เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ศัตรูที่ร้ายกว่าชัยฏอนคือนัฟซู ตอนที่ 5

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ศัตรูที่ร้ายกว่าชัยฏอนคือนัฟซู ตอนที่ 5


แม้วันนี้จะยังไม่ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ก็หาใช่คนขี้ขลาดที่ยอมแพ้แล้วถูกจับเป็นเชลย
ถ้าจะต่อสู้จริงกับนัฟซูต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่และมั่นคง

 

 أَلَا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ
” พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์เท่านั้นทำให้จิตใจสงบมั่น "    

                                ซูเราะฮ์ อัร-เราะอฺด์ โองการที่ 28
 
 
      พื้นฐานปฏิบัติ 7 ขั้นตอนเบื้องต้นในการต่อสู้กับนัฟซู(ต่อ)

3.อัชม์ (การตั้งใจอย่างจริงจัง การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด)
แรงปรารถนาที่แน่วแน่ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งความตั้งใจที่แน่วแน่นี้เป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัสได้  เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการที่บุคคลคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จกับสิ่งใดก็ตามที่เขาตั้งใจทำ หากเราไม่ตัดสินใจอย่างแน่วแน่การตื่นรู้ก่อนหน้านี้ก็จะไม่มีความหมาย  อีกประการหนึ่งที่อยากให้แยกแยะให้ออกก็คือความตั้งใจที่แน่วแน่ กับความฝันมีความต่างกันความฝันคือความปรารถนาถึงสิ่งหนึ่งแต่ไม่ได้ลงมือทำแต่ความตั้งใจที่แน่วแน่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ ความตั้งใจที่เราแน่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่จิตวิญญาณชั้นสูงและยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำสงครามกับนัฟซู "เมื่อเจ้าตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วก็จงมอบความไว้วางใจต่อพระองค์" (ซูเราะฮ์ อาลิ อิมรอน โองการที่ 159)

4.มูซาร่อเตาะฮ์ (การตั้งเงื่อนไข)
คือการตั้งเงื่อนไขกับตัวเองในการทำกิจวัตรใดก็ตามตลอดทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับตา เราจะใช้ศูนย์บัญชาการ(หัวใจ)ควบคุมกองทัพทั้ง 7 ของเรา(ตา หู ปาก มือ ท้อง เท้า อวัยวะเบื้องล่าง) ไม่ให้ทำผิดบาป  การตั้งเงื่อนไขกับตนเองคือการทำสัญญาระหว่างเรากับตัวเอง  เช่น ในวันนี้เราจะทำนมาซช่วงต้นของเวลา จะอ่านอัลกุรอานให้ได้หนึ่งยุซ หรือทำสิ่งที่มีสาระ  ในความเป็นจริงแล้วชีวิตคนเราช่างสั้นนัก แต่เรากลับคิดว่ามันยาวนานเลยไม่ใส่ใจที่จะทำคุณประโยชน์หรือพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ดีงาม กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้

5.มูรอก่อบะฮ์ (การระมัดระวัง)
คือคอยดูแลสิ่งที่เราได้ตั้งเงื่อนไขกับตัวเองไว้ดูแลรักษาการกระทำของตัวเองให้ครบถ้วนและยังใช้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานในการช่วยควบคุมความประพฤติอีกชั้นหนึ่ง หากเราเชื่อศรัทธาเช่นนั้นจริงๆว่าพระองค์ทรงเห็นการกระทำของเราอยู่ทุกขณะ จะมีใครบ้างที่บังอาจทำบาปต่อหน้าพระองค์ คนที่กล้าละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าก็เท่ากับว่าเขาไม่เห็นการมองดูอยู่ของพระองค์อยู่ในสายตา หากเราตระหนักอยู่เสมอและศรัทธาอย่างแท้จริงแล้วจะไม่ทำบาป " เขาไม่รู้หรอกหรือว่าพระองค์ทรงเห็น " (ซูเราะฮ์ อะลัก โองการที่ 14)

6.มูฮาซาบะฮ์ (การตรวจสอบ)
การให้คะแนนตัวเองก่อนที่เราจะนอน ตรวจสอบว่าในวันนี้สิ่งที่เราได้ตั้งเงื่อนไขไว้ทำสำเร็จตรงไหนแล้วบ้าง? เราทำผิดพลาดตรงไหนสายตาของเราพลาดไปมองอะไรที่เป็นบาปหรือไม่? หูได้ไปฟังอะไรที่ไม่ดีมาหรือเปล่า? ปากพูดอะไรไม่ดีออกไปหรือไม่? ถ้าไม่พลาดเลยก็ขอขอบคุณพระองค์เพราะการขอบคุณพระองค์จะทรงเพิ่มพูนให้ แต่หากพลาดเราก็ต้องขอเตาบะฮ์แล้วเริ่มต้นกันใหม่เริ่มฝึกไปทีละนิด เริ่มตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะโดนตรวจสอบในวันกิยามัต ความเปลี่ยนแปลงจะพาให้เราเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดคือความดีงามและความผาสุกที่แท้จริง

2 กระบวนการแยกย่อยก่อนเข้าสู่ขั้นตอนที่ 7
- มูอาตาบะฮ์ (การวิจารณ์ต่อว่าต่อขานตัวเอง)
หรืออีกนัยหนึ่งคือการประณามตัวเองในกรณีที่ว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ เราผิดพลาดตรงไหน และผิดพลาดได้อย่างไรทำไมเรายังควบคุมกองทัพทั้ง 7 ไม่ได้ทำไมยังไม่หลุดพ้นออกจากสิ่งที่เป็นบาป ความรู้สึกผิดหวังในตัวเองที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดีเพราะความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาจากสามัญสำนึกอย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ว่าเรายังเหลือสามัญสำนึกในจิตใจ แสดงว่านัฟซูด้านดี(นัฟซุลเลาวามะฮ์)ยังคงทำงานและใช้การได้อยู่
- มูอากอบะฮ์ (การลงโทษ)
เมื่อประนามตัวเองแล้วต่อว่าตัวเองแล้ววิพากษ์วิจารณ์ตัวเองแล้วรู้แล้วว่าตรงไหนคือจุดบกพร่องต่อไปคือการลงโทษกล่าวคือให้ทำการฝ่าฝืนกับความต้องการของนัฟซูด้านที่จะพาเราจมดิ่งไปสู่ความมืดบอด การลงโทษในที่นี้คือหากมันจะพาเราไปทางซ้ายเราต้องฝืนให้มันมาทางขวา เช่น  หากเราตั้งใจอ่านอัลกุรอานให้ได้สัก 50 โองการ ถ้าวันนี้ทำไม่ได้พรุ่งนี้ให้ลงโทษตัวเองโดยการอ่านเพิ่มขึ้นเป็น100โองการ คือลงโทษมันด้วยการกระทำที่ดีทดแทน คือเราต้องลองสู้กับมัน คือหากเราตั้งใจแล้วทำไม่ได้ก็ฝืนกับมันไปเลยถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะใช้จัดการกับแรงปรารถนาด้านมืดของเรา

           สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเท่ากับเราเริ่มสนใจตัวเอง ตราบใดที่มนุษย์ยังคงใช้สามัญสำนึกมันก็ยังคงมีหนทางที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ตราบใดที่ประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงยังไม่ถูกปิดลงโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้เสมอ แต่ถ้าหากปราศจากซึ่งสามัญสำนึกนั่นหมายถึงหายนะ!!!!

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม