กล้าพอหรือไม่ที่จะประเมินตนเองหลังเดือนรอมฎอน

กล้าพอหรือไม่ที่จะประเมินตนเองหลังเดือนรอมฎอน 

 

เมื่อเดือนรอมฎอนจากเราไปเราได้อะไรจากเดือนนี้หรือไม่?  การทำสงครามกับชัยฏอนและนัฟซูในเดือนนี้ของเรา ผลเป็นอย่างไร ?

    

     มนุษย์โดยทั่วไปมักจะไม่ชอบพาลไปถึงขั้นโมโหโกรธา หากใครมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเรา  และมักจะให้คำตอบเสมอว่า " ไม่มีใครรู้จักเราดีไปกว่าตนเอง "  หลังจากเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไปเราเคยประเมินตนเองหรือไม่ว่าเราผ่านการทดสอบหรือเปล่า?  เมื่อเราไม่ชอบที่ผู้อื่นมาวิพากษ์วิจารณ์เรา แล้วเรากล้าหาญพอที่จะยอมรับในการกระทำของตนเองหรือไม่ เดือนรอมฎอนคือเดือนอันประเสริฐ เปรียบเสมือนเป็นเดือนที่เป็นจุดเริ่มต้นให้มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง  หากเราสามารถต่อสู้กับชัยฏอนกับนัฟซูที่คอยยั่วยุเราได้ (แม้จะชนะบ้างแพ้บ้าง) แต่ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อยอดให้เราเคยชินกับการควบคุมตนเองทั้งกาย วาจา ใจ และการกระทำในทุกรูปแบบได้ง่ายขึ้นในเดือนต่อๆไป  

 

       พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาพร้อมกับได้มอบสติปัญญามาให้ แม้ในเบื้องแรกเหล่ามลาอิกะอ์จะปรามาสว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีแต่ความเลวร้ายและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  แต่พระองค์ก็ทรงออกตัวให้แทนเราว่า "  พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า ภายหลังได้ทรงมุ่งสู่ฟากฟ้า และได้ทำให้มันสมบูรณ์ขึ้นเป็นเจ็ดชั้นฟ้า และพระองค์นั้นได้ทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง " (ซูเราะฮ์ อัล-บากอเราะฮ์ โองการที่  29  / โองการที่ 30-36 ) นั่นหมายว่าพระองค์ทรงเชื่อมั่นในสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์ทรงเชื่อมั่นในตัวเราอย่างมากมาย และแม้นว่าในช่วงชีวิตของเราหากได้เคยทำบาป  พระองค์ก็ทรงให้โอกาสในการกลับเนื้อกลับตัว ด้วยความเมตตาของพระองค์  " แท้จริงพระองค์ทรงรักผู้ที่กลับตัวกลับใจ " (ซูเราะฮ์อัล-บากอเราะฮ์ โองการที่ 222 )

    

          ไม่มีสงครามใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการทำสงครามกับหัวใจตนเอง (ญิฮาดใหญ่)  น้อยคนนักที่จะออกไปรบแล้วชนะในศึกนี้(แต่ใช่ว่าจะไม่มี)   และยังมีผู้คนมากมายที่พ่ายแพ้ยอมตกเป็นทาสของชัยฏอนและนัฟซูด้วยเพราะจิตใจที่อ่อนแอของตนเองและด้วยความไม่เขื่อมั่นในความเมตตาของพระองค์  ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนมากมายที่รบชนะบ้างแพ้บ้าง แต่ยังคงต่อสู้อยู่ทุกวัน เพราะพวกเขารู้ดีว่าในทุกๆการกระทำ พระองค์ทรงเห็น ความพยายามนั้นจะไม่มีวันสูญเปล่า "และบรรดาผู้ที่ยึดถือคัมภีร์ และดำรงไว้ซึ่งการละหมาดนั้น แท้จริงเราจะไม่ให้สูญไปซึ่งรางวัลของผู้ปรับปรุงแก้ไขทั้งหลาย”(ซูเราะฮ์ อัล-อะรอฟ โองการที่ 170)  พวกเขาไม่ต้องการเป็นมนุษย์ที่ย่ำอยู่กับที่ พายเรือวนเวียนอยู่ในอ่างปีแล้วปีเล่า (ทำบาป-ขออภัยโทษในเดือนรอมฎอน-หมดรอมฎอนแล้วย้อนกลับมาทำใหม่-เพื่อรอขออภัยโทษในปีต่อไป)  และที่สำคัญพวกเขาต้องการพัฒนาตนเองในดีขึ้นในทุกๆปี เพื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะได้เข้าไปใกล้ชิดถึงความความผาสุกที่พระองค์ได้ทรงชี้นำหนทางมาให้แก่เหล่ามวลมนุษยชาติ....................