เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นสำคัญไฉน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นสำคัญไฉน

 

อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า
وَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ وَآَتُوا الزَّكَاةَ

สูเจ้าจงดำรงนมาซ และจงจ่ายซะกาต   2 : 43

#ซะกาต ทางภาษา หมายถึง  การทำให้สะอาดบริสุทธิ์  ความจำเริญ หรือการพัฒนา

#ซะกาต ในอิสลาม หมายถึง ทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่อิสลามบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้น มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

#กลับมาที่ความหมายซะกาตที่หมายถึง  تطهير การทำให้สะอาดบริสุทธิ์
1.ซะกาตทำให้ทรัพย์สะอาด เมื่อจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับ ทรัพย์ของเราที่เหลือก็จะไม่สกปรก
2.ซะกาตทำให้ตัวของผู้จ่ายซะกาต สะอาด เพราะเขาได้ชำระตัวเอง ให้พ้นจาก บะคี้ล ตระหนี่ขี้เหนียว

#ฮิกมัตของการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์   

ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า

فَرَضَ رَسُولُ اللَّهِ (ص) زَكَاةَ الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ، وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِينِ

ท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ)ได้กำหนดจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺให้กับผู้ถือศีลอด เพื่อเป็นการชำระคำพูดที่เหลวไหลและหยาบคาย เป็นอาหารแก่มีสกีน

#สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้คือ
 
1.ซะกาตฟิตเราะฮ์ได้ชำระผู้ถือศีลอดให้สะอาดจาก คำพูดที่เหลวไหลและหยาบคาย

2.ซะกาตฟิตเราะฮ์คือ สิ่งที่มอบให้กับมิสกีนคนยากจนขัดสน ทำให้เขาไม่เดือดร้อนวันอีด เขาจะได้มาร่วมกับคนรวยในการแสดงความดีใจในวันอีด

#อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า

قَدْ أَفْلَحَ مَنْ زَكَّاهَا  
ผู้ที่ประสบความสำเร็จคือ ผู้ที่ทำการซะกาต ตนเองให้สะอาดจากความผิดบาป  91 : 9

#อิม่ามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ)กล่าวว่า

وَ لِكُلِّ شَيْ‏ءٍ زَكَاةٌ وَ زَكَاةُ الْأَبْدَانِ‏ الصِّيَامُ

สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีการจ่ายซะกาต และการซะกาตของร่างกาย(ในหนึ่งปี)คือการถือศีลอด

ในเมื่อเมื่อคนถือศีลอดยังต้องจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์
ดังนั้นคนที่ไม่ถือศีลอด จึงสมควรจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์มากกว่า เพราะเขาไม่ได้จ่ายซะกาตทางร่างกายด้วยการถือศีลอด
ด้วยเหตนี้ซะกาตฟิตเราะฮ์จึงไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่เด็กหรือคนชรา คนบ้า
ส่วนคนที่ถือศีลอดไม่ได้เพราะเขามีอุปสรรค เช่นเดินทาง หรือเจ็บป่วย หรือต้องทายาสามเวลา หรือชราภาพมากแล้ว ก็ต้องไปศึกษาการปฏิบัติตามตำราอะห์กามในกรณีที่เขาประสบอุปสรรคนั้น

#ซะกาตฟิตเราะฮ์คือ การชูโก้รขอบคุณต่อนิ๊อ์มัตของอัลลอฮ์ตะอาลาที่มอบให้แก่ผู้ถือศีลอด เอ๊ะทำไม ?
เพราะว่า เขาได้รับเตาฟีกความสำเร็จให้เขาได้ประสบความสำเร็จในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอย่างครบถ้วน เพราะใช่ว่าทุกคนจะได้รับเตาฟีกนี้ บางคนอาจจำเป็นต้องเดินทาง บางอาจเจ็บป่วย สตรีบางอาจประจำเดือนมา จึงต้องไปชดใช้ในวาระอื่น เป็นต้น
ดังนั้นจงขอบคุณอัลลอฮ์ที่เมตตามอบเตาฟีกให้เราถือศีลอดได้ครบเดือนรอมฎอน

#การจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์นั้น ทำให้ผู้จ่ายได้รับซะวาบรางวัลอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์ตะอาลา เมื่อเขาได้จ่ายมันให้กับผู้มีสิทธิได้รับมันจริงๆ
#ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต มีบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน บทที่ 9 โองการที่ 60 ซึ่งมีจำนวน 8 ประเภท ดังนี้
1. ยากจน หมายถึง คนที่ยากไร้ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำวันและไม่มีอาชีพทำ ให้จ่ายซะกาตให้เพียงพอที่พวกเขาจะได้นำไปเป็นทุนดำเนินอาชีพต่อไป
2. คนขัดสน หมายถึง บุคคลที่มีอาชีพทำ แต่รายได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ให้บริจาคซะกาตเพื่อช่วยเพิ่มทุนอาชีพ หรือเสริมในส่วนที่ขาด
3. ผู้เข้ารับอิสลาม หมายถึง บุคคลที่นับถือศาสนาอื่นและเข้ามารับอิสลาม ให้จ่ายซะกาตแก่เขา แม้เขาจะมีฐานะดีก็ตาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เขา
4. เจ้าหน้าที่จัดการเกี่ยวกับซะกาต หมายถึง เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ หรือ องค์การที่มีอำนาจจัดตั้งโดยไม่มีค่าตอบแทนในการจัดเก็บ รวบรวมและจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ์ ให้จ่ายซะกาตเป็นค่าตอบแทนแก่เขา และหากเขามีค่าตอบแทนจากรัฐหรือองค์การแล้ว เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะรับซะกาตเป็นค่าตอบแทนซ้ำซ้อนอีก
5. ทาสที่จะไถ่ตัวเอง หมายถึง ทาสที่ต้องการค่าไถ่ตัวจากนาย เพื่อเป็นเสรีชน โดยนายทาสได้อนุญาตให้หาค่าไถ่ตัว ให้รับซะกาตได้เฉพาะเท่าจำนวนที่จะนำไปไถ่ตัวเท่านั้น
6. ผู้มีหนี้สิน หมายถึง บุคคลที่เป็นหนี้ในทางที่ไม่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนา เช่น เป็นหนี้เพราะความจำเป็นเฉาะหน้า เป็นหนี้เพราะช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนี้เพราะไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกรณีพิพาท เป็นต้น ให้รับซะกาตตามจำนวนหนี้สินที่เขามีอยู่เท่านั้น
7. ผู้พลัดถิ่น หมายถึง ผู้เดินทางที่ขาดปัจจัยการเดินทาง ให้เขารับซะกาตได้เฉพาะที่จะจ่ายในการเดินทางเท่านั้น
8. ในวิถีทางของอัลลอฮฺ หมายถึง บุคคลที่สละชีวิตของตนเองในวิถีทางของอัลลอฮฺ เพื่อปกป้องอธิปไตยของศาสนา และเชิดชูศาสนาให้สูงส่ง ให้เขารับซะกาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเขา

#ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ)กล่าวว่า

مَنْ أَدَّاهَا قَبْلَ الصَّلَاةِ، فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ، وَمَنْ أَدَّاهَا بَعْدَ الصَّلَاةِ، فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنَ الصَّدَقَاتِ

ผู้ใดที่จ่ายซะกาต(ฟิตเราะฮ์)ก่อนนมาซอีดิ้ลฟิตรี่ ถือว่าเป็นซะกาตที่ได้รับการตอบรับ
และผู้ใดที่จ่ายซะกาต(ฟิตเราะฮ์)หลังนมาซอีดิ้ลฟิตรี่ ถือว่าเป็นซอดะเกาะฮ์อย่างหนึ่ง จากซอดาเกาะฮ์ทั่วไป
สุดท้ายซะกาตฟิตเราะฮ์ คือ สิ่งที่สร้างความสุขใจให้กับพี่น้องมุสลิมในวันอีด แถมยังทำให้การถือศีลอดของเราสมบูรณ์

ดังนั้น จงให้ความสำคัญต่อซะกาตฟิตเราะฮ์กัน


บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม