ศัตรูที่ร้ายกว่าชัยฏอนคือนัฟซู ตอนที่ 6

ศัตรูที่ร้ายกว่าชัยฏอนคือนัฟซู ตอนที่ 6


การรำลึกถึงที่แท้จริงคือการรำลึกถึงด้วยความเข้าใจมิใช่ความเคยชิน

 

 أَلَا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ
” พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์เท่านั้นทำให้จิตใจสงบมั่น "    

                                ซูเราะฮ์ อัร-เราะอฺด์ โองการที่ 28
 

 
      พื้นฐานปฏิบัติ 7 ขั้นตอนเบื้องต้นในการต่อสู้กับนัฟซู(ต่อ)

 การต่อสู้กับนัฟซูตัวร้ายที่ซ่อนอยู่ด้านในของมนุษย์กันมาถึง 6 ภาคปฏิบัติเบื้องต้นแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ขั้นตอนที่ 7 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเรียนรู้วิธีในการควบคุมกองทัพทั้ง 7 ของเราให้หลุดพ้นออกจากสิ่งที่เป็นบาป ( ตา หู มือ ปาก เท้าท้อง อวัยวะเบื้องล่าง )

        ขั้นตอนที่ 7 - ตะซักกุ้ร หรือ ซิการ์ " (การรำลึก)
อย่างที่เราได้ผ่านบทเรียนของการรู้จักศัตรูในเรื่องของการต่อสู้กับชัยฏอนเราได้เรียนรู้เทคนิคการล่อลวงของมัน ได้เรียนรู้การใช้กลวิธีอันหลากหลายแยบยลตั้งแต่การกระซิบกระซาบไปจนถึงวิธีการที่มันจะทำให้เรากลายเป็นพวกเดียวกับมันแล้วนั้น ศัตรูตัวฉกาจอีกตัวที่เราต้องต่อสู้อย่างหนักคือนัฟซูที่อยู่ในตัวเรานั่นเอง  นัฟซูในตัวเรามันจะผลักดันแรงปรารถนาด้านมืดของเราให้ทำการละเมิดฝ่าฝืน ชักจูงให้ทำผิดบาป  ซึ่งศัตรูตัวฉกาจ 2 ตัวนี้ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายคือต้องการให้เราห่างจากพระองค์

       ซึ่งความเลวร้ายของมันนั้นถึงขั้นที่ว่าแม้แต่บรรดาผู้ที่มีศรัทธาก็อาจจะหลงกลมันได้ในบางคราวเช่นกัน  ทางแก้ก็คือการรำลึกถึงพระองค์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากว่าเราระลึกถึงพระองค์อยู่ทุกชั่วขณะจิต เราจะไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปกับสิ่งยั่วยุ สิ่งเร้าในโลกดุนยา เราก็จะไม่มีช่องว่างให้กับแรงปรารถนาด้านมืดได้ทำงาน  และการที่จะรู้จักการรำลึกให้ดียิ่งขึ้นก็คือเราต้องเรียนรู้สิ่งที่ตรงข้ามกับมัน ซึ่งสิ่งตรงกันข้ามกับการรำลึกก็คือการหลงลืมและการหลับใหล  2 สิ่งนี้ถือเป็นตัวทำลายการรำลึกถึงพระองค์  หากสองสิ่งนี้เข้าครอบงำเมื่อใด หนทางในการต่อสู้กับนัฟซูก็จะมืดมนลงทันที

      การรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซ.บ.)ถือเป็นเกราะป้องกันเราจากศัตรูไม่ว่าจะเป็นชัยฏอน หรือ นัฟซู หากเราเดินตามทางที่พระองค์ทรงชี้ทางนำให้ เราย่อมรับมือได้และไม่ต้องกลัวหรือกังวลกับเรื่องใดๆอีก { " หากว่าเราได้รำลึกถึงว่าชีวิตของเราใครเป็นผู้ที่ให้มา  ทุกสิ่งจำเป็นแม้กระทั่งอากาศที่เราหายใจใครที่เป็นผู้ให้และเมื่อรำลึกถึงแล้วก็ต้องทำการขอบคุณ  ขนาดในชีวิตปกติทั่วไปหากเราได้รับของจากใครสักคนเรายังต้องขอบคุณ  นี่พระองค์เป็นผู้ให้  เมื่อเราพิจารณาแล้วว่าทุกสรรพสิ่งที่เราเห็นใครเป็นผู้ที่สร้างขึ้น ใครที่เป็นผู้ขับเคลื่อนระบบระเบียบต่างๆที่มีอยู่ก็ให้นึกถึงความเมตตาของพระองค์"  อิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) }

      สิ่งที่สำคัญการรำลึกถึงที่แท้จริงคือการรำลึกถึงด้วยความเข้าใจมิใช่ความเคยชิน รำลึกถึงในทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะเดิน จะนอน จะนั่ง จะกิน จะฟัง ในขณะที่อิบาดัต ก็คือสมาธิและใจที่บริสุทธิ์ ในขณะที่ได้สิ่งดีงามมาในชีวิตก็ต้องรำลึกถึงพระองค์พร้อมกับกล่าวขอบคุณ ในขณะที่พบกับปัญหาและอุปสรรคก็ต้องระลึกด้วยความอดทนเช่นกัน แต่เรามักทำด้วยความเคยชิน เราไม่กระตือรือร้น ไม่ชอบพัฒนาตัวเองบางทีเราใช้เหตุผลที่ว่าเราไม่ชอบแข่งกับใคร แต่ในเรื่องการพัฒนาทางจิตวิญญาณนั้นควรแข่งขันเราควรกระตือรือร้นในเรื่องของการพัฒนาและการยกระดับจิตใจ ดังที่ในอัลกุรอานได้กล่าวว่า " จงแข่งขันรีบเร่งในการทำความดี "(ซูเราะฮ์อัลมาอิดะห์ โองการที่ 48)

" เมื่อใดก็ตามที่เรารำลึกถึงพระองค์ ไม่มีผลที่ชัยฏอนจะเข้ามากระซิบกระซาบ นัฟซูเองก็ไม่อาจเข้ามาควบคุมเราได้ การรำลึกถึงพระองค์อย่างแท้จริงย่อมสามารถรับมือกับทั้งชัยฏอนและนัฟซูได้อย่างไม่ยากเลย "