ตัฟสีรฺสั้น ๆ “มลาอิกะฮฺ” กับ “อัรฺรูห์” คือสิ่งถูกสร้างเดียวกันหรือไม่ ?

ตัฟสีรฺสั้น ๆ “มลาอิกะฮฺ” กับ “อัรฺรูห์” คือสิ่งถูกสร้างเดียวกันหรือไม่ ?

จากโองการที่สี่ในสูเราะตุลก็อดรฺ

تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ ‎﴿٤﴾‏

“มวลมลาอิกะฮฺและอัรฺรูห์จะทยอยลงมาในราตรีกาลนั้นด้วยอนุมัติจากพระผู้อภิบาลของพวกเขาในทุกภารกิจ”

บางตัฟสีรฺได้อ้างหะดีษว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะอาลิฮฺ) กล่าวว่า “ทหารแห่งบนีอิสรออีลท่านหนึ่งสวมใส่เสื้อเกราะในสมรภูมิสงครามเพื่อเตรียมความพร้อมในการ “ญิฮาดฟีสะบีลิลลาฮฺ” กินเวลานานหนึ่งพันเดือนโดยไม่มีการถอดออกแต่อย่างใด” ทำให้บรรดาอัครสาวกของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะอาลิฮฺ) ต่างพากันทึ่งและอยากจะได้รับ “เตาฟีก” ความภาคภูมิใจมีโอกาสทำเช่นนั้นบ้าง ด้วยเหตุนี้โองการนี้จึงถูกประทานลงมาว่า “ลัยละตุลก็อดรฺ” ย่อมประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน

ในอีกหะดีษกล่าวว่าท่านศาสดาอิสลาม (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะอาลิฮฺ) กล่าวถึงบนีอิสรออีลสี่ท่านที่ประกอบอิบาดะฮฺเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ยาวนานติดต่อกัน ๘๐ ปี โดยไม่มีการฝ่าฝืนต่อพระองค์ ทำให้บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะอาลิฮฺ) มีความหวังว่าพวกเขาจะได้รับ “เตาฟีก” เช่นนั้นบ้าง ด้วยเหตุนี้ โองการนี้จึงถูกประทานลงมา

คำถามหนึ่งคือตัวเลขหนึ่งพัน ๑,๐๐๐ ในโองการนี้หมายถึงจำนวน “ตัวเลข” التعداد จริง ๆ หรือ التكثير เป็นการบ่งชี้ถึงจำนวนอันมากมายเหลือคณานับ ?

ซึ่งบางตัฟสีรฺกล่าวว่าหมายถึง التكثير จำนวนอันมากมายเหลือคณานับ

เพราะค่ำคืน “ลัยละตุลก็อดรฺ” มีคุณค่าอานุภาพเหนือกว่าวันทั้งหลายยิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน

แต่ริวายะฮฺก่อนหน้านี้ชี้ชัดว่าหนึ่งพันที่ว่านั้นคือจำนวนที่เป็น “ตัวเลข” التعداد จริง ๆ

และโดยหลักพื้นฐาน “ตัวเลข” คือเครื่องบ่งชี้ถึง “จำนวน” หรือ “ปริมาณ” อยู่แล้ว ยกเว้นกรณีที่มีบริบท (القرينة) ที่มาบ่งบอกถึงปริมาณหรือจำนวนที่มากมายมหาศาลอย่างชัดเจน

หลังจากนั้นพระองค์ทรงอรรถาธิบายเพิ่มเติมในโองการต่อมาว่าใน “ลัยละตุลก็อดรฺ” เป็นค่ำคืนที่เต็มไปด้วยอานุภาพว่า

تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ ‎﴿٤﴾

“มวลมลาอิกะฮฺและอัรฺรูห์จะทยอยลงมาในราตรีกาลนั้นด้วยอนุมัติจากพระผู้อภิบาลของพวกเขาในทุกภารกิจ”

เมื่อพิจารณาคำ تَنَزَّلُ ซึ่งเป็น فـعـل المـضـارع กริยาปัจจุบันกาลที่บ่งบอกถึง الاستمرار ความต่อเนื่อง (รากเดิมของ تَنَزَّلُ คือ تـتـنـزل) จึงได้บทสรุปที่ชัดเจนว่า “ลัยละตุลก็อดรฺ” มิได้เฉพาะเจาะจงแค่ในยุคสมัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะอาลิฮฺ) และการถูกประทานคัมภีร์อัลกุรอานเท่านั้น ทว่า มันคือ أَمْرٍ  “อัมรฺ” พระบัญชาที่ดำเนินตลอดมา (المستمر) และเป็นค่ำคืนที่ซ้ำ ๆ สืบต่อเนื่องในเดือนรอมฎอนทุกปี

ส่วนคำถามที่ว่า “อัรฺรูห์” ในโองการนี้หมายถึงใคร ?

มุฟัสสิรีนบางท่านกล่าวว่าหมายถึง “ญิบรออีล อัลอะมีน” หรือที่รู้จักในนามหนึ่งว่า روح الامين  “รูห์หุลอะมีน”

ในขณะที่บางท่านกล่าวว่า “อัรฺรูห์” ในอายะฮฺนี้หมายถึง الوحى วะหฺยุ หรือ “วิวรณ์” โดยอาศัย القرينة บริบทจากโองการที่ ๕๒ สูเราะฮฺอัชชูรอ

وَكَذَٰلِكَ أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ رُوحًا مِّنْ أَمْرِنَا ۚ ‎﴿٥٢﴾‏

“และเช่นนั้นที่เราได้ประทานวิวรณ์แก่เจ้าจาก “อัมรฺ” พระบัญชาของเรา (เฉกเช่นที่เราได้ประทานแก่บรรดาศาสดาก่อนหน้าเจ้า)” (อัชชูรอ ๔๒ ๕๒)

และในตัฟสีรฺที่สามซึ่งถือว่าใกล้เคียงที่สุดกล่าวว่า “อัรฺรูห์” ในที่นี้หมายถึง “มัคลู๊ก” สิ่งถูกสร้างหนึ่งซึ่งมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่ามวลมลาอิกะฮฺทั้งหลาย ดังหะดีษจากท่านอิมามญะอฺฟัรฺ อัศศอดิก (อลัยฮิสสลาม) ว่ามีผู้ถามท่านอิมาม  (อ) ว่า “อัรฺรูห์” ณ ที่นี้หมายถึง “ญิบรออีล” ใช่หรือไม่ ? ซึ่งท่านอิมาม (อ) ตอบว่า

(جـبـرئيـل مـن المـلائكـة ، و الروح اعـظـم مـن المـلائكـة ،
اَلَيْـس ان الله عـز و جل يقول : تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ ؟)

“ญิบรออีล” คือหนึ่งจากมวลมลาอิกะฮฺ แล้ว “อัรฺรูห์” จะเป็นหนึ่งในมวลมลาอิกะฮฺ (ได้อย่างไร ?) อัลลอฮฺ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ไม่ได้ตรัสหรือว่า “มวลมลาอิกะฮฺ” และ “อัรฺรูห์” ได้เสด็จลงมา ?”

กล่าวคือจาก قرينة บริบทของโองการนี้ชี้ชัดว่าทั้งสองมีความแตกต่างกัน (คล้าย ๆ คนละคนกัน)

ส่วนความหมายของท้ายโองการที่พระองค์ทรงตรัสว่า مِّن كُلِّ أَمْرٍ หมายถึงในค่ำคืน “ลัยละตุลก็อดรฺ” พระองค์ทรงส่งมวลมลาอิกะฮฺลงมาเพื่อให้ลิขิตชะตาชีวิตของปวงบ่าว ตลอดจนความดีและบะรอกะฮฺความจำเริญอันพึงมีในปีต่อไป และนี่คือเจตนารมณ์ นี่คือเป้าหมายในการส่งท่านผู้ทรงเกียรติดังกล่าวลงมาในค่ำคืนแห่งอานุภาพ

Risalah Qomi