มีผู้ถาม “ท่านเชคคอญิฮฺ อับดุลลอฮฺ อันศอรีย์ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ)” ปราชญ์ผู้ปราดเปรื่องชาวชีอะฮฺว่า

“อิบาดะฮฺ” (การเคารพภักดี) คืออะไร ?

ท่านเชคตอบว่า “อิบาดะฮฺ” คือการรับใช้สิ่งถูกสร้างของพระองค์

ผู้ถามจึงถามว่า หมายความว่าอย่างไร ?

ท่านเชคตอบว่า “การสร้างความพึงพอพระทัยให้กับอัลลอฮฺด้วยการรับใช้สิ่งถูกสร้างของพระองค์ เรียกว่า “อิบาดะฮฺ” (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า)”

การที่ท่านให้ความสนใจในความเดือดร้อนของสิ่งถูกสร้าง เรียกสิ่งนี้ว่า “อิบาดะฮฺ” (การเคารพภักดีพระผู้สร้าง)

ผู้ถามจึงถามว่า “(อ้าว) ถ้าอย่างนั้นเราจะเรียกการนมาซ การถือศีลอด ฯลฯ ว่าอะไร ?

ท่านเชคตอบว่า “เรียกสิ่งนี้ว่า “อิฏออะฮฺ” การเชื่อฟังปฏิบัติตามพระผู้สร้าง

ที่บ่าวคนหนึ่งพึงมีต่อพระองค์ เพื่อสร้างความใกล้ชิด

สร้างความพึงพอพระทัยต่อพระองค์

อันจะส่งผลให้เขาได้รับ “อันวารุลฮัก” แสงสว่างจากสัจธรรม”

ผู้ถามถามว่า “ท่านใช้วิธีการอย่างไรในการ “ตัรฺบียัต” ขัดเกลาบุตรธิดา ?

ผู้มีวิทยปัญญาตอบว่า “ไม่มีวิธีการอะไรทั้งสิ้น”

ผู้ถามจึงถามด้วยความงุนงงสงสัยว่า “จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อบุตรธิดาของท่านล้วนเป็นกัลยาณชนเป็นผู้มีคุณธรรมทุกคน ?”

ผู้มีวิทยปัญญาจึงตอบว่า “ฉัน “ตัรฺบียัต” ขัดเกลาตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พวกเขา”

“เพราะบุตรธิดาจะเลียนแบบอย่างทั้งคำพูด การกระทำ และพฤติกรรมที่สัตย์จริงจากบิดรมารดาของตน"

พวกเขาไม่ชอบใช้วิธีบีบบังคับ ข่มขู่เขี้ยวเข็ญ จ้ำจี้จ้ำไช สั่งให้ทำนั่น ห้ามไม่ให้ทำนี่ ที่ส่วนใหญ่มักจะไร้ผล (โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่)”

“ไข่ไก่” ที่แตกด้วยพลังจากภายนอกย่อมบ่งบอกถึงจุดอวสานของมัน

แต่ “ไข่ไก่” ที่แตกด้วยพลังจากภายใน นั่นหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของมัน

“การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต้องเริ่มต้นจากภายในเท่านั้น”

“พลังผลักดันจากภายใน” จะให้บุคลิกภาพใหม่ ๆ เหมือนการเกิดใหม่เสมอ

ลองทำดูแล้วจะพบตัวตนของคนใหม่

วันเกิดมิใช่สิ่งสำคัญหรอก

วันที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างหากที่สำคัญ

เพราะตราบเท่าที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับท่านยังไม่เกิด

เป็นคนที่ไหนไม่สำคัญหรอก

เป็นคนที่มีความคิดการกระทำที่ถูกต้องต่างหากที่สำคัญ

เป็นคนพื้นเพดั้งเดิมที่ไหนไม่สำคัญหรอก

เป็นคนเข้าใจตรรกะชีวิตต่างหากที่สำคัญ

ขอคารวะขอความสันติพึงมีแด่ผู้ที่มั่นคงในอุดมการณ์ศาสนา

ขอคารวะขอความสันติพึงมีแด่ผู้ที่ไม่เสแสร้างในการรับใช้ศาสนา

ขอคารวะขอความสันติพึงมีแด่ผู้ที่วิงวอนขอดุอาอ์ที่ไม่ชอบอวดอ้าง

ขอคารวะขอความสันติพึงมีแด่ผู้ที่พร่ำรำพันที่ไม่หวังให้ใครได้ยินนอกจากพระองค์

ขอคารวะขอความสันติพึงมีแด่ผู้ที่ละอายใจที่ไม่ใช่คนหน้าซื่อใจคด

ขอคารวะขอความสันติพึงมีแด่ผู้ที่มีผลงานแต่ไม่ต้องการชื่อเสียง

บทความโดย Risalah Qomi